fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#ART – ‘The Unspoken Word’ นิทรรศการที่อยากให้ทุกคนมาเขียนจดหมายถึงตัวเองก่อนตาย
date : 21.มิถุนายน.2019 tag :

เรามาถึงคินใจ (Kinjai Contemporary Gallery) แกลเลอรี่ศิลปะร่วมสมัยที่จริงจังที่สุดในย่านฝั่งธนฯ เป็น ครั้งที่ 2 ตามคำชวนของ ตาล – อาภาพัชร์ ใจอินทร์ กลินน์ หรือ AKA ‘มาม่า’ ภัณฑารักษ์ (Curator) สาวอารมณ์ดีผู้มีอาชีพหลัก 2 อย่างคือเป็นนักรีเสิร์ชข้อมูลให้กับพิพิธภัณฑ์  และอีกอาชีพหนึ่งคือ Curate นิทรรศการต่างๆ ให้กับคินใจเสมอมา

คราวนี้เรามาเพื่อดูนิทรรศการที่เธอลงมือเก็บข้อมูลเองและเป็นศิลปินเองชื่อ The Unspoken Word’ งานเชิงทดลองอันเกิดจากประสบการณ์ของตัวเองเมื่อครั้งไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน Curating Art ณ ประเทศอังกฤษ

ความเหงาอย่างคนไกลบ้านทำให้เธอตั้งคำถามมากมายถึงการมีชีวิตอยู่ และสิ่งที่มาคู่กัน…ความตาย

Far Away from Home But Not Too Far From Death 

“ตอนเราไปอยู่ที่นั่นแรกๆ ไม่รู้จักใครเลย เป็นการไปอยู่คนเดียวที่ไม่มีเพื่อน เป็นความรู้สึกหว้าเว่ เพราะถูกตัดขาดจากความคุ้นเคยทุกสิ่ง เราเริ่มคิดถึงความตายว่า ถ้าตายไปตอนนี้จะมีใครรู้มั้ย แล้วก็นำไปสู่คำถามต่อมาว่า ถ้าตายไปวันนี้ เราจะเสียดายหรือเปล่า เสียดายอะไร 

แล้วไม่ใช่ทุกคนที่จะได้ถามคำถามนี้กับตัวเองจริงมั้ย บางคนอาจไม่เคยถามเลยจนตายไป เราว่าทุกคนควรถามคำถามนี้กับตัวเองอยู่ตลอดทุกช่วงชีวิต ต้องขอบคุณช่วงเวลาของการอยู่คนเดียว มันทำให้เรามีเวลาได้สำรวจตัวเอง”

ความคิดคำนึงถึงความตายและสิ่งที่ยังเสียดายอยู่ในหัวของคุณมาม่ามาตลอด จนกระทั่งกลับมาประเทศไทย เธออยากเล่าเรื่องในรูปแบบของศิลปะอะไรสักอย่าง แต่กว่าไอเดียเริ่มต้นจะเป็นรูปร่างก็ไม่ง่ายนัก ตอนแรกเธอตั้งใจว่าจะเดินไปสัมภาษณ์ตัวต่อตัวกับคนทั่วไป แต่มันคงยาก เพราะเป็นคำถามที่คนตอบต้องการเวลาคิดใคร่ครวญ อีกอย่าง อยู่ๆ เดินไปถาม คนไม่รู้จักกัน ใครเขาจะอยากเล่าเรื่องของตัวเอง

เธอเลยใช้วิธีส่งคำถามผ่านกูเกิล ฟอร์ม (Google Form) ไปหาคนที่รู้จักเพื่อถามถึงความเสียดายในชีวิตของคนเหล่านั้น ปรากฏว่าผลที่ได้รับกลายเป็นไวรัล จากเพื่อน คนรู้จัก ลามไปถึงเพื่อนของเพื่อน จนถึงคนไม่รู้จักมากมายที่ส่งเรื่องเล่าในชีวิตพวกเขามาให้เธอ

A Room Full of Regret

ภายในห้องมืด มีแค่แสงสว่างมัวๆ จากโคมไฟเพดาน ห้องที่มีแต่เรา แต่เสียงตะโกนกลับดังระงมไปทั่วจากความเสียดายของคน 16 คน ต่างอายุ เพศ อาชีพ ต่างสถานะทางสังคม แต่มีความรู้สึกทุกข์จากความเสียดาย เสียใจ อะไรบางอย่างในใจคล้ายๆ กัน

รูปภาพของสิ่งของและสมุดบันทึกที่วางคู่กันคือที่มาของเสียงตะโกนเหล่านั้น ทหารเรือเสียดายที่ทะเลาะกับพี่ชายที่ไม่สบาย ศิลปินสาวโทษตัวเองที่เคยเปลือยร่างให้คนแปลกหน้าดู หนุ่มคนหนึ่งเสียใจบางอย่างกับพ่อ ความเหงาของนักวิทยาศาสตร์ที่อยู่ลำพังมาตลอดชีวิตโดยมีหมา 1 ตัวเป็นเพื่อน (แต่ตอนนี้หมาได้ตายไปแล้ว) และยังมีอาม่าผู้คิดถึงความหลังในอดีต ฯลฯ

คุณมาม่าว่ายอมรับว่าเรื่องเล่าของผู้คนเหล่านี้อิมเเพ็กเธอจนรู้สึกซึมเศร้าไม่น้อยแต่สุดท้ายแล้วต้องถอยตัวเองออกมาเป็นคนมองอยู่ห่างๆ เพราะถ้าใส่ตัวเองเข้าไปในนั้นมันจะทำให้ดิ่งจนเกินไป “เรายอมรับว่าตัวเองเศร้านะ แต่เศร้าเสร็จแล้วกลับมาคิด เหมือนเป็นบทเรียนชีวิตของคนอื่นที่ทำให้เรากลับมาทบทวนตัวเองได้ มันทำให้เราอยากรีบกลับบ้าน คุยกับแม่มากขึ้น พาแม่ไปกินข้าว เราแค่ไม่อยากเสียดายเรื่องนี้”

If I Could Have a Time Machine …

เรื่องเล่าของคนอื่นทำให้คิวเรเตอร์อยากจัดกิจกรรมอะไรสักอย่างควบคู่กับการแสดงงานไปด้วย ให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมกับงานมากขึ้นโดยการเขียนจดหมายถึงตัวเองในอนาคต

คุณมาม่าได้ไอเดียไทม์ แคปซูล (Time Capsule) นี้มาจากงานศิลปะของฝรั่งหรือญี่ปุ่นที่ชอบจะเก็บรวมรวมสิ่งของทางประวัติศาสตร์ไว้ทั้งหมด ตั้งแต่ของจุกจิกยันของใหญ่ๆ แล้วขุดหลุมฝังไว้ เพื่อว่าอีก 10 ปี 100 ปี หรือ 1,000 ปีขุดออกมา จะได้เรื่องราวของตอนนั้นทั้งหมด เหมือนจดหมายเหตุที่มีเสน่ห์อย่างหนึ่ง อารมณ์เหมือนอ่านไดอารี่เก่าๆ ของตัวเอง

ไอเดียของการเขียนจดหมายถึงตัวเองในอีก 10 ปีข้างหน้า พร้อมกับฝังสิ่งของแทนความทรงจำในไทม์ แคปซูล คือการรีเช็กตัวเองว่า หากครั้งหนึ่งเราคิดแบบนี้ ตอนนี้เรายังคิดแบบนั้นอยู่หรือเปล่า แล้วยังเพื่อให้เราเข้าใจคนอื่นมากขึ้นด้วย เธอเชื่อว่าเรื่องราวยิ่งผ่านไปยิ่งมีคุณค่า เพราะเวลาทำให้มันมีคุณค่า มันเกิดขึ้นตอนนั้น อาจจะครั้งเดียวในชีวิตเราด้วยซ้ำ ไม่สามารถย้อนกลับมาได้อีกแล้ว เธอเลยอยากชวนทุกคนมาร่วมกันสร้างหลักฐานของเวลาด้วยกัน

Breaking the Boundary

The Unspoken Word ทำให้เรานึกถึงพิพิธภัณฑ์คนอกหัก (Museum of the Broken Relationships) ในโครเอเชียซึ่งเอาสิ่งของแห่งความล้มเหลวในความสัมพันธ์ของคนทั่วไปมาจัดแสดง คุณมาม่าบอกว่านั่นก็เป็นหนึ่งใน Reference ของงานนี้ด้วย มันเป็นงานวิจัยเชิงมนุษย์และสังคม เป็นศิลปะเชิงประสบการณ์คล้ายๆ กัน   

“เป็นเพราะตอนนี้เราอยู่ในยุคที่ศิลปะเกิดการผสมผสานของหลากหลายสื่อ ศิลปินหลายๆ คนดึงเอาเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือการเเพทย์มาเล่าเรื่อง ทำยังไงก็ได้ให้ศิลปะเสพง่าย เข้าใจง่ายสำหรับทุกคน ต้องให้คนดูแล้วเอาไปคิดต่อได้”

แต่มันเป็นเรื่องจริงอย่างโหดร้ายเหมือนกันที่ใครบอกว่าศิลปะเป็นเรื่องของโลกที่หนึ่งหรือชนชั้น ‘มีอันจะกิน’ เท่านั้น ในสังคมที่ยังต้องดิ้นรน ตราบใดที่ปากและท้องยังไม่อิ่ม ศิลปะก็ยังเป็นของฟุ่มเฟือยเกินไปในสังคมนั้นเสมอ

คุณมาม่าและคนเจเนเรอชั่นใหม่อีกจำนวนไม่น้อยพยายามจะทำลายกำแพงนั้นลง และสำหรับศิลปะบ้านเรา ตอนนี้มันก็ได้เริ่มแล้ว

The Grateful Death 

ถึงจะเศร้า แต่คิวเรเตอร์บอกว่างานทดลองครั้งนี้คุ้มค่าเหลือเกิน อย่างแรกมันทำให้เธอได้รู้ว่าสังคมเรายังต้องการพื้นที่ให้คนได้ระบายอีกมาก ไม่น้อยไปกว่าปัจจัย 4 อย่างที่สองคือการเรียนรู้ว่าคนเราไม่ควรตัดสินชีวิตใครเลยจากการที่เราเห็นแค่ด้านเดียวของเขา ในเมื่อเขามีอีกตั้งร้อยแปดด้านในตัวเอง “แล้วเราจะไปตัดสินว่าเขาเป็นคนดี คนเลว (ได้ยังไงวะ!)” เธอกล่าว

ขณะเดียวกันก็พบว่าเรื่องของคนอื่นไม่ได้ให้แค่ความเศร้า แต่ได้ให้บทเรียนทิ้งไว้ด้วย “สิ้งนี้มีคุณค่าเพราะมันคือเรื่องจริง ถ้าดูสิ่งของอย่างเดียว สิ่งของนั้นจะไม่มีความหมายต่อเราเลย แต่ถ้าได้อ่านเรื่องราวของมัน สิ่งของนั้นจะเปลี่ยนความหมายทันที กลายเป็นสัญลักษณ์ของเหตุกาณ์นั้นๆ นั่นแปลว่าทั้งภาพและเรื่องคือตัวเพิ่มคุณค่าให้แก่กัน”

เสียงเข็มนาฬิกาดังติ๊กต็อกภายในห้องแสดงงานยังชวนให้รู้สึกประสาทอยู่ในรูหู เหมือนกับเวลาในชีวิตที่บีบคั้นให้เราต่างดิ้นรนกันไปเพื่ออยู่รอดทุกเมื่อเชื่อวัน เพื่อที่สุดท้ายแล้วจะได้พบกับความสุข ความทุกข์ ความเจ็บป่วย และความตาย ไม่ว่าเราจะเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

อย่างน้อย The Unspoken Word อาจทำให้เราและใครๆ กลับมาใคร่ครวญถึงตัวเองในวัยวันที่ผ่านมา อะไรทำไปแล้ว อะไรยังไม่ได้ทำ สิ่งไหนผิดพลาด อะไรที่พอจะแก้ไขได้บ้าง สิ่งไหนสายไปแล้ว ทำได้แต่ยอมรับมัน และใช้ชีวิตกันต่อไปจนถึงวันสุดท้าย

แล้วคุณล่ะ ยังเสียดายอะไร?

นิทรรศการ The Unspoken Word

จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 7 กรกฎาคม 2562

ที่ คินใจ คอนเทมโพลารี แกลเลอรี่ (Kinjai Contemporary Gallery)

44 ถนนราชวิถี เขตบางพลัด กทม. (ตั้งอยู่บริเวณตลาดกรุงธนฯ เชิงสะพานซังฮี้ ฝั่งธนบุรี)

https://www.facebook.com/Kinjaicontemporary/?epa=SEARCH_BOX

และอ่านรายละเอียดของกิจกรรม Time Capsule เพิ่มเติมได้ที่ : https://www.facebook.com/events/386257248763006/

*กิจกรรมจะจัดขึ้นในวันอาทิตย์ที่ 23 มิ.ย. นี้ เวลา : 14.00 น. / รับจำนวนจำกัด ใครจะไปต้องลงทะเบียนก่อนนะ*

RECOMMENDED CONTENT

10.กันยายน.2021

โดยซิงเกิลแรก ที่เป็น solo album โดยมีกลิ่นให้แฟนชาวไทยนั้นตื่นเต้นกับซีนที่เธอได้สวมชุดผ้าไหม และ ชฎา ใน MV 'LALISA' ที่ประทับการปรากฏตัวของเธอในฐานะศิลปินเดี่ยวในตลาดโลก