จบเทศกาลออสการ์กันไปสดๆร้อนๆ ทุกคนพอใจกับผลรางวัลที่ออกมากันบ้างไหม? หลายคนแฮปปี้ หลายคนผิดหวัง โอเค ไม่เป็นไร จริงอยู่ที่หนังดีกรีรางวัลออสการ์จะเป็นตัวการันตีที่ทำให้คนอยากดูมากขึ้น แต่ก็ไม่เสมอไปเช่นกันที่หนังดีจะได้รับรางวัลออสการ์ หรือแม้แต่เข้าชิงก็ตาม วันนี้เรามีคอลัมน์พิเศษเกี่ยวกับเวทีออสการ์กับการรวบรวมหนังดัง ผลงานชิ้น Masterpiece ของผู้กำกับในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์ ที่เราเชื่อว่าอยู่ในใจคอหนังหลายๆคน แต่ไม่ยักกะเคยได้เข้าชิงออสการ์สักกะตัว ย้ำว่า List นี้ไม่ใช่ไม่เคย Win นะ แม้แต่ Nominate ก็ยังไม่เคยเลย เราไปดูกันดีกว่าว่ามีเรื่องไหนกันบ้าง?
The Dark Knight Rises (2012)
ถึงทุกวันนี้ถ้าพูดถึงไตรภาคของแบทแมนโนแลน ส่วนตัวเราเองยังไงเราก็เชื่อว่าภาคจบ Rises นี่มันคือสุดยอดแล้วนะ ไม่เถียงเลยว่า The Dark Knight มีโจ๊กเกอร์ของ Heath Ledger อยู่ เลยทำให้มันดูประทับใจ แล้วเขาก็ตายแล้วด้วย โน่นนั่นนี่ แต่ถ้าถามถึงความกลมกล่อม และช็อตแสดงความใจสู้ของ Batman หลายๆครั้ง เราว่าภาคจบนี่ล่ะคือสุดทางแล้ว ถึงอย่างนั้นเวทีออสการ์ก็ไม่ได้คิดเหมือนกับเรา ด้วยเหตุผลอะไรไม่รู้ ทำให้ The Dark Knight Rises ไม่ได้เข้าชิงอะไรเลยสักกะสาชา ทั้งๆที่หลายคนคิดว่า ภาคจบของหนังไตรภาคมักจะมีอะไรปลอบใจเสมอๆเหมือนกับซีรี่ส์อื่นๆ แต่ไม่ใช่กับโนแลน
Léon: The Professional (1994)
ผลงานที่บ่งบอกถึงความเป็น Luc Bresson ได้อย่างชัดเจนที่สุดแล้วเรื่องนี้ ไม่ได้เข้าชิงออสการ์เลยสักกะตัว เราเข้าใจดีว่าปีนั้นหนังที่เข้าชิงรางวัล Best Pictures ค่อนข้างจะสายโหด มีทั้ง Pulp Fiction, Shawshank Redemption และรางวัลก็ตกเป็นของ Forrest Gump ที่สามเรื่องที่กล่าวมานี้เรารักหมดเลย แต่รางวัลอื่นล่ะ? ไหนจะการแสดงที่เยี่ยมยอดของนักแสดงนำฝ่ายหญิงหนู Natalie Portman วัยเด็ก ตำรวจโกงที่ยังคงอยู่ในใจใครหลายคนรับบทโดย Gary Oldman ในสมทบฝ่ายชายก็ไม่ได้กล่าวถึงเลย ก็ถือว่าน่าเสียดายอย่างมาก
50/50 (2011)
ใช่แล้วล่ะ หนังดราม่าปนตลกนิดหน่อย ที่หลายคนยกให้เป็นหนังโปรดอย่าง 50/50 ไม่เคยได้เข้าชิงออสการ์เลยสักกะตัว ทั้งๆที่ตอนที่ออกฉายก็เป็นกระแสพูดถึงกันไม่ใช่แค่ในอเมริกาเท่านั้นนะ ฝั่งยุโรปหรือบ้านเราเองก็ชอบเรื่องนี้ แต่ทำไมก็ไม่รู้ ที่เราว่าน่าเสียดายที่สุดคงเป็นสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ที่ โห โจเซฟ กอร์ดอน ลงทุนโกนหัวเลยนะ! แถมการแสดงในบทคนป่วยโรคมะเร็งของเขาก็ทำออกมาได้แบบสุดฝีมือเหมือนกัน ไม่รู้เพราะว่าลุคของหนังที่ดูเป็น Indie นิดๆรึเปล่า หรือเพราะ Seth Rogan มาเล่นด้วย มันเลยดูไม่จริงจัง? นั่นล่ะ พลาดแบบน่าเสียดาย
In the Mood for Love (2000)
หนังขึ้นหิ้งของปรมาจารย์ท่านหว่อง กา ไว เรื่องนี้ก็ไม่ได้รับสัญญาณติดต่อใดๆจากออสการ์ทั้งสิ้น ความเป็นหนังต่างประเทศเราก็ไม่ได้หวังไปถึง Best Pictures หรืออะไรนะ แต่เอาแค่เข้าชิงรางวัลสาขาหนังต่างประเทศก็ไม่ได้เลย เพราะในปีนั้นฝั่งจีนมี Crouching Tiger Hidden Dragon ของ Ang Lee เข้าชิง (แถมฝ่ายนั้นไปถึง Best Pictures ด้วยล่ะ) โอเค หนังหว่องอาจจะดูห่างไกลจากโลก Hollywood ล่ะมั้ง โถ่ แต่เรื่องนี้มันคือสุดยอดจริงๆ In the Modd for Love เป็นหนังชนิดที่กลับไปดูทุกวันนี้ถือว่าเป็นหนังครูของคนทำหนังได้เลย นอกจากเรื่องนี้ผลงานของ หว่อง กา ไว ก็ไม่เคยได้รับการเช้าชิงเช่นกัน จนมา The Grandmaster เรื่องล่าสุดนี่ล่ะ ถึงได้เข้าชิง เห้อ ออสการ์เอ๋ย นายพลาดล่ะ
Stardust Memories (1980)
แม้จะเป็นที่ทราบกันดีว่า Woody Allen ไม่เคยไปร่วมงานออสการ์ แต่ผลงานของเขาก็มักจะได้เสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเด่นๆทุกครั้ง แต่น่าเสียดายที่ผลงานที่มีการพูดถึงที่สุด และ Woody เองก็ยอมรับว่าเป็นหนังที่ชอบที่สุดเรื่องหนึ่งของเขา Stardust Memories กลับไม่ได้เข้าชิงออสการ์เลยสักรางวัลในปีนั้น คงเป็นเพราะกระแสที่ออกมาว่าหนังเรื่องนี้เป็นการทำเกี่ยวกับตัวผู้กำกับเอง แล้วมันออกมาดูแล้วโคตรจะหลงตัวเองสุดๆ แต่ถ้าคนที่เคยดู 8 1/2 ของเฟลลินี ปรมาจารย์นักทำหนังชาวอิตาลี ที่วู๊ดดี้ได้แรงบันดาลใจมาแบบเต็มๆในเรื่องนี้ จะค้นพบเลยว่า นี่เป็นผลงานของนักทำหนังชาวอเมริกันที่ทำออกมาได้มีจริตที่น่าสนใจ และน่าดูไม่แพ้กัน
The Terminator (1984)
ช่วงปลายปี 70’s ไปจนถึง 80’s กำลังเป็นช่วงที่ Hollywood กำลังตื่นตัวกับหนังฟอร์มยักษ์กันยกใหญ่ ตั้งแต่ Jaws, Star Wars. Alien, Raiders of the Lost Ark (อินเดียน่า โจนส์), E.T., Back to the Future เราไล่ได้ไม่มีหมดล่ะบรรดาหนังดังยุคม้วนวิดีโอ แต่หนึ่งในนั้นที่พลาดทุกสิ่งทุกอย่างจากเวทีออสการ์ก็คือ The Terminator หรือ คนเหล็ก ผลงานประกาศให้โลกรู้ของ James Cameron เมื่อไม่นานมานี้เราเพิ่งลองย้อนกลับไปดู Arnold ตอนหนุ่มอีกครั้ง Special Effects ที่อาจจะดูไม่เนียนในยุคนี้ แต่ถ้าลองเทียบช่วงตอนนั้น กับธีมหนังหุ่นยนต์ย้อนเวลามาตามฆ่าคน มันโคตรจะล้ำเลยนะ แม้ Best Pictures อาจจะไม่ถึง แต่อย่างน้อยพวก Special Effects หรือ Make Up ก็น่าจะได้บ้าง แต่ก็นั่นล่ะ I’ll be back ภาคสองกลับมากวาดไปเกลี้ยงเลย (ถ้านับเรื่องความคลาสสิคเราชอบภาค 1 กว่า)
The Big Lebowski (1998)
เวลาพูดถึงหนังไร้รางวัล หนังไร้คนพูดถึง ที่โคตรจะคัลต์และประสบความสำเร็จยังไงก็ต้องมี The Big Lebowski ของสองพี่น้องโคเอน รวมอยู่ด้วย ข้อนี้เราค่อนข้างเข้าใจทางออสการ์ล่ะนะ เพราะว่าตอนที่หนังเรื่องนี้ออกมา ถามตรงๆเถอะว่าใครจะไปเก็ตกับความล้ำของหนัง จะให้สาขานักแสดงนำเหรอ? Jeff Bridges ในลุคคนงงๆไม่มีงานทำไปวันๆ เป็นการแสดงที่เยี่ยมยอด แต่มันมาพร้อมบทบาทที่ฮอลลีวู๊ดยังงงๆอยู่เลย หรือ Screenplay บทพูดระหว่างตัวละคร ที่ฟังดูแล้วงงๆแต่รู้เรื่องและล้ำลึก อย่างเดียวที่ให้ได้ในเวลานั้นคือ “เวลา” ที่คนจะเข้าใจถึงความเจ๋งของหนังเรื่องนี้ในภายหลัง
The Shining (1980)
ถ้าจะพูดถึงความหักมุม การไม่ได้เข้าชิงออสการ์ที่สุด เราว่ามันต้องเป็นเรื่องนี้นี่ล่ะ การแสดงสุด Iconic ของ Jack Nicholson ในบทบาทนักเขียนสติแตก ที่ฉากหน้าแทรกประตูของเขา เห็นกันจนนึกว่าเรื่องนี้กวาดรางวัลทุกสถาบัน เปล่าเลย ไม่ใช่ที่ออสการ์ สาขานำแสดงชายของ Nicholson ก็ 0 สาขากำกับภาพยนตร์ของ Stanley Kubirck ก็ 0 หรือแม้แต่หนังยอดเยี่ยมก็ 0 ไม่รู้ว่าเพราะเหตุผลอะไร เพราะเป็นหนังสยองขวัญรึเปล่า? แต่ที่แน่ๆตั้งแต่เรารู้ว่าหนังระดับ The Shining ไม่เคยได้เข้าชิงอะไรเลย เราก็มองออสการ์แบบไม่ได้จริงจังอะไรเหมือนก่อนอีกต่อไป
Modern Times (1936)
หนังดังสุดคลาสสิคของ Charlie Chaplin ที่ประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกันต้องจารึก ถึงแม้จะยังคงเป็นที่พูดถึงกันถึงทุกวันนี้ แต่ในปีที่หนังเรื่องนี้ออกมา หนังกลับไม่ได้รับความสนใจจากเวทีออสการ์เลยสักนิด อาจจะเป็นเพราะหนังจิกกัดความเป็นประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมของอเมริกา และชีวิตชนชั้นทำงานในสมัยนั้นได้อย่างเจ็บแสบ (พอชาร์ลีทำหนังล้อเลียนฮิตเลอร์ อย่าง The Great Dictator ก็เลยได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงเพียบเลย) แต่ก็เป็นเรื่องดีที่ในภายหลังวงการภาพยนตร์ของอเมริกันก็ยังออกมายอมรับว่า Modern Times เป็นผลงานชิ้นสำคัญในเส้นทางการทำหนังของพวกเขา ทำให้หนังเรื่องนี้ยังมีคนพูดถึงตลอดจนปัจจุบัน
Blue is the Warmest Color (2013)
หนังรักเลสเบี้ยนจากฝรั่งเศสที่ได้รางวัลปาล์มทองคำ (Palme d’Or) รางวัลที่ถือเป็นที่สุดแล้วของการประกวดเทศกาลหนังเมืองคานส์ เป็นที่พูดถึงกันยกใหญ่ในวงการหนังช่วงปีสองปีที่ผ่านมานี้ และได้รับเสียงตอบรับล้นหลามของคอหนังมากมาย รวมถึงบ้านเราเองก็ชอบกันยกใหญ่ แต่… หนังเรื่องนี้ไม่ได้รับการเสนอชื่อเช้าชิงใดๆเลยจากเวทีออสการ์ บ้างก็ว่าเพราะคาบเกี่ยวช่วงปีที่หนังออกและเข้าฉายในอเมริกา ไม่รู้จะไปลงกับปีไหนดี หรือบางคนก็มองว่าฉากเลิฟซีนที่ชัดเจนของคู่รักเลสเบี้ยน (แต่ทำออกมาดูแล้วไม่อนาจารนะ) อาจจะดูเป็นอะไรที่ไม่ถูกทางกับเวทีออสการ์เท่าไรนัก ก็กลายเป็นว่าหายไปเงียบๆเลย แต่มีคานส์การันตีแบบนี้ เราว่าเหนือชั้นล่ะ
Writer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
ภาพหายากที่คุณไม่เคยเห็นมาก่อนเมื่อ Harrison Ford หลุดขำ กลางรายการให้สัมภาษณ์รายการทีวีของอังกฤษ This Morning เกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา #BladeRunner2049