สำหรับคนในแวดวงศิลปะ โดยเฉพาะสาย Installation Art หรือศิลปะการจัดวางแล้ว เชื่อว่าต้องมีชื่อของศิลปินวัย 50 ชาวไอซ์แลนด์คนนี้อยู่ในดวงใจ สำหรับคนไทย เราอาจไม่คุ้นชินชื่อของ Olafur Eliasson มากนัก
แต่เชื่อเถอะว่า คุณน่าจะเคยผ่านตาผลงานของผู้ชายคนนี้กันมาบ้าง ถ้าเอาแบบที่น่าจะคุ้นเคย เขาคือคนที่เคยเข้าไปจัดแสดงผลงานในพระราชวังแวร์ซายส์ที่ฝรั่งเศสมาแล้วในปี 2016 หลังจากที่พื้นที่แห่งนี้ไม่เคยต้อนรับศิลปินให้ใช้พื้นที่จัดแสดงผลงานเป็นเวลาถึง 8 ปี และนั่นก็เลยทำให้ ‘Waterfall’ ผลงานศิลปะที่เป็นน้ำตกความสูงชะลูดกว่าใคร ไปโผล่อยู่กลาง Grand Canal ของพระราชวังก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว
↑ — Waterfall (2016)
↑ — Deep Mirror (2016)
Olafur Eliasson เป็นลูกครึ่งไอซ์แลนดิก–แดนิช ด้วยความที่เขาเกิดในประเทศที่มีภูมิเทศขึ้นชื่อในเรื่องธรรมชาติแบบสุดขีดทุกรูปแบบ ทำให้เขาเลือกที่จะสนใจความเป็นธรรมชาติ และมักเลือกเอามันมาใช้เป็นแรงบันดาลใจหลักในการสร้างสรรค์ผลงานอยู่บ่อยๆ ทั้งเรื่องของแสง สีสัน น้ำ อากาศ ท้องฟ้า เพื่อจะสร้างความตรึงตาตรึงใจให้ผู้ชมมากที่สุด
มาดูตัวอย่างผลงานที่สร้างชื่อ และเราๆ น่าจะคุ้นเคยกันมาบ้าง เริ่มต้นกันที่ ‘The Weather Project’ (2003) กับการจำลองพระอาทิตย์ดวงใหญ่มาไว้ในใจกลาง Tate Modern ของกรุงลอนดอน ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกเหมือนพระอาทิตย์กำลังจะตกดิน แต่ก็ดันมีคนมาสร้างกำแพงทับมันเสียก่อน ผู้คนส่วนใหญ่ที่มาชมผลงานชิ้นนี้ มักเลือกที่จะนอนจ้องดวงอาทิตย์ดวงนี้กับพื้นของแกลเลอรี่เป็นเวลานานๆ เพราะมันไม่ได้ทำให้เสียสายตาแต่อย่างใด
↑ — The Weather Project (2003)
ผลงานอีกหนึ่งชิ้นที่เราว่าน่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นก็คือ ‘Riverbed’ กับการเล่นเรื่องข้างนอก–ข้างใน คล้ายกันกับชิ้นงานดวงอาทิตย์ในเททโมเดิร์น คราวนี้ Olafur ทำ Louisiana Museum of Modern Art ในเดนมาร์คให้กลายเป็นธารน้ำหลาก และภูมิประเทศแสนแปลกตา จนเราเริ่มชักไม่แน่ใจแล้วว่า นี่คือการสร้างมิวเซียมทับธารน้ำธรรมชาติหรือเปล่านะ
↑ — Riverbed (2014)
อย่างที่บอกว่า นอกจากวัตถุดิบจำพวกธรรมชาติแล้ว สิ่งที่ Olafur ชอบหยิบมาเล่นอยู่บ่อยๆ ไม่แพ้กันนั่นก็คือสีสัน ซึ่งต้นทางของมันคือแสงนั่นเอง Feelings are Facts คือชิ้นงานที่เราว่าสีสันจัดจ้านที่สุดแล้ว ภายในฮอลล์ใหญ่ของ Ullens Center of Contemporary Art พื้นที่โรงงานเก่าที่แปลงโฉมกลายเป็นแกลลอรี่แสดงงานศิลปะใจกลางกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน
Olafur ได้ติดตั้งหลอดไฟฟลูออเรสเซ้นท์สีสันต่างๆ บนเพดาน พร้อมด้วยการทำพื้นแกลเลอรี่ให้มีความลาดเอียงอย่างจงใจ จากนั้นก็ปล่อยหมอกไอน้ำไปทั่วบริเวณ และปล่อยให้ผู้ชมได้ตื่นเต้น ซึมซับ และตะลึงงันไปกับบรรยากาศที่สีต่างๆ เหมือนกำลังจะดูดกลืนกันเป็นสีเดียว ซึ่งนั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกไม่มั่นคง บางคนถึงขั้นรู้สึกว่าตัวเองกำลังมีอาการตาบอดสีกันเลยทีเดียว
↑ — Feelings are Facts (2010)
ล่าสุด Olafur Eliasson ได้เปิดสตูดิโอแห่งใหม่ของเขาเองที่เมืองเรคยาวิค (Reykjavik) ของไอซ์แลนด์ ซึ่งบรรยากาศภายในให้ความรู้สึกเหมือนเรากำลังเข้าไปชมพิพิธภัณฑ์ส่วนตัวของเขาเอง เพราะในนั้นรวบรวมเอาผลงานตลอดชีวิตที่ผ่านมาของ Olafur นับตั้งแต่ปี 1994 โดยคัดสรรเฉพาะชิ้นงานประติมากรรม และศิลปะการจัดวางที่ไม่ใหญ่มาก จับใส่ในมุมต่างๆ ของสตูดิโอ เห็นแล้วเพลิดเพลิน จนอยากจะขอเข้าไปเดินเป็นที่สุด
โดยสถานที่แห่งนี้ ตั้งชื่อว่า Marshall House ซึ่งตั้งอยู่ในย่านอุตสาหกรรมของเมือง ภายในนอกจากจะมีแกลเลอรี่ดีงามให้เราได้เยี่ยมยลผลงานของ Olafur Eliasson แล้ว ยังมีร้านอาหารและคาเฟ่ขนาดน่ารัก ให้ทุกคนได้ลิ้มลองอาหารไอซ์แลนดิกขนานแท้ ท่ามกลางวงล้อมของผลงานศิลปะ ให้นักท่องเที่ยวและคนท้องถิ่นได้มีที่ทางในการสร้างสรรค์ความคิดและไอเดียใหม่กันได้อย่างเพลิดเพลินอีกด้วย
ความพีคไม่ได้อยู่แค่ภายใน แต่ตัวอาคารภายนอก ก็ตั้งโดดเด่นอย่างท้าทายอยู่บนเนินเขา ซึ่งนั่นทำให้เราเห็น Marshall House นี้มาแต่ไกล และนี่ถือว่าเป็นเรื่องราวดีๆ ของศิลปินยุคร่วมสมัย ที่พอโด่งดังไกลไปทั่วโลก ก็ถึงเวลาแล้วที่เขาจะทำอะไรเพื่อบ้านเกิดบ้างเหมือนกัน
RECOMMENDED CONTENT
เพื่อให้ผู้ประกอบการและประชาชนชาวไทย ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค สภาที่ปรึกษาทางธุรกิจเอเปค จึงนำ “เสียง” หรือความคิดเห็นจากประชาชนภาคธุรกิจ มีส่วนร่วมในการส่งเสียงผ่านการสำรวจของ ‘Business of the People Poll’ ร่วมออกแบบและขับเคลื่อนโดย สถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในจัดทำการสำรวจผ่านตัวแทนผู้ประกอบการไทยจำนวน 451 ตัวอย่าง โดยมุ่งเน้นหัวข้อไปที่ ‘ปัจจัย, ความท้าทาย, โอกาส และคำแนะนำ ในการเสริมสร้างการเติบโตทางธุรกิจในอนาคต’ เพื่อที่จะทราบถึงความเข้าใจ ข้อเท็จจริง และแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากผู้ที่มีบทบาทจริงในภาคธุรกิจของประเทศไทย