ด้วยค่าเล่าเรียนสาขาแฟชั่นที่ค่อนข้างสูง การเรียนแฟชั่นในอังกฤษเลยไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในแต่ละเทอม นอกจากค่าเล่าเรียน นักศึกษาสายแฟต้องออกค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับการศึกษาด้วย โดยเฉพาะค่าวัสดุอย่างผ้า ซึ่งจำเป็นต่อการเรียนออกแบบตัดเย็บ แล้วก็เป็นความจริงอันโหดร้ายว่าวัสดุต่างๆ เหล่านี้บางอย่างมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้มีซับพอร์ตให้ทั้งหมด ยิ่งเวลาที่ต้องทำธีสิส ทุกคนใส่ไอเดียในการออกแบบลงไปเต็มที่ แต่ปัญหาคือไม่รู้จะหาวัสดุได้จากไหน ถึงจะหาได้ ก็ต้องเสียเงินเสียทองมากมายกว่าจะได้มา ถ้าอยากได้ผ้าหรือวัสดุดีๆ แตกต่าง หรือไฮโซหน่อย ก็ต้องควักเงินเองว่างั้นเถอะ ทำให้นักศึกษาหลายคนที่อาจไม่ได้มีพื้นฐานฐานะดีมากนัก ประสบปัญหาเงินทองไม่พอใช้สำหรับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในชีวิต
ซาราห์ เบอร์ตัน (Sarah Burton) ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์แห่งแบรนด์ อเล็กซานเดอร์ แมคควีน (Alexander McQueen) ผู้มารับช่วงต่อหลังจากที่แมคควีนจากโลกนี้ไปเมื่อ 10 ปีก่อน และถือว่าเป็นหัวเรือใหญ่ของแบรนด์มานับตั้งแต่นั้น บอกเลยว่าเข้าใจดีถึงความลำบากที่นักศึกษาสายแฟเหล่านี้ต้องเจอ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เธอจึงตัดสินใจส่งต่อบรรดาเศษผ้า ผ้าเก่า ผ้าเหลือใช้ และวัสดุต่างๆ ที่เกินจากการผลิตเสื้อผ้าของอเล็กซานเดอร์ แมคควีนให้กับนักศึกษาแฟชั่น โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนโปรเจ็กต์ธีสิสจบของนักศึกษา University of Westminster และ Central Saint Martins จากนั้นก็จะส่งต่อให้กับมหาวิทยาลัย รวมถึงสถาบันแฟชั่นทั่วประเทศอังกฤษ ไปจนถึงสก็อตเเลนด์ และเวลส์ กว่า 14 แห่ง เพื่อให้นักศึกษาได้ใช้วัสดุอันดีงามจากแบรนด์ลักชัวรี่นี้กันฟรีๆ ด้วย
“เราแทบจะไม่โยนอะไรทิ้งไปเปล่าๆ เลย” ซาราห์ เบอร์ตัน บอกกับ Vouge ทั้งหมดนี้เพราะเธอเองก็เป็นคนหนึ่งซึ่งเคยได้รับโอกาสจากตัวดีไซเนอร์ในตำนาน ลี อเล็กซานเดอร์ แมคควีน (Lee Alexander McQueen) เมื่อครั้งเริ่มต้นทำงานกับเขาตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็กฝึกงาน เธอจะเก็บเศษผ้าแทบทุกชิ้นที่เหลือใช้จากการขึ้นแพทเทิร์น ไปจนถึงกระบวนการตัดเย็บ เพื่อว่าเวลาที่แมคควีนเรียกหาตัวอย่างผ้าในการทำซีซั่นใหม่ เธอจะได้มี Reference ทุกอย่างให้เขาโดยไม่ขาดตกบกพร่อง ในการเสาะหาผ้าและวัสดุต่างๆ ที่นำมาตัดเย็บแต่ละซีซั่นนั้นไม่ง่ายเลย แถมโหดหินอีกด้วยหากไม่รู้ว่าจะหาผ้าอย่างที่ต้องการได้จากไหน แต่แมคควีนนี่แหละที่เป็นทั้งครูและเจ้านาย คอยช่วยเหลือเธอมาโดยตลอด ทำให้เธอรู้ซึ้งถึงคุณค่าของผ้าและวัสดุต่างๆ เป็นอย่างดี และพร้อมจะส่งต่อให้กับคนรุ่นใหม่ที่เป็นอนาคตของวงการแฟชั่น เป็นของขวัญวันแห่งความรักที่เชื่อว่าหากแมควีนยังมีชีวิตอยู่ เขาคงต้องทำไม่ต่างกัน
แทนที่เศษผ้าจะทิ้งไปเฉยๆ สุดท้ายไปจบลงที่ Landfill นี่จึงอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘Support System’ ของการทำธุรกิจอย่างเกื้อหนุนกันที่แท้ทรู อีกทั้งยังโปร่งใส รับผิดชอบทั้งต่อโลกและต่อสังคม แถมยังเป็นการสนับสนุนการศึกษาของคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชมมาก อเล็กซานเดอร์ แมคควีนเริ่มแล้ว เราก็อยากเห็นแบรนด์อื่นๆ เริ่มด้วยเหมือนกัน!
RECOMMENDED CONTENT
ชุดชั้นใน Calvin Klein นั้นเปิดตัวซีซั่น Fall 2019 กับพรีเซ็นเตอร์ชุดใหม่ กับเหล่าศิลปินและนักกีฬาชั้นนำของโลก