Oscillation พิจารณาการเลื่อนไหลไปมาระหว่างจุดอ้างอิงและความคิดอันมากมายอย่างไม่หยุดนิ่ง อันเป็นภาวะที่ความหมายถูกสร้างขึ้นและผลิตซ้ำ นิทรรศการนำเสนอสภาวะของความไม่คงที่ในฐานะสิ่งที่มีศักยภาพในการสร้าง ซึ่งทั้งท้าทายและปรับเปลี่ยนความเข้าใจของเราอยู่ตลอดเวลา นอกจากนี้ นิทรรศการยังเปิดใจรับวิถีของการกลายเป็นและไม่เป็น รวมถึงต่อต้านเสถียรภาพและความลงรอยเพื่อนำมาซึ่งเหตุการณ์ที่อาจเกิดหรือไม่เกิดขึ้นและความเป็นไปได้อื่นๆ
Oscillation ประกอบไปด้วยผลงานใหม่ที่ทำขึ้นเพื่อนิทรรศการนี้โดยศิลปิน 5 ท่าน จากประเทศไทย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา แนวทางที่หลากหลายของศิลปินแต่ละคนมุ่งสำรวจความซับซ้อนของสังคมร่วมสมัยที่เต็มไปด้วยความผกผัน ในขณะที่ให้ความสำคัญกับความตึงเครียดที่เกิดจากการเปลี่ยนไปมาของสภาวะ การรับรู้ และการดำรงอยู่ ผู้ชมถูกเชื้อเชิญให้เข้าร่วมสำรวจและเคลื่อนที่ไปมาระหว่างโลกคู่ขนานที่ศิลปินสร้างขึ้น
Merz Maze 2 (drag on) เป็นการทดลองที่เปี่ยมไปด้วยความทะเยอทะยานของ เถกิง พัฒโนภาษ ที่สำรวจการปะทะกันของการรับรู้ทางสายตาและประสบการณ์ทางร่างกาย ผลงานชิ้นนี้ถือเป็นก้าวใหม่ที่มีความเสี่ยงในหนทางศิลปะของเถกิง โดยเฉพาะในแง่การละทิ้งการควบคุมอย่างสูงและการทดลองอย่างดีไปสู่การเปิดรับความบังเอิญและความยุ่งเหยิง Merz Maze 2 (drag on) นำเสนอพื้นที่ภายในที่สามารถเข้าถึงแต่ไม่อาจบรรลุถึง ซึ่งสานต่อการสืบสวนการไม่อาจเข้าถึงโลกภายในที่ศิลปินดำเนินการมาแล้วอย่างยาวนาน
ด้วยอิทธิพลจากการออกแบบกล้องส่องทางเรือดำน้ำและขั้นบันได “สกาลา เรเจีย” ของ จาน ลอเรนโซ เบอร์นีนี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางเข้าสู่วาติกัน อุโมงค์ขนาดใหญ่ของเถกิงเชื้อเชิญให้ผู้ชมเดินทางผ่านสิ่งที่ดูเป็นเส้นทางเดี่ยวแสนยาวแห่งความสับสนน่าฉงน งานจัดวางที่มีพื้นที่ด้านในที่มีเสน่ห์เย้ายวนเป็นการซ้อนชั้นและสร้างผิวสัมผัสอย่างซับซ้อนโดยอาศัยวัสดุที่คุ้นเคยกันดีในการบริโภคของมวลชนและการทำพิธีกรรมในแต่ละวัน ในงาน Merz Maze 2 (drag on) การเดินทางของร่างกายถูกผนวกเข้ากับการรับรู้ทางสายตา ในขณะที่ความตื่นเต้นก็ปะทะกับความผิดหวัง ซึ่งเป็นการตั้งคำถามต่อสัญญาของผัสสะของมนุษย์และของโลกแห่งวัตถุ
งาน Quark IV ของ เออิจิ ซูมิ นำเราสู่ดินแดนแห่งความตรึงใจที่สร้างความรู้สึกใกล้ชิดสิ่งที่มีขนาดเล็กที่สุดแต่บ่งชี้ถึงโลกภายนอกที่ยิ่งใหญ่ไพศาล อันได้แก่จักรวาล ชื่อผลงานชิ้นนี้กล่าวถึงอนุภาคมูลฐานที่เล็กที่สุดของสสารที่เรียกว่า “ควาร์ก” ซึ่งเป็นพื้นฐานของมวลทั้งหมดในโลกทางกายภาพ จากการทำงานประสานกันของแสง กลศาสตร์อากาศ และสารสีที่สะท้อนแสง ศิลปินสามารถจัดแจงอนุภาคขนาดเล็กที่วาบแสงและหมุนคว้างอย่างเช่นฝุ่นผงในแสงไฟ
ด้วยแรงบันดาลใจจากการบรรจบกันระหว่างศิลปะและวิทยาศาสตร์ งานเชิงกลศาสตร์ของซูมิสร้างประสบการณ์อันน่าอัศจรรย์ใจ งานจัดวาง Quark IV ถูกเติมเต็มด้วยงานเสียงที่ทำโดย ฮิโรชิ มิยาตะ ซึ่งช่วยขับเน้นความรู้สึกของการเป็นโลกอื่น ภาพอันน่าตื่นตาตื่นใจและชวนให้หลงใหลเคลิบเคลิ้มที่ลอยค้างอยู่กลางอากาศจะดำรงอยู่จนชั่วเวลาที่เครื่องกลหยุดเพื่อเริ่มทำงานใหม่ ซึ่งส่งสัญญาณให้เห็นวัฏจักรของพลังที่ซ่อนอยู่ที่ทำให้สสารเกิดขึ้น
สเตฟานี โพเวลล์ นำเสนอผลงานวิดีโอสองช่องที่ใช้ชื่อว่า After the Smoke Clears and the Dust Settles ซึ่งเป็นการสำรวจการเมืองของวัฒนธรรมพันธุ์ผสม ความคิดเกี่ยวกับเวลา และโครงสร้างอันน่าหวาดหวั่นที่รองรับสิ่งเหล่านี้อยู่ ในวิดีโอช่องหนึ่ง ร่างกายของผู้หญิงที่แบบบางถูกห้อมล้อมไปด้วยทัมเบิลวีดที่กำลังหมุนกลิ้ง ทัมเบิลวีดซึ่งเป็นพืชลักษณะแห้งชนิดหนึ่งที่กลิ้งไปตามลมและนำพาเมล็ดไปยังที่ต่างๆ และในทางพฤกษศาตร์ถูกจัดประเภทให้เป็นไดสปอร์ ถือเป็นอุปมาที่เฉียบคมสำหรับชุมชนคนพลัดถิ่น ในงานของโพเวลล์ ทัมเบิลวีดถูกฉาบด้วยแลกเกอร์สีดำ ซึ่งเป็นสุนทรียะที่เป็นที่แพร่หลายในวัฒนธรรมป๊อปอเมริกันที่มาจากการอ้างถึงผลิตภัณฑ์ “ที่เป็นเอเชีย”
ภาระของสิ่งเคลือบทางวัฒนธรรมถูกขยายใหญ่โดยวิดีโอช่องที่สองที่กำลังฉายภาพกลุ่มผู้หญิงสวมหน้ากากที่กำลังเล่นเกม “รูปปั้น” ซึ่งเป็นกระบวนการที่จบลงด้วยการทำให้ร่างกายเปราะบาง การละเล่นนี้ยังอ้างถึงแนวคิดเรื่อง “สุนทรียศาสตร์แห่งการสาบสูญ” ของนักทฤษฎีวัฒนธรรมชื่อ พอล วิริลิโอ ตามความคิดของวิริลิโอ เราให้ความสำคัญและแสวงหาความรวดเร็ว และในขณะเดียวกันกลับรู้สึกสิ้นหวังไม่อยากพลาดช่วงเวลาใดๆ งานของโพเวลล์แสดงนัยถึงความเป็นจริงที่บิดเบือนในสังคมที่เราอาศัยอยู่ ซึ่งมีการควบคุมแบบอัตโนมัติและดำเนินไปอย่างรวดเร็วมากขึ้นทุกขณะ
เฉกเช่นเดียวกับเทคโนโลยีภาพและเสียง พัฒนาการทางสังคมและการเมืองมุ่งที่จะหาความกระจ่างและ “ความมั่นคง” ในฐานะที่เป็นภาพความก้าวหน้าที่เป็นที่โปรดปราน ความสนใจของ อานนท์ นงค์เยาว์ นั้นอยู่ขั้วตรงข้าม งานวิดีโอและเสียงอินเทอร์แอคทีฟของเขาเป็นปฏิปักษ์ต่อความมุ่งมาดปรารถนาดังกล่าว ด้วยลักษณะดูทีเล่นทีจริงและมีไหวพริบ ผลงาน UnStoberry (this is not stoberry) นำเสนอและขัดขวางการถ่ายทอดสัญญาณสดและการฉายวิดีโอภาพผู้ชมโดยการทำให้ภาพสั่นไหว เบลอ และเปลี่ยนสภาพ
ในขณะเดียวกัน การถ่ายทอดสดสัญญาณวิทยุก็ดึงดูดความสนในของผู้มาชมนิทรรศการ แต่การถ่ายทอดก็ถูกขัดจังหวะทันทีที่ปฏิสัมพันธ์กับผู้ชมกำลังจะเกิดขึ้น ผลงาน UnStoberry ของอานนท์เผยความเป็นไปได้อื่นๆ ที่ความปรารถนาต่อ “ความมั่นคง” ตัดขาดออกไปอย่างได้ผล งานชิ้นนี้ทำหน้าที่เป็นเหมือน “เครื่องสร้างความสั่นคลอน” ที่ยอมให้เกิด “ตำหนิ” ที่ไม่เป็นที่ต้องการ หรือตัวตนที่เป็นไปได้ในแบบต่างๆ สิ่งที่คงที่คือส่วนเกินที่ควบคุมไม่ได้ และการปฏิเสธที่จะถูกบันทึกภาพและถ่ายทอด
ณ หอศิลปวิทยนิทรรศน์ สำนักงานวิทยทรัพยากร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
แสดงงาน 13 พฤษภาคม – 18 มิถุนายน 2559
RECOMMENDED CONTENT
ถ้าคุณได้ติดตามข่าวกันมาบ้าง คนไทยหลายๆคนนั้นอยู่ในวงการ Visual Effect ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานภาพยนตร์ หรืองานภาพนิ่ง