‘บอนไซ’ เราก็อาจจะนึกถึงศิลปะ แต่เป็นศิลปะที่มีชีวิต และเป็นที่นิยมในหมู่ของผู้หลักผู้ใหญ่ เพราะบอนไซเป็นงานฝีมือที่ใช้ความประณีต และเวลาในการสร้างเป็นแรมปี จึงทำให้บอนไซมีมูลค่าสูง เราได้มีโอกาสพูดคุยกับ คุณเก่ง – ฐานันดร์ ปฏิภานธาดา เจ้าของแบรนด์ ‘บอนไซใบสน’ (Bonsai Baison) และเรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกูรูของวงการบอนไซ โดยเฉพาะ ‘ไม้ญี่ปุ่น’ ที่เป็นเบื้องหลังต้นไม้สวยในสวนของหลายๆ บ้าน วันนี้เราจะมาไขข้อสงสัยกันว่าบอนไซคืออะไร และการเข้าสู่โลกของศิลปะชั้นสูงแบบนี้จะต้องทำอย่างไรกัน
—————
‘บอนไซ’ คืออะไร
บอนไซ แปลว่า ‘ต้นไม้ในกระถาง’ ซึ่งคำว่าบอนไซเป็นคำที่เพี้ยนมาจากภาษาจีน คำว่า ‘เผินใจ่’ แล้วก็ออกเสียงเพี้ยนมาจนปัจจุบัน บอน แปลว่า กระถาง ส่วน ไซ แปลว่า ต้นไม้ บอนไซก็เลยแปลว่า ต้นไม้ที่นำมาจัดไว้ในกระถาง คอนเซ็ปต์ของมันคือ ต้นไม่ย่อส่วน คนที่ทำขึ้นมาคนแรกเป็นคนจีนโบราณ เป็นคนที่รักธรรมชาติมากและประทับใจในต้นไม้ใหญ่ เขาก็เลยคิดว่า จะทำยังไงถึงจะเอาความสง่างามของไม้ใหญ่มาไว้ในบ้าน ก็เลยคิดเรื่องย่อส่วน โดยการไปเก็บต้นไม้เล็กๆ ที่ขึ้นอยู่บริเวณใกล้เคียงเอามาเลี้ยงในกระถาง และใช้ลวดมาพันกับกิ่งเพื่อสร้างสรรค์ เลียนแบบทรงไม้ใหญ่ คนคนนั้นชื่อ ‘ตู๋หวยหมิง’ เป็นจินตกวีในสมัยราชวงศ์จิ้น ราวปี พ.ศ. 808–963 ซึ่งเป็นผู้บุกเบิกบอนไซเป็นท่านแรก
‘บอนไซ’ มีกี่แบบ
ต้องบอกก่อนว่าบอนไซสนมันจะมี 2 ลักษณะ คือเป็นไม้ที่เป็นสนจากป่า หมายถึงว่า เราไปผจญภัยในป่าในเขาแล้วเราก็ไปแงะจากร่องหินขึ้นมา แบบนี้เขาเรียก ‘Yamadori’ แล้วอีกลักษณะหนึ่งคือ ไม้จากสวน ก็คือเพาะจากเมล็ดบ้าง กิ่งชำบ้าง เกิดขึ้นจากการเพาะเลี้ยงตั้งแต่เล็ก แล้วก็เลี้ยงให้โตขึ้นมาในสวน เมื่อเทียบกันแล้วไม้ป่าจะแพงกว่าไม้สวน เพราะอะไร เพราะปัจจุบันญี่ปุ่นเขาไม่ให้ขุดแล้ว กฏหมายใหม่เพิ่งออกมาว่าทุกตารางเมตรของญี่ปุ่นถือเป็นเขตอนุรักษ์ เพราะฉะนั้นไม้ในป่าเนี่ยเค้าจะห้ามขุดเลย ดังนั้นไม้ป่าที่เราเห็นจึงเป็นพวกไม้เก่าเก็บ จากรุ่นสู่รุ่น หรือซื้อผ่านจากสวนอื่นๆ ตอนแรกเขาก็ไม่ขายไม้จากป่าให้เราเลยเพราะเค้าเห็นคุณค่าของไม้ป่าเหล่านี้และกลัวว่าเราจะดูแลไม่เป็น แต่พอเขาเริ่มรู้จักเราผ่านเว็บไซต์ และรู้ว่าเราเป็นมืออาชีพ เค้าก็เริ่มยอมปล่อยไม้ป่ามาให้เราหลายต้น เพราะส่วนตัวผมเองก็ชอบไม้ป่า ชอบมาก
‘สนจากป่า’ แตกต่างจาก ‘ไม้จากสวน’ อย่างไร
ไม้ป่าจะมีความแปลกของต้นและกิ่งที่ดูฉงนและไร้ระเบียบ อันเนื่องมาจากความโหดร้ายของธรรมชาติ เจอทั้งพายุ น้ำท่วม ฟ้าผ่า ฯลฯ จึงทำให้เราเห็นการแตกหักของกิ่งและลำต้นเป็นจำนวนมาก จนเห็นคล้ายเป็นซากไม้ตายเกาะติดอยู่ที่ลำต้นเป็นจำนวนมาก คล้ายงานศิลปะที่เกิดจากธรรมชาติ สิ่งเหล่านี้กลับกลายเป็นคุณค่าของไม้บอนไซที่เกิดจากป่า จนตำราญี่ปุ่นเรียกซากไม้แห้งเหล่านี้ว่า ‘อัญมณี’ เลย
ดังนั้นต้นสนญี่ปุ่นที่ไม่มีซากเนี่ย ถือว่าขาดเสน่ห์ แล้วราคาก็จะหายไป เพราะฉะนั้นบอนไซที่ทำจากต้นสนต้องมีซาก คนทำบอนไซก็จะพยายามปั้นไม้ที่เกิดจากสวนให้มีความคล้ายคลึงกับไม้ป่าโดยการเลียนแบบ ก็เหมือนคนเล่นของเล่น เหมือนเวลาเล่นชุดประกอบของเล่นพวกประกอบรถถังจำลอง เราจะต้องทำรูกระสุน แต่งรอยสนิมให้ดูสมจริงใช่ไหม เขาจึงพยายามแต่งต้นไม้ใหญ่จำลอง แล้วก็แกะซาก ลอกเปลือกไม้ออก มีการใช้เครื่องเจียช่วย เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้เหล่านั้นให้มีความวิจิตรมากยิ่งขึ้น
อะไรที่ทำให้คุณเก่งเริ่มหันมาสนใจบอนไซ
ผมเริ่มสนใจบอนไซตั้งแต่อายุประมาณ 10 ขวบ เกิดจากความบังเอิญที่ไปเห็นหนังสือบอนไซในร้านหนังสือต่างประเทศแห่งหนึ่งย่านสีลม ตอนนั้นผมยังไม่รู้จักบอนไซ แต่จำได้ว่ารู้สึกประหลาดใจกับภาพหน้าปกหนังสือเล่มนั้นที่เป็นรูปต้นไม้ใหญ่ แต่ทำไมถึงอยู่ในกระถางสี่เหลี่ยม จำได้ว่ารู้สึกประทับใจมากกับความสวย สง่างาม และดูทรงคุณค่าอย่างบอกไม่ถูก ผมไปร้านหนังสือนี้ทุกวันเลยนะ เพื่อเปิดดูหนังสือเล่มนี้ และออกมาหน้าร้านเพื่อจดใส่สมุด เรียนรู้วิธีทำบอนไซ เพราะสมัยเด็กๆ เราไม่มีตังค์ซื้อหนังสือไง พนักงานที่ร้านหนังสือก็เห็นเรามาทำแบบนี้ทุกวัน แต่เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เพราะคงเห็นเราเป็นเด็กในตอนนั้น ตั้งแต่นั้นจึงทำให้เรารู้ว่ามันต้องมีอุปกรณ์ต่างๆ ต้องใช้ลวดในการดัดกิ่งต่างๆ ให้เป็นไปในแบบที่เราต้องการ ต้องมีการออกแบบ เพื่อให้เห็นถึงจุดหมายปลายทางของต้นบอนไซที่เราจะสร้าง ก็เลยกลับมาทำกับต้น มะขามที่บ้าน
ผลลัพธ์เป็นอย่างไร
ผลลัพธ์ที่ทำแบบผิดวิธีโดยการเพาะจากเมล็ด พอผ่านไปหนึ่งปี ก็ได้ต้นมะขามทรงสูงชะลูดและมีลำต้นที่ผอมสูงมาแทน เส้นผ่าศูนย์กลางลำต้นเท่านิ้วชี้ เราก็สงสัยว่าทำไมลำต้นมันถึงไม่ใหญ่เหมือนในรูป ก็เริ่มหาข้อมูล สมัยนั้นยังไม่มีอินเตอร์เน็ต ยังไม่มีอะไรเลย ก็ต้องไปถามตามร้านบอนไซ ตามร้านต้นไม้ แต่ในสมัยนั้นคนทำบอนไซก็น้อยมาก นานๆ จะได้เห็นบอนไซตามร้านต้นไม้สักครั้งหนึ่ง จึงได้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องนัก ซึ่งมาทราบภายหลังว่าเป็นวิธีที่ผิด เพราะเราจะไม่ควรสร้างบอนไซจากการเพาะเมล็ด เพราะว่ามันจะใช้ระยะเวลาที่นานมาก นานจนเราอาจท้อไปก่อน
แล้วที่ถูกต้องต้องทำอย่างไร
วิธีที่จะสร้างบอนไซที่ถูกต้อง จะใช้วิธีเข้าไปหาตอไม้จากธรรมชาติ โดยเลือกดูจากโคนต้นให้มีฐานรากที่สวยงาม มีขนาดที่พอเหมาะ และนำมาปลูกในกระถาง จากนั้นจึงทำการออกแบบ ตัดแต่ง เข้าลวด สร้างกิ่ง เพื่อให้ได้ผลงานที่ออกมาได้ความรู้สึกของไม้ใหญ่ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เราได้ต้นบอนไซที่สวยงามและรวดเร็วกว่าการเพาะจากเมล็ด
เรียนรู้วิธีการทำได้อย่างไร
Learning by doing ครับ ใช้คำนี้ได้เลย แรกๆ ลองผิดลองถูก แล้วก็ดูจากอินเตอร์เน็ต ดูจากหนังสือด้วย ตอนหลังๆ ผมสะสมหนังสือบอนไซเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเป็นของต่างประเทศ เพราะของบ้านเรายังมีหนังสือแนวแนวนี้ไม่เยอะ และโดยมากเป็นหนังสือแปลเสียเป็นส่วนใหญ่ แล้วประกอบกับการอ่านหนังสือด้วย ก็เริ่มเรียนรู้ แล้วก็สอบถาม อาจจะสอบถามไปทางต่างประเทศ ทางเมลบ้าง หรือแม้แต่ตอนที่เราไปเลือกหาซื้อไม้ที่ญี่ปุ่น บางครั้งก็ไปนั่งเรียนจากศิลปินชาวญี่ปุ่นที่เป็นเจ้าของสวน ทางญี่ปุ่นเองเขาก็เก่งกว่าเรา และมีประสบการณ์สูงมาก เขาก็ยินดีที่จะสอนเราทุกครั้งที่เราไปหา และจะให้คำแนะนำที่ถูกต้องกับเรามาโดยตลอด คือเหมือนกับว่าเราได้เรียนรู้กับมืออาชีพที่เป็นต้นกำเนิดของบอนไซจริงๆ จึงทำให้เราเดินถูกทางมาตั้งแต่ต้น
ต้นไม้ที่อยู่ใน ‘บอนไซใบสน’ มาจากไหน
ตอนนั้นผมได้มีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น และได้ไปเห็นบอนไซขนานแท้และดั้งเดิม จนเกิดความประทับใจในลักษณะอันโดดเด่นและสง่างาม ประกอบกับเป็นประเทศต้นกำเนิดด้วย ซึ่งชาวญี่ปุ่นเค้าเลี้ยงบอนไซมานานกว่า 800 ปีแล้ว จึงติดต่อขอซื้อ Material จากหลายๆ สวน ในช่วงแรกที่ทำบอนไซไม่ได้เปิดเป็นช่องทางการขายเลย เพราะไม่เคยคิดเรื่องเหล่านี้เลยด้วยซำ้ว่าจะเปิดเป็นธุรกิจใดๆ ทั้งสิ้น มันเหมือนกับเราทำขึ้นมาเองแล้วเราก็สะสมทีละต้น ผ่านไปหลายๆ ปีเข้าก็เริ่มมีมากขึ้น กลายเป็น 100 ต้นเลยนะ หลายๆ ต้น ก็ไม่ขาย เราเล่นของเราคนเดียว
จนมีงานประกวด เราก็เรื่มรู้สึกว่าอยากรู้ว่าคนอื่นจะมองผลงานเราอย่างไร เราก็อยากรู้ว่าที่เราทำเนี่ยมันสวยมากน้อยแค่ไหนในสายตาคนอื่น ซึ่งเราก็ชอบของเราแต่คนอื่นเขาจะมองอย่างไร ก็เลยตัดสินใจเอาเวทีประกวดนี่แหละเป็นตัววัดว่าผลงานเราจะเป็นอย่างไร ปรากฎว่าพอไปประกวดครั้งแรก ก็ได้รางวัลเลย ต่อมาก็เอาไปประกวดอีก เอาไป 4–5 ต้น ก็ได้รางวัลมาต้นสองต้น คือไปประกวดทุกครั้งก็ได้รางวัลมาทุกครั้งครั้งเลย ผู้คนก็เริ่มรู้จักและชอบสไตล์ของเราแล้วก็ขอมาดูที่บ้านบ้าง มีคนติดต่อขอซื้อ ก็ไม่ขาย เพราะเราก็หวงมาก เกรงว่าเอาของเราไปจะดูแลดีมั้ย ก็เลยไม่ขาย
แล้วเริ่มขายจริงจังเมื่อไหร่
ก็เริ่มมีคนเข้ามาขอซื้อมากขึ้น เริ่มแบ่งขายออกไปบางส่วน จนรู้สึกว่ามันเริ่มเป็นช่องทางในการเผยแพร่บอนไซออกไปในวงกว้าง จึงตัดสินใจเริ่มเปิดเว็บไซต์และเพจเพื่อเป็นการเผยแพร่ให้คนรู้จักบอนไซมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันไม้ที่จำหน่ายออกไปก็ล้วนแต่เป็นผลงานที่ผ่านมือเราทั้งสิ้น นอกจากนี้ บอนไซทุกต้นที่ออกจากเราไป เราจะมี Certificate Book ให้กับลูกค้าทุกท่านเพื่อเป็นการขอบคุณ และยืนยันว่าบอนไซต้นนั้นๆ มาจากผลงานการสร้างสรรค์โดย ‘บอนไซใบสน’ นอกจากนี้บอนไซยังถือว่าเป็น asset หรือ ทรัพย์สินมูลค่าเพิ่มอีกด้วย เพราะเมื่อเวลาผ่านไป อายุบอนไซเพิ่มมากขึ้น เค้าจะมีราคาที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ ตามอายุของเค้า
เสน่ห์ของบอนไซคืออะไร
นอกจากเป็นงานศิลปะที่มีชีวิตแล้ว ผมว่าเค้าเป็นวัตถุประหลาดนะ ผมจะใช้คำนี้บ่อยมาก เพราะไม่ว่าเราจะเหนื่อยจากที่ไหนก็ตาม หรือเครียดกับงานมา ทันทีที่เราเข้ามาถึงบ้านเนี่ย มานั่งมองบอนไซไม่ถึงนาที เค้าจะมีพลังบางอย่าง สูบเราเข้าไปอยู่ในโลกของของความสงบ แล้วแปรเปลี่ยนเป็นความสุขได้อย่างไม่น่าเชื่อ บางครั้งที่ผมเคยไปดูงานประกวดที่ประเทศญี่ปุ่น บางต้นเค้าสามารถสะกดให้เรายืนมองอยู่ตรงหน้า นานเท่าไรก็ไม่รู้ จนเพื่อนมาสะกิดว่าเนี่ยยืนอยู่ตรงนี้ครึ่งชั่วโมงแล้วนะ ผมก็เฮ้ย! ครึ่งชั่วโมงแล้วเหรอ ไม่รู้เรื่องเลย เราลืมเวลาไปเลย มันเคลิบเคลิ้มอยู่ในภวังค์ เสน่ห์เขาอยู่ตรงนั้นแหละครับ มันเป็นความสุนทรี มันเป็นความสุข มนุษย์เราไม่สามารถตัดขาดจากธรรมชาติได้ อย่างทุกครั้งที่เราไปทะเล หรือภูเขา เราก็จะรู้สึกผ่อนคลายและมีความสุข บอกไม่ถูกมันก็อารมณ์ประมาณนั้นแหละ
ต้นไม้แบบไหนที่เราสามารถเลือกเอามาใช้ทำบอนไซได้
ต้องเป็นไม้ยืนต้นที่มีอายุยืนจะดีมาก พวกตระกูลว่าน หรือไม้ล้มลุกต่างๆ ไม่เหมาะสมที่จะมาทำบอนไซ ถ้าเป็นไม้ที่มีเปลือกก็จะสวยมาก เพราะมันเป็นการถอดบุคลิกไม้ใหญ่ ไม้ไทยก็สามารถนำมาทำบอนไซได้หลายชนิด และถ้าเป็นไปได้ควรจะเลือกชนิดใบที่มีขนาดเล็ก จะทำให้ได้ความรู้สึกเหมือนไม้ย่อส่วน อย่างเช่น โมก, ข่อย, ชาฮกเกี้ยน, ตะโก, มะสัง, เกล็ดปลาหมอ, หมากเล็กหมากน้อย เป็นต้น
ตอนนี้ในเมืองไทยบอนไซเป็นที่นิยมขนาดไหน
นิยม และกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ วงการตอนนี้ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่ก่อนมันเป็นเรื่องใหม่คนไทยไม่ค่อยรู้จัก แต่ถามว่าคนมาเห็นแล้วชอบไหม ผมดูจากอาการคนที่มาเห็นบอนไซ ก็ล้วนแต่ชื่นชอบและเอ่ยปากชมว่า “ทำไมสวยจังเลย” ประกอบกับปัจจุบัน มีการประกวดบอนไซ มีการค้นหาข้อมูลจากสื่อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น จึงทำให้เราได้รับข้อมมูลได้ถูกต้องมากกว่าสมัยก่อน
ไม้ญี่ปุ่นมีกี่ชนิด
ไม้ญี่ปุ่นมีหลายร้อยชนิดครับ แต่จะมีแค่ 10 กว่าชนิดเท่านั้นที่ปลูกในเมืองไทยได้ ก็จะมี จูนิเปอร์, ฮิโนกิ, เจแปนนิส แบล็คพาย, อาซาเลีย ประมาณนี้ ที่สามารถปลูกในไทยได้ ผมก็จะคัดกรองจากประสบการณ์ โดยเฉพาะต้นสนจูนิเปอร์ จะเป็นไม้ที่ได้รับความนิยมสูงมากในเวทีโลก เพราะรูปทรงของลำต้นที่โดดเด่น อ่อนช้อย มีใบสีเขียวสด และความละเอียดของใบจะดูเหมือนไม้ใหญ่ ที่สำคัญปรับตัวง่ายในสภาพอากาศแบบต่างๆ นักเล่นบอนไซจากทั่วโลกจึงขนานนามให้ต้นสนญี่ปุ่นเป็น King of Bonsai
ไม้ไทยได้รับความนิยมในต่างประเทศไหม
นิยมนะครับ โดยเฉพาะไม้ในสกุล ต้นไทร ก็เหมือนกับเราชอบกินอาหารญี่ปุ่น ญี่ปุ่นก็ชอบกินอาหารไทยอะไรแบบนี้ อะไรที่เรากินเบื่อตั้งแต่เด็กแล้วเราก็จะไม่เห่อแล้ว ต่างประเทศเขาก็เหมือนกัน เขาก็จะพยายามหาต้นไม้ที่หายากๆ ในบ้านเขา เขาก็จะสั่งจากเมืองไทยไปบ้าง เขาก็พยายามหาของแปลก เพราะมันดูสวยสะดุดตา ประมาณเหมือนว่าไม่เคยเห็นมาก่อน
บอนไซมีกี่ทรง
ต้องท้าวความก่อนว่า ทรงของบอนไซจะมีประมาณ 20–30 รูปทรง มีทรงตั้งตรง ทรงเอนชาย เขามีชื่อเรียกหมดเลยนะ มีทรงตกกระถาง ทรงสวนป่า ทรงแบบต้นคู่ ทรงที่ยากที่สุดคือทรงตกกระถาง หรือทรง cascade เพราะว่ามันย้อนธรรมชาติ ธรรมชาติต้นไม้เค้าจะวิ่งขึ้นฟ้า แต่นี่เราบังคับให้เขาย้อยต่ำลง เป็นทรงที่ยากที่สุด จึงทำให้ มูลค่าราคาสูงกว่าทรงอื่น แล้วทุกงานประกวดก็จะมีทรงนี้ตลอด เป็นทรงที่ขาดไม่ได้ เป็นทรงยอดนิยมทรงหนึ่งเลยแหละ ผมเองก็ชอบทรงนี้มาก ส่วนทรงที่ง่ายที่สุดคือ ทรงต้น (Formal Upright) เป็นแบบเบสิก เหมือนต้นคริสต์มาสเลย ตรงๆ แล้วก็ซ้ายขวาเท่ากัน โรงเรียนสอนบอนไซจะสอนทำทรงนี้ก่อนเลย เหมือนเป็นการปูพิ้นฐานให้กับผู้เริ่มต้น
พอคนไหนที่เก่งๆ เริ่มมีความรู้ เริ่มมีเทคนิค เขาจะเริ่มหลีกหนีทรงนี้กัน เพราะมันจำเจ เค้าจะพยายามหาแบบอื่นๆ เป็นทรงแบบเอียงๆ บ้าง ผมเองเนี่ยก็เป็นคนที่ชอบทรงที่ดูนำ้หนักไม่เท่ากัน ประมาณว่าเทน้ำหนักไปข้างใดข้างหนึ่ง มันจะเหมือนกับมีแรงลม เหมือนมี movement มันมีเสน่ห์ เพราะต้นไม้ธรรมชาติจริงๆ ไม่ค่อยตั้งตรง ยิ่งเป็นประเทศที่พายุแรงๆ สังเกตดู มันจะเอนไปข้างใดข้างหนึ่ง มองดูมีเรื่องราว เค้ากำลังบอกเล่าเรื่องราว ผ่านกาลเวลา เจอมรสุมพายุ ความโหดร้ายของธรรมชาติ พอสิ่งเหล่านี้ถูกจำลองมาอยู่บนต้นบอนไซ คนที่ดูก็สามารถรับรู้เรื่องราวที่เขาถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจน
การประกวดตัดสินจากอะไร
กรรมการที่ตัดสินเขาจะดูหมดเลย ดูฐานราก ความกำยำ ดูตำแหน่งกิ่ง ความหนาแน่นของพุ่มใบ รวมถึงสุขภาพของบอนไซด้วย เขาจะแบ่งเป็นสัดส่วนคะแนนเลยนะ คะแนนของฐานราก คะเเนนของสุขภาพไม้ คะแนนของความสวยงามสมดุล คะแนนของใบ ดูหมด อย่างบางครั้งแข่งกันสองต้นคะแนนเกิดเท่ากันพอดี เขาก็จะเริ่มมาดูละว่าต้นนั้นมีลวดอยู่รึเปล่า ถ้ามีลวดก็แสดงว่า ต้องยอมให้กับต้นที่ไม่มีลวดแล้ว เพราะถือว่าเขาสมบูรณ์กว่า อะไรแบบนี้ แต่ลวดเขาถือว่ายอมรับได้ เข้าประกวดพร้อมลวดได้เพราะมันเป็นของคู่กัน อาจจะต้องมีตลอดเวลา
ต้นไม้จากญี่ปุ่น นำเข้ามาได้อย่างไร
เดินทางไปเอง ปีละ 2–3 ครั้ง ไปเที่ยวด้วย แล้วเราก็ไปสวนที่เรารู้จัก 10 กว่าสวน ก็ไปเลือกๆ ดูแล้วก็ให้เขาส่งมาให้ทางเครื่องบิน เพราะเขาต้องมีทำใบเอกสารอะไรต่างๆ ต้องให้เวลาเขา แต่ว่าเราไปทั้งที ไปซื้อแค่ 5 ต้นมันก็เสียเที่ยว ก็ต้องไปซื้อที 30–40 ต้น แต่ว่าจะไม่ได้ให้เขาส่งมาทีเดียว จะให้เขาส่งมาทีละ 5–10 ต้น อย่างช่วงนี้ต้นไม้เริ่มบางตาลง เราก็บอกเขาเอามาเพิ่มอีก 10 ต้นนะ เดี๋ยวอีก 2 สัปดาห์ก็มาถึง และเป็นล๊อตที่เราเลือกเอาไว้แล้ว เขาก็จะเก็บไว้ ดูแลไว้ให้เราอย่างดี ทำให้เรามีไม้ออกโชว์ในเว็บไซต์ทุกสัปดาห์
ไม้ที่เลือกมาพร้อมขายเลยไหม หรือต้องมาสร้างต่อ
จริงๆ แล้วไม้ที่เราเลือกบางต้นกว่าจะทำเสร็จอาจใช้เวลาเป็นปีถึงจะลงขายในเว็บไซต์ได้ มันมีขั้นตอน จริงๆ เราจะเอาไม้ที่จบแล้วจากญี่ปุ่นมาก็ได้นะ แต่ราคาจะสูงมาก บางต้นเล็กๆ เนี่ยคือถ้าจบมาแล้ว ไม่ต้องมาแต่งแล้ว แต่ราคาสูงจนทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแพงมากเกินไป เพราะฉะนั้นถ้าเราเอาไม้ที่แบบ 50% หรือ 0% เลยราคามันจะลงตำ่กว่ามาก แล้วเรามาลุยสร้างเอง มันก็มีความสุขด้วยที่เราได้สร้างสรรค์ปั้นแต่งจนเค้าออกมาสวยในแบบของเรา เราชอบที่จะทำสิ่งนี้อยู่แล้ว ไม่ได้สนใจว่าจะขายได้หรือไม่ได้ ยังไงเราก็จะสร้างเขาอยู่ดีเพราะมันเป็นงานอดิเรกยามว่างของเรามาตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว
กลุ่มลูกค้าเป็นแบบไหนบ้าง
ลูกค้ามีหลากหลายกลุ่มครับ บางคนก็เป็นเจ้าของกิจการ บางคนก็เป็นน้องๆ วัยรุ่น บางคนก็เป็นพ่อบ้านวัยเกษียณ ค่อนข้างหลากหลาย ต้องยอมรับว่าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มบนๆ เยอะ บางท่านก็มาเลือกหาเพื่อไปปรับฮวงจุ้ยที่บ้านก็มี เอาไปเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ ก็มี แต่ช่วงหลังๆ เริ่มมีน้องๆ วัยรุ่นเยอะเหมือนกัน ผมก็สั่งไม้หลักพันมา เพื่อที่เขาจะได้เอื้อมถึง อย่างตอนนี้มีต้นที่ถูกสุดราคา 9,000 นอกนั้นก็หลักหมื่น ไปจนกระทั้งถึง 1 ล้าน เป็นไม้ป่าอายุ 300 ปี ส่วนต้นที่ได้รับรางวัลนั้นราคา 3 แสนบาท คือเขาเป็นงานศิลปะที่ใช้ความวิจิตรบรรจงในการสร้างสรรค์ กว่าจะได้ผลงานออกมาอย่างที่เห็นก็ใช้เวลาแรมปี
ถ้าคิดจะเริ่มเล่นบอนไซควรเริ่มจากตรงไหน
แนะนำว่าอย่างนี้ครับ คนเล่นบอนไซมี 2 แบบ หนึ่งคือเขาไม่ต้องการสร้างเอง เขาต้องการซื้อไม้ที่จบแล้ว ไปโชว์ในออฟฟิศ โชว์ในบ้าน เพราะเขาอาจมีภาระหน้าที่การงาน เป็นเจ้าของโรงงาน เจ้าของบริษัทอย่างนี้ เขาต้องการโชว์เป็นฮวงจุ้ย อันนี้คือแบบแรก แบบที่สองคือคนที่ต้องการซื้อแล้วเอาไปสร้าง ซื้อตันที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซื้อวัตถุดิบไปอาจจะทำไปแล้ว 50% หรืออาจจะยังไม่ทำเลยก็แล้วแต่ เพราะฉะนั้นไม้ที่เป็นวัตถุดิบมันจะมีราคาถูกกว่าไม้ที่จบแล้ว แล้วต่อด้วยถ้าถามว่าซื้อไปแล้วทำอย่างไรต่อ ประเภทแรกเนี่ย ก็คือไม่มีอะไรมากเลย ก็แค่รดนำ้ใส่ปุ๋ยตากแดดจบ แล้ว 6 เดือนก็ยกกลับมาให้เราตัดแต่งให้ ส่วนประเภทที่สองเนี่ย เป็นนักสร้าง เป็นศิลปิน ก็จะเลือกหาแต่ไม้โครงสร้าง เพื่อนำไปลุยสร้างเอง
คนที่จะทำบอนไซเนี่ยต้องมีจินตนาการ แนะนำว่า อย่างน้อยๆ ควรวาดรูปเป็น ถ้าคุณยังไม่สามารถวาดรูปต้นไม้ให้สวยบนกระดาษเนี่ย คุณก็ไม่สามารถปั้นหรือสร้างบอนไซให้ออกมาสวยได้ เพราะฉะนั้นในเบื้องต้น เราต้องมาศึกษาดูว่าบอนไซแบบไหนที่ดูสวย แบบไหนที่ดูไม่สวย ให้เราดูรูปบอนไซเยอะๆ ดูจากในอินเตอร์เน็ตก็ได้ ดูให้เยอะที่สุดเลยแล้วก็ประกอบกับการอ่านให้เยอะ หาข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ตจากหนังสือ อ่านให้เยอะจนตกผลึก พอเสร็จปุ๊บก็หัดจากการลงมือทำ ไม่มีอะไรที่จะดีกว่าการลงมือทำแล้ว เหมือนกับการว่ายนำ้เป็นแต่ไม่ลงสระ เราจะว่ายเป็นได้อย่างไร เหมือนกัน… เราต้องวาดแบบร่างในกระดาษว่าจะให้มันออกมาเป็นยังไง มีเป้าหมายอย่างไร กิ่งนี้เป็นแบบนี้นะ ตรงนี้เป็นแบบนี้นะ จะไม่ยาวกว่านี้ จะไม่สั้นกว่านี้ ถ้าไม่สเก็ตช์ไว้เราจะลืมแล้ว
บอนไซแบบไหนที่เรียกว่าไม่สวย
คือไม้ที่สวยเนี่ยมันจะมีองค์ประกอบหลายอย่าง ไม้ในธรรมชาติทั่วไปจะมีส่วนที่เป็นทรงรูปสามเหลี่ยมคล้ายปิ๊กกีต้าร์ มันจะเป็นสามเหลี่ยมโค้งๆ ไม่กระด้างไม่แข็ง แล้วถ้าเป็นสามเหลี่ยมเหมือนจั่วเลยเนี่ยมันจะเป็นเหมือนต้นคริสต์มาส ดูไม่เป็นธรรมชาติ ลักษณะของพุ่มใบต้องเหมือนก้อนเมฆ เป็นลักษณะแผ่นๆ เป็นชั้นๆ แล้วก็มีช่องไฟ ตามศาสตร์โบราณเขาจะบอกว่า เหมือนให้นกบินผ่านได้ เพราะว่าจริงๆ แล้วต้นไม้ในป่ามันก็เป็นชั้นๆ จะไม่ทึบแน่นหมด แล้วก็ลำต้นจะมีฐานรากแผ่ เห็นสันราก คล้ายต้นไม้ในป่า ส่วนลำต้นก็มีขนาดฐานที่ใหญ่ไล่ไปหาเล็กจนถึงปลายยอด
หลายๆ คน คิดว่าบอนไซเป็นอะไรที่แพงเกินไป เป็นของฟุ่มเฟือย
จริงๆ แล้ว งานศิลปะไม่ว่าจะแขนงไหน คืองานที่มีคุณค่าทางจิตใจ เป็นงานที่สร้างด้วยมือ จากน้ำพักน้ำแรง และใช้ความอดทนหรือชั่วโมงในการทำงานสูงมากเป็นร้อยชั่วโมง มันไม่สามารถผลิตโดยเครื่องจักร กว่าจะได้ผลงานออกมาบางต้นใช้เวลากว่า 10 ปี มันเป็นคุณค่าทางจิตใจที่ผ่านมือศิลปิน ยิ่งถ้าศิลปะชิ้นนั้นๆ สร้างโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงด้วยแล้วละก็ จะมีมูลค่าสูงตามไปด้วย เหมือนเช่นภาพวาด งานปั้น งานแกะสลักอันวิจิตร ดังนั้นคำว่าถูกหรือแพง มันเป็นความรู้สึกเฉพาะตัวบุคคล ถ้าคนที่เห็นคุณค่าเค้าอาจจะบอกไม่แพง แต่ถ้าคนที่ไม่รู้จักศิลปะในแขนงนั้นๆ ก็อาจจะบอกราคาสูงก็ย่อมได้ ไม่มีผิดมีถูก ยกตัวอย่างสินค้าในโลกนี้ กระเป๋าบางยี่ห้อ ราคา 7 หลัก ก็มีคนซื้อ ส่วนตัวผมเอง ก็พยายามทำราคาไม้บางชุดให้มีราคาที่ย่อมเยา เพื่อให้กลุ่มน้องๆ ได้เอื้อมถึง ในขณะเดียวกันก็ทำไม้เกรด Quality Show ด้วย เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพที่เอื้อมถึงและมีใจรักในงานศิลปะบอนไซจริงๆ
ราคาของบอนไซขึ้นอยู่กับอะไร
ราคาบอนไซขึ้นอยู่ที่ 3 ปัจจัย 1. คืออายุของไม้ ถ้าไม้มีอายุมาก ก็จะมีราคาที่สูงขึ้น 2. ความสวยงาม ต้นไหนที่สวยมาก สร้างยากมาก ก็จะมีราคาสูงตามคุณภาพของไม้ และ 3. ความหายากของสายพันธุ์ที่นำมาทำบอนไซ ถ้าเป็นสายพันธุ์ที่ต้องนำเข้าจากจากประเทศ ก็จะมีราคาสูงกว่าสายพันธุ์ไทย
บอนไซมันมี 2 อายุครับ อายุไม้ กับ อายุ Training ก็คืออายุในการสร้าง บางต้นอายุไม้ 20 กว่าปี แต่อายุสร้างก็ราวๆ สัก 3 ปี บางต้นมีอายุของไม้ 60 กว่าปี อายุสร้างประมาณ 6 ถึง 8 ปี เป็นต้น แต่หลักๆ เลยเนี่ย ราคาขึ้นอยู่กับความสวยงาม ต้องมาก่อน บางต้นใหญ่กว่าก็จริงแต่ถูกกว่าต้นเล็กก็มี ต้นเล็กราคาแซงต้นใหญ่ก็มี เพราะสวยสู้ต้นเล็กไม่ได้
คนธรรมดาจะเข้าถึงบอนไซได้อย่างไร
เข้าถึงได้ง่ายมาก อย่างในเพจผมเองจะโพสทุกวันเลยเช้า–เย็น เพื่อเป็นการเผยแพร่ให้คนได้รู้จักบอนไซมากยิ่งขึ้น คนที่เป็นแฟนเพจเค้าก็จะเข้ามาเห็นรูป บางคนก็จะอินบ็อกซ์เข้ามาถามทุกวันเลยว่ามันเป็นต้นไม้ที่สวยมาก มีขายที่ไหน เลี้ยงยังไง ผมจะตอบคำถามพวกนี้ทุกวัน บางคนก็อาจศึกษาข้อมูล จากในหนังสือมาบ้าง จากในอินเตอร์เน็ตบ้าง ซึ่งในเว็บไซต์จะมีข้อมูลการดูแล และคำถามที่พบบ่อย สามารถเข้าถึงข้อมูลเหล่านี้ได้อย่างง่ายๆ
บางท่านศึกษาข้อมูลมาบ้างแล้ว มาถึงก็ซื้อไปเลย เพื่อเอาไปเป็นไม้ประดับตกแต่ง ปรับฮวงจุ้ยเพราะเค้าเป็นไม้มงคล รวมถึงบางคนก็เข้ามาหาซื้อเพื่อนำไปเป็นของขวัญในเทศกาลต่างๆ อาจจะเริ่มจากราคาไม่สูงมากก็ได้ เพื่อให้มั่นใจในช่วงแรกก่อน หลังจากที่เริ่มเลี้ยงเป็นแล้วค่อยขยับราคาขึ้นก็ได้ บางคนก็จะเลี้ยงเป็นอยู่แล้ว เค้าก็จะมาเลือกต้นที่เกรดสูงๆ เพราะเขาถือว่าเขามีความรู้แล้ว และนำไปเป็นของสะสม ก็มีหลากหลายครับ
วิธีดูแลบอนไซสำหรับมือใหม่
วิธีดูแลบอนไซเนี่ยเป็นเรื่องที่หลายๆ คนเข้าใจผิด ว่าเป็นไม้ดูแลยาก การดูแลบอนไซก็เหมือนการดูแลต้นไม้ทั่วๆ ไป ถ้าหากที่บ้านเลี้ยงต้นไม้ประเภทอื่นอยู่แล้ว เราก็สามารถวางประดับร่วมไปกับไม้ดังกล่าวได้เลย เขาก็ต้องการนำ้แค่วันละ 1–2 ครั้ง หรือวันละครั้งก็ได้ถ้าเกิดฝนตก และปราศจากแสงแดดในวันนั้น ส่วนการให้แดดก็ต้องการแดดวันละ 4 ชั่วโมง หรือครึ่งวัน หลังจากได้แดดแล้ว เราก็สามารถนำมาวางตกแต่งในบ้านได้เลย ส่วนปุ๋ยก็ให้เดือนละครั้งเท่านั้น ปฏิบัติแค่ 3 อย่างเนี้ย นำ้แดดปุ๋ย เพียงเท่านี้ก็สามารถดูแลบอนไซได้แล้ว
ส่วนสาเหตุที่เราใส่ปุ๋ยแค่เดือนละครั้งเพราะว่า เค้าไม่ได้ต้องการความใหญ่โต เราใส่แค่ให้ใบเป็นสีเขียวเท่านั้น ส่วนเรื่องการตัดแต่งทรง ตรงนี้คือมุมมองของการสร้างและการออกแบบ ต้องอาศัยความชำนาญ ดังนั่น ผมเองจึงมีเซอร์วิสให้กับลูกค้า ทุกๆ 6 เดือน ยกมาเลย เราจะมีการแกะลวดเก่า เข้าลวดใหม่ เปลี่ยนดีไซน์ แก้ทรง ขัดผิว ทำความสะอาด ทานำ้ยา ทุกอย่างฟรี ไม่มีค่าใช้จ่ายตลอดชีวิต เพราะว่าสิ่งเหล่านี้เราทราบดีว่ามันเป็นทักษะที่ทำกันไม่ได้ง่ายๆ จึงมีบริการตรงนี้เพื่อดูแลลูกค้าตลอดไป
นั่นจึงทำให้ลูกค้าประทับใจมาก เพราะว่าบางคนรู้อยู่แล้วว่าเวลาซื้อต้นไม้ไป มันจะต้องโตขึ้นมันจะสูงขึ้น ถ้าคนซื้อไปแล้วตัดแต่งไม่เป็น ภายใน 6 เดือนเนี่ยมันจะฟูขึ้น แต่ถ้าเป็นลูกค้าเรา คุณมั่นใจได้เลยว่า มันจะอยู่ในทรงนั้นตลอดตราบนานเท่านาน เราเองก็จะได้ติดตามต้นบอนไซต้นนั้นๆ ได้เป็นระยะๆ ด้วย
เราไม่ทิ้งเค้า ให้เค้ามารับบริการจากเรา และทุกๆ 3–4 ปี ก็ยกมาให้เราเปลี่ยนดินให้เพราะว่าดินจะเสื่อม เปลี่ยนดินทุกครั้งต้องมีการตัดราก ใส่กระถางใหม่ ตัดรากใหม่เพราะว่ารากมันแน่น ตัดให้มันโปร่งมันจะได้มีช่องว่างเติมดินเข้าไป และเราจะฟรีค่าบริการ นี่คือเซอร์วิสที่ลูกค้าของผมทุกคนจะรู้
Bonsai Baison
www.bonsaibaison.com/
facebook.com/BonsaiBaison
.
RECOMMENDED CONTENT
“minekuk” หรือ “มาย - ชนมาศ เทศศรีแดง” - ศิลปินหญิงที่ผลิตผลงานเพลงแนว Acoustic Pop ภายใต้การดูแลของ MILK! Artist Service Platform ซึ่ง minekuk ได้ถ่ายทอดเรื่องราว ความรู้สึกผ่านบทเพลงเนื้อหาน่ารัก ดนตรีฟังสบายที่จะมอบพลังบวกให้กับทุกคนที่ได้ฟัง