fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — ซึมซับวิถีคนกรุง ที่ Adventure Hostel Bangkok กับความเปลี่ยนแปลงของธุรกิจโฮสเทล
date : 15.กันยายน.2017 tag :

เมื่อเอ่ยถึงย่านสะพานควาย หลายต่อหลายคนนึกถึงแหล่งของกิน ร้านอาหารอร่อย ร้านค้าเก่าแก่ และความเป็นชุมชมที่ปะปนอยู่ตามตรอกซอย ที่ค่อนข้างพลุกพล่านพอๆ กับการจราจรตรงแยกสะพานควายนั่นแหละ อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าแถวนี้ครบครันไปด้วยสิ่งจำเป็นสำหรับผู้คน คือห้องพักจากทั้งโรงแรม และโฮสเทลที่เป็นทางเลือกให้กับคนหลากหลายกลุ่มที่อยากสัมผัส หรือมีโอกาสได้แวะมาพักย่านนี้

แน่นอนว่าถ้าคุณเดินทางด้วยรถไฟฟ้า BTS และลงสถานีสะพานควายอยู่บ่อยๆ จะต้องเคยแอบสงสัยหรือสะดุดตากับตัวหนังสือสีแดงที่เขียนว่า ‘Adventure Hostel’ และมีกรวยจราจรตั้งอยู่ข้างกันอยู่บ้าง ความธรรมดาที่เหมือนจะมีอะไรแอบซ่อนอยู่ ทำให้เราอยากรู้ว่าข้างในจะเป็นอย่างไร และเมื่อเดินลงบันไดไปก็ถึงประตูทางเข้าของ Adventure Hostel พอดี

คอนเซปต์วิถี local lifestyle

หลังจากกดกริ่งและผลักประตูเข้าไปด้านใน ไฟสีแดงที่รายล้อมกรวยจราจรบนเพดานก็หยุดสายตาเราได้แป๊บนึง ก่อนจะเดินขึ้นไปยังชั้น 2 ซึ่งเป็น reception ของที่นี่ พนักงานต้อนรับจึงเริ่มอธิบายรายละเอียดของห้องต่างๆ แต่ก่อนไปดูแต่ละห้อง เราอยากให้ทุกคนเข้าใจคอนเซ็ปต์ที่มีสัญญะเป็นกรวยจราจรซะก่อน โดยคุณเป๋ง บุญชัย เทียนวัง เจ้าของโฮสเทลเล่าให้เราฟังว่า

“จากที่ผมได้เดินทางท่องเที่ยวมาพอสมควร คิดว่าสิ่งที่ผู้คนประทับใจในหลายๆ ครั้ง ไม่ได้อยู่ตามแหล่งท่องเที่ยวของแลนด์มาร์คต่างๆ เหล่านั้นหรอก แต่อยู่ที่บรรยากาศบนท้องถนนและวิถีชีวิตของชาวบ้านตามแบบวิถี local lifestyle ต่างหาก ผมมองอย่างนั้น และความเป็นวิถีชีวิต คนเดินบนท้องถนน บรรยากาศต่างๆ บนท้องถนนนี่แหละ ที่เขามักจะตื่นตาตื่นใจ ผมเลยอยากจำลองบรรยากาศบนท้องถนนเหล่านั้นมาเป็นส่วนหนึ่งในงานออกแบบของโฮสเทล”

เดินทางด้วยห้องพัก 6 รูปแบบ

นอกจากการตกแต่งด้วยกรวยจราจรที่เคยใช้งานจริงแล้ว ยังมีสัญญาณไฟจราจร รวมถึงไฟหัวเตียงที่ดีไซน์ให้เหมือนเป็นไฟหน้ารถยนต์ เหล่านี้ช่วยสร้างความรู้สึกให้นึกถึงท้องถนนอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงสร้างคาแรกเตอร์แต่ละห้องล้อไปกับธีม อย่างชื่อห้องที่เป็นรถสาธารณะ 6 รูปแบบ ได้แก่ BTS, BUS, TAXI, SONGTAEW, TUKTUK และ BIGBIKE รวมทั้งหมด 4 ชั้น

ส่วนชั้นบนสุดมีพื้นที่ส่วนกลางให้ได้นั่งเล่นและพักผ่อนได้ทั้งแบบ outdoor และด้านในโซน self service kitchen ซึ่งแต่ละห้องก็แบ่งชื่อตามจำนวนผู้มาพัก แถมที่สำคัญยังมีภาพคอลลาจกราฟฟิกเป็นกิมมิคบนผนัง ที่รวบรวมสถานที่ท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางได้ด้วยชื่อห้องนั้นๆ

เสน่ห์ของที่นี่

คุณเป๋งยังบอกอีกว่า จิตวิญญาณแห่งการผจญภัย ถือเป็นสปิริตของนักเดินทาง ไม่ว่าจะมีงบในการเดินทางเท่าไหร่ก็ตาม โดยเฉพาะแบ็กแพคเกอร์ จึงสอดยิ่งคล้องกับแนวคิดของความเป็น urban lifestyle ที่ไม่ใช่ว่าจะอยู่สบายร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะติดเรื่องเสียงดังอยู่บ้าง เนื่องจากอยู่ติดถนน ซึ่งคุณเป๋งก็อยากจะคงเสน่ห์ตรงนี้ไว้ เพราะบรรยากาศแบบกรุงเทพฯ ที่แท้จริงต้องเป็นแบบนี้ อีกอย่างคือ คนที่มาพักก็จะได้สัมผัสวิถีชีวิตของคนกรุงเทพฯ แบบ local จริงๆ ที่ไม่เหมือนแหล่งท่องเที่ยวที่ตอนนี้กำลังถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อเอาใจชาวต่างชาติ เช่น ย่านนี้ยังคงมีร้านขายพระเครื่อง และความวุ่นวายของกรุงเทพฯ ระยะประชิด ฯลฯ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของกิจกรรมภายในโฮสเทลแห่งนี้ หรือแผนที่แนะนำสถานที่ท่องเที่ยวแบบโลคอล

ทำเลที่ตั้ง คือสิ่งสำคัญที่สุดของการทำโฮสเทล?

“ไม่น่าใช่… ไม่ใช่ครับ… ไม่ใช่ คือผมคิดว่าถ้าคุณเจ๋งพอ ต่อให้คุณอยู่ในรูไหน เขาก็จะดั้นด้นไปถึง location ได้ แต่สิ่งนี้ก็สำคัญเหมือนกัน เพียงแต่ผมคิดว่าไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุด บรรยากาศของการเป็นคอมมูนิตี้นั้นก็จะทำให้ผู้ที่เข้ามาพักรู้สึกถึงความเป็นเพื่อน ความมีชีวิตชีวาของพื้นที่ส่วนกลาง เหล่านี้ต่างห่างที่สร้างความรู้สึกพิเศษ และผู้คนอยากมาเข้าพัก นอกเหนือจากสิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน ทั้งความสะดวก สะอาด และปลอดภัย อาจจะมีบางแง่มุมเท่านั้นที่ใช่ แต่สำหรับเจ้าของที่ทำโฮสเทลแล้ว ก็ยังมีแง่มุมอื่นๆ ที่สำคัญไม่แพ้กัน”

เทคนิคการรีโนเวทและปิดจ๊อบภายใน 90 วัน

จริงๆ แล้วการรีโนเวทก็ขึ้นอยู่กับสไตล์ของแต่ละคน แต่สำหรับคุณเป๋งเลือกที่จะนำของที่รื้อออกบางส่วนกลับมาใช้ใหม่ เช่นหน้าต่างที่นำมาทาสีใหม่ กลายเป็น facade ที่สีสันสดใส รวมถึงเศษไม้ที่นำมาทำโต๊ะ เก้าอี้ตรงดาดฟ้า ทุกอย่างถูกชุบชีวิตใหม่ พร้อมด้วยประสบการณ์ในแวดวงการก่อสร้างของคุณเป๋ง จึงทำให้สามารถควบคุมการสร้างให้เสร็จอย่างรวดเร็วภายใน 90 วันได้ ขึ้นอยู่กับการเลือกตึกที่มีโครงสร้างแข็งแรง ออกแบบอาคารที่ง่ายต่อการก่อสร้าง เลือกใช้เฟอร์นิเจอร์ลอยตัว สุดท้ายคือทีมช่างต้องประสิทธิภาพและการจ้างแบบเหมาจ่าย

บทเรียนที่ได้จากการทำโฮสเทล

“ข้อดี คือเราได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กับนักเดินทางต่างชาติที่มีแบ็คกราวน์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทางวิธีคิด โลกทัศน์ และประสบการณ์ชีวิต ถ้ายิ่งเป็นคนช่างซักถาม พูดคุย ก็จะได้มุมมองทางความคิดใหม่ๆ คนเหล่านี้ได้มอบประสบการณ์ที่ดีที่น่าสนใจมากมายให้ผม และได้เปลี่ยนมุมมองในชีวิตและทำให้เราเห็นอะไรที่กว้างขวางมากขึ้น ส่วนข้อเสียของธุรกิจโฮสเทลคือเป็นธุรกิจที่เติบโตรวดเร็วมาก จากข้อมูลคือเมื่อ 2 ปี ที่ผ่านมายังมีเพียง 600 กว่าที่ แต่ตอนนี้มีประมาณ 1,200 กว่าที่ในกรุงเทพฯ ฉะนั้นการแข่งขันจึงสูงพอสมควร ธุรกิจนี้ต้องอาศัยการเก็บเล็กผสมน้อย เพราะมีข้อจำกัดด้านต่างๆ สิ่งสำคัญอยู่ที่สร้างความแตกต่างจากธุรกิจที่เขามีอยู่เดิม”

แนวโน้มในอนาคตกับความเสี่ยงของธุรกิจ

คุณเป๋งบอกเราแบบฟันธงไม่ได้ว่าอนาคตตลาดธุรกิจโฮสเทลจะเป็นไปในทิศทาศไหน เพราะในขณะที่มีโฮสเทลเปิดมากขึ้นทุกปีก็มีรายที่ล้มเหลวและหายไปเช่นกัน ส่วนความเสี่ยงที่เราถามถึงนั้น คำตอบกลับอยู่ที่ตัวแปรสำคัญอย่าง “ทำเล” แต่นี่ก็ยังวัดความเสี่ยงไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะตราบใดที่เจ้าของโฮสเทลสามารถรักษาฐานลูกค้าด้วยวิธีการต่างๆ แล้วยังได้กำไร ก็ถือว่าไม่เสี่ยง “ซึ่งจะเสี่ยงหรือไม่เสี่ยงก็ขึ้นอยู่ที่ต้นทุน และคุณภาพของไอเดียแต่ละคน”

การเป็นเจ้าของธุรกิจโฮสเทลต้องอาศัยใจรัก จะว่าง่ายก็ไม่เชิง เพราะอย่างแรกคือถ้าไม่มีเวลาให้ธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์ อย่าทำ! และเมื่อตัดสินใจจะทำต้องแตกต่างด้านไอเดีย บรรยากาศ และสุดท้ายความจริงที่ไม่ได้สวยงามเหมือนดีไซน์วาดฝันไว้ คุณเป๋งเตือนว่า อย่าลงทุนมาก เอาให้สวยประมาณนึงและทำให้ได้กำไรคืนไว หรือคิดเสมอว่าจะคืนทุนได้เมื่อไหร่

__________

Adventure hostel bangkok
ถนนพหลโยธิน พญาไท กรุงเทพฯ
theadventurehostel@gmail.com
facebook.com/adventurebangkok

RECOMMENDED CONTENT

14.ธันวาคม.2020

‘School Town King’ แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เป็นหนังสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงของ ‘บุ๊ค’ เด็กหนุ่มวัย 18 และ ‘นนท์’ วัย 13 ผู้เติบโตมาในชุมชนคลองเตย หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สลัมคลองเตย’ นอกจากความยากจนที่มาพร้อมกับสถานะทางสังคมที่เลือกไม่ได้แล้ว ทั้งบุ๊คและนนท์ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษา รวมทั้ง หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นแต่ความสำเร็จเชิงวิชาการก็ยิ่งทำให้เด็กเรียนไม่เก่งอย่างพวกเขาขาดความสนใจในชั้นเรียนลงไปเรื่อยๆ  ระบบการศึกษาที่น่าจะเป็นความหวังและเท่าเทียมกันของเด็กทุกคน กลับยิ่งบีบบังคับและผลักไสให้พวกเขาเป็นแค่ ‘คนนอก’ ของสังคมไปโดยปริยาย