fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#DESIGN – Chandigarh Collection เรื่องเล่าของเฟอร์นิเจอร์ยุคโมเดิร์น จากเมืองจันดิการ์ที่ไร้กาลเวลาและสง่างามจนถึงทุกวันนี้
date : 3.มีนาคม.2020 tag :

ในช่วงปี 1947 อินเดียต้องสูญเสียเมืองหลวงลาฮอร์ (Lahore) รัฐปัญจาบ (Punjab) ให้กับปากีสถาน รัฐบาลอินเดียจึงคิดจะสร้างเมืองหลวงใหม่ขึ้นมา โดยให้ชื่อว่า ‘จันดิการ์’ (Chandigarh) นายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย ชวาหระลาล เนห์รู (Jawaharlal Nehru) มีแนวคิดอยากให้อินเดียปฏิวัติวัฒนธรรม เปิดรับความเป็นตะวันตกเข้ามามากขึ้น 

ต่อมาในปี 1951 รัฐบาลอินเดียจึงเรียกตัวสถาปนิกผังเมือง อัลเบิร์ต ไมเออร์ (Albert Meyer) และ แมธทิว โนวิคคิ (Matthew Nowicki) มาสร้างผังเมืองแห่งนี้ให้ใหม่ในรูปแบบอุทยานนคร หรือ Garden City ซึ่งจะทำให้เมืองมีรูปแบบเป็นบล็อคเหมือนบ้านเมืองฝั่งตะวันตก ฉีกความเป็นเมืองไร้ระเบียบแต่เดิมโดยสิ้นเชิง โชคร้ายที่แมธทิว โนวิคคิ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตก่อนงานจะเริ่ม ทำให้ต้องส่งต่อโปรเจ็กต์นี้ให้กับสถาปนิกกระดับโลกอย่าง เลอร์กอร์บูซีเยร์ (Le Corbusier) สถาปนิกที่ได้ชื่อว่าเป็นบิดาของสถาปัตยกรรมโมเดิร์น และ ปิแอร์ จาเนอเร (Pierre Jeanneret) ญาติของเลอร์กอร์บูซีเยร์ ทั้งคู่ไม่ได้มาแค่ออกแบบเมืองใหม่ให้กับอินเดียระหว่างปี 1952-1965 เท่านั้น แต่ยังทิ้งลายเซ็นที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ในงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์ไว้อีกด้วย

เมื่อก่อนเฟอร์นิเจอร์สร้างขึ้นเพื่อใช้ในสถานที่ราชการ เช่น สถานทูต หรือไม่ก็บ้านพักส่วนตัวของบุคคลสำคัญ ด้วยข้อจำกัดทางวัสดุในอินเดียตอนนั้น นักออกแบบจึงใช้ไม้ที่หาได้ในท้องถิ่นเป็นวัสดุหลักอย่าง ไม้สัก ไม้ไผ่ ไม้พยุง ไม้มะม่วง ฯลฯ ซึ่ง ณ​ เวลานั้นยังไม่ถือว่าเป็นการตัดไม้ทำลายป่า เพราะรัฐมองว่าการจะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ทั้งเมืองยังไงก็ต้องใช้ไม้ที่หาได้เหล่านี้อยู่ดี แถมยังทำให้คนมีงานทำ มีรายได้หมุนเวียนในท้องถิ่น และสิ่งสำคัญคือมันยังสร้างอัตลักษณ์ของงานฝีมือในยุคนั้นที่หาไม่ได้อีกแล้วในทุกวันนี้ ทำให้จะเห็นว่าทุกชิ้นจะมีรหัสกำกับไว้หมดว่าสร้างขึ้นเมื่อไร มาจากไหน

เมืองจันดิการ์สร้างแล้วเสร็จในช่วงกลางทศวรรษ 1950s จนกระทั่งในปี 1980s ด้วยสภาพภูมิอากาศของเมืองที่มีความคอนทราสต์กันจัดๆ ทั้งร้อนจัดและความชื้นสูง ทำให้สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเมืองเริ่มสึกกร่อน เฟอร์นิเจอร์ไม้เองก็ถูกทิ้งให้อยู่ในสภาพทรุดโทรม บางชิ้นถูกทำลายจนไม่มีชิ้นดี บางส่วนถูกรื้อไปทำเป็นไม้ ให้ชาวบ้านใช้สร้างบ้าน ทำฟืน อะไรต่างๆ อย่างน่าเสียดาย และส่วนหนึ่งมีคนที่เห็นคุณค่าของพวกมัน พยายามเข้ามากว้านซื้อเก็บไว้ ก่อนที่องค์กรยูเนสโกจะยกให้จันดิการ์เป็นเมืองมรดกโลก เฟอร์นิเจอร์เหล่านั้นก็เลยถูกสั่งห้ามซื้อ-ขายออกจากประเทศอินเดียตั้งแต่นั้น 

 

เฟอร์นิเจอร์ไม้จากจันดิการ์เป็นความล้ำไปอีกขั้นของยุคสมัย ถือว่าเป็นรากเหง้าของงานออกแบบยุคโมเดิร์น ก่อนที่จะเริ่มมีการใข้วัสดุอื่นๆ อย่าง เหล็ก หรือไฟเบอร์กลาในยุคหลังจากปี 60s เป็นต้นมา แต่ละชิ้นสะท้อนแนวคิดของความสมดุล ทั้งในบริบทของงานดีไซน์และฟังก์ชั่น อันเป็นลายเซ็นของเลอร์กอร์บูซีเยร์ แม้จะผ่านมาถึงทุกวันนี้ก็ยังสวยงาม ทรงคุณค่า และไร้กาลเวลา 

กาลเวลาผ่านไป เฟอร์นิเจอร์จากจันดิการ์ถูกค้นพบอีกครั้ง และกลายมาเป็นงานศิลปะประเมินค่าไม่ได้ที่ จาร์ค ดวอร์เเซค (Jacques Dworczak) เก็บสะสมไว้ โดยเขาเริ่มจากเดินทางไปถึงเมืองจันดิการ์ในยุค 1980s ใช้เวลาศึกษาประวัติศาสตร์ รวบรวมข้อมูลของงานออกแบบเฟอร์นิเจอร์เหล่านี้กว่า 15 ปี จนอาจเรียกว่าเขาคือปรมาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านงานออกแบบของปิแอร์ จาเนอเร และ เลอร์กอร์บูซีเยร์ที่สุดในโลกคนหนึ่งก็ว่าได้ ความหลงใหลพร้อมความรู้ทั้งหมดได้ถูกถ่ายทอดไว้ในหนังสือ Raisonné du Mobilier ซึ่งเขาเป็นผู้เขียนด้วยตัวเอง

จาร์ค ดวอร์เเซค

The Nyaaarg Collective สตูดิโอที่ทำงานออกแบบหลากหลาย ทั้งอินทีเรีย แฟชั่นดีไซน์ และหนึ่งในนั้นคือการนำเข้าเฟอร์นิเจอร์ จากความชอบส่วนตัวของ เดนนิส คาร์ลสัน (Dennis Karlsson) ญาณ เจอร์ซิก (Yarn Jurczyk) และ พลวุฒิ โพธิรัตนังกูร กลุ่มคนที่หลงใหลงานออกแบบจากยุค Mid-century Modern เป็นพิเศษ จึงขอทำหน้าที่เป็นตัวแทนนำเข้าและจัดจำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ Chandigarh Collection หายากเหล่านี้

เดนนิส คาร์ลสัน และ ญาณ เจอร์ซิก The Nyaaarg Collective

มาสัมผัสความสง่างามไร้กาลเวลาของ Chandigarh Collection โดย จาร์ค ดวอร์เเซค (Jacques Dworczak) และ The Nyaaarg Collective ได้ที่ อาคารภัคดี ปาร์คนายเลิศ ตั้งแต่วันนี้ – 5 มีนาคม 2563 ก่อนจะถูกนำไปจัดแสดงที่ Living Gallery ณ บ้านริมทะเล บนเกาะสมุยต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ : เดนนิส คาร์ลสัน โทร. 087-654-9141 Email : hccbkk@gmail.com

RECOMMENDED CONTENT

17.สิงหาคม.2017

หลังจากคว้ารางวัลกรังปรีซ์ สาขาเพลงประกอบโฆษณายอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ ไลอ้อน 2017 อาดิดาส ออริจินอลส์ยังคงพัฒนาผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง