เพียงแค่มีการประกาศว่า Marina Abramovic กำลังจะมีงานแสดงในไทย ในเทศกาล Bangkok Art Biennale 2018 ซึ่งเป็นเทศกาลศิลปะครั้งใหญ่ครั้งแรกของบ้านเรา ในแวดวงศิลปะต่างก็อุทานกันพร้อมกันว่า “แม่มา!” เราก็เลยสงสัยว่า ทำไมนะ ทุกคนถึงตื่นเต้นกับการมาไทยของเธอมาก เราเลยขอนำเอาประวัติคร่าวๆ ร่วมถึงผลงานสะเทือนโลกทั้งหลายมาให้ดูกัน อ่านจบ แล้วจะพบว่า “แม่มา!” ที่แท้จริง
Marina Abramovic บุคคลชื่ออ่านยากนี้ คือศิลปินหญิงจากประเทศยูโกสลาเวีย โดดเด่นในชิ้นงานแนว Performance Art หรือศิลปะการแสดง ถึงขั้นที่ทั่วโลกยกย่องให้เธอคือ คุณยายแห่งศิลปะการแสดง (Grandmother of Performance Art) ปัจจุบันอายุเธอก็เข้าทางการเป็นคุณยายจริงๆ ด้วยอายุ 70 ปีแล้ว
ชิ้นงานของเธอส่วนใหญ่มักเล่นกับผู้ชม เพื่อสำรวจประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เช่น ขีดจำกัดของร่างกาย ความเจ็บปวด จิตใต้สำนึก ส่วนวิธีการทางศิลปะของเธอคือการเลือกเผชิญหน้ากับความเจ็บปวด เลือด อารมณ์ ความรู้สึก และอื่นๆ เหมือนกับว่านี่คือการตั้งคำถามกับร่างกายและจิตใจของมนุษย์อยู่เสมอ
ชีวิตของ Abramovic นั้นเกิดในครอบครัวที่พ่อแม่เป็นสมาชิกของพรรคยูโกสลาเวีย นั่นเลยทำให้เธอถูกเลี้ยงดูมาแบบทหาร ช่วงเช้าต้องไปเข้ารีตกับคุณปู่ที่เป็นบาทหลวง เธอถูกแม่บังคับห้ามออกนอกบ้านหลังสี่ทุ่มมาจนถึงอายุ 29 ปี ส่วนครอบครัวของเธอนั้นทะเลาะกันรุนแรงจนถึงขั้นแยกทางกัน ซึ่งนั่นอาจทำให้การแสดงออกทางศิลปะของเธอมีความแข็งกร้าว และชัดเจนในแบบที่หลายๆ คนพูดว่ามันตรงเกินไปเสียด้วยซ้ำ
Abramovic เริ่มต้นเรียนศิลปะที่ Academy of Fine Arts ในเมือง Belgrade ตั้งแต่อายุ 19 ปี ก่อนทำอาชีพอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ Novi Sad ในประเทศเซอร์เบีย และขณะเดียวกันก็เริ่มต้นสร้างสรรค์ผลงานชิ้นแรกของตัวเองขึ้น หลังจากนั้นเธอก็แต่งงานและย้ายมาอาศัยที่กรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นการถาวร และยังคงรับหน้าที่เป็นอาจารย์สอนศิลปะหลายที่ อาทิ ปารีส เบอร์ลิน ฮัมเบิร์ก นักเรียนที่เรียนกับเธอก็เติบโตไปเป็นศิลปินชื่อดังหลายคน
เหล่านี้คือชิ้นงานชิ้นสำคัญของ Marina Abramovic ที่เราว่าสั่นสะเทือนทั้งวงการศิลปะได้มากเลยทีเดียว
Rhythm 10 (1973)
ผลงาน Performance Art ชิ้นแรกของเธอที่แค่ฟังคอนเซ็ปต์ก็ชวนเสียวไส้แล้ว โดยเธอแสดงการเล่นเกมแบบรัสเซีย ใช้มีด 20 เล่ม และเครื่องอัดเสียง 2 เครื่อง จากนั้นก็ไล่เอามีดปักตรงช่องว่างระหว่างนิ้วมือ จนกว่ามีดเล่มนั้นจะทำให้เธอได้รับบาดเจ็บ จากนั้นก็เปลี่ยนเล่ม ไปเรื่อยๆ จนครบ และเธอก็เปิดเครื่องอัดเสียงเพื่อฟังเสียงของความเจ็บปวดเหล่านั้น ก่อนที่จะเริ่มต้นทำทั้งหมดอีกครั้งหนึ่ง! การแสดงครั้งนี้เป็นที่พูดถึงอย่างมาก เพราะไม่ใช่แค่เธอได้สำรวจตัวเองผ่านการแสดงงานชิ้นนี้เท่านั้น แต่เธอยังได้สำรวจอารมณ์ผู้ชมผ่านงานชิ้นนี้ ซึ่งแน่นอนว่ามีผู้ชมหลายคนที่ถึงขั้นตะโกนบอกให้เธอหยุดการแสดงนี้
Rhythm 0 (1974)
นี่คือผลงานที่ถูกพูดถึงมากที่สุด และเป็นต้นแบบของงาน Performance Art อื่นๆ มาจนถึงปัจจุบัน Abramovic ปรากฏตัวในร่างเปลือยเปล่า พร้อมกับโต๊ะหนึ่งตัวที่วางสิ่งของต่างๆ นานาชนิด 72 อย่าง และเปิดโอกาสให้ผู้ชมสามารถนำเอาสิ่งของเหล่านั้นมาทำอะไรกับเธอก็ได้เป็นเวลา 6 ชั่วโมง สิ่งของก็ไล่มาตั้งแต่ ขนนก ช้อนส้อม ขนมปัง ขวดแชมเปญ สีน้ำมัน ขนเฟอร์ เสื้อผ้า กรรไกร มีดโกนหนวด โซ่ กุญแจมือ และปืนที่บรรจุกระสุนหนึ่งนัด ฯลฯ
ระหว่างนั้นผู้ชมต่างก็เดินเข้ามากระทำการหลายอย่างกับเธอ ทั้งสวมใส่เสื้อผ้าให้เพื่อไม่ให้เธออับอาย หลังจากนั้นก็มีผู้ชมคนหนึ่งเอากรรไกรมาตัดชุดของเธอจนขาดแหว่งทั้งชุด หรือมีผู้ชมคนหนึ่งเอาดอกกุหลาบมากดหนามลงไปที่ท้องของเธอ ที่น่ากลัวที่สุดก็คือมีผู้ชมคนหนึ่งหยิบปืนมาจ่อที่เธอแต่ไม่ยิง ก่อนที่จะมีผู้ชมอีกคนหนึ่งเดินมากดมือผู้ชมคนนั้นเพื่อลดปืนลง
Abramovic กล่าวเมื่อจบการแสดงว่า เธอเห็นว่าผู้ชมมีการแบ่งเป็นสองส่วนอย่างเห็นได้ชัด ส่วนแรกคือคนที่พร้อมจะทำร้ายเธอด้วยอุปกรณ์ต่างๆ นานาที่มี ซึ่งเผยให้เห็นถึงเบื้องลึกของจิตใจมนุษย์ที่เมื่อมีการกระทำรุนแรงกับอีกฝ่ายโดยชอบธรรมแล้ว ไม่แปลกอะไรถ้าการกระทำนั้นจะเกิดขึ้นอีก ส่วนอีกฝ่ายคือฝ่ายที่คอยช่วยเหลือเธอ ทั้งช่วยให้เธออับอายน้อยลง ช่วยเธอเช็ดน้ำตา (แน่นอน เธอร้องไห้ระหว่างการแสดง แต่ด้วยข้อแม้ที่เธอตั้งขึ้นเอง ทำให้เธอไม่สามารถแสดงสีหน้า อารมณ์ หรือเคลื่อนไหวได้ นอกจากจะเป็นสิ่งที่ร่างกายขับออกมาเท่านั้น)
การแสดงในครั้งนี้กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่ทำให้คนพูดถึงการปฏิบัติต่อคนอื่นในที่สาธารณะ การคุกคามทางเพศ หรือแม้แต่ประเด็นความซาดิสม์ และถูกใช้เป็นกรณีศึกษาทั้งในวิชาศิลปะ ไปจนถึงวิชาอื่นๆ ในแขนงวิทยาศาสตร์อีกด้วย
Relation in Time (1977)
ผลงานชิ้นหนึ่งที่เธอแสดงร่วมกับ Uwe Laysiepen (Ulay) ซึ่งงานส่วนที่พวกเขาทำร่วมกัน จะเริ่มเข้าสู่ประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ รวมถึงการสำรวจอีโก้หรือความปัจเจกของตัวศิลปินที่มีต่อศิลปินที่แสดงด้วยกัน รวมถึงผู้ชม อย่างงานชิ้นนี้คือการที่ทั้งสองผูกผมเปียหางม้าเข้าด้วยกัน และนั่งอยู่เฉยๆ ในท่าหันหลังพิงกัน อยู่ในแกลลอรี่เป็นเวลาร่วม 6 ชั่วโมง
Breathing In/Breathing Out (1977)
อีกหนึ่งการแสดงร่วมกันกับ Ulay กับการแลกเปลี่ยนอากาศกันผ่านปาก การแสดงชิ้นนี้แสดงเพียง 17 นาทีเท่านั้น เพราะทั้งสองสลบไปเนื่องจากมีปริมาณก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ในปอดมากเกินไป โดยทั้งคู่ให้นิยามผลงานชิ้นนี้ว่า มันคือการทดลองเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ผ่านการแลกเปลี่ยน และการทำลายซึ่งกันและกัน
Imponderabilia (1977)
นี่ก็เป็นชิ้นงานร่วมกันกับ Ulay ซึ่งจากการทำงานร่วมกันมาหลายชิ้นนั้น ก็ทำให้ทั้งสองตัดสินใจแต่งงานกัน สำหรับชิ้นนี้ใช้หลักการง่ายๆ เพียงแค่ทั้งสองในร่างเปลือยเปล่า ไปยืนขวางทางเข้าหลักของแกลลอรี่ ซึ่งเป็นทางเข้าและออกทางเดียวเท่านั้น เพื่อสำรวจอารมณ์ความรู้สึกของผู้คน ว่าพวกเขาจะตัดสินใจอย่างไรกับสถานการณ์นี้
Lovers (1988)
สำหรับเรา นี่คือชิ้นงานระดับตำนาน เริ่มต้นจากการขออนุญาตรัฐบาลจีนเป็นเวลา 8 ปี ก่อนเริ่มต้นแสดง และทั้งคู่ก็ใช้การแสดงชิ้นนี้เป็นการบอกลา โดยทั้งคู่เลือกกำแพงเมืองจีนเป็นสถานที่แสดง Ulay จะเริ่มต้นเดินเท้าจากกำแพงเมืองจีนฝั่งทะเลทรายโกบี (Gobi Desert) ส่วน Abramovic เริ่มต้นจากกำแพงเมืองจีนอีกฝั่ง นั่นก็คือฝั่งทะเลเหลือง (Yellow Sea) และเดินมาเจอกันตรงกลางทางเป็นระยะทางกว่า 2,500 กิโลเมตร และสิ่งที่ทั้งสองทำคือการกล่าวคำว่า “ลาก่อน” เพื่อเป็นการจบความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนที่สุดในมุมมองของทั้งคู่
The Artist Is Present (2010)
หลังจากการแยกทางกัน ทั้งคู่กับกลับมาพบกันอีกครั้งในการแสดงของ Abramovic ชุดนี้ โดยตัวเธอจะนั่งอยู่บนเก้าอี้ตัวหนึ่งกลางฮอลล์ของแกลลอรี่ และเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้มานั่งเก้าอี้ตัวตรงข้ามของเธอ เพื่อปฏิสัมพันธ์กับอีกฝ่ายโดยการจ้องมอง และผู้ชมก็สามารถนั่งกับเธอได้จนพอใจ ตลอดการแสดงครั้งนี้มีผู้ชมต่อแถวเพื่อรอคอยจะปฏิสัมพันธ์กับเธอเป็นจำนวนมาก
หนึ่งในนั้นก็คือ Ulay ซึ่งเขามาในคืนวันเปิดการแสดง และวิดีโอการจ้องตากันของทั้งคู่ก็กลายเป็นไวรัล อาจเพราะดนตรีเร้าอารมณ์ การแสดงออกผ่านการร้องไห้ของ Abramovic รวมไปถึงถูก build เนื้อหาของข่าวและคลิปวิดีโอว่า นี่คือการเจอกันครั้งแรกของทั้งคู่หลังจากยุติความสัมพันธ์กันที่จีน ซึ่ง Abramovic ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ทั้งคู่เพิ่งพบปะและพูดคุยกันเมื่อเช้านี่เอง ส่วนการแสดงที่เกิดขึ้นของเธอนั้น ให้เป็นหน้าที่ของผู้ชมในการตีความดีกว่า ผลงานชุดนี้คือการแสดง (ที่ไม่ต่อเนื่อง) เป็นระยะเวลายาวนานที่สุดของเธอ นั่นคือ 736 ชั่วโมง กับอีก 30 นาที
เชื่อว่าเมื่ออ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ทุกคนน่าจะเข้าใจได้อย่างดีเลยว่า ทำไมการมาถึงของ “คุณยายแห่ง Performance Art” ในงาน Bangkok Art Biennale ปีหน้าจึงเป็นที่ฮือฮานัก และที่สำคัญก็คือ มาลุ้นกันว่า ชิ้นงานจัดแสดงของเธอคืออะไร และจะพูดกับเราในประเด็นไหน จะสั่นสะเทือนกรุงเทพฯ และโลกใบนี้ได้มากแค่ไหน ต้องติดตามด้วยใจระทึก
Bangkok Art Biennale จะจัดขึ้นช่วงเดือนพฤศจิกายน 2018 ถึง กุมภาพันธ์ 2019 นี้
RECOMMENDED CONTENT
พบกับตัวอย่างแรกภาคต่อหนังซูเปอร์ฮีโร่ฟอร์มยักษ์จากมาร์เวล Marvel Studios’ Deadpool & Wolverine พุธที่ 24 กรกฎาคม โดยภาคนี้กำกับการแสดงโดย Shawn Levy และแน่นอนกับการกลับมาของ Hugh Jackman ที่ไม่มีใครสามารถแทนได้จากบท Wolverine