เวลาต้องเผชิญหน้ากับวิกฤติ คนไม่น้อยมักขอให้สิ่งศักสิทธิ์คุ้มครอง แต่มากกว่าวิกฤติระดับปัจเจกบุคคลคือวิกฤติของประเทศชาติ ไหนจะปัญหาปากท้อง ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ปัญหาคมนาคม ฯลฯ สิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจทำหน้าที่ไม่ได้ทั้งหมด เพราะคงเหนื่อยเกินไปสำหรับท่าน เราอาจต้องการฮีโร่ที่เป็นคนเป็นๆ มากู้สถานกาณ์อีกแรง
‘นารีขี่ม้าขาว’ คำทำนายเก่าแก่ที่ว่ายามประเทศชาติกำลังเจอวิกฤติ จะมีสตรีหาญกล้าคนหนึ่งขี่ม้าขาวมาช่วยให้ผ่านพ้นวิกฤติไปได้อย่างสวยงาม เป็นหนึ่งในคำทำนายที่เราต่างเคยได้ยินต่อๆ กันมา แม้ระบุแน่ชัดไม่ได้ว่ามาจากไหนกันแน่ แต่คงไม่สำคัญเท่ากับพลังอำนาจของมันที่มีผลต่อผู้ฟังซึ่งเชื่อไปแล้วอย่างไม่มีข้อกังขา
หลังจากได้ยินคำทำนายดังนั้น ยุรี เกนสาคู รู้สึกว่ามันช่างตรงกับสถานการณ์บ้านเมืองเราตอนนี้ซะเหลือเกิน เพราะที่ผ่านมาเราก็เคยมีผู้นำหญิงมาแล้ว หรืออย่างล่าสุดก็มีผู้สมัครเลือกตั้งอยู่หลายคนซึ่งเป็นผู้หญิง เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
ศิลปินไทยอย่างยุรีเองก็เติบโตมากับวัฒนธรรม ตำนาน เรื่องดวงชะตา โชคลาง เเละความเชื่อต่างๆ เหล่านี้เหมือนกัน เธอเชื่อว่าโมเดลแห่งความหวังในการมาของฮีโร่ไม่เคยตายไปจากสังคมไทย มันถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่นราวกับคุณยายวรนาถคายตะขาบให้ทายาทอสูร ถึงปัจจุบันก็ยังคงคลาสคลาสสสสสิก!
แล้วนารีคนไหนกันล่ะ จะเป็นผู้ขี่ม้าขาวมาช่วยประเทศให้พ้นปันหาได้? นี่จึงเป็นที่มาของ The Lady on a White Horse นิทรรศการแสนแฟนตาซีที่เล่าเรื่องความหวัง ความเชื่อของยุรี ท่ามกลางบรรยากาศประเทศไทยในช่วงที่ผ่านมา
กลิ่นอายวัฒธรรมตะวันออกมีอยู่ทั่วไปในงานของยุรี ทั้งไทยและโดยมาก-จีน เธอบอกว่าเธอชอบความจีนอยู่แล้ว ภาพหนึ่งเป็นปฏิทินจีนที่ยุรีสั่งมาจากอินเตอร์เน็ต ช่างบังเอิญที่เธอเปิดมาเจอวันที่ 24 มีนาคมพอดิบพอดี ซึ่งก็บังเอิญว่าตรงกับวันเลือกตั้งในประเทศไทยพอดีอีกด้วย ในปฏิทินจีนมีคำทำนายสำหรับวันนั้นว่า ‘ชีวิตประจำวันจะเหมือนพายเรือในอ่าง’ เหมือนความหวังของบ้านเมืองที่ไม่ต่างกับคำนายชวนเชื่อตามหน้าปฏิทิน เช่นเดียวกับสายรุ้ง สัญลักษณ์ของความหวัง ขณะเดียวกันก็เป็นสัญลักษณ์ของความเพ้อฝัน ความสวยงามระยะไกล เกินกว่าจะจับต้องได้ เหมือนรุ้งสีเลือนๆ หน้าทางเข้าแกลเลอรี่
ลอรีดาน่า ภัณฑารักษ์แห่งถัง แกลเลอรี่ รู้จักยุรีมากว่า 8-9 ปีแล้ว ตั้งแต่ปี 2011 เมื่อครั้งที่ยุรีไปแสดงงานที่ประเทศสิงค์โปร์ ลอนดอน และต่อมาก็คือที่ประเทศไทยครั้งนี้ โดยส่วนตัวเธอชื่นชมงานของยุรีอยู่แล้ว เธอว่ามันเป็นข้อดีที่ทั้งตัวศิลปินและคิวเรเตอร์เองเข้าใจสไตล์การทำงานของกันและกัน เธอจึงชวนยุรีมาแสดงงานครั้งนี้ จากนั้นศิลปินก็เริ่มงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ภายในระยะเวลา 6 เดือน ยุรีทำงานเซ็ตนี้ทุกวันอย่างเข้มข้น
ยุรี เกนสาคูทำงานในรูปแบบสื่อผสม ทั้งภาพวาด ซิลก์สกรีน วีดีโอ รวมถึงปะติมากรรมมาโดยตลอดอยู่แล้ว งานของเธอมีความยูนีกในรูปแบบคอนเซ็ปต์ชวล เหนือจริง เราค่อนข้างแปลกใจที่ครั้งนี้ศิลปินพูดเรื่องหนักๆ ในเชิงการเมืองมากขึ้น ก่อนหน้านี้งานของเธอเหมือนเป็นการระบายความอึดอัด ทั้งเรื่องส่วนตัว และในเชิงวิพากษ์สังคมมากกว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะเธอความรู้สึกอย่างรุนแรงต่อสภาพสังคมและบรรยากาศการเมืองบ้านเรา ซึ่งยังถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นอยู่มาก โดยเฉพาะสำหรับคนทำอาชีพศิลปิน การพูดความจริงไม่ได้เป็นเรื่องอึดอัดเสมอ
ความอึดอัดบางอย่างในสังคมที่รู้อยู่ว่าสิ่งนั้นมันผิดเพี้ยน ไม่ว่าเต็มใจหรือไม่ เห็นด้วยหรือไม่ แต่เราต่างก็ต้องยอมรับสภาพไปตามนั้น จนในที่สุดความผิดเพี้ยนกลายเป็นความชินชา หรือซ้ำร้ายกว่าคือการเชื่อไปแล้วว่านี่คือความ ‘ปกติ’
นิทรรศการครั้งนี้เหมือนการได้ระบายออกออกมาพร้อมกันพรวดเดียวเหมือนท่อแตกของศิลปิน เป็นเรื่องราวของความทุกข์จากการรอคอยนารีสักคนขี่ม้าขาวมาช่วย
เป็นความทุกข์ ความเจ็บปวดไม่พอใจที่เคลือบไว้ด้วยสีรุ้ง กากเพชรวิบวับ และลายพรางสีเรนโบว์
นิทรรศการ The Lady on a White Horse โดย ยุรี เกนสาคู
ภัณฑารักษ์ (Curator) : ลอรีดาน่า พาซซินี่ พาราคเซียนี่ (Loredana Pazzini Paracciani)
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 24 กรกฎาคม 2562
ที่ ถัง คอนเทมโพรารี่ อาร์ต กรุงเทพฯ (Tang Contemporary Art Bangkok) ชั้น 3 The Peninsula Plaza (ตึกที่มี Golden Place ข้างล่าง) ราชดำริ ปทุมวัน (BTS ราชดำริ)
RECOMMENDED CONTENT
เรียกได้ว่ากลายเป็นเพลงที่ถูกพูดถึงมากที่สุดทันที ตั้งแต่ปล่อยตัวอย่างเพลงและมิวสิควิดีโอสั้น ๆ มาให้แฟน ๆ ได้ฟังได้ชมกันไปก่อนหน้านี้ ถึงขั้นขึ้นเทรนด์อันดับ 1 #SadMovieTeaser บนโลกออนไลน์ โดยเฉพาะทวิตเตอร์ที่คว้าอันดับ 1 ทั้งไทยและต่างประเทศ