CONTACT US

#CULTURE — ‘เซนย่า ชไนเดอร์’ ; สตรีทแวร์แนวคิดยั่งยืนที่เฝ้ามองการเติบโตของ Youth Generation ในยูเครน
date : 8.พฤษภาคม.2018 tag :

สำหรับคนทั่วไป ‘ยีนส์’ อาจเป็นของธรรมดาๆ ที่ใครๆ ก็มีได้ แต่ถ้าย้อนกลับไปยุคหลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต (Post Soviet – ราวปี 1990s เป็นต้นมา) ยีนส์คือ rare item หาก็ยาก ราคาก็เเพง เป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมฝั่งอเมริกาที่เคยถูกกีดกันในสมัยสงครามเย็น กระทั่งต่อมา ยีนส์ไม่เพียงเป็นสัญลักษณ์ของอิสรภาพและการปลดแอกทางวัฒนธรรมเท่านั้น ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการผลิตยีนส์ ‘Soviet Made’ ที่มีลายเซ็นของตัวเองแบบไม่ต้องง้อยีนส์สัญชาติอเมริกันอีกต่อไปด้วย

เซนย่า ชไนเดอร์ (Ksenia Schnaider) แบรนด์สตรีทแฟชั่น จากเมืองเคียฟ ยูเครน โดย 2 ดีไซเนอร์สามี-ภรรยา Ksenia และ Anton Schnaider ก็ตั้งไข่จากความคลั่งไคล้ในความดิบเซอร์ของยีนส์เหมือนกัน เริ่มจากการที่ทั้งคู่จะไปคุ้ยเสื้อผ้ายีนส์มือสองจากตลาดนัดในเคียฟ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งของมือสองขนาดใหญ่ที่สุดในแถบยุโรปตะวันออก ชาวยูเครนจะรู้กันดีว่าหากมาเยือนแล้วจะต้องได้ ‘ของดี’ ติดไม้ติดมือกลับไปบ้างไม่มากก็น้อย

ยีนส์มือสองที่เข้าตา 2 ดีไซเนอร์ถูกนำมาทำความสะอาดหมดจด แล้วเสกให้กลายเป็นเสื้อผ้า Streetwear ใหม่เอี่ยมในคอลเล็กชั่นชื่อ ‘Demi Denims’ เมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา ใครจะนึกล่ะว่าจากเสื้อผ้ายีนส์เก่าๆ กองพะเนินไร้ราคา จะคืนชีพกลับมาเก๋กว่าเดิม แถมเข้าตาบรรดาเซเลบริตี้ตัวแม่ ไม่ว่า Bella Hadid หรือ Dua Lipa ก็ฝากเนื้อฝากตัวเป็นแฟนแบรนด์นี้ไปเป็นที่เรียบร้อย!

เมื่อผ่านคอลเล็กชั่นนั้นไป เซนย่าและแอนทอนมองยีนส์ที่กองพะเนินเทินทึกในออฟฟิศตัวเองอีกครั้งหนึ่ง พลางคิดว่าจะทำยังไงกับมันต่อดี ภายใต้โจทย์ที่พวกเขาอยากให้มัน ‘ไม่สูญเปล่า’ มากที่สุด สุดท้ายยีนส์ที่ขายไม่หมดจากคอลเล็กชั่น Demi Denims จึงถูกรีไซเคิลซ้ำด้วยกระบวนการร้อยแปดอีกครั้งหนึ่ง ออกมาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ‘Denim Fur’ มันคือเฟอร์เทียมจากยีนส์รีไซเคิล ผลผลิตอันพิลึกพิลั่นที่ไม่เคยมีใครกล้า (และบ้า) ทำมาก่อน! 

เซนย่า ชไนเดอร์ เล่าถึงไอเดียหลุดโลกของ Denim Fur ว่าจริงๆ แล้วเฟอร์เป็นหนึ่งไอเท็ม wishlist ของคนยูเครนมากพอๆ กับยีนส์เมื่อตอนโซเวียตล่มสลายใหม่ๆ นั่นแหละ แต่กับประเทศที่คนส่วนใหญ่ไม่ได้มีรายได้ไฮโซอะไรมากนัก ก็ใช่ว่าจะซื้อหาเฟอร์จริง-สินค้าแฟชั่นหมวด ‘Luxury’ มาใส่ได้ทุกคน

บวกกับตอนนี้ที่หลายแบรนด์ดังต่างเดินหน้า ‘Fur Free’ หยุดการล่าสัตว์เพื่อสนองอุตสาหกรรมแฟชั่นกันแล้ว ถึง Denim Fur จะเป็นเฟอร์เทียมที่เทียบมูลค่าอะไรไม่ได้เลยกับเฟอร์ขนสัตว์ราคาแพงระยับก็จริง แต่อย่างน้อย มันก็เกิดจากทัศนคติ ‘ยั่งยืน’ มากเท่าที่แบรนด์เล็กๆ แบรนด์หนึ่งในประเทศนอกสายตาอย่างยูเครนจะทำได้ และทำให้สวยงามในแบบของมัน

การเกิดขึ้นของแนวคิดแฟชั่น sustainable ถือเป็นความท้าทายอย่างมากก็ว่าได้ เพราะประเทศที่การเมืองยังไม่นิ่ง แถมเรื่องปากท้องยังเป็นปัญหาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอย่างยูเครน เอาแค่ใครจะลุกขึ้นมาทำแบรนด์แฟชั่นคูลๆ สักแบรนด์ก็ยากแล้ว 2 ดีไซเนอร์ก็เหมือนกับแบรนด์สายสตรีทอีกหลายแบรนด์ที่คุ้ยหาความไม่สมบูรณ์จากสภาพแวดล้อม จากสิ่งที่พวกเขาเห็น จากสังคมที่เป็น มาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าแฟชั่น ให้ ‘ลึก’ ลงไปกว่าแฟชั่น

เช่นโปรเจ็กต์สตรีทแวร์ ‘Corruption’ ที่พวกเขาทำขึ้นเพื่อเสียดสีปัญหาคอรัปชั่นในยูเครนพอแสบๆ คันๆ มาแล้ว หรืออย่างคอลเล็กชั่น ‘Gopnik’ สปอร์ตแวร์กลิ่นอาย 80s–90s ที่อินสไปร์จากวัยรุ่นชายขอบในยูเครน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมแบรนด์สายสตรีทในยูเครนถึงได้ใจคนเจนฯ ใหม่เข้าอย่างจัง 

น่าจับตามองว่า Ksenia Schnaider อาจเป็นหนึ่งในคลื่น Youth Generation ลูกใหม่ของหลายๆ ลูกที่กำลังรันแฟชั่นยุคหลังโซเวียตให้เเข็งแรง ผลิบานอีกครั้งก็เป็นได้!

RECOMMENDED CONTENT

7.กรกฎาคม.2019

บริษัท ทรานส์ฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ร่วมกับ บริษัท บีฮีมอธ แคปปิตอล จำกัด, บริษัท นอร์ธสตาร์ สตูดิโอ จำกัด, บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด พร้อมส่งภาพยนตร์เรื่องราวเเห่งแรงบันดาลใจที่สร้างจากเรื่องจริงของโปรกอล์ฟ

preload imagepreload image