หลังจากที่เราได้ทราบข้อดีข้อเสียของการเป็นมนุษย์เงินเดือนจากพี่โทและพี่นิ้งกันในตอนที่แล้ว สำหรับใครที่อยากเป็นผู้ประกอบการหรือ entrepreneur รีบฟังทางนี้ได้เลย เพราะวันนี้ดู๊ดดอทจะมาเผยมุมมองในฝั่งของเจ้าของกิจการจากพี่ก่าก๊าและพี่เอมกันบ้าง แล้วสำหรับใครที่กำลังลังเลว่าเรียนจบมาแล้วควรทำงานให้ตรงสายกับสิ่งที่ตัวเองเรียนมา หรือควรทำงานในสายที่มี passion วันนี้เราก็มีแง่คิดจากพี่ๆมาฝากทิ้งทาย รับรองว่าสิ่งที่พี่ๆนำมาแชร์ให้ฟังนั้นเป็นประโยชน์และหาฟังไม่ได้ง่ายๆเลย
ทัศนคติที่เหมาะสมสำหรับคนที่อยากจะเป็น entrepreneur คืออะไรบ้าง?
พี่ก่าก๊า: พี่ว่าทุกคนมีศักยภาพในการทำอะไรก็ตาม แต่ว่าการที่เราทำตัวเราให้เป็นบุคคลที่คนเค้าอยากจะทำงานด้วย อยากจะคุยด้วย อยากจะให้เราเข้าไปร่วมงานด้วยนั้นถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด ต่อให้พี่มี resume ว่าทำงานมาสิบกว่าปี ทำงานให้กับหลากหลายองค์กร นั่นคือประสบการณ์ที่ทุกคนมีได้และสร้างได้ แต่สิ่งที่ทำให้พี่ออกมาเป็น entrepreneur เปิดบริษัทของตัวเองแล้วมีความแตกต่างจากบริษัทอื่นได้ พี่เชื่อว่าเป็นเพราะบุคลิกภาพ network และ ความมี passion ของตัวเอง พี่เชื่อว่าความรู้หรือทักษะสามารถสร้างกันได้ แต่ network ความตั้งใจ ความขยัน ความไม่เกี่ยงงานนั้นจะทำให้เราเป็น entrepreneur ที่ประสบความสำเร็จ ธุรกิจของพี่คือการเป็น Brand Consult ลูกค้าทุกคนมาด้วยปัญหา มาด้วยความหวังว่าเค้าจะประสบความสำเร็จในการสร้างแบรนด์ ในการขายของ การที่เราจะแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้แปลว่าเราต้องมีต้นทุนที่เหนือกว่า และสิ่งที่พี่มีและพูดกับตัวเองเสมอก็คือว่าสมองเรานี้แหละคือสิ่งที่สำคัญที่สุด พี่เปรียบเทียบสมองเหมือนกับลิ้นชัก คือเราต้องมีลิ้นชักให้เยอะ ใครพูดอะไรมาฉันต้องดึงลิ้นชักนั้นออกมาให้ทันให้ได้ การที่เราอ่านมาก เขียนมาก ดูมาก ไม่ว่าจะอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือเที่ยวเยอะ นั่นแหละคือต้นทุนที่ดีที่สุด แต่ต้องแน่ใจว่าเรามีลิ้นชักใหม่ๆเสมอ หากเราพูดแต่เรื่องเดิม ประสบการณ์เดิม เราจะเป็น entrepreneur หรือแม้แต่มนุษย์เงินเดือนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าต้นทุนในสมองเราน้อย แต่ไม่ใช่ในแง่ของการศึกษานะ แต่เป็นประสบการณ์ชีวิตที่เราต้องดึงออกมาให้ได้เยอะ
ถ้าจะทำ startup จะต้องเริ่มอย่างไร โดยเฉพาะ tech startup?
พี่เอม: ปัจจุบันโลกของเรามันเปลี่ยนไปแล้วในเรื่องของ technology กับ innovation สามปีที่แล้วมีหลายอย่างที่เราไม่ใช้ในชีวิตประจำวัน ตอนนี้นาฬิกาเราต่ออินเตอร์เน็ต เครื่องซักผ้าเราก็ต่อกับอินเตอร์เน็ต เรียกแท็กซี่เราก็ใช้แอพพลิเคชั่น เราทำทุกอย่างใช้เทคโนโลยีไปหมด แต่มันเป็นเทคโนโลยีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคนใน generation น้องๆนักศึกษาที่จะเข้ามาในวงการ ณ ตอนนี้ เพราะว่าน้องๆโตมากับมัน พี่ๆก็อยากเจอคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจเทคโนโลยียุคใหม่ และที่สำคัญคือเราสามารถที่จะเรียนรู้ในระหว่างที่เราทำได้ เราสามารถที่จะไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง จะสร้างยังไง เพราะปัจจุบันถ้าเราไม่รู้เราก็เข้า google ดูคอร์สออนไลน์ รวมไปถึงสื่อออนไลน์ทุกรูปแบบเต็มไปหมด ทีนี้ถ้าเราเรียนรู้แล้วแต่จะเริ่มยังไงถ้าเราไม่มีตังค์ ปัจจุบันมีธนาคารต่างๆมากมายตั้งกองทุนที่จะลงทุนใน startup เต็มไปหมด และมีเงินทุนอยู่ใน Southeast Asia เพียงพอที่จะให้น้องเริ่มต้นธุรกิจ โดยที่เค้าขอหุ้นนิดเดียว คำถามต่อไปถ้าเรายังไม่มีทีมเราจะเริ่มยังไง คำตอบง่ายมากเลยคือเราก็ต้องรู้จักออกไปร่วมงานที่เค้าหาผู้ร่วมก่อตั้ง เข้าร่วมการแข่งขัน ทำให้รู้จักคนที่มี passion หรือไอเดียเหมือนกับเรา สุดท้ายเมื่อมีเงิน มีทีม มีไอเดีย แล้วคุณสร้างมันขึ้นมา พอเริ่มมีลูกค้า มีคนมาใช้ มาดาวน์โหลด นักลงทุนต่างๆแทบจะวิ่งเข้าไปหา อยากจะให้ตังค์ ขอแค่ให้คุณได้เริ่มสร้าง แล้วเรียนรู้ ล้มลุกคลุกคลานไป ถ้าสามารถอยู่ได้นานพอแล้วพัฒนาตัวเองต่อเนื่องเดี๋ยวก็จะได้ดีเอง แต่ถ้าหยุดตั้งแต่ 1 เดือนแรก หรือ 6 เดือนแรกก็จบ เราก็เลิกเรียนรู้ กลับไปทำงานประจำ
ควรที่จะทำงานในสายที่มี passion หรือควรจะทำงานในสิ่งที่เรียนจบมา?
พี่เอม: ผมจบบัญชีมาแต่ไม่เคยแตะบัญชีเลย สิ่งที่เรียนมามันไม่ได้เป็นกรอบชีวิตว่าเราทำได้แค่อย่างเดียวในชีวิต มันเป็นแค่ ว่าเรามีทักษะที่ได้การยอมรับหรือ recognize ว่าคุณน่าจะเอาทักษะตรงนี้เป็นใบเบิกทางได้ แต่ถามว่าถ้าเราไม่เก่งเราไม่อิน แล้วเราจะไปสู้กับคนที่เค้าเก่งแล้วเค้าอิน อยากได้ position ใน PwC ไหม ถ้าสิ่งที่เรียนมามันยังไม่ใช่สายที่เราชอบแต่ถ้าเราพยายามค้นหาทางของเราเองจนเจอแล้วเราเดินไปข้างหน้า แม้มีคนอื่นอยากทำเหมือนกัน เราก็ไม่ว่ากันแต่เราจะทำงานทุกวันทั้งวันแบบไม่เหน็ดเหนื่อยเพราะเราอินกับเรื่องนี้ พอเราตั้งใจกับมันมาก เราก็มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าการที่เราทำงานไปวันๆโดยไม่มี passion
พี่ก่าก๊า: แต่ละคนมีต้นทุนไม่เหมือนกัน ถ้าที่บ้านเราโอเคกับการที่ให้เราออกไปทำสิ่งที่ใฝ่ฝันหรือมีเงินพอที่จะทำให้เราล้มลุกคลุกคลานได้พี่ก็อยากจะให้มุ่งไปที่ passion แต่สำหรับบางครอบครัว เมื่อเราจบมาแล้วไม่หางาน มานั่งอยู่ที่บ้านสามสี่เดือนพ่อแม่เริ่มกลุ้ม ก็ใช่ว่าจะออกไปหาความฝันท่าเดียวแล้วไม่ทำอะไร เรามีต้นทุนจากการเรียนมาแล้วเลยอยากให้ไปทำงานหาเงิน แต่คิดว่าตรงนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เรากำลังเก็บเงินก้อนหนึ่งเพื่อไปทำสิ่งที่เราฝัน แต่จุดหนึ่งที่ลืมไม่ได้เลยคือเราชอบอะไร เรามี passion ในอะไร แล้วปักหมุดไว้ ติดป้ายไว้โตๆว่าเราจะทำอย่างนั้น เพราะว่าการทำงานบริษัทมีข้อเสียอย่างหนึ่งคือเข้าไปแล้วมันมักจะสบาย ทำให้ลืมความฝัน แล้วก็ตกไปอยู่ในระบบ ทำงานไปอย่างไม่มี passion เพราะฉะนั้นถ้าเข้าไปได้แล้วที่บ้านไม่ได้มีเงินมากพอให้น้องมาเล่น ก็เข้าไปทำก่อน แต่ต้องยึดมั่นว่าฉันมี passion อะไร กำหนด time frame ให้ชัดเจนว่าจะทำอันนี้แค่กี่ปี แล้วฉันจะไปทำอย่างอื่น
พี่โท: ทุกคนมี 24 ชั่วโมงเท่ากัน บางคนเก่งใช้เวลาน้อยในการสร้างอะไรหลายๆอย่าง บางคนมีความสามารถในการสร้างproductivity (ผลผลิต) บางคนมีความสามารถในเรื่องของ efficiency (ประสิทธิภาพ) แต่อย่างหนึ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จคือการใช้ 24 ชั่วโมง ของเราให้เกิดประโยชน์สูงสุด แล้วยิ่งถ้าเรามี productivity หรือ efficiency 24 ชั่วโมงของเราให้ผลลัพธ์ที่สูงมาก นั้นจะพาเราไปจุดที่ประสบความสำเร็จได้เร็วกว่าเพื่อนเราไม่รู้จะกี่จะกี่เท่า คุณรุ่นใหม่มักจะท่องเสมอว่าต้องการ work life balance แต่ถ้าไปถามคนที่ประสบความสำเร็จร้อยทั้งร้อยไม่มีใครรู้จักคำว่า work life balance ดังนั้นถ้าเราอยากจะประสบความสำเร็จเราต้องรู้จักบริหาร work life flexibility ของเราให้มัน flexible และ fit กับชีวิตของเรามากกว่าที่มันจะ balance
เป็นอย่างไรกันบ้างกับเรื่องราว ประสบการณ์ และมุมมองของพี่ๆที่นำมาฝากกันทั้งหมดสามตอนด้วยกัน เชื่อได้ว่าหลายๆคนคงจะได้แง่คิดในการเริ่มต้นชีวิตการทำงานไม่ว่าคุณอยากจะเข้าทำงานในบริษัทใหญ่ๆ หรือจะเป็นเจ้าของกิจการ สำหรับนิสิต นักศึกษา ที่อยากค้นหาตัวเอง อยากเป็นดาวรุ่งในอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน
RECOMMENDED CONTENT
Netflix เปิดเผยภาพชุดแรกของ Lupin Part 2 (จอมโจรลูแปง ภาค 2) ซีรีส์ออริจินัลฝรั่งเศสที่สร้างปรากฏการณ์ครองอันดับ 1 ใน Top 10 ของ Netflix ในกว่าสิบประเทศทั่วโลก พร้อมฉายกลางปีนี้