นับวัน Crowdfunding หรือการระดมทุนออนไลน์ยิ่งได้เสียงตอบรับเชิงบวกจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ ดีไซเนอร์ นักประดิษฐ์ หรือแม้แต่คนธรรมดาทั่วไปที่ยินดีจ่ายเงินเพื่อสนับสนุนการผลิตสินค้าดีๆ ที่ไม่มีในตลาด
ถ้าเผื่อใครยังไม่รู้จัก Crowdfunding ก็คือ การระดมทุนผ่านระบบออนไลน์ที่เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้มีพื้นที่สำหรับนำเสนอโปรเจ็กต์ดีๆ และช่วยกันทำให้เป็นจริง ขอเพียงแค่มีไอเดียอะไรก็ได้ที่ว้าว (wow) มีเทคนิคการนำเสนอเรื่องราวที่น่าสนใจและสามารถผลิตได้จริง (viable) ผู้คนก็พร้อมจะเทใจ จ่ายเงินสนับสนุนทันที เมื่อได้ยอดเงินระดมทุนตามที่กำหนดไว้แล้ว เจ้าของโปรเจ็กต์ก็จะนำไปลงทุนในการพัฒนาและผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย โดยที่ผู้ร่วมระดุมทุนอาจจะได้ส่วนลดหรือมีสิทธิ์ซื้อสินค้าเหล่านั้นก่อนใคร (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่เจ้าของโปรเจ็กต์กำหนดไว้) เรียกได้ว่า win-win กันทั้งสองฝ่าย
“เมื่ออยู่บนหน้าเว็บไซต์ สิ่งเดียวที่สำคัญก็คือ การเล่าเรื่อง (storytelling)” Yancey Strickler หนึ่งในผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ Kickstater ได้เผยถึงเบื้องหลังความสำเร็จของการพรีเซนต์โปรเจ็กต์บนเว็บไซต์ให้ชนะใจชาวเน็ตแบบถล่มทลาย โดยใน 5 ปีที่ผ่านมานั้น มีโปรเจ็กต์ที่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายกว่า 60,000 โปรเจ็กต์ และทำยอดระดมทุนไปมากถึง 1 ล้านล้านเหรียญ!
Calvin Adams(ปู่) และ Boman Farrer (หลาน) ผู้ร่วมก่อตั้งแบรนด์นาฬิกา “LunoWear”
สำนักข่าวหลายแห่งต่างเห็นตรงกันว่า Crowdfunding เป็นช่องทางการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีความเท่าเทียมและเป็นประชาธิปไตยสูง ทั้งยังช่วยตัดปัญหาที่ว่า ไอเดียดีๆ มักจะถูกดัดแปลงหรือล้มเลิกไปในระหว่างทางเสมอ อาทิ โปรเจ็กต์นาฬิกา “LunoWear” ซึ่งคุณปู่กับหลานชายช่วยกันออกแบบและทำนาฬิกาขึ้นเอง ก่อนเปิดระดมทุนผ่านเว็บไซต์ INDIEGOGO (ซึ่งเป็นเว็บไซต์ระดมทุนชื่อดังเหมือนกัน) ปรากฏว่ากวาดเงินระดมทุนไป 292,931 เหรียญเลยทีเดียว ทั้งนี้ก็เพราะ LunoWear นั้นโดดเด่นด้วยคอนเซ็ปท์ที่เน้นคุณค่าของงานคราฟต์ ความใส่ใจพิถีพิถันในการคัดสรรวัสดุที่มีคุณภาพ เช่น หน้าปัดนาฬิกาทำจากไม้ไผ่ ตัวเรือนทำจากหนังแท้ ประกอบกับเรื่องราวของการส่งต่อทักษะช่างทำนาฬิกามานานถึง 4 เจเรเนอชั่น จนกลายเป็นสินค้าที่มีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร จึงชนะใจคนได้ไม่ยาก
เมื่อหันกลับมามองสถานการณ์ในบ้านเรา Crowdfunding ยังค่อนข้างเป็นเรื่องใหม่และไม่แพร่หลายมากนัก ที่เห็นได้ชัดก็เช่น Afterword ที่เปิดโอกาสให้คนรักการอ่านได้สนับสนุนและมีส่วนร่วมในการทำหนังสือดีๆ ที่ไม่ค่อยมีวางขายในตลาด เทใจดอทคอม แพลตฟอร์มออนไลน์ซึ่งเปิดรับบริจาคเพื่อผลักดันให้โครงการเพื่อสังคมเกิดขึ้นจริง ซึ่งหนึ่งในโครงการที่สร้างกระแสฮือฮาบนโลกออนไลน์ก็คือ Documentary Club ซึ่งนำหนังสารคดีนอกกระแสมาจัดฉาย เช่น Finding Vivian Maier, Citizen Four และ The Wolfpack แต่ถ้าเปรียบเทียบในเชิงตลาดประเภทสินค้า/บริการนั้น ยังถือว่าเล็กมากและขาดความหลากหลาย
เทใจดอทคอม ตอนนี้มียอดระดมทุนทั้งหมด 7,421,796 บาท มีสมาชิกทั้งหมด 9,257 คน
อันที่จริง เมื่อลองเปิดดูกล่องเครื่องมือ (Tools Box) ของธุรกิจสตาร์ทอัพในต่างแดนแล้ว จะพบว่า Crowdfunding เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความเป็นไปได้เท่านั้น เพราะยังมีอุปกรณ์ เครื่องมือ วิธีการคิด และเทคโนโลยีอีกมากมายหลายสิ่งที่เปรียบเสมือนเป็น ‘เลขา’ ของผู้ประกอบการหรือไม่ก็เป็น ‘กุญแจ’ สำคัญที่ช่วยรับมือแก้ไขปัญหาและพาไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ว่าจะเป็นระบบ Cloud Service ที่ขับเคลื่อนทุกองค์ประกอบของธุรกิจด้วยระบบคลาวด์ เว็บไซต์จัดหาทีมงาน การทำวิจัยด้านการตลาด การทดสอบสินค้า มาร์เก็ตติ้ง ช่องทางการสื่อสารกับผู้บริโภค แหล่งรวบรวมข้อมูล (Directory) ระบบการวิเคราะห์ผล (analytics) แอพพลิเคชั่นสำหรับทดสอบเว็บไซต์และสื่อออนไลน์ เป็นต้น
เพราะสนามแข่งขันของสตาร์ทอัพนั้นเปิดกว้างสำหรับทุกผู้เล่น ที่ไม่ใช่แค่นักออกแบบเสื้อผ้า นักพัฒนาแอพพลิเคชั่น ช่างทำนาฬิกา คนออกแบบเว็บไซต์ ฯลฯ แต่ยังรวมไปถึงนักการตลาด นักลงทุน ผู้จัดสรรบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่เจ้าของธุรกิจสตาร์ทอัพเอง รวมทั้งคนทั่วไปที่อยากสนับสนุนของดีหรืออยากมีธุรกิจเป็นของตนเอง ซึ่งถ้าเมืองไทยเริ่มตื่นตัวและหันมาลงเล่นตลาดนี้กันเต็มตัวเมื่อไร เราอาจจะได้เห็นการตื่นตัวของผู้บริโภคที่ไม่ต้องฝากความหวังไว้ที่ผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่รายเดิมอีกต่อไป ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตก็มีเครื่องมือในการพัฒนาสินค้าให้ดียิ่งขึ้นโดยไม่ต้องคำนึงถึงเงินทุนอย่างเดียว และที่น่าดีใจกว่านั้นก็คือ เราทุกฝ่ายน่าจะมีส่วนร่วมในการผลักดันให้เกิดไอเดียที่สร้างสรรค์และมีประโยชน์ต่อสังคมไปพร้อมกัน
Writer: Piyaporn Aroonkriengkrai
บทความ “Grandfather Launches LunoWear Watch With Grandson” จาก indiegogo.com
บทความ “Kickstarter means that ‘big brands are at disadvantage’ จาก dezeen.com , Kickstarter.com
RECOMMENDED CONTENT
วงคู่หู “Whal & Dolph” (วาฬ แอนด์ ดอล์ฟ) ประกอบด้วย “ปอ - กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ” และ “น้ำวน - วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) กลับมาปล่อยเพลงใหม่อีกครั้งในรอบ 5 เดือน