“มาซาทากะ ทาเกะสึรุ” (Masataka Taketsuru) ผู้ก่อตั้งโรงกลั่น “นิกกะ” (Nikka Distilling) ในปี 1934 นั้นได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งวิสกี้ของญี่ปุ่น” เป็นคนที่วงการเหล้ากลั่นของญี่ปุ่นภูมิใจ
เขาเกิดที่เมืองโอซาก้า เมื่อปี 1894 ในครอบครัวที่มีโรงผลิตสาเก (ก่อตั้งในปี 1733) ปี 1919 เดินทางไปเรียนเคมีที่มหาวิทยาลัยกลาสโกว์,สก็อตแลนด์ และทำงานในโรงกลั่นวิสกี้ไปด้วย กระทั่งได้เมียเป็นสาวสก็อตแห่งเมืองเคอร์คินทิลล็อค ชื่อเจสซี โรเบอร์ตา “ริต้า” โคแวน (Jessie Roberta “Rita” Cowan) และเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในโรงกลั่นฮาเซลเบิร์น (Hazelburn) หลายปี
ทั้งคู่แต่งงานกันในปี 1920 และว่ากันว่านั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เจสซี โรเบอร์ตา โควาน กลายเป็น “มารดาแห่งวิสกี้ญี่ปุ่น” เพราะหลังจากแต่งงานกันไม่นาน ทั้งคู่ก็เดินทางกลับญี่ปุ่น เพื่อสานฝันให้เป็นจริงคือทำโรงกลั่นวิสกี้ของตัวเอง
เริ่มแรกเขาได้ทำงานกับโรงกลั่นโกโตบูกิยะ (Kotobukiya) ในโตเกียว ฐานะเป็นผู้ร่วมก่อตั้งโรงกลั่น เมื่อปี 1923 โดยหุ้นส่วนใหญ่คือนาย “ชินจิโร โตริอิ” (Shinjiro Torrii) หนึ่งในผู้ทำธุรกิจไวน์ในญี่ปุ่น ก่อนจะเป็นส่วนหนึ่งของยักษ์ใหญ่ซันโตรี (Suntory)
ปี 1934 “มาซาทากะ ทาเกะสึรุ” ตั้งโรงกลั่นของตัวเองชื่อไดอิ นิปปอน กาจู เค.เค. (Dai Nippon Kaju K.K.) ที่เมืองโยอิชิ (Yoichi) ทางเหนือของเกาะฮอกไกโด หลังจากใช้ประสบการณ์ที่เรียนรู้มาจากสก็อตแลนด์ พบว่าพื้นที่บริเวณนี้มีอะไรหลาย ๆ อย่างคล้ายกับสก็อตแลนด์มากที่สุด
ในญี่ปุ่น เจสซี โรเบอร์ตา “ริต้า” โคแวน ใช้ชีวิตเสมือนคนท้องถิ่นทุกอย่างทั้งการกินอยู่และภาษา ที่สำคัญเธออยู่เคียงข้างกับสามีตลอดเวลาแม้ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกต่อต้านอย่างแรงด้วยความที่เพราะชาวตะวันตก ครั้งหนึ่งเธอเคยถูกตำรวจสงสัยเป็นสายลับให้อังกฤษหรือรัสเซีย
เจสซี โรเบอร์ตา “ริต้า” โคแวน มีบทบาทสำคัญยิ่งในการช่วยสามีทำวิสกี้ล็อตแรกในปี 1940 นอกจากจะให้กำลังใจแล้ว แต่ยังช่วยทางการเงิน ด้วยการนำเงินที่ได้จากการสอนภาษาอังกฤษและเปียโนมาเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และยังใช้ความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของเธอ ดึงนักลงทุนมาช่วยสามีตั้งบริษัทด้วย
ต่อมาเขาเปลี่ยนชื่อโรงกลั่นเป็น “นิกกะ” (Nikka) ผลิตวิสกี้ขายครั้งแรกในปี 1940 ดังกล่าว ผลิตทั้งเบลนเดด วิสกี้ (Blended Whisky) และซิงเกิ้ล มอลต์ (Single Malt) หลากหลายรุ่น ปัจจุบันอยู่ในเครือบริษัทเครื่องดื่ม “อาซาฮี” และอยู่ในโปรแกรมทัวร์หลักของเมืองด้วย
เจสซี โรเบอร์ตา “ริต้า” โคแวน เสียชีวิตในปี 1961 ด้วยอายุ 63 ปี เรื่องราวของเธอยังอยู่ในความทรงจำของคนญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแวดวงการกลั่นวิสกี้ เธอได้รับการยกย่องให้เป็น “มารดาแห่งวิสกี้ญี่ปุ่น” นอกจากนั้นชื่อของเธอยังถูกใช้ตั้งชื่อถนนสายหลักในโยอิจิด้วย ขณะที่ มาซาทากะ ทาเกะสึรุ ผู้เป็นสามีในฐานะ “บิดาแห่งวิสกี้ญี่ปุ่น” เสียชีวิตในปี 1979 ด้วยวัย 85 ปี
เรื่องราวของทั้งคู่เคยถูกนำมาสร้างเป็นละครและฉายช่อง NHK เมื่อไม่นานมานี้ เป็นเรื่องราวแห่งความทรงจำของชาวญี่ปุ่น ไม่แพ้รสชาติที่ล้ำลึกของวิสกี้ของพวกเขาที่วันนี้แผ่กำจายไปทั่วโลก.
—————
Writer : Thawatchai Tappitak
RECOMMENDED CONTENT
ผ่านไปแล้วหมาดๆ กับรอบ Wolrd Premeire ใน section 'Venice Days' ของเทศกาล Venice Film Festival กับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของผู้กำกับ เป็นเอก รัตนเรือง – 'Samui Song – ไม่มีสมุยสำหรับเธอ' หลังจากห่างหายงานกำกับภาพยนตร์ไปอย่างยาวนาน