fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#DESIGN — บ้านเล็กในหมู่บ้านกวงหมิง ที่อยู่อาศัยป้องกันแผ่นดินไหวอย่างยั่งยืน เจ้าของรางวัล Wolrd Building of the Year 2017
date : 20.มีนาคม.2018 tag :

รางวัล World Building of the Year เป็นรางวัลสูงสุดของเทศกาล World Architecture Festival งานเทศกาลที่ว่าด้วยสถาปัตยกรรม ที่ภายในเทศกาลมีทั้งการประชุม สัมมนา และพบปะกัน ของเหล่าสถาปนิกและบริษัทสถาปนิกจากทั่วโลก โดยในปี 2017 นี้ ถือว่าเป็นปีที่ 10 ของเทศกาล จัดขึ้นที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี

โดยภาพจำที่ทุกคนน่าจะนึกตามกันก็คือ สำหรับรางวัล World Building of the Year นั้น อาคารหรือสถาปัตยกรรมที่ได้รับรางวัล มักจะสวยงามประหนึ่งหลุดมาจากโลกโมเดิร์น หรือไม่ก็มาจากสถาปนิกมือรางวัล ออกแบบอาคารใหญ่โตมโหราฬที่จะทำให้เราได้เห็นว่า วงการสถาปัตยกรรมนั้นกำลังก้าวหน้าไปมากเพียงใด

ความน่าตื่นเต้นของรางวัลในปีนี้ก็คือ World Building of the Year ถูกมอบให้กับบ้านหลังเล็กๆ ที่อยู่ในชุมชนห่างไกลของประเทศจีน แน่นอนว่าถ้าธรรมดาก็คงไม่ได้รางวัล เราจะพาไปดูว่าทำไมโปรเจ็กต์นี้ถึงได้รับรางวัลอันทรงเกียรติขนาดนี้กัน

เรื่องเริ่มต้นจากในปี 2014 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขนาด 6.3 ที่เมืองลู่เตียน ในมณฑลยูนนาน ประเทศจีน ส่งผลให้บ้านเรือนของชาวบ้านซึ่งทำจากอิฐดินเหนียวพังถล่ม ชาวบ้านทั้งหลายต้องเร่งซ่อมแซมบ้านเรือนให้กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว ในขณะที่มีกลุ่มผู้ฉวยโอกาสขึ้นราคาวัสดุก่อสร้าง ยิ่งทำให้ชาวบ้านได้รับผลกระทบกันอย่างแพร่หลาย (ซึ่งแน่นอน รัฐบาลไม่ได้ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เลย)

The Chinese University of Hong Kong จึงได้ร่วมมือกับ Kunming University of Science and Technology ในการออกแบบที่อยู่อาศัยต้นแบบ ที่ยังคงเอกลักษณ์ทางภูมิปัญญาดั้งเดิมของการสร้างบ้านจากอิฐดินเหนียวเอาไว้ แต่แทรกใส่เทคโนโลยี ความปลอดภัย ความประหยัด ความสะดวกสบายทั้งในการก่อสร้างและการอยู่อาศัย เพื่อให้ได้มาซึ่งที่อยู่อาศัยที่ยั่งยืน ราคาไม่แพง และแน่นอน ทนทานต่อแผ่นดินไหวอีกด้วย

การออกแบบบ้านหลังนี้ ในหมู่บ้าน Guangming เริ่มต้นจากการลงพื้นที่สำรวจความเสียหาย และทำการวิจัยถึงลักษณะการใช้พื้นที่ และการใช้ชีวิต ของคู่คุณตาคุณยายคู่หนึ่ง ซึ่งมีบ้านหลังเล็กๆ ตั้งอยู่ในพื้นที่จำกัดของหมู่บ้าน ลักษณะของบ้านจึงต้องตอบโจทย์กับการอยู่อาศัยด้วย อาทิ พื้นที่กลางบ้านที่สามารถใช้สอยประโยชน์แบบใดก็ได้ และเชื่อมต่อกับทุกห้องภายในบ้าน เป็นต้น

ส่วนผนังที่แต่เดิมใช้วัสดุธรรมชาติ อย่างดินเหนียว ทราย หญ้า ก็มีการเสริมแท่งเหล็กยืดหยุ่น รวมถึงโครงสร้างคอนกรีต เพื่อทำให้แข็งแรงทนทาน และไม่เกิดรอยแตก หรือการถล่ม เมื่อเกิดแผ่นดินไหว การก่อสร้างบ้านต้นแบบหลังนี้ยึดหลัง 3L คือ Local Technology, Local Materials และ Local Labor ซึ่งทั้งหมดนี้ตอบโจทย์ความยั่งยืน และแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงสถาปัตยกรรม เรื่องแสง และเรื่องอุณหภูมิภายในตัวอาคารก็เป็นเรื่องสำคัญ บ้านต้นแบบหลังนี้จึงคำนึงทุกเรื่อง ยิ่งใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านมาเป็นตัวช่วยในการออกแบบแล้ว จึงหมดห่วงเรื่องอุณหภูมิในตัวบ้านทั้งกลางวันและกลางคืน เพราะเป็นคุณสมบัติเรื่องความอยู่สบายของบ้านดินอยู่แล้ว ที่ใช้เทคโนโลยีเสริมเข้ามาก็มีเรื่องของช่องแสงบนหลังคา ที่เปิดให้แสงธรรมชาติสามารถเข้าถึงทุกส่วนภายในบ้าน และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าไฟอีกด้วย

มาถึงตรงนี้แล้ว ก็น่าจะทราบกันแล้วว่า อะไรคือเหตุผลที่โปรเจ็กต์นี้ได้รับรางวัล World Building of the Year 2017 ไป ส่วนบรรทัดต่อจากนี้ไป คือเหตุผลของทางคณะกรรมการ

“พวกเรามองเห็นและเชื่อตรงกันว่า โปรเจ็กต์นี้คือโปรเจ็กต์ที่ไม่ธรรมดาเลย เพราะมันเต็มไปด้วยความทะเยอทะยาน เป็นตัวอย่างในความตั้งใจแก้ปัญหาเชิงลึกให้กับคนธรรมดา ทั้งยังต่อยอด และสืบสานแนวคิดภูมิปัญญา ผนวกเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ ออกมาเป็นโปรเจ็กต์ที่เหมือนกับการมาพบกันของภูมิปัญญาโบราณ และความรู้ความเข้าใจของสมัยใหม่”

“พวกเราเห็นเพิ่มเติมว่า นอกจากโครงการนี้จะลงลึกเพื่อแก้ไขปัญหาของผู้คนในพื้นที่แล้ว ยังสามารถประยุกต์ใช้ในสังคม และพื้นที่อื่นๆ ได้ นี่ไม่ใช่แค่การแก้ปัญหา แต่มันคือการนิยามที่อยู่อาศัย ให้มากกว่าแค่ความหมายของ ‘ผนังสี่ผนังและหลังคา’ และเป็นการบอกกับทุกคนว่า นี่คือโปรเจ็กต์ที่ใส่ใจในความจนที่สุด และแก้ปัญหาเพื่อให้ผู้อยู่อาศัยกลายเป็นคนที่รุ่มรวยที่สุดได้เลยทีเดียว”

RECOMMENDED CONTENT

14.มิถุนายน.2019

ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดบ้านให้เราเข้าไปเยี่ยมชม Work Space ที่เชื่อในแนวคิด Open Innovation ซึ่งสนับสนุนการทำงานในโลกยุคใหม่ที่ไม่ต้องมีออฟฟิศประจำ แต่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างอิสระใน Sharing Space ที่มีหลากหลายองค์กรอยู่ร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ช่วยสร้างคอมมิวนิตี้ของคนทำงานเข้าด้วยกัน