เรากำลังอยู่ในโลกที่หมุนเร็วมาก มากจนเป็นเรื่องธรรมดาเมื่อสิ่งที่ ‘อิน’ ในวันนี้ สัปดาห์หน้าเราอาจจะไม่เห็นหน้ามันอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกันกับสรรพสิ่งในโลกแฟชั่นที่เหมือนติดล้อให้หมุนเร็วยิ่งกว่า เทรนด์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2018- 2019 พาเราหมุนไป ในโลกอนาคตสุดล้ำ ไม่ว่าจะเป็นเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ AI เอย หรือ Virtual Garment เสื้อผ้าที่ซื้อขายกันด้วยเงินดิจิตัลเอย หลุดโลกก็แล้ว หวือหวาก็แล้ว น่ากลับมามองว่า จะเป็นได้หรือไม่ หากเราเดินทางกันไปจนสุดขอบแล้ว ถึงเวลาที่ต้อง Back to Basic หรือยัง?
ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่น่าจะมีอะไรพีคไปกว่าการมาถึงของ สตรีทเเวร์ (Streetwear) หลายๆ แบรนด์ทั้งสตรีทและไม่สตรีทต่างขยันออกไอเท็มมาตอบรับกระแสสตรีทกันยกใหญ่ เห็นได้ชัดว่าทุกคนตื่นเต้น ทุกคนอยากมีส่วนร่วมกับมัน แม้มันจะไม่ได้เป็นรากเหง้าของแบรนด์นั้นๆ เลยก็ตาม
หากพูดถึงสตรีทแวร์ Virgil Abloh คือหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลผู้เริ่มทำให้มันอยู่ในสปอร์ตไลท์ เริ่มต้นจาก Off-White™ แบรนด์ที่เขาก่อตั้งขึ้นในปี 2012 หลังจากนั้นก็พิสูจน์ฝีมือกับเฮ้าส์ที่ไม่ได้เป็นสตรีทเลยยย… มาตั้งแต่ไหนแต่ไรอย่าง Louis Vuitton ต้องหันเหทิศทางมาจับ Abloh นั่งแท่นเป็นผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ ชี้เป็นชี้ตายให้กับไลน์เสื้อผ้าบุรุษ (Menswear) ของตัวเอง
ความไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ แถมเป็นคนบัญญัติสิ่งใหม่ขึ้นมาเอง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าเขาไม่เพียงเป็นโลโก้ของสตรีทแวร์ เเต่เขายังเป็นดีไซเนอร์ของคนเจนฯ Z อีกด้วย
แต่ไม่นานมานี้เฮีย Abloh แกให้สัมภาษณ์กับสื่ออย่าง Dazed เมื่อเขาถูกถามว่าสตรีทเเวร์ในปี 2020 นี้จะเป็นยังไงต่อไป
‘อ๋อ ผมบอกได้เลยว่ามันกำลังจะตายครับ…เราจะต้องมีเสื้อยืดโลโก้ มีเสื้อฮู้ด มีสนีกเกอร์กันอีกสักเท่าไรกันหรอครับ?’
อ่าว เดี๋ยว แล้วสนีกเกอร์รุ่นปะป๋าหนาเทอะทะที่เคยฮิตกันล่ะ จะเอาไปไว้ไหน ละ..ละ แล้ว…ถ้าปีนี้แต่งสตรีทจัดเต็มมาจะโดนล้อว่าตกเทรนด์มั้ย อะไร ยังไง!?
อยู่ๆ เจ้าพ่อสตรีทเเวร์เป็นคนที่บอกว่าสตรีทเเวร์กำลังจะตายซะงั้น!
สตรีทเเวร์ (Streetwear) คำๆ นี้หมายถึงอะไรกันแน่ เรายอมรับว่าเราไม่อาจหาคำแปลแน่ชัดของมันได้ เพราะสตรีทเเวร์ของแต่ละบริบทสังคมนั้นแตกต่างกันออกไป มันไม่ใช่แค่เสื้อยืด รองเท้า หรือของชิ้นใดชิ้นหนึ่ง
แต่อาจกล่าวได้ว่าสตรีทเเวร์คือ ‘คัลเจอร์’ ที่ขึ้นอยู่กับ ‘พื้นที่’ และ ‘ยุคสมัย’ บางแห่งกำเนิดจากการเป็นวัฒนธรรมกระแสรองของคนกลุ่มย่อย ไม่ว่าจะเป็นฮิปฮอป สเก็ตบอร์ด เบสบอล การเล่นเซิร์ฟ ฯลฯ และทุกวันนี้ก็อาจยังเป็นเช่นนั้นอยู่ในบางสังคม ในขณะที่บางสังคมมันอาจหมายถึงพระเจ้า สามารถชี้วัดฐานะและสถานะทางสังคมได้เลยทีเดียว
แม้แต่ Abloh เองก็บอกว่า คำว่าสตรีทเเวร์ เหมือนแฟชั่นแขนงหนึ่งซึ่งในแต่ละยุคสมัยก็จะเปลี่ยนนิยามของตัวมันเองไปเรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับดีไซเนอร์หรือแบรนด์จะเป็นผู้ชี้นิ้วกำหนดว่า ไอ้สตรีทเเวร์นี่มันจะเป็นแบบไหน
Abloh ผู้เฝ้ามองแวดวงแฟชั่นมาตลอดในฐานะคนนอก วันหนึ่งเมื่อเขามีโอกาสได้เข้ามาวงใน เลยมีความคิดว่า แล้วทำไมเราไม่กำหนดนิยามให้มันแทนที่จะให้มันมากำหนดเราล่ะ?!
แล้วเขาก็เป็นผู้กำหนดได้อย่างนั้นจริงๆ Abloh ทำให้สตรีทเเวร์ไปอยู่ในทุกๆ ที่ แทบจะทุกโปรดักซ์ บนขวดนั้นดื่ม บนเฟอร์นิเจอร์ บนกระเป๋าเดินทาง เป็นงานอาร์ตอยู่ในมิวเซียม ในแวดวงกีฬา ฯลฯ เรียกว่าเเทบจะแทรกซึมอยู่ในทุกคัลเจอร์ เขาทำให้คำว่า ‘ราชาโลโก้’ ที่ใครๆ ยกให้ไม่ได้เป็นแค่ฉายา แต่เขาเเปะโลโก้ของตัวเองไว้ทุกแห่งหนอย่างสวยงาม
สตรีทเเวร์ สำหรับ Virgil Abloh หรือ Demna Gvasalia ผู้เบิกทาง Vetements และ Balenciaga หรืออย่าง Gosha Rubchinskiy ราชาสตรีทแวร์แดนยุโรปตะวันออก คำๆ นี้อาจเกินความหมายของเทรนด์หรือแฟชั่นไปแล้ว เพราะพวกเขาได้วางรากฐานตั้งแต่แรกให้สตรีทเเวร์เป็นคอนเท้นต์ วิธีคิด สเตทเม้นต์ ที่ใช้สื่อสารกับใครก็ตามที่เขาอยากสื่อสาร ซึ่งคนกลุ่มที่ว่านั้นก็คือคนรุ่นใหม่ คนในยุคโซเชียลมีเดีย คนผิวสี คนที่มีความหลากหลาย คนที่เคยอยู่ชายขอบของโลกแฟชั่น เขาทำให้อะไรก็ตามที่ใครใฝ่ฝันถึง กลายเป็นสิ่งจับต้องได้ เอ่อ…ไม่ได้หมายถึงในแง่ของโปรดักซ์นะ แต่หมายถึงในแง่ไอ้วิธีคิด วิธีทำธุรกิจแบบนี้ เหมือนพยายามจะบอกทุกคนอยู่เสมอว่า ไม่ว่าใครก็สามารถ ‘เป็น’ ได้อย่างพวกเขา
“A piece of clothing is more important than the fabric it’s made of – it’s representative, it means something. It says something about a generation” – Virgil Abloh
ด้วยเหตุนี้ หากถามว่าสตรีทเเวร์ จะตายจริงๆ มั้ย ตามหลักสัจธรรม สิ่งใดเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับ สตรีทเเวร์ก็เช่นกัน เราว่ามันคงตาย แต่แค่การตายในรูปแบบหนึ่ง เพื่อการเกิดใหม่ในอีกรูปแบบหนึ่ง และสิ่งที่ Abloh มองว่าจะกลับมาเกิดใหม่นี้คืออะไรก็ตามที่คลาสสิก วินเทจ อะไรที่จะกลับมาสู่รากของตัวเองอีกครั้ง
ซึ่งตรงกับที่ Julia von Boehm แฟชั่นไดเร็กเตอร์นิตยสาร Instyle เคยให้ความเห็นเรื่องเทรนด์ที่กำลังจะกลับมาเร็วๆ นี้ว่า “The counter-reaction of society is that now everything is very classic and reflects the past more than the future.”
เมื่อนักพยากรณ์แฟชั่นหลายคนยืนยันแบบนี้ ตอนนี้คนเลยเริ่มเล่นมุขกันเป็นมีมมากมายในโลกออนไลน์ว่า ‘แล้วไอ้รองเท้าสนีกเกอร์ที่สะสมไว้เต็มบ้านนี่จะยังไงดี’
เราอยากบอกว่าช้าก่อนชาวสตรีท! อย่าเพิ่งเอา Yeezy ไปเผาทิ้ง เพราะบรรดาไอเท็มต่างๆ ที่คุณมี วันหนึ่งมันจะกลายเป็นตัวแทนที่บอกเล่าเรื่องราวของยุคสมัยหนึ่ง ของผู้คนในเจเนอเรชั่นหนึ่ง แล้วในวันนั้นมันก็อาจจะมีคุณค่า (และมูลค่า) เพิ่มขึ้นไป อีก เหมือนกับบรรดาของวินเทจหลายๆ ชิ้นที่ผ่านกาลเวลามาจนถึงทุกวันนี้ยังไงล่ะ!
ซึ่งถ้าของวินเทจกลับมาฮิตกันอีกจริงๆ อย่างที่ว่า ก็จะสอดคล้องกับเทรนด์ที่ทั่วโลกเริ่มให้ความสำคัญ กันมาสักพักแล้ว ว่าจะทำยังไงให้อุตสาหกรรมที่สร้างขยะและมลพิษที่สุดอุตสาหกรรมหนึ่งบนโลกอย่างแฟชั่นมันยั่งยืนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ หนทางหนึ่งที่พอจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวอลลุ่มใหญ่ๆ เลยก็คือการสนับสนุนเสื้อผ้าข้าวของวินเทจนั่นเอง ไม่ว่าจะด้วยการซื้อขาย หรือเเลกเปลี่ยนกันในระดับคอมมิวนิตี้ อย่างการ Clothes swapping ก็ตาม ไม่แน่ว่าการมาของเทรนด์ Vintage ที่เฮีย Abloh ว่า อาจจะช่วยสนับสนุนวงจรแฟชั่นยั่งยืนก็เป็นได้
เมื่อปี 2009 Abloh เคยบอกนัยๆ มาแล้วครั้งหนึ่งว่า “You get made fun of and then in the future everyone adopts what they were making fun of’.” อารมณ์ประมาณว่า อ่ะ…. เล่นกันสุดยัง ถ้าสุดแล้วก็พอเนอะ!
แต่การสิ้นสุดของบางสิ่งก็คือการเริ่มต้นของอีกสิ่งหนึ่งเสมอ มาดูกันต่อไปว่าโลกแฟชั่นจะ Go Vintage ยังไง ในแง่มุมไหน และจะมีอะไรมาเซอร์ไพรส์เราอีกบ้าง
RECOMMENDED CONTENT
ย้อนรอยสู่จุดกำเนิดแห่งดนตรีเทคโนกับผลงาน Black to Techno โดยผู้กำกับฯ หญิงชาวอังกฤษ - ไนจีเรียน Jenn Nkiru ผู้จะพาเราไปสัมผัสวัฒนธรรมดนตรีเทคโนจากจุดกำเนิดที่เมืองดีทรอยท์ สหรัฐอเมริกา จากดนตรีกระแสรองสู่ความนิยมสุดขีดช่วงปลายยุค 1980s นำไปสู่ดนตรีที่สะท้อนต่อสู้เพื่อบทบาทในสังคมและเสรีภาพของกลุ่มคนผิวสีในดีทรอยท์