ในประวัติศาสตร์แฟชั่นผู้ชาย ไอเท็มที่ไม่มีวันตายขนานแท้คงต้องยอมศิโรราบให้เดนิมหรือยีนส์นี่ล่ะ เพราะยิ่งนานวัน ความเก๋าของพี่เค้าก็ยิ่งเข้มข้นจัด แถมเดนิมชั้นเยี่ยมในปัจจุบัน ราคาสูงจนเหงื่อทะลักเวลาควักเงินจ่าย แต่ถามว่าคุ้มมั้ย? บอกเลยว่า(โคตร)คุ้ม! เพราะถ้าใครที่เล่นเดนิม สะสมยีนส์ จะรู้ว่าทำไมกางเกงตัวนี้ถึงพิเศษกว่าตัวไหนๆ แต่จะเท่มากขึ้นถ้ารู้ไปถึงเบื้องลึกภูมิหลังของเดนิมที่สวมใส่ ซึ่งต้นกำเนิด ประเภท ไปจนถึงขั้นตอนการผลิตมันช่างเร้าใจ สมกับเป็นชิ้นคงกระพันที่เผลอๆบางคนทั้งรักทั้งหวงยิ่งกว่าจงอางหวงไข่กันไปเลย
JEANS OR DENIM ?
แต่เดี๋ยวก่อน สิ่งหนึ่งที่หลายคนยังงงกันอยู่ทุกครั้ง ก็คือ อะไรคือยีนส์ อะไรคือเดนิม ตอนไหนต้องเรียกแบบไหน? เอาง่ายๆไม่ซับซ้อน ทั้งคู่เป็นวัตถุดิบในการตัดเย็บเสื้อผ้ากางเกง แต่เดนิมเป็นผ้าทอที่มีต้นกำเนิดมาจากผ้าเซิด (serge) แห่งเมืองนีมส์ ประเทศฝรั่งเศส เรียกกันว่า Serge de Nîmes ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผ้าที่ดีที่สุดในช่วงยุคกลางใช้การทอแบบ twill หรือลายทะแยง ไปๆมาๆก็ค่อยๆกร่อนกลายเป็นเดนิมมาจนถึงทุกวันนี้ ส่วนยีนส์เป็นผ้าทอแบบ fustian เนื้อหยาบ มาจากเมืองจีโนอา (Genoa) ประเทศอิตาลี นิยมใช้ในเสื้อผ้าทำงานถึกๆลุยๆ ซึ่งในปัจจุบันยีนส์จะถูกใช้เป็นคำเรียกชิ้นเสื้อผ้าหรือกางเกงที่ตัดเย็บด้วยเดนิมมากกว่า จนคนอาจจะหลงคิดไปว่า สองสิ่งนี้เหมือนกัน แต่จริงๆแล้วเดนิมแท้ๆนั้นมีราคาสูงกว่ายีนส์เยอะ และเนื้อผ้าก็ละเอียดกว่า แบบที่เห็นด้วยตาเปล่าก็รู้ทันที
AGE OF STRAUSS
ความนิยมถล่มทลายของยีนส์นั้น เริ่มต้นมาจากวงการชนชั้นแรงงานที่มองหาเสื้อผ้าทนทายาด สำหรับทำงานในเหมืองแร่ ซึ่งเป็นช่วงยุคตื่นทอง (Gold Rush) ของฝั่งแคลิฟอร์เนียในปี 1853 โดยเป็นช่วงเดียวกันกับที่ Levi Strauss พ่อค้าชาวบาวาเรียนได้อพยพมายังซานฟรานซิสโก และนำพา Overall หรือชุดหมีทำงานมาให้ชาวเหมืองได้สวมใส่ ซึ่งทำด้วยผ้าคอตตอนแคนวาสสีน้ำตาล มีการตัดเย็บที่เน้นการใช้งาน ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ผ้าเดนิมที่ถูกย้อมเป็นสีน้ำเงินอินดีโก และเพิ่มรายละเอียดอย่างกระดุมหมุดโลหะ ทำหน้าที่ยึดรอยเย็บ ชิ้นผ้า และตะเข็บให้แน่นขึ้น ซึ่งเป็นผลงานของ Jacob Davis ช่างตัดเย็บมือฉมังที่เขาได้พบเจอที่ซานฟรานซิสโก โดยหลังจากนั้นทั้งคู่ก็จับมือกัน และทำให้บริษัท Levis Strauss & Co.ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์การใช้กระดุมหมุดโลหะ จนกลายเป็นลายเซ็นต์ที่ยังคงใช้กันมาจนถึงปัจจุบันนี้ ส่วนตะเข็บเส้นด้ายสีส้ม รวมถึงเครื่องหมายการค้าของ Levi Strauss ที่อยู่บนกระเป๋าหลัง, Bar-tack หรือรอยตะเข็บมุมกระเป๋า, กระดุมหมุด, ช่องกระเป๋าเล็กเหนือกระเป๋ากางเกง และป้ายหนัง ทั้งหมดนี้มาพร้อมกันแบบเต็มรูปแบบในปี 1880 เช่นเดียวกับเลขล็อตที่ระบุตัวสินค้า อย่าง 501 ก็ถือเป็นดีเอ็นเอที่ Levi สร้างขึ้นมาในแบบเฉพาะตัว
SYMBOL OF FREEDOM
หลังจากที่ถูกสวมในเหมืองอยู่นาน ในที่สุดยีนส์ก็ก้าวข้ามผ่านเสื้อผ้าคนทำงาน มาสู่โลกของแฟชั่นจนได้ โดยเฉพาะช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นยุคที่พลังคนหนุ่มสาวเริ่มพลุ่งพล่านกว่าที่เคย อย่างในช่วงปลาย 1940s ที่กางเกงยีนส์กลายเป็นชิ้นสำคัญในการแต่งกาย และเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอเมริกันตะวันตก หรือคาวบอยสไตล์ มีผู้นำด้านการผลิตรายใหม่ อย่าง Wrangler ที่บุกตลาดหนุ่มคาวบอยจนโด่งดัง ซึ่งหลังจากนั้น ยีนส์ก็ยังคงสะท้อนแก่นของชาวอเมริกันมาเสมอ ทั้งยุค 1950s ที่เฟี้ยวฟ้าวในหมู่ Rock n’ Roll หรือยุค 1970s กับการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มฮิปปี้ดอกไม้บาน และยิ่งได้รับความนิยมมากเมื่อแบรนด์ดังๆ พากันผลิตยีนส์ออกมาให้กลุ่มคนแฟชั่นสวมใส่ อย่าง Calvin Klein ที่เริ่มเป็นเจ้าแรกๆในยุค 1980s โดยทุกวันนี้ยีนส์ก็ยังคงเป็นตัวแทนของความทะมัดทะแมง ลำลอง และเรียบง่าย แตกต่างตรงที่ฝั่งยุโรปและเอเชีย เริ่มขึ้นเป็นผู้นำการผลิตยีนส์ชั้นดี เทียบเท่ายักษ์ใหญ่ แถมยังมีแบรนด์ดังที่นักเล่นยีนส์คลั่งไคล้หัวปักหัวปำ เช่น Nudie Jeans จากสวีเดน หรือ Evisu จากญี่ปุ่น
WHAT ABOUT RAW & SELVEDGE JEANS?
ยุคที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ ถือเป็นยุครุ่งเรืองอีกครั้งก็ยีนส์เลยก็ว่าได้ เพราะหลังจากที่ฝ่าฟันตัวเองมาไกลจนถึงศตวรรษที่ 20 กระบวนการผลิตยีนส์ก็ค่อยๆถูกตัดทอนคุณภาพ ต้นทุน ค่าแรงลงเรื่อยๆ จนทำให้ยีนส์กลายเป็นเพียงเสื้อผ้าที่สวมใส่กันในชีวิตประจำวัน ไม่ต้องพิถีพิถันอะไร แต่! จู่ๆก็เกิดการปฏิวัติวงการครั้งใหญ่ เมื่อคนเริ่มมองเห็นถึงศักยภาพที่น่าสนใจของเดนิม เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นยีนส์คุณภาพเยี่ยม จนสามารถกลายเป็นชิ้นมาสเตอร์พีสในตู้เลยก็ว่าได้ และมีแนวโน้มว่าจะเป็นทศวรรษใหม่ในการผลิตยีนส์
เริ่มกันที่ Raw denim หลายคนน่าจะได้ยินคำๆนี้บ่อย ซึ่งยีนส์โดยทั่วไปที่ผลิตในโรงงาน จะต้องผ่านการ pre-wash เพื่อให้เนื้อผ้านุ่มขึ้น สวมสบายขึ้น ป้องกันการหด และตัดปัญหาสีน้ำเงินซีดจางจากการเสียดสี ในทางตรงกันข้าม Raw denim หรือเดนิมดิบ เป็นผ้าเดนิมที่ไม่ได้ผ่านการ pre-wash ใดๆ จึงทำให้ครั้งแรกที่สวมใส่ ผ้าจะแข็งตึง กว่าจะนิ่มก็ต้องสวมกันเป็นอาทิตย์ๆ แต่ความสวยธรรมชาติของสีที่ได้ ก็เป็นเสน่ห์ที่คนรักยีนส์ใจละลายทุกครั้งเมื่อได้ครอบครอง
แล้ว Selvedge ล่ะ? คำว่า Selvedge มาจาก Self-edge แปลว่า ขอบหรือชายกางเกงที่เย็บเนี้ยบกริบ และจบสมบูรณ์แล้วในตัวเอง ทำให้ชายผ้าไม่ขาดรุ่ย โดยเป็นวิธีการเก่าแก่ตั้งแต่ปลาย 1800s ซึ่งเดนิมที่ถูกนำมาใช้จะถูกทอด้วยเครื่องทอแบบ shuttle ทำให้ได้ชิ้นผ้าทอละเอียด คลีนๆ แต่รัศมีความกว้างของผ้าจะแคบกว่า แต่ก็ยาวกว่าผ้าที่ทอด้วยเครื่องทอทั่วไป โดยมีญี่ปุ่นเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดยีนส์ Selvedge อย่างยาวนาน ซึ่งข้อดีของยีนส์ประเภทนี้ ก็คงอยู่ที่ความทนทาน เนี้ยบเท่ และความพิถีพิถัน ซึ่งถือเป็นตัวท็อปของวงการ เพราะบางตัวมีราคาสูงมาก แต่ก็หล่อมาก เรียกได้ว่า สวมแล้วแทบจะเหาะเหินเดินอากาศได้กันเลยทีเดียว
GLOSSARY : PROCESSING THE JEANS
นอกจากจะถูกย้อมด้วยสีน้ำเงินอินดีโก ยีนส์ยังสามารถผ่านกระบวนการได้อีกหลายอย่าง เพื่อให้ได้ลักษณะพิเศษที่ต่างออกไป
PRE-SHRUNK – นำยีนส์ไปทำให้หด จะได้ไม่หดตัวเพิ่มหลังสวมใส่ ริเริ่มโดยเจ้าพ่อยีนส์ Levi Strauss ที่ทำยีนส์ 505 ให้พอดีเป๊ะ ไม่มีหด รวมถึงรุ่น 517 และ 527 ซึ่งจะช่วยให้สวมใส่ได้ยาวนานยิ่งขึ้น
WASHED – เทคนิคนี้ทำให้เกิดความซีดจางที่สวยงาม ซึ่งจะซักด้วยใช้กรดหรือสารเคมีบางชนิด เช่น ฟีนอล อะคริลิคเรซิ่น หรือโซดาไฟ เป็นเทคนิคที่ได้รับความนิยม และลดปัญหาสีน้ำเงินกระดำกระด่างหลังซักบ่อยๆ
FADED – เป็นรอยเส้นซีดๆจางๆบนยีนส์ เกิดได้บริเวณด้านหลังส่วนเข่า หรือลายซีดจากการย่นไล่ระดับชั้นตรงปลายขากางเกงที่ยาวกรอมเท้า ซึ่งจะเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือทำขึ้นก็ได้ แต่หลายคนชอบนัก เพราะทำให้ยีนส์ดูมีเอกลักษณ์ไม่ซ้ำใคร แถมมีความเก๋ากว่ายีนส์ใหม่ๆทั่วไปอีกด้วย
Writer: Natty Pongpiboonkiat
RECOMMENDED CONTENT
RANSOMED เล่าถึงผู้ชายสองคนมีสถานะและปูมหลังที่แตกต่างกัน นักการทูต มินจุน (นำแสดง ฮา จอง-อู (Ashfall, Along with the Gods) เป็นนักการทูตที่สูงส่งและประสบความสำเร็จ ขณะที่พันซู (นำแสดง จู จี-ฮุน (Along with the Gods) เป็นคนท่าทางลึกลับ ดูไม่น่าไว้วางใจ การพบกันของ นักการทูตชั้นสูงและโชเฟอร์ที่แฝงลับลมคมใน