เมื่อเร็วๆ นี้มีการศึกษาใหม่ค้นพบความจริงอันน่าสะพรึงว่า Google และ Facebook รู้ว่าเราเข้าเว็บหนังผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่นั้น แต่ยังเก็บสถิติว่าเข้าไปดูบ่อยแค่ไหน และชอบหนังแนวไหนด้วย!
กว่า 22,484 ของเว็บไซต์โป๊ที่มีรายงานว่าเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูลผู้เข้าชม จากผลการวิจัยของ Microsoft, Carnegie Mellon และมหาวิทยาลัย Pennsylvania พบว่ากว่า 93 เปอร์เซ็นต์ของเว็บโป๊เหล่านั้น ข้อมูลส่วนตัวของผู้เข้าชมได้รั่วไหลไปสู่บุคคลที่ 3 (Third-party) จากการเสิร์ชของเราเอง ถึงแม้จะเปิดใช้ Incognito mode หรือโหมดไม่ระบุตัวตนผู้ใช้งานขณะท่องเว็บไซต์ที่สุ่มเสี่ยงแล้วก็ตาม แต่ระบบ Incognito mode นี้แค่ไม่บันทึกประวัติการเข้าชมในเครื่องคอมพิวเตอร์ของเราเท่านั้น ไม่ได้ป้องกันการบันทึกข้อมูลโดยตัวเว็บไซต์นั้นๆ และไม่ได้ป้องกันการเข้าถึงข้อมูลของบุคคลที่ 3 ซึ่งทำการ Tracking จาก Cookies ที่เว็บส่วนใหญ่จะใช้เป็นตัวช่วยกรองความสนใจของผู้เข้าชมเว็บไซต์ เพื่อเลือกโฆษณาให้เด้งขึ้นมาใกล้เคียงกับความสนใจของเรามากที่สุด Trackers ที่แฝงอยู่ในเว็บไซต์ใหญ่ๆ ทั้ง Google และ Facebook นี่แหละจะเก็บข้อมูลการใช้งานของเราจาก Cookies โดยเฉพาะยิ่งถ้าเข้าเว็บนั้นเป็นประจำก็จะยิ่งเสี่ยง
ผู้ที่ทำรีเสิร์ชนี้บอกว่า ผู้ใช้งานอย่างเราๆ อาจจะไม่ได้สนใจหรือตระหนักเลยว่าบริษัทใหญ่ๆ อย่างเช่น Google (หรือเว็บลูกของกูเกิลที่เป็น Advertising Platform อย่าง DoubleClick) มี Trackers ที่เป็นเว็บโป๊ฝังอยู่ถึง 74 เปอร์เซ็นต์ หรือแม้แต่ Facebook ที่มีนโยบายแบนเนื้อหาโป๊เปลือยไม่หมาะสมต่างๆ ผลวิจัยยังบอกเลยว่ามี Trackers กว่า 10 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
ด้วยเงื่อนไข Privacy Policy ที่ค่อนข้างซับซ้อนชวนปวดหัวของแต่ละเว็บที่ไม่เหมือนกัน นักวิจัยได้ทดลองเอาเงื่อนไขความเป็นส่วนตัวของเว็บจำนวนหนึ่งมาทดสอบโดย Flesch-Kinkaid Scale ระบบที่ฝรั่งเขาคิดค้นขึ้นเพื่อวัดระดับของข้อความว่าคนสามารถอ่านเข้าใจยาก-ง่ายแค่ไหน โดยจะใข้เกณฑ์ตาม Grade หรือระดับการศึกษา (ก็ของฝรั่งอีกนั่นแหละ) เป็นเกณฑ์วัด เช่น ต้องจบเกรดไหนถึงจะอ่านข้อความนั้นได้อย่างเข้าใจ
ทีนี้เขาก็เลยลองเอาเงื่อนไขความเป็นส่วนตัวของเว็บโป๊บางเว็บมาวัดโดยวิธีนี้ดู ปรากฏว่าอยู่ที่เลเวล 14 ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูงมาก เพราะระดับความเข้าใจยากสูงสุดจะอยู่ที่เลเวล 18 นั่นหมายความว่าผู้ที่จะอ่านเงื่อนไขต่างๆ เข้าใจได้ต้องมีระดับการศึกษาไม่ต่ำกว่า 2 ปีในระดับอุดมศึกษา แถมยังต้องใช้เวลา 7 นาทีเป็นอย่างน้อยในการอ่านทั้งหมดด้วย
คำถามคือ แล้วผู้ใช้งานอย่างเราได้รับการแจ้งข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาหรือเปล่า มันเป็นข้อมูลที่ทำให้เราเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ หรือจริงๆ แล้ว เว็บไซต์เหล่านั้นไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไร เพราะบอกในเงื่อนไขไปหมดแล้ว และเราเองนี่แหละที่เป็นคนยินยอมให้เขาเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของเราตั้งแต่เเรกแล้วกันแน่? ในเมื่อมันเป็นข้อมูลที่เปราะบางมากๆ อย่างเช่นรสนิยมทางเพศของแต่ละคน มันจึงน่ากลัวถ้าเว็บไซต์เหล่านั้นถูกเเฮ็ก (แล้วมันก็ง่ายที่จะโดนแฮ็กด้วย)
ปรากฏการณ์ของการทบทวน Privacy Policy นี้กลับมากระตุ้นเราอีกครั้งเมื่อช่วง 2 สัปดาห์ที่แล้ว ตอนที่กระแส FaceApp (หรือที่เราเรียก ‘แอพฯ หน้าแก่’) สร้างสีสันแก่ชาวโลกเป็นอย่างมาก ทั้งเซเลบฯ ดาราทั่วโลกต่างพากันเแปลงเพศและเพิ่มอายุตัวเองให้แก่ขึ้นเป็นมนุษย์ลุงวัย 60 จนกระทั่งมีคนออกมาเตือนว่า… ดูก่อนประสก จริงๆ แล้วเจ้า FaceApp นี้น่ะมันปลอดภัยแค่ไหนกันเชียว เพราะเขาสามารถล้วงข้อมูลเราไปได้ เนื่องจาก Privacy Policy ของแอพฯ จากรัสเซียที่มีมาตั้งแต่ปี 2017 นี้ (ถ้ายังจำกันได้กับไวรัล #FaceAppChallenge) ระบุว่า รูปของเราที่อัพโหลดลงในแอพฯ ผู้สร้างแอพฯ ก็สามารถเอารูปเราไปเผยเเพร่ได้ เช่นเดียวกับ Username, อีเมล์ และที่อยู่ของเรา ซึ่งเปิดเผยหรือใช้ในทางการค้าใดๆ ก็ได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่าตอบแทน ไม่ต้องขออนุญาต หรือแจ้งให้ทราบ เพราะเราเองนี่แหละที่เป็นคนกดยอมรับเงื่อนไขเหล่านั้นไปเรียบร้อยแล้ว
เราไม่มีทางรู้แน่ชัดว่าผู้สร้างแอพฯ หรือตัว Trackers จะเอาข้อมูลเราไปทำอะไร แต่ที่แน่ๆ ทำให้นึกถึง Shut Up and Dance ตอนหนึ่งในซีรีส์ Black Mirror เมื่อข้อมูลส่วนตั๊วส่วนตัวของเราที่ไม่อยากบอกให้โลกรู้ กลับมาเเบล็กเมล์เราเสียเอง…
RECOMMENDED CONTENT
Under Armour เปิดตัวแคมเปญระดับโลก แสดงความมุ่งมั่นระยะยาวที่จะสร้างโอกาสในการเข้าถึงกีฬา รวมถึงขจัดอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้เยาวชนและนักกีฬารุ่นเยาว์ทั่วโลกมีส่วนร่วมกับกีฬา ในประเทศไทย Under Armour Thailand ตั้งเป้าผลักดันและสนับสนุนให้เด็กไทย