ด้วยความต้องการบริโภคของมนุษย์ที่เพิ่มมากขึ้น จากการเพาะกับการเลี้ยงสัตว์โดยผู้ผลิตขนาดเล็ก ถูกขยายเป็นระบบอุตสาหกรรมให้ทันกับความต้องการ น้อยคนจะรู้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์นั้นปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมด ซึ่งเป็นต้นเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก รวมไปถึงสาเหตุของการเกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงหนักหน่วงมากขึ้นทุกปีด้วย
ไม่เพียงแค่นั้น การขยายตัวของอุตสาหกรรมปศุสัตว์และการปลูกพืชเพื่อเป็นอาหารสัตว์ยังกระตุ้นให้เกิดการทำลายป่า และมลพิษที่เกิดจากฟาร์มปศุสัตว์และฟาร์มผลิตอาหารก็มีส่วนทำให้เกิด ‘เขตมรณะ’ หรือ บริเวณที่แทบไม่มีสิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ ขยายตัวเป็นบริเวณกว้างในมหาสมุทร แม่น้ำ ทะเลสาบ และทำให้ชายฝั่งทะเลหลายแห่งเสื่อมโทรม
จากผลพวงของอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ที่เกิดขึ้นชัดเจนในรูปแบบของภัยธรรมชาติและวิกฤติด้านอาหารในหลายประเทศทั่วโลก จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้ใครบางคนไม่สามารถนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เราจะพาคุณไปทำความรู้จักกับ ‘กรีนมันเดย์’ (Green Monday) องค์กรเพื่อสังคมที่กำลังจะมาปฏิวัติเรื่องอาหารการกินของเรากัน!
เดวิด ยัง ผู้ก่อตั้ง Green Monday
WHO IS Green Monday
ในภาวะที่โลกใกล้จะเผชิญกับภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ Green Monday เป็นองค์กรเพื่อสังคม ทำหน้าที่รณรงค์ด้านการดำเนินชีวิตอย่างยั่งยืนโดยอิงจากพืช มีสำนักงานอยู่ในประเทศฮ่องกง ซึ่งเพิ่งเดินทางมาเปิดตัวอย่างเป็นทางการเรียบร้อยในประเทศไทยเมื่อเร็วๆ นี้ พวกเขาได้รณรงค์อย่างต่อเนื่องโดยให้ความรู้ความเข้าใจกับสังคมเรื่องอาหารและสิ่งแวดล้อม มาตั้งแต่วันคุ้มครองโลก (Earth Day) เมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2555 ให้คนหันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น เพื่อลดสิ่งที่เรียกว่า ‘รอยเท้านิเวศน์’ (Environmental Footprint) หรือการวัดผลกระทบของกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ท่ีส่งผล กระทบต่อระบบนิเวศน์ โดยคำนวณจากปริมาณการบริโภคและปริมาณขยะที่เกิดขึ้น แล้วเทียบกับอัตราการฟื้นฟูระบบนิเวศน์นั่นเอง
Green Monday เริ่มจากการรณรงณ์ให้คนในฮ่องกงราว 1.75 ล้านคน หันมาบริโภคอาหารที่ทำจากพืชอย่างน้อย 1 วัน วันไหนก็ได้ใน 1 สัปดาห์ นอกจากจะเพื่อการเกษตรยั่งยืนแล้ว ยังเพื่อความเป็นอยู่และสุขภาพที่ดีขึ้นของผู้คนอีกด้วย
รูปแบบมูฟเม้นต์ของ Green Monday ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับนานาชาติ ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ ก็ได้เปิดตัวในสิงค์โปร์ และไต้หวัน โดยจีนจะเป็นประเทศถัดไป หลังจากการเปิดตัวในไทยครั้งนี้
Food Crisis is Coming
ก่อนที่หน้าหนาวจะมาแบบ Winter is coming สิ่งที่น่ากลัวและใกล้ตัวเรามากกว่านั้นก็คือวิกฤติการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่มาในรูปภัยธรรมชาติทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม ภัยแล้ง อากาศแปรปรวน กระทบต่อผลผลิต ความขาดแคลนวัตถุดิบทางอาหาร และตามมาด้วยปัญหาด้านสาธารณสุข ที่กำลังจะเกิดขึ้นกับชาวโลกในอนาคตอันใกล้นี้ แนวคิดเรื่องการลดการบริโภคเนื้อสัตว์ของ Green Monday นั้น เกิดขึ้นจากตรงนี้นี่เอง
สิ่งที่ทำให้ผู้ก่อตั้งและผู้เป็นมังสวิรัติมากว่า 18 ปี เดวิด ยัง (David Yeung) เปลี่ยนความคิดอย่างจริงจังต่อการกินเนื้อสัตว์เลยก็คือ เมื่อปี 2006 เขาได้อ่านรายงานของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) พบว่าอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุใหญ่ที่กระทบโลกเราเต็มๆ
แต่ไม่ใช่แค่ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมเท่านั้นที่เขากังวล ยังมีวิกฤติอาหารที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของมนุษย์ ซึ่งจะนำไปสู่ความไม่มั่นคงทางอาหาร และความขาดแคลนอาหารตามมา
“จำนวนประชากรโลกจาก 1.7 พันล้านคน ได้เพิ่มขึ้นเป็น 7.7 พันล้านคน จะเห็นได้ว่าประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ผมสงสัยว่าโลกเราจะรองรับการเติบโตขนาดนี้ได้ยังไง โดยเฉพาะในเรื่องของทรัพยากรในการผลิตอาหารซึ่งมีอยู่จำกัด แล้วการทำฟาร์มสัตว์เพื่อนำมาทำอาหารก็ไม่ได้ Sustainable ทั้งหมด ยกตัวอย่างเช่นประเทศจีนเกิดวิกฤติราคาเนื้อหมู ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนทำฟาร์ม รวมถึงผู้บริโภค มีแนวโน้มว่าอาหารจะไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตแน่ๆ”
“ผมจึงคิดว่า ถ้างั้นแล้วมันมีอะไรบ้างที่เราพอจะทำได้เพื่อคนเจนเนอเรชั่นเราและคนเจนฯ ต่อไป จากรายงานของ United Nation บอกว่าเรามีเวลาเหลือกันอีกเพียงแค่ 11 ปีเท่านั้น นั่นก็คือปี 2030 ในการจะหยุดความเปลี่ยนแปลงอันเลวร้ายของโลกที่กำลังเกิดขึ้น และหนักขึ้นเรื่อยๆ ทุกปี เพราะถ้าหลังจากปี 2030 เราจะเเก้ไขอะไรไม่ทันแล้ว”
Food of the Future
คำว่าอาหารแห่งโลกอนาคตคงไม่ได้เกินจริงแล้วสำหรับเวลานี้ และนวัตกรรมอาหารที่สร้างขึ้นมาเพื่อ Sustainable หรือความยั่งยืนคงไม่ใช่เรื่องไกลตัวเราอีกต่อไป แต่เป็นสิ่งที่เราทุกคนทำได้ง่ายๆ แม้แต่ที่บ้านนี่แหละ ด้วยมนูอาหารที่ทำจากพืช ผลิตจากเทคโนยีด้านอาหารโมเดล 2.0 (Innovative food 2.0) ซึ่งอุดมไปด้วยโภชนาการอย่างยั่งยืนด้วยสิ่งที่เรียกว่า บียอนด์ มีท (Beyond Meat) เป็นบริษัทเอกชนในเมืองลอสแอนเจลิส รัฐแคลิฟอร์เนียที่ทดลองใช้เทคนิคขั้นสูงในการทดลองและพัฒนาโปรตีนจากพืช โดยไม่สูญเสียรสชาติ ให้รสสัมผัสไม่ต่างจากเนื้อสัตว์ โดยผู้ร่วมทุนหนึ่งในนั้นของบียอนด์มีทคือ บิล เกทส์ (Bill Gates)
ส่วนอีกหนึ่งนวัตกรรมคือ ออมนิมีท (OmniMeat) ผลิตภัณฑ์อาหารจากพืช คิดค้นโดย Right Treat หน่วยงานนวัตกรรมที่เริ่มจากทีมนักวิทยาศาสตร์การอาหารในแคนาดาซึ่งใช้เวลากว่า 2 ปีทำการวิจัยผลิตภัณฑ์อาหารคล้ายเนื้อสัตว์ ด้วยสูตรเฉพาะที่ทำจากถั่วเหลืองอินทรีย์ เห็ดชิตาเกะ และข้าว เพื่อคงโปรตีนครบถ้วน ปราศจากคลอเรสเตอรอล ไม่มียาปฏิชีวนะ ฮอร์โมน ปราศจากการทดลองกับสัตว์ แถมพบว่ามีไขมันอิ่มตัวน้อยกว่าถึง 70% และแคลอรี่น้อยกว่า 65% เมื่อเทียบกับเนื้อหมู แต่ในขณะเดียวกันออมนิมีท กลับมีไฟเบอร์สูงกว่ามาก ให้แคลเซียมสูงกว่าถึง 333% และธาตุเหล็กสูงกว่า 53% เลยทีเดียว
นอกจากนั้นยังมีผลิตภัณฑ์อย่างชีสที่ทำจากพืชยี่ห้อ ไดยา (Daiya) สินค้าปลอดนมวัวในอเมริกาและแคนาดา มีทั้งชีสเจ (วีแกนชีส) และโยเกิร์ตที่ปราศจากกลูเต็น ถั่วเหลือง ไม่มีคลอเรสเตอรอล ฮอร์โมน หรือยาปฏิชีวนะ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ และไต้หวัน
Green Monday or anyday you want!
เดวิด ยัง เล่าว่าตอนที่เขาเริ่มทำ Green Monday เมื่อประมาณ 7-8 ปีก่อน เขาและเพื่อนๆ จำนวนไม่กี่คนเป็นคนกลุ่มแรกที่ออกมารณรงค์แคมเปญงดกินเนื้อสัปดาห์ละ 1 วัน มีแต่คนสงสัยว่าเขาจะทำแบบนั้นไปเพื่ออะไร จนกระทั่งวันนี้ Green Monday กลายเป็นมูฟเม้นต์สำคัญที่คนนับล้านตอบรับ เขาบอกว่าว่ามันไม่ใช่ทางเลือก แต่มันเป็น ‘A must’
“อาหารมังสวิรัติไม่ได้เป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไปแล้ว แต่สามารถเป็นอาหารหลักที่อร่อย มีคุณค่าทางอาหาร มีประโยชน์ต่อร่างกาย และแน่นอนว่าไม่ส่งผลเสียต่อสัตว์ สิ่งแวดล้อม และโลกด้วย”
“ผมเชื่อว่าเราทุกคนเป็นนักเปลี่ยนแปลง เป็นนักเคลื่อนไหวได้ด้วยตัวเอง คุณสามารถเริ่มได้เลย ไม่ได้หมายความจะให้เปลี่ยนแบบปุบปับ แต่ค่อยๆ เปลี่ยนวิถีชีวิตตัวเอง เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว หรือองค์กรของคุณได้ เพียงสัปดาห์ละ 1 วันที่ไม่กินเนื้อสัตว์เลย อาจจะเป็น Green Monday หรือ Green Friday ก็ได้ ทำให้เป็นรูทีน คุณก็สามารถช่วยลดการเกิดก๊าซเรือนกระจกได้แล้ว”
Food Tech Innovation : นวัตกรรมอาหารแห่งโลกอนาคต
โครงการเพื่อร้านอาหารในระดับนานาชาติ Food Tech Innovation เกิดจากความพยายามของ Green Monday ที่จะให้ร้านอาหารหันมาเพิ่มอาหารที่ทำจากพืชมากขึ้น โดยเพิ่มเข้าไปในเมนูปกติของร้าน ซึ่งปัจจุบันมีร้านอาหารกว่า 1,000 แห่งในฮ่องกง สิงคโปร์ และไทย ตกลงเข้าร่วมโครงการนี้
สำหรับประเทศไทย พันธมิตรท่านใดเพิ่มเมนูที่ทำจากพืช 3 เมนูขึ้นไป ก็จะได้สิทธิเข้าร่วมในโครงการ และจะได้รับการสนับสนุนจากทีมงานมืออาชีพของ Green Monday ทั้งด้านการให้คำปรึกษาเรื่องเมนู และการทำการตลาดควบคู่ไปด้วย เรียกว่าคุ้มค่ามากๆ
โดยร้านอาหารในประเทศไทยที่เข้าร่วมโครงการของ Green Monday มีดังนี้:
You & Mee (ยู แอนด์ มี) และ Grand Café (แกรนด์ คาเฟ่) โรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพ, ร้าน Mei Jiang (เหม่ยเจียง) โรงแรมเพนนินซูล่า กรุงเทพฯ, ร้าน Baan (บ้าน), Veganerie, Coffee Beans by Dao, โรงแรม เจ ดับบลิว แมริออท กรุงเทพ, โรงแรมแกรนด์ เมอเคียว กรุงเทพ ฟอร์จูน, โรงแรมโซฟีเทล กรุงเทพ สุขุมวิท, โรงแรมโนโวเทล กรุงเทพ อิมแพค และรวมถึงร้าน Sizzler ก็มีเมนูจากผลิตภัณฑ์จาก Green Monday ด้วย
ส่วนใครอยากลองผลิตภัณฑ์ ออมนิ มีท (OmniMeat) ตอนนี้ก็มีวางจำหน่ายแล้วที่ เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ จ้า!
อ้างอิง : https://www.greenpeace.org/thailand/act/food-system/food-industry-impact/
https://packaging.oie.go.th/new/admin_control_new/html-demo/file/2196340587.pdf
RECOMMENDED CONTENT
ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดบ้านให้เราเข้าไปเยี่ยมชม Work Space ที่เชื่อในแนวคิด Open Innovation ซึ่งสนับสนุนการทำงานในโลกยุคใหม่ที่ไม่ต้องมีออฟฟิศประจำ แต่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างอิสระใน Sharing Space ที่มีหลากหลายองค์กรอยู่ร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ช่วยสร้างคอมมิวนิตี้ของคนทำงานเข้าด้วยกัน