จากตัวเลขที่ออกมาล่าสุดในปี 2012 กล่าวว่า โดยเฉลี่ยแล้ว 60% ของคนในประเทศอเมริกา จะต้องมีรองเท้าผ้าใบยี่ห้อ Converse เป็นของตัวเองอย่างน้อยหนึ่งคู่! ซึ่งถ้าตัวเลขที่ว่าเป็นประเทศเล็กๆนี่เราคงไม่ตกใจเท่าไร แต่นี่มันคือสหรัฐอเมริกาเลยนะ! ถามว่า… จริงๆแล้วรองเท้า Converse ก็เป็นรองเท้าที่คนทั่วโลกจะเด็กเล็กหรือผู้ใหญ่ต้องรู้จักกันดีแน่นอน แต่จะมีใครรู้ถึงที่มาของรองเท้าผ้าใบสุดอมตะแบรนด์นี้กันบ้างไหม วันนี้เราเลยถือโอกาสพูดถึงคำถามง่ายๆ ที่คงจะต้องตอบยาวกันหลายหน้ากระดาษว่า “รองเท้า Converse คืออะไร?”
ย้อนไปตั้งแต่ต้นกำเนิด บริษัททำรองเท้า “Converse” เริ่มก่อตั้งขึ้นในปี 1908 ที่รัฐ Massachusetts ในประเทศอเมริกา เดิมทีพวกเขาเป็นแบรนด์ที่ทำรองเท้ายาง (Rubber Shoes) สำหรับใส่กันหนาว เรียกว่าไม่มีคราบ Converse ยุคปัจจุบันที่เราเห็นๆกันเลยสักนิด สิบปีต่อมาในปี 1917เป็นช่วงเวลาที่รองเท้าเล่นกีฬากำลังเริ่มเป็นที่ต้องการในตลาด Converseเองก็ตัดสินใจทำรองเท้าเล่นฟุตบอลและเน็ตบอลออกมากับเขาเหมือนกันในชื่อ “Converse All-Star” จนมาดังพลุแตกในวันที่นาย Charles Hollis “Chuck” Taylor นักกีฬาบาสเกตบอลเข้ามามีส่วนร่วมในบริษัท ผู้คิดค้นการติดสัญลักษณ์รูปดาวตรงข้อเท้า ถือกำเนิดรองเท้า Converse Chuck Taylor All-Star ทรงหุ้มข้อที่เราคุ้นตากันดีถึงทุกวันนี้ …สิ่งสำคัญที่ Chuck เข้ามาออกแบบให้ในแง่ความเป็นรองเท้ากีฬาก็คือ การเปลี่ยนพื้นรองเท้าที่ช่วยทำให้สามารถเคลื่อนไหวกระโดดหรือวิ่งได้คล่องตัวยิ่งขึ้น และจุดเล็กๆน้อยๆที่ถือเป็นความฉลาดของรองเท้า Chuck Taylor มากๆ คือการดัดแปลงนำเอารูร้อยเชือกรองเท้ามาเพิ่มไว้ตรงส่วนด้านข้างสองรู เพื่อช่วยในการระบายอากาศไม่ทำให้รู้สึกอึดอัดเวลาที่นักกีฬาต้องใส่เล่นบาสนานๆ (ตอนแรกก็สงสัยว่ามันมีเอาไว้ให้เชือกที่ไหนร้อยนะ) กลายเอกลักษณ์ที่มองเห็นแล้วรู้ทันทีว่าเป็น Converse หลังจากการเกิดขึ้นของรุ่น “Chuck Taylor All-Star” ด้วยความเป็นรองเท้าที่เข้าใจหัวอกนักบาสอย่างดีนี่เอง ทำให้ชื่อ Converse เขยิบขึ้นเป็นรองเท้าบาสขายดีแซงหน้าแบรนด์อื่นๆในเวลานั้นขาดลอย… อย่างใน Olympicปี 1936 เป็นปีที่เพิ่งมีการแข่งขัน Basketball เป็นครั้งแรก เชื่อไหมว่านักบาสอเมริกันทุกคนใส่ All-Star หุ้มข้อกันหมด! ใส่ยี่ห้อเดียวกันรุ่นเดียวกันทั้งสนาม…สุดแสนจะผูกขาดและสามัคคีอย่างแท้จริง! นอกจากจะเป็นตัวแทนในด้านการกีฬาแล้ว Converse ยังเป็นกำลังหลักในการทำรองเท้าให้รั้วของชาติช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วย…นี่มันคือเป็นรองเท้าของประเทศชาติชัดๆ! …นอกจาก Converseในยุคแรกๆจะมี Chuck Taylor All-Starเป็นรุ่นยอดฮิตของพวกเขาแล้ว พวกเขายังมีอีกหนึ่งไม้ตายเด็ด เป็นรุ่นที่ตีคู่กันมาติดๆเลยก็คือ “Jack Purcell” ออกแบบโดยนาย John Edward “Jack” Purcell แชมป์โลกแบดมินตันในเวลานั้น …เดิมที Jack Purcellเป็นรองเท้าผ้าใบของบริษัท B.F.Goodrich แล้วภายหลัง Converse ค่อยไปซื้อลิขสิทธิ์มาเป็นของตัวเอง …ก้าวสำคัญครั้งนี้เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องอย่างมากถึงมากที่สุด เพราะด้วยดีไซน์ความเรียบง่ายกับเอกลักษณ์พื้นรองเท้าสีฟ้าอ่อนและขีดดำหัวรองเท้าที่มีแต่คนหลงใหล ทำให้ Jack Purcell คืออีกหนึ่ง Converse ที่คนชอบใส่ไม่แพ้ Chuck Taylor All-Star เลยทีเดียว
ตั้งแต่นั้นมาอิทธิพลของรองเท้า Converse ที่มีต่อคนหนุ่มและเด็กวัยรุ่นในแต่ละยุสมัย ก็เริ่มมีปรากฎให้เห็นชัดเจนมากขึ้นเมื่อเหล่า Pop Icon ทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นดารา นักแสดงหรือ Rock Starต่างก็นิยมใส่รองเท้าConverse กันเป็นกระแสออกมากัน เริ่มไปตั้งแต่ช่วงที่อเมริกาอยู่ในยุคหลังสงครามหรือที่เรียกว่ายุค “Baby Boomer” (ปี 50’s) …ซึ่งถ้าย้อนไปตอนนั้น เวลาพูดถึงรองเท้าผ้าใบ ความหมายมันคือรองเท้าลำลองที่เอาไว้สำหรับเล่นกีฬาหรือใส่เล่นๆแบบไม่คิดอะไร ถ้าจะออกไปงานที่ไหนจริงจังส่วนใหญ่ต้องเป็นรองเท้าหนังแน่นอน …ตรงกันข้ามการเลือกใส่รองเท้าผ้าใบแม้จะดูไม่เป็นทางการก็จริง แต่มันทำให้เกิดลุคที่ใส่ออกมาแล้วดู หล่อ เท่ในแบบสบายๆ ไม่เนี๊ยบจนเกินไป ยิ่งพอมี Icon ที่เป็น Badboy แห่งยุคอย่าง “James Dean” และสัญลักษณ์ความเท่อย่าง “Steve McQueen” หยิบ Jack Purcell มาใส่เท่านั้นล่ะ… เลยเกิดเป็นกระแสการใส่รองเท้าผ้าใบกันครั้งใหญ่ เหมือนเป็นการเปิดตัวให้โลกได้รู้จักรองเท้า Converseในแง่ไอเทมหลักของสไตล์และแฟชั่นแบบจริงจัง มากไปกว่าการเป็นเพียงรองเท้าที่เอาไว้สำหรับเล่นบาสเล่นกีฬาเหมือนแต่ก่อนเท่านั้น
พอถัดมาช่วงปี 60’s ถึง 70’s เป็นยุคที่มีการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนามของคนหนุ่มสาวในอเมริกาและเป็นช่วงเวลาที่หลายๆคนต่างก็ลงความเห็นว่าดนตรี Rock and Roll ได้เดินทางมาถึงจุดพีคสูงสุด …กับแฟชั่นกางเกงยีนส์ขาม้าขากระดิ่งทั้งชายและหญิงที่ไม่ต้องสงสัยเลยว่าถ้าไม่เลือกเดินเท้าเปล่า… รองเท้าผ้าใบที่เหล่าบุปผาชนเลือกใช้กันต้องเป็น Converse แน่นอน เอาง่ายๆดูอย่างศิลปินรุ่นใหญ่ในยุคนั้น ”George Harrison” มือกีตาร์แห่งวงสี่เต่าทอง “The Beatles” ที่เป็นเหมือนต้นแบบจุดประกายให้กับนักดนตรีหลายๆคน ตอนเล่น Rooftop Concert ปี 1969 (คอนเสิร์ตครั้งสุดท้ายของ The Beatles ที่จัดบนหลังคาตึก Appleอันโด่งดัง) เขาใส่รองเท้าผ้าใบ Converse Chuck Taylor สีดำตัดกับกางเกงขาม้าสีเขียวสุดจ๊าบออกมาเป็นชุดที่ดูเท่และโคตรจะ Iconของยุคสุดๆ มาในช่วงกลาง 70’s หน่อยๆเราก็ได้พบกับอีกหนึ่ง Rock Star ที่ชื่อว่า “Bruce Springsteen” นักดนตรีและนักแต่งเพลงมากฝีมือที่ไปถามคนอเมริกันคนไหนต้องรู้จักเขาอย่างแน่นอน เขามากับลุคง่ายๆใส่เสื้อกล้าม กางเกงยีนส์ ไว้หนวดเคราและรองเท้ Converse สีดำดูติดดิน พร้อมกับบทเพลงเนื้อหาโดนๆที่เป็นขวัญใจของคนอเมริกันชนชั้นทำงานในเวลานั้นสุดๆ ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ดนตรี Hard Rockกำลังครองตลาดมีวงแนวหน้าอย่าง “Led Zeppelin” มีนาย “Robert Plant” ผู้เป็นเหมือน Sex Symbol ในเวลานั้นรับหน้าที่นักร้องนำ เป็นภาพลักษณ์หนุ่มผมยาว หน้าตาหล่อ ใส่เสื้อผ้าผู้หญิงตัวคับติ้ว นุ่งยีนส์ขาม้า เข็มขัดหัวโตและ Converse สีแดงสด รวมๆแล้วเป็นการแต่งตัวที่ถือเป็นการทิ้งทวนก่อนจะจบยุคฮิปปี้อย่างแท้จริง
กระโดดมาต่อกันในช่วงเข้าสู่ยุค 80’s ในเวลานั้นฝั่งเกาะอังกฤษกำลังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนแหกคอกที่เราเรียกสั้นๆกัยว่า “Punk” อยู่ …เป็นที่ทราบกันดีว่าลุคชาวพังค์เขาต้องมาพร้อมกับบู๊ทหนังหรือพวกรองเท้า Combat ขอบหนาๆใช่ไหม? แต่รู้ไว้ด้วยว่าตัวพ่ออย่าง Sid Vicious แห่งวง The Sex Pistol เขาก็เลือกใส่รองเท้าผ้าใบ Converse เท่ๆเหมือนกัน! จากพังค์นำมาสู่การขบถแห่งยุคสมัยใหม่… ปี 90’s กับการกำเนิดของดนตรีทางเลือก แน่นอนว่า Idol ของเด็กยุคเก้าศูนย์คงเป็นใครไปไม่ได้นอกจากนาย “Kurt Cobain” นักร้องนำแห่งวง Nirvana หนุ่มผมบลอนด์รูปหล่อ ผู้นำแฟชั่นกางเกงยีนส์ขาดๆใส่คู่กับ Converse Chucks Taylor สีดำหุ้มข้อสุดจะ Grunge สุดจะเขรอะของเขาออกมาให้ชาวโลกได้เห็น แสดงความเป็นเจ้าพ่อแห่งยุค Alternative ได้อย่างคลาสสิคจริงๆ …จากที่ไล่ๆมานี้ ก็คงเห็นได้ถึงอิทธิพลของรองเท้า Converse ที่มีต่อ Pop Culture แต่ละยุคแต่ละสมัยรุ่นแล้วรุ่นเล่าไปแล้ว รู้ตัวอีกทีวันนี้มองไปทางไหนก็เจอแต่คนใส่ Chucks และ Jack เดินบนท้องถนนเต็มไปหมด กลายเป็นแบรนด์รองเท้าผ้าใบสามัญประจำบ้านที่ใส่กันตั้งแต่พ่อยันลูกไปแล้ว
กลับมาพูดถึงรองเท้า Converse ในยุคปัจจุบัน พวกเขาก็ยังคงไม่หยุดอยู่กับที่ขยันพัฒนาตัวเองอยู่เรื่อยๆ ด้วยช่องทางการ Collaboration กับเหล่าดีไซน์เนอร์ชื่อดัง เกิดเป็น Converseลายใหม่ๆมากมาย ยุคหลังๆมานี้เลยถือว่าโชคดีที่เรามี Converse ลายเพ้นต์ ลายปริ้นบนรองเท้า ทำออกมาให้คนใส่อย่างเราๆได้ Mix and Match กันสนุกมือ สำหรับคนที่ทำให้ Converseกระแส Collaboration นี้มาแรงและโดดเด่นขึ้นมาทันทีก็คือ “John Varvatos” ดีไซน์เนอร์ลูกครึ่งชาวกรีก-อเมริกัน เขาเป็นนักออกแบบชื่อแรกๆที่ Converseได้มอบหมายให้มาร่วมออกแบบให้ และมันก็ทำให้ทั้งเขาและแบรนด์ประสบความสำเร็จคู่กันเลยจริงๆ ซึ่งแต่ละรุ่นของ John Varvatosจะผลิตออกมาเป็น Limited Edition และใช้วัสดุอย่างดีแบบ High-End ช่วยยกระดับให้ Converse เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่เหล่า Fashionista ทั้งหลายจะมองข้ามไปไม่ได้ และท่ามกลางยุคสมัยที่ทุกคนคงทราบกันดีว่า Converse ทุกวันนี้ไม่ได้ผลิต Made in USA ที่เดียวเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว ด้วยความที่โลกเป็นยุคโลกาภิวัฒน์ ทั้งโลกถูกบีบให้แคบลง เพื่อลดต้นทุน… ฐานการผลิตถูกกระจายไปทั่วโลก หนึ่งในนั้นก็มี “Converse Made in Thailand” ของบ้านเราอยู่ด้วย แต่ประเทศที่เห็นจะพิเศษกว่าใครเพื่อนคือไลน์การผลิต Made in Japan คนที่เล่นรองเท้าผ้าใบจะรู้กันดีว่า Converse Made in Japan ต่างกับประเทศอื่นตรงที่ พวกเขาตั้งตนเป็นแบรนด์ต่างหากของตัวเอง เพียงแต่ยังใช้ชื่อและลิขสิทธิ์ของแบรนด์เท่านั้น รองเท้า Converseที่ผลิตจากญี่ปุ่น จะใช้วัสดุดี ผลิตจำนวนน้อย มีลายเฉพาะรุ่นที่ไม่มีใครเหมือน แถมยังทำให้ดูหายากเข้าไปอีกด้วยการวางขายเฉพาะที่แดนอาทิตอุทัยประเทศญี่ปุ่นเพียงที่เดียว ถือเป็นอีกหนึ่งสายที่เหล่านักสะสมชื่นชอบและตามหาเก็บกันไม่แพ้พวก Made in USA และพวก Deadstock รุ่นวินเทจกันเลยทีเดียว
ถึงตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นด้วยตัวเลขสถิติหรือด้วยความรู้สึกของคนก็ตาม คงไม่มีใครกล้าเถียงว่าConverse คือแบรนด์รองเท้าที่ประสบความสำเร็จที่สุดแบรนด์หนึ่งในโลก… ความนิยมทั่วบ้านทั่วเมืองของ Converseมันคือผลลัพธ์ที่หล่อหลอมจากการเอาอย่าง Idol และคนดังของวัยรุ่นที่เห็นได้ในหน้าประวัติศาสตร์สืบต่อๆกันมารุ่นต่อรุ่น จนทำให้ชื่อ Converse ทุกวันนี้เป็นมากกว่าชื่อรองเท้าไปแล้ว มันกลายเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมความเป็นอเมริกันที่ทั่วโลกเข้าถึงอย่างแท้จริง เป็นขวัญใจชาวประชาที่ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปสักแค่ไหนก็ยากจะมีใครมาล้มตำแหน่งนี้ไปได้… พูดๆมาตั้งนานนี่เชื่อว่าทุกคนต้องมี Converse คู่ใจของตัวเองอยู่แน่ๆ ลองหยิบรองเท้าคู่เก่งมาดู แล้วจะได้เห็นคราบรอยเปื้อนที่จารึกอยู่บนผ้าใบที่เราทำมากับมือ ไม่ว่าจะเป็นจะรุ่นถูกแพงหรือจะหายากไหมไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่จุดสำคัญของรองเท้า Converse คือขอให้ใส่แล้วเป็นตัวคุณก็พอ… เอ้า! Converse จงเจริญ! เฮ!
Writer: Pakkawat Tanghom
Image By: Thip S. Selley
CREDIT: Refinedguy , artsonline , tvtropes , details , corbisimages , drugstorecowgirl2013 , notsolonelylondoners , maceio40graus , Hypebeast
RECOMMENDED CONTENT
ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น (Ars Longa Vita Brevis) คือภาษิตของฮิปโปเครติส บิดาแห่งการแพทย์ในยุคกรีกโบราณ คนไทยคุ้นเคยวลีนี้จากคำสอนของ ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย ที่ซึ่งต่อมาลูกศิษย์ของท่านได้นำมาใช้เป็นคำขวัญของมหาวิทยาลัยศิลปากร วลีที่อาจกล่าวได้ว่าเป็นสัจธรรมวลีนี้ยังผุดขึ้นมาในความคิดของ เข้-จุฬญานนท์ ศิริผล หลังจากที่เขามีโอกาสพูดคุยกับผู้ใช้เวสป้า และตระหนักถึงความผูกพันของผู้คนกับความหมายของสกู๊ตเตอร์ที่เป็นมากกว่าพาหนะ เข้จึงเลือกใช้มันมาเป็นชื่อภาพยนตร์สารคดีเรื่องใหม่ของเขา - ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น