fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT – ‘แอนเดรีย ปอมปิลิโอ’ ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ผู้สร้างตำนานบทใหม่ให้ Onitsuka Tiger 
date : 5.กรกฎาคม.2019 tag :

จะเรียกว่าเขาคร่ำหวอดในวงการเสื้อผ้าบุรุษมาอย่างยาวนานก็คงจะได้สำหรับ แอนเดรีย ปอมปิลิโอ (Andrea Pompilio) ดีไซเนอร์ผู้เคยทำงานกับแฟชั่นเฮ้าส์ระดับลักซ์ชัวรี่มามากมายทั้ง Prada, Calvin Klein และ Saint Laurent จนกระทั่งก่อตั้งแบรนด์เมนส์แวร์ของตัวเอง AP (Andrea Pompilio) ในปี 2010

แล้วเขาก็ได้เจอกับ Onitsuka Tiger ครั้งแรกที่ญี่ปุ่น ตอนไปโชว์คอลเล็กชั่นของแบรนด์ตัวเอง จากนั้นจึงเริ่มทํางานกับสนีกเกอร์เลือดปลาดิบมาตั้งแต่ปี 2013 กับแคปซูลคอลเล็กชั่น Onitsuka Tiger x Andrea Pompilio

การก้าวเข้ามาทำหน้าที่ครีเอทีฟ ไดเร็กเตอร์ให้กับ Onitsuka Tiger อย่างเต็มตัวหลังจากคอลเล็กชั่นนั้น ทำให้เกิดความท้าทายใหม่ระหว่างแบรนด์สนีกเกอร์อายุกว่า 70 ปี กับความเป็นตะวันตกของดีไซเนอร์จากเมืองมิลาน จนถึงเวลานี้ก็เข้าปีที่ 6 แล้วที่เขาพิสูจน์ให้เห็นว่าความท้าทายทั้ง 2 อย่างนั้นมันไปด้วยกันได้

ในวงการเมนส์แวร์ ปอมเปลิโอคือผู้จับตามองเทรนด์ของสนีกเกอร์มาตลอด สำหรับเขา ที่มันกลายเป็นรองเท้าสามัญประจำวันของทุกคน น่าจะมาจากวัฒนธรรมอเมริกันป๊อปคัลเจอร์ จาก LA จนถึง New York 

แน่นอนว่าวัฒนธรรม Street ก็เป็นส่วนสำคัญที่ดีดให้สนีกเกอร์ จากสปอร์ตแวร์ กลายเป็นสินค้าในตลาด Hi-fashion ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กระแส Nostalgia ที่โลกแฟชั่นโหยหาความสนุกในยุค 80s-90s กลับมาเล่าใหม่อีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสนีกเกอร์สไตล์ป๊ะป๋า Dad’s Shoes หรือสไตล์ Chunky ที่ต้องมีทุกรันเวย์ 

ปอมปิลิโอนำเเรงบันดาลใจจากคัลเจอร์ที่เขาโตมาด้วยกันมาถ่ายทอดใน Downtown Rave คอลเล็กชั่นล่าสุด A/W 19 ที่เล่าเรื่องกลิ่นอายของปาร์ตี้ใต้ดิน ดนตรีเทคโน และแหล่งรวมตัวที่มักจะเป็นตามแถบนอกเมือง นี่คือเรื่องราวของวัยรุ่นหนุ่มสาวยุค 90s ที่เขาหลงใหล แต่ในคอลเล็กชั่นนี้เขานำมาเล่าใหม่ให้ปาร์ตี้ใต้ดินชานเมืองกลายเป็นคัลเจอร์ในย่านดาวน์ทาวน์แทน

เป็นเรื่องธรรมดาที่ศิลปินหรือดีไซเนอร์จะนำเเรงบันดาลใจจากศิลปะ ดนตรี หรือ ภาพยนตร์มาใช้เป็นวัตุดิบสร้างงาน แต่สำหรับปอมปิลิโอ การดูหนัง ดูละครเวที หรือไปมิวเซียมคือส่วนหนึ่งในชีวิตของเขาอยู่แล้ว สารตั้งต้นในงานออกแบบของเขาจึงเป็นอะไรที่มากกว่านั้น นั่นก็คือ ‘คน’ เขาเป็นมนุษย์เรียลิสติกคนหนึ่ง เวลาที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศ เขาชอบสังเกตคน เฝ้ามองชีวิตคนจริงๆ บนถนนหรือมองคนระหว่างรอขึ้นเครื่องที่สนามบินมากกว่าไปมิวเซียมเสียอีก

แต่จะว่าไป ต้นทุนของดีไซเนอร์แดนมิลานอาจจะดีอยู่แล้ว เขาเติบโตมาในครอบครัวศิลปิน พ่อเป็นสถาปนิก แม่เป็นศิลปินเซรามิก โดยมีคุณย่าเปิดร้านตัดเสื้อ คลุกคลีกับกองเศษผ้าและบรรดางานตัดเย็บมาตั้งแต่เด็กๆ และนั่นทำให้ปอมปิลิโอรู้ตัวว่าเขาอยากเป็นดีไซเนอร์ตั้งแต่อายุแค่ 8-9 ขวบ

สนีกเกอร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขา โดยเฉพาะในเมนส์แวร์ สำหรับเขา ‘Shoes and sock made the man different.’ มันคือ Stament ที่ทำให้เขาใส่ใจรายละเอียดในสนีกเกอร์ไม่น้อยไปกว่าเรื่องของเสื้อผ้าเลย

การทำงานของเขากับแบรนด์สนีกเกอร์ญี่ปุ่น ความยากคือการจับ 2 วัฒนธรรมมารวมกัน เมื่อ Onitsuka Tiger เป็นตำนานไปแล้ว ตั้งแต่รองเท้ารุ่น mexico 66 กับชุดแทร็กสูทสีเหลืองจากหนังอเมริกัน Kill Bill ภาค 1 (Quentin Tarantino, 2003) ซึ่งกลายเป็นรองเท้าไอคอนิกของ Onitsuka Tiger 

ถึงอย่างนั้นคัลเจอร์เรื่องแฟชั่นของคนญี่ปุ่นยังต่างกับฝั่งยุโรปหรืออเมริกาอยู่มาก ปอมเปลิโอบอกว่า คนญี่ปุ่นค่อนข้างแต่งตัวเรียบๆ คุมโทนอยู่ไม่กี่สี เช่น น้ำเงิน ดำ เทา ขาว ไม่ค่อยมีใครแต่งตัวโดดกว่าใคร เว้นแต่ว่าเป็นกลุ่มวัยรุ่น หรือว่าในย่านแฟชั่นจริงๆ เขาเข้าใจคัลเจอร์นี้ดี เขาทำงานอย่างเคารพในความเก๋าของ Onitsuka Tiger ขณะเดียวกันก็พยายามจะสร้างความท้าทายให้คนญี่ปุ่นเปิดใจรับป๊อปคัลเจอร์จากเขาด้วย 

ถ้าเป็นเสื้อผ้า เสื้อสไตล์ทหาร Military คือชิ้นโปรดของเขา แต่ถ้าพูดถึงสนีกเกอร์ เขาชอบความวิบวับ ขณะเดียวกันก็ชอบสีแมตต์ด้านๆ ความ Missmatch ของสีสัน ลวดลายที่มากกว่าลายเส้นไอคอนิกที่เราคุ้นเคย รวมถึงวัสดุที่เขานำมาใช้ในสนีกเกอร์คู่เดียวนี่แหละเป็นสิ่งใหม่ที่ท้าทายทั้งเขา ตัวแบรนด์ และแฟนๆ Onitsuka Tiger แบบสุดๆ 

เทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญสำหรับสนีกเกอร์ โดยเฉพาะ Onitsuka Tiger ที่แบกความเป็นแบรนด์รองเท้าสปอร์ตอย่าง ASICS เอาไว้ ที่เน้นฟังก์ชันการสวมใส่ควบคู่กับเทคโนโลยีมาตลอด ปฏิเสธไม่ได้ว่าปอมปิลิโอ ในฐานะดีไซเนอร์ใหญ่ที่ดูภาพรวมของทั้งคอลเล็กชั่นเองก็โดนจับจ้องเรื่องนี้มาโดยตลอดเหมือนกัน แต่ในพาร์ตของปอมเปลิโอ เขาให้ความสำคัญกับดีไซน์มากกว่าสิ่งอื่นใด เขาบอกว่ามันแยกกันชัดเจนอยู่แล้ว ระหว่างคนที่มองหารองเท้าใส่สบาย กับคนที่มองหารองเท้าดีไซน์ ‘สวย’ และหน้าที่ของเขาก็คือทำให้มัน ‘สวย’ เมื่อมีคนถามว่า แล้วเขาใส่เทคโนโลยีอะไรลงไปในแต่ละคอลเล็กชั่น เรื่องนี้จึงไม่ได้กดดันเขา  

“ถ้าคุณจะซื้อรองเท้าเพราะชอบที่มันเป็นแบบนั้น คุณไม่แคร์หรอกว่ามันเป็นเทคโนโลยีหรือไม่เทคโนโลยี แต่สำหรับ Onitsuka Tiger โชคดีว่าคุณอาจจะได้ทั้ง 2 อย่าง” เขากล่าวชัดเจนในจุดยืน

ปอมเปลิโอเป็นมนุษย์ที่ทำงานหนักจริงจังอีกคนหนึ่ง เขาทำงานกับหลายแบรนด์ รวมถึงแบรนด์ของตัวเองในเวลาเดียวกัน เพราะเขาชอบที่จะได้แยกร่างไปเจองานที่หลากหลาย รู้จักคนมากหน้าหลายตา ได้คิดงานใหม่ๆ ได้เจอความยากและท้าทายอยู่ตลอดเวลา นั่นคือลมหายใจของเขาเลยล่ะ ปอมปิลิโอบอกว่าถ้าให้เขาทำงานกับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ‘ฆ่าเขาเลยดีกว่า’ 

ทุกวันนี้เขายังใช้ชีวิตหลักๆ อยู่ในมิลาน แต่ก็บินไปบินมาระหว่างญี่ปุ่นและประเทศต่างๆ ราวกับเป็นกิจวัตรประจำวัน พร้อมทำงานผ่านอีเมล์ตลอดเวลา

เราไม่ปฏิเสธว่าตั้งแต่แอนเดรีย ปอมเปลิโอ มาทำหน้าทีดีไซน์เนอร์ใหญ่แห่ง Onitsuka Tiger ทิศทางของแบรนด์อาจไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนไป เพราะเขาไม่ได้จะมาเปลี่ยน แต่มามาร์กหลักไมล์ใหม่ให้กับประวัติศาสตร์ของแบรนด์เก่าแก่แบรนด์นี้มากกว่า Identity ของมันชัดเจนจนเราเห็นลายเซ็นความ ‘ไม่แมทช์’ ของเขาอยู่ในทุกคอลเล็กชั่น 

เหมือนที่เขาเคยบอกว่าเราจดจำประวัติศาสตร์ของบางอย่างได้ แต่ต้องไม่ลืมที่จะพามันเดินไปต่อด้วย…

 

RECOMMENDED CONTENT

1.มีนาคม.2022

แซมรู้สึกว่ายังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเล็กๆ ของแซมมากๆ แซมยังเป็นคนนึงที่แซมมองเรื่องดนตรีเป็นเรื่องของความสนุกอยู่ แซมชอบที่จะได้ทดลองเพลงต่างๆ วิธีการเขียนต่างๆ เหมือนกับดนตรีมันยังเป็นงานอดิเรกของแซมด้วย แล้วพอเราได้ออกมาทำเป็น Job ด้วยจริงๆ มันก็แฮปปี้ดี ไม่รู้ว่าจะเรียกตัวเองว่าศิลปินเต็มตัวได้ไหม แต่ว่าก็ทำอยู่เรื่อยๆ