และแล้ววันแรกก็ผ่านไป วันนี้ล่ะผมจะได้ Express Myself อย่างเต็มที่ (อ่านบทความแรกของ ชิน “ชินวัฒน์ เต็มคำขวัญ” Click) พวกเราเดินทางไปที่สะพาน Brooklyn ซึ่งเป็นสะพานที่เป็นไฮไลท์สำคัญสำหรับคนที่มาท่องเที่ยวอเมริกา ผมเดินแบกกระบี่คู่ใจ (กีตาร์) อย่างทะมัดทะแมง ด้วยสภาพกล่องกีตาร์ที่เต็มไปด้วยสติกเกอร์และรอยกระแทกแสดงซึ่งประสบการณ์อันโชกโชน อันที่จริงเวลาผมเดินทางไปทางต่างประเทศผมก็จะใช้กล่องกีตาร์ใบนี้ตลอด ผมเดินทางโดยรถไฟฟ้าใต้ดินซึ่งถือว่าค่อนข้างเป็นรถไฟที่เดินทางได้อย่างทั่วถึงมาก มีช่างภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวสะกดรอยตามราวกับผมกำลังถ่ายภาพยนต์หรือมิวสิควิดีโอซักชิ้น ช่างภาพมีความสนุกสนานเป็นกันเองและทำงานกันอย่างมืออาชีพมาก ทันใดนั้นเองผมก็เดินไปจนสุดสะพานและลงมายังข้างใต้สะพาน ผมเปิดกล่องกีตาร์ของผมและหยิบกีตาร์ขึ้นมาบรรเลงเพลงทันที ผมมองไปยังสะพานและแม่น้ำอันกว้างใหญ่ ความรู้สึกที่ผมเล่นกีตาร์อยู่เป็นอะไรที่สุดยอดมาก คือชีวิตผมทั้งชีวิตนี้แค่ได้เล่นกีตาร์ผมก็มีความสุขมากๆแล้ว ไม่ว่าจะเล่นที่ไหนแต่ความพิเศษในสถานที่พิเศษเป็นสิ่งที่ผมประทับใจเป็นอย่างยิ่ง ผมเล่นกีตาร์ไปเรื่อยๆใช้เวลานานพอสมควร นานจนพี่ทีมงานต้องบอกว่า “ไปได้แล้วครับชิน” ผมเก็บกีตาร์ของผมเข้าสู่กล่องและเริ่มเดินทางอีกครั้ง
“กองทัพต้องเดินด้วยท้อง” เวลาผ่านไปจนถึงมือเที่ยง ทีมงานพาผมเข้าไปยังร้านอาหารแห่งหนึ่ง ผมเองก็ไม่ค่อยหิวเท่าไหร่ พอดูเมนูปุ้บผมก็สั่ง “May I have tuna sandwich” ด้วยความที่คิดว่าแซนวิชคงเป็นอะไรที่เบาๆที่จะทำให้ผมเดินได้อย่างไม่จุก แต่ในทางกลับกันเมื่อจานเสิร์ฟลงถึงโต้ะ “มันใหญ่มาก” คือมันไม่ใช่แค่ขนมปัง 2 แผนตัดเป็นรูปสามเหลี่ยมแบบในไทย มันมาแบบฟูลคอร์สจริงๆ (ผมว่าจานนึงกินได้สองคนเลยล่ะ)
ผมเขียนมาถึงตรงนี้บอกได้เลยว่าผมมีเรื่องราวในหัวเต็มไปหมด คือมันเยอะมากๆ เรียกได้ว่าผมพิมพ์ได้เป็นสิบๆหน้าเลยแหละ (ถ้าทำแบบนั้นผมคงทำให้คนที่ได้อ่านบทความผมตาลายแน่นอนครับ 5555) ก่อนหน้าที่จะเข้าสู่ Carnegie Hall ผมได้ไปยังสถานที่แห่งหนึ่งซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ใหญ่มากชื่อว่า Central Park, New York โดยไม่ใช่การไปชมวิวทิวทัศน์ธรรมดาแต่เป็นการนำกีตาร์ไปเล่นเพื่อที่จะ Express Myself ได้อย่างเต็มที่
สวนสาธาระณะแห่งนี้เต็มไปด้วยผู้คนมากมาย รวมไปถึงนักดนตรีเปิดหมวกก็เช่นกัน ความพิเศษของนักดนตรีเปิดหมวกที่นี่คือ “ฝีมือ” ที่อยู่ในระดับที่เรียกว่ามืออาชีพก็ว่าได้ แม้แต่ในทางเดินของรถไฟใต้ดินก็มีนักดนตรีอยู่แทบจะทุกสถานีตลอด ย้อนกลับมาที่สวนสาธารณะ ผมเปิดกีตาร์ออกมาบรรเลงด้วยบรรยากาศชิวๆ ความรู้สึกของผมคือแทบไม่ได้มองคอกีตาร์แต่เป็นการปล่อยนิ้วมือทั้งสิบนิ้วของผมไหลไปตามที่หัวใจรู้สึก เล่นในสิ่งที่ความรู้สึกตอนนั้นอยากจะเล่น มีผู้คนเดินผ่านไปผ่านมาทำให้ผมรู้สึกว่าคนที่นี่ให้ความสำคัญกับดนตรี การแสดงดนตรีในที่สาธารณะไม่ใช่เป็นแบบขอทานหรือคนพิการอีกต่อไป แต่คือการโชว์ศักยภาพของผู้แสดงดนตรีแต่ละคน ผู้คนให้เงินไม่ใช่เพราะความสงสารแต่ให้ด้วยความชอบในดนตรีของนักดนตรีเหล่านั้น “นักดนตรีไม่ใช่คนที่น่าสงสาร คนที่น่าสงสารคือคนที่ไม่รู้ว่าตัวเองอยู่ในโลกใบนี้ไปเพื่ออะไร”
เราเดินทางต่อไปเรื่อยๆโดยใช้การเดินเป็นหลัก เรียกว่าสกิลการเดินผมพัฒนาขึ้นอย่างมาก 555 จะว่าไปแล้วแรงบันดาลการที่ผมลงสมัครการแข่งขันในโครงการ SangSom Road to Carnegie นอกจากเพื่อที่จะฝึกฝนตัวเองแล้ว ลึกๆ ผมอยากมาดูพี่เบิร์ดเล่นคอนเสิร์ตใน “Carnegie Hall” ด้วยแหละครับ
จริงๆแล้ว “พี่เบิร์ดเอกชัย เจียรกุล” เป็นรุ่นพี่ของผมที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์มหาวิทยาลัยมหิดล (ที่เดียวกันกับผม) ผมได้มีโอกาสดูการแสดงและพูดคุยกับพี่เขามาแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งบทสนทนาธรรมดาๆเป็นกันเองก็คงดูเป็นเรื่องปกติ แต่ความพิเศษในครั้งนี้คือผมไม่ได้เพียงแค่พูดคุย แต่ผมยังได้ก็ติดชิดขอบเวทีตั้งแต่ไปเยี่ยมชมโรงงานสายกีตาร์ซึ่งเป็นผู้จัด Concert ในครั้งนี้ไปจนถึงเข้าไปดูพี่เบิร์ดซ้อมในห้องเตรียมตัว ได้ฟังการ Sound Check ในคาร์เนกี้ฮอลล์จริงๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละเป็นโอกาสที่ไม่ได้หาได้ง่ายๆ เพราะหอแสดงดนตรีแห่งนี้ค่อนข้างเข็มงวดมาก เขาห้ามถ่ายภาพและผู้ที่จะเข้าไปยังหลังเวทีการแสดงได้จะต้องได้รับการอนุญาตเท่านั้น ผมเลยมีแต่ภาพความทรงจำที่ถูกบันทึกไว้
และแล้วไฮไลท์สำคัญก็มาถึงกับสถานที่อันทรงเกียรติอย่าง Carnegie Hall (ขออนุญาติข้ามช้อต ไม่งั้นสิบหน้าก็ไม่พอแน่ๆ) ผมได้มีโอกาสติดตามพี่เบิร์ดไปยังห้องเตรียมตัวนักแสดง ได้ดูการวอร์มและการเตรียมตัวรวมถึงยังได้พูดคุยกันอีกด้วย หลังจากนั้นพี่เบิร์ดได้เข้าไปยัง Carnegie Hall เพื่อทดสอบเสียงและเวทีจริงๆ โน้ตแรกที่ออกมาผมบอกได้เลยว่าหอแสดงดนตรีนี้มี Acoustic ที่เหมาะกับเครื่องดนตรีกีตาร์คลาสสิกเป็นอย่างมาก ด้วยขนาดของหอแสดงดนตรีที่ไม่ใหญ่จนเกินไป กำแพงที่ถูกลบมุมเหลี่ยมให้เป็นโค้งมนทั้งหมดรวมถึงสิ่งที่สำคัญนั้นก็สถาปัตยกรรมที่สวยงามบทเพดานและผนังทำให้รู้สึกว่าหอแสดงดนตรีแห่งที่คือหอแสดงดนตรีอันศักดิ์สิทธิ์จริงๆ
หลังจากได้ฟังพี่เบิร์ดทดสอบการเตรียมโชว์หอแสดงดนตรีเสร็จ ผมเดินขึ้นไปบนเวทีและมองไปที่เก้าอี้ผู้แสดง ผมมีความคิดแว้บเข้ามาในหัวว่า “อยากลองนั่งบ้างจัง” ผมหันซ้ายหันขวาไม่มีคนอยู่ ผมเลยลองนั่งบนเก้าอี้ตัวเดียวและตำแหน่งเดียวกับที่พี่เบิร์ดได้ใช้แสดง ผมนั่งลงไปและมองไปยังที่นั่งคนดู จินตนาการว่าผมกำลังแสดงอยู่ใน Carnegie Hall เป็นอะไรที่รู้สึกปลาบปลื้มมาก ผมเข้าใจเลยว่าทำไมนักดนตรีคลาสสิกทั่วโลกถึงใฝ่ฝันที่จะมาแสดงที่หอแสดงดนตรีแห่งนี้ คือมันมีพลังบางอย่างที่ทำให้ผมรู้สึกว่านี่คือหอแสดงดนตรีอันศักดิ์สิทธิ์จริงๆ ผมยังคงนั่งจินตนาการว่าผมถือกีตาร์บรรเลงอยู่ในมืออยู่พักนึง ผมลุกจากเก้าอี้แสดงและคิดในใจว่า “ผมจะกลับมาที่ Carnegie Hall อีกครั้งในฐานะ ‘นักแสดง’ ”
และแล้วเวลาสำหรับการแสดงคอนเสิร์ตจริงๆในห้อง Weill Recital Hall at Carnegie Hall ก็มาถึง ในที่นี่ผมจะไม่เขียนรีวิวในเชิงวิชาการมากจนเกินไป เพราะในฐานะนักกีตาร์แล้วคอนเสิร์ตในครั้งนี้ผมสามารถเขียนบทความเชิงวิชาการได้เยอะมาก ซึ่งสามารถติดตามได้ที่ Facebook : www.facebook.com/chinguitarist ในภายหลัง ผมมีแผนที่จะเขียน Concert Review ด้วยการใช้ภาษาแบบนักดนตรี ส่วนในบทความนี้ผมจะเขียนในลักษณะเชิงความรู้สึกเท่านั้นเพื่อให้ผู้อ่านทั่วๆไปสามารถรับรู้และเข้าใจได้ง่าย
ความรู้สึกหลังจากได้ชมการแสดงของพี่เบิร์ดเสร็จราว 45 นาที หนึ่งคำที่เป็นแคปชั่นในหัวของผมทันทีคือ “พีค” อันที่จริงผมมีโอกาสได้ดูการแสดงของพี่เบิร์ดเอกชัยมาหลายครั้งแล้ว แต่ครั้งนี้ผมบอกได้เลยว่าคือหนึ่งในการแสดงสดที่ยอดเยี่ยมที่สุดของพี่เบิร์ดตั้งแต่ผมเคยดูมา ผมบอกได้เลยว่าสิ่งที่แสงโสมทำอยู่มันสำเร็จแล้ว แสงโสมได้สร้างประสบการณ์สุดยูนีคแบบ Money can’t buy experience จริงๆ แนวความคิดหลังจากที่ผมได้ชมคอนเสิร์ต ผมไม่ได้เปลี่ยนไปแต่อย่างใด เพียงแต่แนวความคิดผมมันเปล่งประกายและชัดเจนขึ้นอย่างมาก ผมเริ่มคิดอะไรที่ใหญ่ขึ้นเว่อร์ขึ้น จากเป้าหมายที่เก็บไว้อยู่ในใจ ทำให้ผมกล้าที่จะพิมพ์ผ่านบทความนี้ และผมจะเขียนมันตอนนี้เลย !
1. ผมจะต้องชนะการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกระดับโลกก่อนที่ผมจะจากโลกนี้ไป
2. ผมจะเป็น “นักกีตาร์คลาสสิกมืออาชีพ” ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล
3. ผมจะเล่นดนตรีให้ตัวเองมีความสุขและให้คนอื่นมีความสุข ถ้าเป็นเพลงเศร้า คนดูก็ต้องเศร้าตามผมด้วย
4. คนดูจะต้องมาดูความเป็นตัวตนของ “ชิน” ผ่านดนตรีที่มี “สไตล์” และ “แตกต่าง”
5. ความสุขของผมคือการ “ได้แสดงดนตรี”
มีความประทับใจสุดๆ อีกอย่างครับ ผมได้มีการแสดง Concert ใน New York ที่มหาวิทยาลัยดนตรี Long Island University ก่อนที่จะเดินทางกลับประเทศไทยในคืนวันที่ 9 พฤศจิกายน ก่อนอื่นเลยผมขอท้าวความก็แล้วกันว่าผมมาเล่นคอนเสิร์ตที่นี้ได้ยังไง? อาจารย์ Harris Becker ซึ่งเป็นหัวหน้าภาควิชากีตาร์คลาสสิกรู้ข่าวจาก Facebook ว่าผมจะเดินทางไปที่ New York ในอีกสองสัปดาห์ โดยผมเคยได้มีโอกาสเรียน Masterclass กับอาจารย์คนนี้เมื่อปีที่แล้วตอนที่เขาเดินทางมาสอน Masterclass ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เขาส่งจดหมายเชิญผมไปแสดงคอนเสิร์ตอย่างเป็นทางการ ผมคุยกับทางแสงโสมและตอบตกลงทันที เรียกได้ว่า เป็นการแสดงเดี่ยวคอนเสิร์ตครั้งแรกของผมในประเทศสหรัฐอเมริกา !!!
ผมบรรเลงบทเพลงความยาวกว่า 1 ชั่วโมงคนเดียวตลอดทั้งการแสดงแบบไม่มีพักครึ่ง ความรู้สึกตอนกำลังเล่นเป็นอะไรที่ไม่เคยมีมาก่อน มีคนดูประมาณ 80 คนในหอแสดงดนตรีที่มีชื่อว่า Hillwood Recital Hall ซึ่งเป็นหอแสดงดนตรีที่ค่อนข้างขนาดใหญ่พอสมควร แต่ความตื่นเต้นนี้เป็นความตื่นเต้นที่รู้สึกว่าเป็นพลังให้กับผมอย่างมาก มันเสมือนกับการแสดงที่ปลดปล่อยทุกอย่างอย่างไร้ซึ่งการควบคุม หลังจากการแสดงจบลงอย่างน่าประทับใจ มีการถามคำถามพูดคุยหลังจากจบการแสดงระหว่างผู้แสดงและผู้ชม สิ่งที่ผมดีใจอย่างมากคือมีผู้คนชอบการแสดงของผม ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับอาจารย์ภาควิชาดนตรีที่นู่นมากมาย รวมถึงได้พบปะกับนักเรียนดนตรีที่นู่น ซึ่งการต้อนรับและการพูดคุยเป็นไปอย่างอบอุ่น ผมมีเรื่องราวมากมายเกินกว่าจะเขียนได้ให้อยู่ในบทความเดียว นอกจากความประทับใจต่อการแสดงใน Carnegie Hall แล้ว การแสดงคอนเสิร์ตในครั้งนี้ของผมก็เป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับผมเสมือนว่าผมกำลังบรรเลงอยู่ Carnegie Hall จริงๆ
และหลังจากนี้ผมก็ยังคงมีการแข่งขันกีตาร์คลาสสิกในระดับนานาชาติอยู่ สิ่งที่ผมทำอยู่ยังคงดำเนินต่อไป ผมไม่รู้ว่าชีวิตนี้ผมจะทำมันได้มั้ย แต่ผมจะขอจารึกไว้ว่าครั้งหนึ่งผมคือผู้ชนะการแข่งขัน SangSom คนไทย..ตั้งใจทำอะไรไม่แพ้ชาติใดในโลก road to Carnegie Hall ผมจะจารึกเป้าหมายไว้ ณ ที่แห่งนี้ และเมื่อผมกลับไปถึงไทย ผมจะนำประสบการณ์ต่างๆ ที่ผมได้รับในครั้งนี้ไปเล่าสู่กันฟังเพื่อสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ต่อไปอย่างแน่นอน
SangSom
Website: http://www.thesangsom.com/
Facebook: https://www.facebook.com/sangsomexperience
Photographer: Pakawat Hongcharoen
IG : @pakawatboom
RECOMMENDED CONTENT
กลับมาปล่อยเพลงใหม่ให้แฟน ๆ ได้ฟังอีกครั้งในรอบปีที่ผ่านมา สำหรับศิลปินขวัญใจมหาชนอย่าง “สิงโต นำโชค” หรือ “นำโชค ทะนัดรัมย์” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) ที่ไม่ว่าจะปล่อยเพลงไหนออกมาก็ฮิตติดหูคนฟังทั้งประเทศ ล่าสุดสิงโตกลับมาพร้อมกับเพลงใหม่ “วันที่เรานับหนึ่ง” ที่ขอพาทุกคู่รักย้อนกลับไปนับหนึ่งร่วมกันอีกครั้งในวันที่รักกันแรก ๆ