fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT | คุยกับ ‘โน้ต – กฤษดา ภควัตสุนทร’ กับช่วงเวลา 2 ปีมีเรื่องอยากเล่าเต็มไปหมด ใน ‘FLOW’ นิทรรศการครั้งล่าสุดของเขา
date : 29.พฤศจิกายน.2019 tag :

เรามาเยือน Harper’s BAZAAR Studio เพื่อดูนิทรรศการเดี่ยวครั้งที่ 2 ในชีวิตของ โน้ต – กฤษดา ภควัตสุนทร เหตุผลเเรกเพราะเราชอบผลงานเขามานาน กับอีกเหตุผลคือนี่เป็นการกลับมา Solo หลังจากแสดงงานเดี่ยวครั้งเเรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ถือว่าเป็นการทิ้งช่วงนานสำหรับศิลปินคนหนึ่งอยู่เหมือนกัน 

เรื่องราวที่ผ่านเข้ามาในชีวิต เรื่องการมีลูก เรื่องสุขภาพ สิ่งที่ได้พบเจอในวงการศิลปะ รวมถึงการถูกกระตุ้นจากคนรอบข้าง วันหนึ่งเขานั่งมองงานตัวเองที่ทำในช่วงปี 2018-2019 แล้วตัดสินใจว่าควรจะมีนิทรรการเดี่ยวครั้งที่ 2 ในชีวิตได้แล้วสักที 

นิทรรศการ Flow ครั้งนี้จึงเหมือน Wrap up 2 ปีแห่งการครุ่นคิดของเขา

“ระหว่างทางคิดมาว่าอยากทำงานขึ้นมาเซ็ตหนึ่งเพื่อแสดงเดี่ยว แต่ก็คิดไม่ออกสักที เพราะมีเรื่องอื่นเข้ามาแทรกตลอด งานพวกนี้เป็นงานที่ผมทำเก็บมาเรื่อยตลอด 2 ปีมานี้ ไม่ได้คิดแต่เเรกหรอกว่ามันจะมาอยู่ด้วยกันได้ แต่พอเอามากองรวมกันที่สตูดิโอ เออ ไปด้วยกันได้แฮะ

“ครั้งนี้วิธีทำงานต่างจากปกติของผมโดยสิ้นเชิง ซึ่งชอบเริ่มจากการคิดงานเป็นเซ็ต ต้องมีกระบวนการโน่นนี่ ต้องเริ่มจาก 1 ถึง 10 อย่างนั้นผมจะรู้ว่าพอทำงานชิ้นหนึ่งแล้ว ชิ้นต่อไปจะต้องเป็นแบบไหน แต่รอบนี้ผมกลับปล่อยตัวตามสบายแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน พอมีเรื่องราวอะไรเข้ามากระทบ ผมก็รู้สึกอยากสร้างงานขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง ถึงแม้สิ่งนั้นผมจะยังไม่เคยทำ หรือวัสดุที่ไม่เคยใช้มาก่อนก็ตาม การทำงานที่ไม่ถนัด กลายเป็นว่างานพาตัวผมมาถึงจุดนี้ จะหยุดก็ไม่ได้เมื่อเริ่มทำแล้ว พอกระบวนการเริ่ม ความมีวินัยตามมา ถ้าไม่มีวินัย งานจะไม่มีวันสำเร็จ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่งานสอนผมอย่างหนึ่ง” 

‘Wolf’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขาเมื่อปี 2014 หรือการที่เคยทำแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเองชื่อ Wolfkind เองก็ตาม ทำให้คำว่า Wolf ทั้งเป็นสัญลักษณ์ในตัวงานและตัวของโน้ต-กฤษดา ไปโดยปริยาย การไม่ได้มีหมาป่าเลยในงานโซโล่ครั้งนี้ เหมือนเป็นการเดินออกจากกรอบเดิมมาสู่สิ่งใหม่ เล่าเรื่องใหม่ที่ตัวเขาเองก็ตื่นเต้นกับมันเหมือนกัน

“ผมอยากทำอะไรที่มันสบายๆ โดยไม่ต้องพยายามสร้างฝาชีมาครอบตัวเอง คนเข้าใจว่า โน้ต คือหมาป่า พอถึงวันหนึ่งผมสงสัยว่าถ้าไม่มีคำว่า Wolf ไม่มีหมาป่าอยู่ในงาน คนจะมองผมแบบไหน ยังจะมีคนชอบอยู่หรือเปล่า มันเหมือนผมถ่ายทอดหมาป่าออกมาจนสุดทางแล้ว

“งานที่เคยทำมาส่วนใหญ่ถูกขายไปหมด ผมแทบไม่มีเก็บไว้อีกเลย ผมจึงเริ่มสร้างงานตั้งแต่วันแรกของปี 2018 แล้วตั้งใจว่าจะเก็บมันไว้ เพื่อดูว่าผมกำลังคิดอะไรอยู่ จนถึงวันแสดงงาน อยากรู้ว่าผมจะเอางานชิ้นแรกที่ทำในวันนั้นมาแสดงด้วยมั้ย เพราะจริงๆ ผมชอบจักกะจี้งานตัวเองในยุคเเรกๆ เหมือนยุคเริ่มค้นหาตัวเอง ศิลปินหรือคนทำงานดีไซน์ส่วนมากเป็นแบบนั้น ศิลปินส่วนใหญ่จะชอบสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ ณ ปัจจุบัน ถ้าผมเอางานยุคแรกมาแสดงได้ มันอาจเป็นการฉีกกรอบความรู้สึกใหม่ของตัวเองก็ได้” 

เมื่อเดินเข้ามาในแกลเลอรี่ คุณจะพบว่างานทุกชิ้นเหมือนมีเรื่องของตัวเองที่อยากเล่าเต็มไปหมด แต่ไม่รู้ว่ามันกำลังเล่าเรื่องอะไรกันแน่ ทั้งภาพวาดด้วยดินสอบนแคนวาส งานประติมากรรม และงาน VDO Art อาจมองว่ามันเป็นงานเชิงสัญลักษณ์ นามธรรม หรือบางอันก็เหนือจริง (Surrealist) ออกจะเวียร์ดๆ หน่อย อย่างงานชิ้นหนึ่งที่มีขี้จิ้กจกหล่อบรอนซ์ (Bronze) ประหนึ่งอนุเสาวรีย์สัมฤทธิ์อยู่บนภาพ เหตุเพราะมันเคยมีจิ้งจกมาขี้ใส่ตรงจุดนั้นพอดิบพอดี แล้วทำให้เขาขำปนหงุดหงิด หรือประติมากรรมรูปฟันสื่อถึงปัญหาสุขภาพช่องปากเรื้อรังของตัวเองที่ดูทั้งตลกและขนลุกในเวลาเดียวกัน

มันเหมือนกับจะเล่าไปคนละเรื่อง แต่ทุกเรื่องมีศูนย์กลางจากจุดเดียวกัน นั่นคือตัวเขา 

“วันหนึ่งผมไปหาหมอตรวจสุขภาพ หมอแนะนำให้ผมเลิกบุหรี่ เลิกเหล้า เลิกกินอาหารทะเล ให้ออกกำลังกาย ผมแบบ เห้ย แค่มาหาหมอวันเดียวนี่ชีวิตกูต้องเปลี่ยนขนาดนั้นเลยหรอวะ ผมซื้อเครื่องออกกำลังกายวันนั้นเลย หมดเงินไปหลายบาทเพื่อทำตามหมอบอก เพราะคิดว่ากูจะไม่เลิกเหล้า ไม่เลิกบุหรี่ งั้นออกกำลังกายแทนก็ได้วะ ซึ่งสุดท้ายไอ้เครื่องออกกำลังกายก็กลายเป็นงานประติมากรรมที่ตั้งไว้กลางบ้าน ผมรู้สึกอายตัวเอง จึงสร้างงานปั้นพวกนี้ขึ้นมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งความขี้เกียจของตัวเอง ไม่ได้มีเจตนาคิดลบต่อคนอื่นเลยจริงๆ ด่าตัวเองล้วนๆ”  

เราถามเขาว่าเคยคิดอยากทำงานระบายความรู้สึกต่อสังคมอย่างเช่นศิลปินคนอื่นๆ บ้างมั้ย เขาตอบแทบไม่ต้องคิดว่า ‘ไม่เลย’ เขาไม่ได้พยายามจะสร้างงานที่ดูต้องฉลาดล้ำอะไรแม้แต่น้อย  แค่อยากทำงานตามประสบการณ์ของตัวเอง และยืนยันว่าอยากให้คนดูเข้ามาดูแล้วคิดเองตามประสบการณ์ของตัวเองด้วย 

อย่างงานชิ้นหนึ่งที่เขาพูดถึง ‘Model’ จากประสบการณ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นดีไซเนอร์ คลุกคลีกับบรรดานางแบบต่างชาติมากหน้าหลายตาที่เข้ามาแคสติ้งที่ออฟฟิศเขา

“ผมเคยทำงานกับแฟชั่นมานาน ตอนนั้นเราไม่นึกถึงโมเดลพวกนี้หรอก เราคิดถึงแต่คอลเล็กชั่นเสื้อผ้า โมเดลคือสื่อกลางระหว่างคนสร้างงานกับคนเสพย์งาน โมเดลเลยถือเป็นวัตถุอย่างหนึ่งที่เราคอนโทรลเขาได้ เขาอาจจะมีความรู้สึกหรือไม่มีความรู้สึก นั่นเป็นสิ่งที่เราบอกให้เขาเป็น คำว่าโมเดลสะท้อนอดีตและปัจจุบันของผม”  

ปัจจุบันของโน้ต-กฤษดา ทำบริษัทครีเอทีฟและโฆษณาชื่อ James Dean เมื่อก่อนเราอาจเห็นเขาตามงานสังคมต่างๆ แต่ตอนนี้เขาบอกว่าเวลาส่วนใหญ่อยู่กับตัวเอง กับงาน กับลูก กับครอบครัวมากกว่า 

“บางทีไปงานสังคมแล้วมันจะเกิดความรู้สึกแบบ กูมาทำเ***ย อะไรวะเนี่ย (หัวเราะ) กลับบ้านไปอยู่กับลูก ไปทำงานเราดีกว่า”

งานบางชิ้นบนผนังสีขาวพูดถึงการเฝ้ามองการเติบโตของลูกชายในฐานะพ่อ ยืนยันสิ่งที่เขาพูดได้ดี

“ความ Flow ของผมไม่ได้หมายความว่า เดี๋ยวรอมีอารมณ์ก่อนค่อยทำงาน ผมตื่น 6 โมงเช้า เสร็จภารกิจครอบครัว ผมก็ไปสตูดิโอ ทำงานทันที เป็นแบบนี้ทุกวัน ถึงจะไม่มีโปรเจ็กต์อะไรก็มีรูทีนแบบนี้ งานทุกชิ้น พอเริ่มทำแล้ว มันเหมือนจี้หลังให้เราทำจนเสร็จ ยิ่งพอมีลูก ยิ่งทำให้มีวินัยมากขึ้น จะทำงานดึกแค่ไหนก็ต้องตื่นไปส่งลูก ส่งลูกเสร็จก็ไม่ได้เข้าบ้านนอนต่อ แต่ต้องเข้าบริษัท เข้าสตูทำงาน เพราะผมต้องรับผิดชอบทั้งลูกเรา และลูกน้องเรา” 

เรา : “ความตื่นเต้นในการทำงานลดลงบ้างมั้ยจากตอนโน้นถึงตอนนี้”

“ไม่เลย” เขาตอบแทบไม่คิดเหมือนเดิม

ในหนังสือที่ระลึกของนิทรรศการครั้งนี้ มีตอนหนึ่งเขาบอกว่า บางทีการไม่ได้ตั้งเป้าหมายเอาไว้ว่างานทุกชิ้นจะต้องออกมาเป็นเรื่องเดียวกันไปหมด อาจเป็นวิธีการทำงานที่เขาสบายใจและสนุกก็ได้

ถ้าหากคุณเข้ามาดูนิทรรศการนี้ จงอย่าคาดหวังว่าจะทำให้คุณรู้สึก Flow หรืออะไร เพราะมันเป็นเรื่องราวที่ Flow อยู่แค่ในหัวของศิลปินหนุ่มเอง มีเพียงเขาเท่านั้นที่รู้ว่ามันไหลมายังไง และมันจะ Flow ไปทางไหนต่อ… 

FLOW : A SOLO EXHIBITION โดย โน้ต – กฤษดา ภควัตสุนทร 

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 6 ธันวาคม 2562 

ตั้งแต่เวลา : 17:00-22:00 น. ที่ Harper’s BAZAAR Studio สุขุมวิท 71, ซอย ปรีดีพนมยงค์ 46 (BTS พระโขนง)

แผนที่ : https://goo.gl/maps/6VwtqZ4Zc7V6yDom9

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : Artist@notekritsada.net

www.notekritsada.net

IG : @note_kritsada

RECOMMENDED CONTENT

22.มกราคม.2020

เบื้อหลัง The Fast and the Furious: Tokyo Drift ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2006 กำกับโดย Justin Lin เป็นหนึ่งภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ถึง 5,300 ล้านบาท