fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

ระดมมาตรการรองรับสังคมสูงวัย ส่งเสริมไทยเป็นที่พักชาวต่างชาติวัยเกษียณ #APECพร้อมไทยพร้อม
date : 15.พฤศจิกายน.2022 tag :

ในปัจจุบัน หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้เข้าสู่ “สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ (Aged Society)” หมายถึง การที่สังคมมีสัดส่วนของประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งประเทศ ในขณะที่สัดส่วนของอัตราการเกิด และจำนวนประชากรวัยทำงานลดลง ซึ่งส่งผลกระทบทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม เช่น ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในวัยทำงาน ปัญหาผู้สูงอายุวัยเกษียณขาดรายได้หรือมีรายได้น้อยลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัญหาสุขภาพเพิ่มขึ้น ทำให้มีค่าจ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้นสวนทางกับรายได้ เป็นต้น

ที่ผ่านมา รัฐบาลมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยการออกมาตรการดูแลและเยียวยาหลายโครงการ ได้แก่ โครงการที่กระตุ้นให้คนไทยมีบุตรเพื่อเพิ่มอัตราการเกิด เช่น โครงการมารดาประชารัฐ ที่มุ่งให้สวัสดิการแก่ผู้ที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์และเลี้ยงดูบุตรจนถึงอายุ 6 ปี, โครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด ที่เป็นเงินช่วยเหลือเยียวยาให้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุครบ 6 ปี ที่อยู่ในครัวเรือนรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน ต่อปี รายละ 600 บาทต่อเดือน ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และโครงการเงินสงเคราะห์บุตร ที่เป็นเงินช่วยเหลือเยียวยาให้เด็กแรกเกิดจนถึงอายุครบ 6 ปี โดยผู้ปกครองต้องเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 หรือมาตรา 39 รายละ 800 บาทต่อเดือน ของสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการสำหรับผู้สูงอายุ เช่น มาตรการเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิม 600 – 1,000 บาทต่อเดือน เป็น 700 – 1,250 บาทต่อเดือน รวมถึงให้สิทธิประโยชน์การรักษาพยาบาลสำหรับผู้สูงอายุที่มีสิทธิบัตรทองได้อย่างครบวงจร โดยนอกจากการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุมโรคต่าง ๆ แล้ว ยังมีบริการเพื่อการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งบริการฉีดวัคซีน บริการตรวจวัดความดันโลหิต บริการตรวจเลือดคัดกรองเบาหวาน บริการตรวจคัดกรองปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ การให้ความรู้ในเรื่องการออกกำลังกาย การฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์ และการฝึกสมองป้องกันโรคสมองเสื่อม ซึ่งสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการจัดบริการโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพื่อให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ รัฐบาลยังเล็งเห็นถึงโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ โดยส่งเสริมให้ไทยเป็นสถานที่พักของชาวต่างชาติวัยเกษียณที่มีเงินทุนเพียงพอ โดยมีจุดเด่นจากค่าครองชีพที่ไม่แพง สภาพแวดล้อมที่ดี ภูมิอากาศไม่หนาวหรือร้อนเกินไป อาหารหลากหลายและอร่อยติดอันดับโลก คนไทยยิ้มแย้มแจ่มใสและเป็นมิตร มีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ (Nursing Home) ที่มีประสิทธิภาพ มีการรักษาพยาบาลและการบริการทางการแพทย์ที่มีศักยภาพสูง มีการจัดตั้งศูนย์ล่าม เพื่อให้บริการด้านภาษาต่างประเทศในทุกภาษาแก่สถานพยาบาล โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยวชั้นนำ พร้อมกันนี้ ยังมีกฎหมายรองรับการซื้อที่พักของชาวต่างชาติ และมาตรการในการอำนวยความสะดวกแก่ชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าไทย โดยขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดตามในบางกลุ่มประเทศ กรณีเดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาล รวม 90 วัน รวมถึงขยายเวลาพำนักในราชอาณาจักรไทยสำหรับกลุ่มพำนักระยะยาว (Long Stay Visa) จากเดิม 1 ปี เป็น 10 ปี นำร่อง 14 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน ฝรั่งเศส ฟินแลนด์ อิตาลี เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ญี่ปุ่น และแคนาดา ซึ่งจะมุ่งเป้าไปที่ชาวต่างชาติ 4 กลุ่ม ดังนี้ 1) กลุ่มประชากรผู้มีความมั่งคั่งสูง (Wealthy Global Citizen) 2) กลุ่มผู้เกษียณอายุจากต่างประเทศ (Wealthy Pensioner) 3) กลุ่มที่ต้องการทำงานจากประเทศไทย (Work – from – Thailand Professional) และ 4) กลุ่มผู้เชี่ยวชาญพิเศษ (High – skilled Professional) โดยให้มีอายุการตรวจลงตรา 10 ปี และอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรได้คราวแรกไม่เกิน 5 ปี สำหรับใช้ได้หลายครั้ง และเมื่อครบระยะเวลาอนุญาต ให้ขยายระยะเวลาขออยู่ต่อได้อีกคราวละไม่เกิน 5 ปี รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 ปี

RECOMMENDED CONTENT

9.กรกฎาคม.2020

ROKU (โร-คุ) คืออีกหนึ่งคอลเล็กชั่นที่ร่วมงานกับนักออกแบบระดับโลกอย่าง คอนสแตนติน เกอร์ชิค (Konstantin Grcic) โปรดักซ์ดีไซเนอร์ที่มีผลงานร่วมกับแบรนด์มากมาย อย่าง Muji และ Vitra และยังชนะรางวัลงานออกแบบมาแล้วนับไม่ถ้วน