fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit | คุยกับคุณ “อาร์ท อภิรัตน์ หวานชะเอม” ผู้นำการ Digital Transformation ภายใต้ SCG Cement-Building Materials
date : 29.ตุลาคม.2019 tag :

ในยุคของ Digital Transformation ยุคที่เหล่าองค์กรน้อยใหญ่นั้นกำลังปรับตัวกันอย่างมากเพื่ออนาคตและการดำรงอยู่ ในธุรกิจที่เล่นกันอยู่บนสนามใหม่ที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี วันนี้ดู๊ดดอท ได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณ​อาร์ท อภิรัตน์ หวานชะเอม Chief Digital Officer บริษัท SCG Cement-Building Materials จำกัด (หรือเรียกย่อ ๆ ว่า SCG CBM) หัวเรือด้านดิจิทัลขององค์กรที่อยู่คู่กับประเทศไทยของเรามาอย่างยาวนาน กับเรื่องราวการเปลี่ยนแปลง และความท้าทายของการตีโจทย์ Digital Transformation ให้กับองค์กรอายุเกิน 100 ปี

รู้จักกับคุณอาร์ท อภิรัตน์ หวานชะเอม

ตอนนี้ผมเป็น Chief Digital Office ของ SCG CBM ช่วยสนับสนุนการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย Digital Transformation และ Innovation ให้กับบริษัทในเครือทั้ง 6 บริษัท ผมจบสถาปัตย์จุฬาฯ แต่ตอนเด็ก ๆ เราชอบ คอมพิวเตอร์มาตลอด เลยไปเรียนต่อด้านคอมพิวเตอร์ที่สหรัฐอเมริกา และทำงานต่อที่นั่น ช่วงแรกก็ทำเกี่ยวกับงานออกแบบด้วยระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Added Design หรือ CAD) แล้วก็เปลี่ยนสายมาทำงานด้าน AI พอกลับมาที่ประเทศไทย ก็ได้ไปทำงานให้กับ Thomson Reuters ทั้งที่เมืองไทยและอังกฤษ จากนั้นก็ได้ร่วมงานกับ IBM และ KBank ซึ่งทำให้ได้เจอพี่สมคิด จิรานันตรัตน์ CIO ของ KBank ในขณะนั้น ที่ชวนผมไปทำงานกับกลุ่มบริษัท FinTech ใหม่ ชื่อ KBTG และเราเป็นรุ่นแรกที่เดินเข้าไปในตึกที่เมืองทองด้วยกัน

งานที่ KBTG คือจุดเปลี่ยนในชีวิตผมนะ ตอนแรกก็มีคนเตือนว่าจะไปจริงเหรอ เรายังไม่รู้ว่าทางธนาคารจะจริงจังกับคำว่า Digital Transformation ขนาดไหน แต่เราอยากออกจาก Comfort Zone อยากสร้าง Impact อยากเปลี่ยนมาทำงานด้านนวัตกรรมอย่างเต็มตัว 

เนื่องจากชีวิตการทำงานที่ผ่านมา ผมอยู่ในธุรกิจที่เป็น Service Industry มาโดยตลอด ก็เลยรู้สึกว่า Next Step อยากทำงานที่มี Product ที่จับต้องได้ดูบ้าง เพราะการ Transform จะมีความท้าทายกว่า จะต้องสร้างประสบการณ์ที่มีทั้ง Online และ Offline ซึ่ง SCG ก็เป็นบริษัทในลักษณะนั้น ประกอบกับ SCG เป็นบริษัทขนาดใหญ่ มีธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่หลากหลาย จึงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก สำหรับคนที่ชอบทำ Corporate Innovation อย่างผม

“ธุรกิจยุคใหม่ต้องหมกมุ่นกับลูกค้า”

Vision ของคุณอาร์ท?

“ธุรกิจยุคใหม่ต้องหมกมุ่นกับลูกค้า” (Customer Obsessed) และเน้นที่การสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าด้วยรูปแบบทางธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในระดับของ Experience อย่างที่ SCG CBM เราอยากเป็น Brand ที่คนจับต้องได้ เป็น Consumer Brand มากขึ้น ที่ผ่านมาเราเป็น B2B (Business To Business) ในอนาคตเราอยากเป็น B2B2C (Business To Business To Consumer) เราอยากรู้จักลูกค้า อยากใกล้ชิดกับเขา อยากไปช่วยดูแลชีวิตเขา อยากเปลี่ยนจากขายวัสดุก่อสร้าง เป็นบริการแห่งชีวิตที่ดีกว่า ตามคำขวัญขององค์กรที่ว่า “Passion for Better Living”

นอกจากนั้น เราอยากเป็น Tech Company ที่สร้างประสบการณ์ใหม่ ๆ ด้วยเทคโนโลยี ที่ทำให้เรารู้ใจลูกค้ามากขึ้น สามารถเข้าถึงและให้บริการลูกค้าได้ในวงกว้างขึ้น

Digital Transformation เริ่มยังไง กับบริษัทที่ใหญ่ขนาดนี้?

ถึงจะเรียกว่า Digital Transformation แต่เราจะไม่เริ่มที่ Digital นะครับ เราต้องเริ่มที่ Empathy เริ่มจากความเข้าใจลูกค้าเป็นอย่างดี ความสามารถหลัก (Core Competencies) ของ Digital Office จึงประกอบด้วย Design Business และ Technology ซึ่งเราเริ่มที่ Design โดยใช้ Design Thinking มาทำ Empathy มาหา Insights เข้าใจความต้องการของลูกค้าอย่างลึกซึ้ง ในระดับจิตวิญญาณกันเลย เช่นตั้งคำถามว่าอะไรคือการใช้ชีวิตที่กำลังเปลี่ยนไปของคนไทยและสังคมไทยในปัจจุบัน เช่น การที่เรากำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุรูปแบบใหม่ที่เรียก Active Aging การที่เราใช้ Social Media กันเยอะขึ้น เราใช้ชีวิต Online มากพอ ๆ กับ Offline เราพยายามเข้าใจ Dynamics ใหม่ ๆ เหล่านี้ เพื่อมองหา Values ที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งมากกว่าประโยชน์ใช้สอยพื้นฐาน

เมื่อเข้าใจ Values ที่ลูกค้ามองหาแล้ว เราก็พัฒนาสินค้าและบริการใหม่ ๆ  โดยใช้  Technology อย่างเช่น AI และ IoT เข้ามาเป็น Enabler เพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้ดีขึ้น รู้ใจลูกค้ามากขึ้น (Mass Personalization) และนำโมเดลทางธุรกิจใหม่ ๆ เช่น Platform O2O หรือ Subscription Economy มาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด (Exponential Growth)

ชีวิตและสังคมในโลกที่เต็มไปด้วย Digital?

ตอนเด็ก ๆ ผมเป็นแค่ Geek ที่ชอบและสนใจคอมพิวเตอร์ ชอบเขียนโปรแกรม เราไม่คิดเลยว่ามันจะกลายเป็นเทคโนยีที่เปลี่ยนโลก เปลี่ยนพฤติกรรม การใช้ชีวิต และการทำงานของทุกคนได้ขนาดนี้ คำว่า ‘Digital’ กำลังจะหายไป เพราะทุกอย่างเป็น Digital หมดแล้วนะครับ

การเข้ามาของ Digital ทำให้เกิดสิ่งใหม่ ๆ อาชีพใหม่ ๆ มากมาย เช่น Youtuber หรือ Blogger มันเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัว แม้แต่การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เราจัดสรรชีวิตให้เข้ากับพฤติกรรมดิจิทัลใหม่ ๆ ไปโดยปริยาย เช่น ตอนนี้ผมอยากได้ iPhone 11 ให้ทันวันที่ผมจะเดินทาง เพราะผมอยากถ่ายรูปมุมกว้างไปลง Facebook ดิจิทัลเปลี่ยน Lifestyle และ Context ของสังคม ลองคิดดูว่าตอนนี้เรา Connect กันได้ตลอด สื่อสารกันตลอดเวลา แชร์ความคิดเห็นกันเป็นหมู่ได้แบบ Real Time และเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ดิจิทัลกำลังทำให้มนุษย์เปลี่ยนไปเป็น Hive Organism

“อย่างแรกต้องรู้ว่าไม่รู้อะไร” 

องค์กรต้องรู้อะไรบ้าง ถึงจะเปลี่ยนได้ทันในโลกของ Disruption?

“อย่างแรกต้องรู้ว่าไม่รู้อะไร” ต้องมี Awareness ถึงสิ่งใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว อย่างที่สองต้องยอมรับความจริง ว่าสิ่งใหม่ ๆ เหล่านั้นกระทบกับธุรกิจเราอย่างไร เรากำลังโดน Disrupt อย่างไร สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ การที่อยู่มาวันหนึ่งลูกค้าไม่ต้องการเราอีกแล้ว “ธุรกิจเราหมดอายุเสียแล้วโดยไม่รู้ตัว”

ผมเชื่อว่าบริษัทต่าง ๆ จะยังคงอยู่ไปได้ แต่รูปแบบธุรกิจคงต้องถูกปรับให้เข้ากับยุคสมัย สำหรับ SCG ผมมองว่า ถ้าเรายังอยากจะอยู่คู่คนไทยไปอีก 100 ปี เราต้องถามตัวเองว่าจะสามารถสร้าง Value ใหม่ ๆ อะไรให้กับคนไทยได้บ้าง เพื่อที่เขาจะยังต้องการเรา

SCG  ที่ใหญ่ขนาดนั้นจะถูก Disrupt ได้?

ได้เสมอครับ ขนาดเกือบจะไม่มีความสำคัญเลยในการแข่งขันทางธุรกิจยุคใหม่ ที่เทคโนโลยีทำให้ธุรกิจขนาดเล็กสามารถแข่งขันได้อย่างทัดเทียมกับธุรกิจขนาดใหญ่ อย่าไปมองแต่ว่า Disruption  คือการที่ธุรกิจ A เข้ามาแข่งขันและพยายามที่จะโค่นธุรกิจ B มันไม่ใช่แบบนั้นที่น่ากลัว สำหรับผม Disruption ที่น่ากลัวที่สุด คือคำถามที่ว่า “ลูกค้ายังต้องการเราอยู่ไหม ?” อย่างสิ่งที่เกิดกับ Airbnb และโรงแรม หรือ Grab กับ Taxi ที่เป็นบริการในรูปแบบใหม่ซึ่งตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีกว่ารูปแบบที่มีอยู่เดิมเป็นอย่างมาก ลูกค้าก็เลยไม่ต้องการธุรกิจเดิมอีกต่อไป มันไม่เกี่ยวกับ Size และเขาก็อาจจะไม่ได้ตั้งใจมา Disrupt เรา แต่ “พอมีเขา ลูกค้ากลับไม่ต้องการเราอีกต่อไปแล้ว

“ธุรกิจเราหมดอายุเสียแล้วโดยไม่รู้ตัว”

ความยากของ Digital Transformation?

หลายด้านมากครับ โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่แบบ SCG ที่เปรียบเสมือนเรือเดินสมุทรที่ต้องใช้ระยะทางหลายกิโลเมตรเลยในการตีวงกลับ Momentum คือสิ่งที่ทำให้ยากต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็น ขนาดขององค์กรเอง วัฒนธรรมองค์กรที่มีมา Mindset ของคนที่ชินกับการมองธุรกิจแบบเดิม ๆ สำหรับผมแล้ว Transformation จึงไม่สามารถเริ่มที่เทคโนโลยีได้ แต่ควรจะเริ่มจากการปรับ Mindset ของผู้บริหาร พนักงาน และวัฒนธรรมองค์กรเป็นอย่างแรก

องค์กรใหญ่มักถูกตีกรอบด้วยต้นทุนและประสิทธิภาพ ทำอย่างไรที่จะสร้าง Mindset ที่สามารถคิดนอกกรอบ ที่กล้าท้าทายสิ่งที่เคยเป็นมา ที่ต้องเริ่มจากลูกค้าเป็นหลัก ที่สามารถทดลองไอเดียทางธุรกิจใหม่ ๆ ได้อย่างรวดเร็ว และ Fail-Fast นี่คือความท้าทายที่องค์กรใหญ่ ๆ ต้องเจอ ที่สำคัญต้องทำให้ Transformation เป็นเรื่องของทุกคนในองค์กร เป็นเรื่องที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้อย่างเป็นรูปธรรม หลายครั้งที่ Transformation  ถูกมองเป็นภาพลบ พนักงานส่วนใหญ่มองว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง มองว่าคนทำ Innovation ต้องเป็นเทวดา กลายเป็นภาพจำที่เป็นอุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงองค์กรให้สำเร็จ

SCG Transformation ไปกี่เปอร์เซ็นต์แล้ว?

ผู้บริหาร SCG มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนมากในการเปลี่ยนองค์กรสู่ธุรกิจยุคใหม่ พร้อมทั้งสื่อสารกับทุกคนถึงความจำเป็นและแนวทางของ Digital Transformation มีการนำแนวคิดที่เรียกว่า Zone to Win ที่ผมถือว่าเป็น Best Practice ของ Corporate Innovation มาประยุกต์ใช้อย่างกว้างขวางและเป็นรูปธรรมในเกือบทุกส่วนขององค์กร พอผมเข้ามาช่วยผลักดันเรื่อง Digital มันจึงไม่ยาก ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารสูงสุดอย่างชัดเจนและต่อเนื่อง คนพร้อม องค์กรพร้อมอยู่แล้ว ผมมองว่า SCG เป็นองค์กรที่ Mature ค่อนข้างมากในเรื่องนวัตกรรมและการพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ เป็นองค์กรของ “นักสร้าง นักทำ” มี Bias Towards Actions ที่เป็น Mindset ที่สำคัญมากสำหรับธุรกิจยุคใหม่ และยังมีวัฒนธรรมองค์กรแบบ Bottom Up ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม เราพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ ด้วย Micro Enterprise โดยมอบหมายให้พนักงานกลุ่มเล็ก ๆ บริหารธุรกิจด้วยตัวเองเหมือนเป็น CEO CTO โดยมีเงินทุนและ OKRs ที่ชัดเจนในการพิสูจน์อย่างรวดเร็ว ว่าธุรกิจนั้น Desirable เป็นที่ต้องการของลูกค้า Practical ทำได้จริงขยายผลได้จริง และ Feasible สามารถสร้างมูลค่าได้”

“EQ สำคัญกว่า IQ”

ชีวิตของผู้บริหารองค์กรแสนล้าน?

นี่อาจจะเป็นคำตอบที่ไม่ใช่สำหรับทุกคนนะครับ “ผม Optimize ชีวิตเพื่องาน” ดำเนินชีวิตให้สามารถทำงานได้ดีที่สุด สร้าง Impact ให้กับองค์กร ลูกค้า และทีมงานให้ได้มากที่สุด อย่างงานที่ Digital Office ผมบอกน้อง ๆ เสมอว่าพวกเราโชคดีที่ได้มีส่วนช่วยในการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับองค์กรที่อยู่มาแล้วกว่า 100 ปี ก้าวไปสู่ยุคใหม่และสร้างประโยชน์ให้กับคนไทยไปได้อีก 100 ปี ผมคงโชคดีที่หา Passion ของตัวเองเจอ ไม่เคยรู้สึกว่างานคืองาน ทุกเช้าตื่นมา ผมจะคิดถึงทีม คิดถึงหน้าที่ของเราว่ามีอะไรที่ยังไม่ได้ทำ ยังทำได้ไม่ดี หรือยังทำได้ไม่เร็วพอ ซึ่งอันนี้สำคัญที่สุด Speed of Innovation เป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ในยุคนี้

การแบ่งเวลาระหว่างบริหารงานกับบริหารชีวิตก็เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผมเรียนรู้ที่จะดูแลตัวเอง พยายามออกกำลังกาย ดูแลร่างกาย สมองและจิตใจ  กินอาหารให้ถูกต้องและดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้เรามีประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงาน และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ ไม่หยุดที่จะมองหาไอเดียใหม่ๆ ไม่กลัวที่จะผิด ไม่กลัวที่จะโง่

การเป็นผู้บริหารที่ดี ผมว่าเราต้องดูแล ‘อารมณ์’ ตัวเองให้ดีที่สุด อันนี้สำคัญมากเพราะเราต้องเจอคนเยอะ เป็นทั้งผู้นำ เป็นที่ปรึกษา เป็น Mentor เป็น Influencer ให้กับทุกคน จะทำอย่างไรให้จิตใจแจ่มใส เปิดกว้าง และคิดบวกอยู่ตลอดเวลา ในแต่ละวันที่น้อง ๆ เดินมาหาเรา จะทำอย่างไรให้มีพลังบวกให้กับน้องเสมอ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ท้าทายมากและมีความเชื่อมาโดยตลอดว่า “EQ สำคัญกว่า IQ”

ผมเล่นโยคะเพื่อให้ร่างกายและจิตใจอยู่ในสภาพที่ดีที่สุด ทำ IF (Intermittent Fasting) ทานอาหารวันละมื้อ IF ทำให้สมองผมปลอดโปร่ง คิดอะไรได้ทะลุและคมขึ้น มีเวลาประชุมกับน้องๆ มากขึ้นเป็นผลพลอยได้จากการไม่กินกลางวัน นอกจากนี้ ผมก็หางานอดิเรกที่ทำเราได้พักสมองและจิตใจ ท่องโลกหามุมมองใหม่ๆ ในเรื่องของชีวิตและการทำงาน”

“SEE the End Before You Begin”

ชื่นชอบความท้าทาย?

ผมชอบเล่นกีฬาที่เป็น Extreme Sports ชอบดำน้ำ ดำถ้ำ ดำเรือจม เคยได้ยินไหมครับว่าปลาหลาย ๆ ตัวไม่เคยรู้ว่ามันอยู่ในสิ่งที่เรียกว่าน้ำ เพราะไม่เคยออกจากน้ำ เราเองก็ไม่ค่อยตระหนักถึงสิ่งที่เรียกว่า ’ชีวิต’ เพราะอยู่กับมันตลอดเวลาและคิดว่ามันจะมีไปเรื่อย ๆ เวลาที่เราทำอะไรที่ใกล้ความตาย มันทำให้ผม Appreciate การมีอยู่ของชีวิตมากขึ้น ให้ความสำคัญในการใช้เวลาที่เหลืออยู่ให้คุ้มค่าที่สุด

เวลาผมเริ่มทำงานที่ไหน จะบอกตัวเองว่างานนี้ยังไงก็จะจบลงในที่สุด ไม่ว่าจะจบเพราะผมโดนไล่ออก หรือเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นที่อยากทำมากกว่า ดังนั้น ในช่วงที่อยู่กับงานนี้ ผมจะทำอย่างไรให้ได้ผลลัพธ์ดีที่สุดกับองค์กร ทีมงาน และสังคม อยากจะจบแบบไหน แบบที่มองกลับมาด้วยความภูมิใจ หรือด้วยความเสียดายที่มัวแต่กลัวและไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ การคิดอยู่ตลอดเวลาว่าทุกสิ่งต้องจบลงนั้น ช่วยให้ผมกล้าตัดสินใจในสิ่งยาก ๆ ในเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงได้โดยไม่ลังเล

Passion ของคุณอาร์ท?

Passion ของผมตอนนี้คือการสร้างคนให้กับองค์กร คนที่มี “ความสามารถ” (Talented) มีความรู้รอบด้านแบบที่เรียกว่า T-Shape Professional มี Mindset เหมาะสมกับงานด้านนวัตกรรมและการทำธุรกิจยุคใหม่ ผมเป็นคนที่ไม่ชอบคำว่า ‘เก่ง’ ผมมองว่ามันเป็นการแปะป้ายที่ ขาว หรือ ดำ เกินไป Binary เกินไป มันอาจจะเหมาะในยุคที่ผ่านมา ที่ความเก่งมันวัดได้ง่ายตรงไปตรงมา เช่น ดูจากคะแนนสอบ หรือสถาบันที่จบมา แต่ในยุคนวัตกรรม เรามองหาคนที่ Well-rounded คนที่เข้าใจคน เข้าใจโลก เข้าใจธุรกิจ และ Technology มีความคิดสร้างสรรค์ กล้าคิดนอกกรอบ กล้าท้าทาย กล้าลอง กล้าล้มเหลว ผมเลยไม่ใช้คำว่าเก่งแล้ว เพราะมันมองแบบเดิม ๆ ไม่ได้แล้ว เราใช้คำว่า Talented ตามหาคนที่มีความสามารถ และชุดความคิดที่เหมาะสมกับองค์กรและการทำงานในรูปแบบใหม่ ๆ เช่น Growth Mindset และ Can-do Attitude

“Humble Passionate Fearless”

ทำให้ตอนนี้มองหาทีมงาน ที่จะเป็นอนาคตของ SCG?

อนาคตขององค์กรคือคน ผมเริ่มที่การสร้างทีมและหาคนที่มีความสามารถ มีทักษะที่ธุรกิจต้องการ และที่สำคัญมี DNA ในแบบของเราเข้ามาร่วมทีม คนที่ Humble Passionate และ Fearless

อยากชวนคุยว่า คนที่มีความสามารถตอนนี้ไม่ได้มาจากสถานศึกษา หรือ มีวุฒิการศึกษาระดับสูงเท่านั้น แต่กลับมาจากคนที่มี Passion มีไฟแรงกล้าในเรื่องใหม่ ๆ และฝึกฝนด้วยตัวเองจากช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลายที่สามารถเข้าถึงได้ในปัจจุบัน ผมเลยมีแนวคิดจะทำโครงการ Apprentice with Digital Office Program หรือ ADOP ซึ่งเป็นโครงการที่เปิดโอกาสให้คนที่สนใจทั่วไปที่ผ่านการคัดเลือกแล้วมาฝึกงานกับ Digital Office จะเรียนอะไรมาก็ได้หรืออาจไม่ต้องจบปริญญาก็ได้  ขอให้สามารถเรียนรู้ Skills ใหม่ๆ ด้าน Digital เช่น Coding UX/UI หรือ Data Science ได้ดี และที่สำคัญเป็นคนที่มี Passion และมี Mindset ที่เหมาะกับการสร้างนวัตกรรมและพัฒนาธุรกิจใหม่ ๆ

ผมมองโครงการนี้เป็นก้าวที่สำคัญ เป็นการเปิดโอกาสที่ทัดเทียมให้กับทุกคนที่มีความสามารถ ให้ได้ร่วมงานกับองค์กรระดับประเทศอย่าง SCG และเป็นการรองรับการ Re-Skill พนักงานปัจจุบันที่อยากก้าวเข้าสู่อาชีพใหม่ เริ่มต้นอนาคตการทำงานในโลกธุรกิจยุคใหม่ ถ้าคุณกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone กล้าที่จะท้าทายตัวเอง นี่คือโอกาสของคุณ “ก้าวสู่โลกใหม่ เราจะไปด้วยกันครับ

 .

ขอบคุณพื้นที่ : Open House, Central embassy 

RECOMMENDED CONTENT

22.มกราคม.2020

เบื้อหลัง The Fast and the Furious: Tokyo Drift ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2006 กำกับโดย Justin Lin เป็นหนึ่งภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ถึง 5,300 ล้านบาท