เรามักจะเคยได้ยินโปรเจ็กต์ค่ายอาสาพัฒนาชนบทอยู่บ่อยๆ และที่ได้ยินบ่อยๆ ก็คือการออกค่ายเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคให้กับพื้นที่ท้องถิ่นทุรกันดาร อาทิ ห้องน้ำ อาคารเรียน ห้องสมุด เป็นต้น
เช่นกันกับทีม BC Architects จากประเทศเบลเยี่ยม ที่มักมีโปรเจ็กต์ออกแบบสถาปัตยกรรมในพื้นที่ทวีปแอฟริกา จึงทำให้ทีมนี้ช่ำชองเรื่องพื้นที่ ความเข้าใจถึงไซต์งานการออกแบบ รวมไปถึงเข้าใจในวัสดุท้องถิ่นที่มีผลต่อสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศของแต่ละพื้นที่ด้วย
ส่วนโปรเจ็กต์นี้ คือการออกแบบและก่อสร้างห้องสมุดสำหรับนักเรียนพิการหูหนวก ในหมู่บ้าน Muyinga ประเทศ Burundi ซึ่งอยู่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา โปรเจ็กต์นี้ใช้เวลาทั้งสิ้น 5 ปี เริ่มต้นด้วยการรีเสิร์ชและวิจัยถึงสิ่งที่พื้นที่ต้องการ จากนั้นจึงนำเอาหลักการออกแบบที่คุ้มค่าที่สุดมาผนวกเข้าไป อาทิเช่น การเลือกใช้วัสดุในการก่อสร้าง ระบบน้ำและไฟฟ้าที่หมุนเวียนและคุ้มค่า รวมไปถึงการลงพื้นที่เป็นเวลา 2 เดือน เพื่อให้ได้มาถึงวิถีและวัฒนธรรมของคนในพื้นที่ ว่าพวกเข้ามีรูปแบบการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนอย่างไร ใช้ความรู้และภูมิปัญญาที่รีเสิร์ชมา ประยุกต์เข้ากับการก่อสร้างและการออกแบบ
ห้องสมุดนี้อ้างอิงตามหลักการใช้สอยของพื้นที่ที่เรียกว่า ‘โถงกลางบ้าน’ ของที่อยู่อาศัยแบบดั้งเดิมของชาวบุรุนดี พื้นที่นี้มีความคล้ายคลึงการลักษณะการใช้สอยของห้องสมุด เพราะเป็นทั้งพื้นที่พักผ่อน พูดคุย หรือแม้แต่ใช้นั่งรอ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่หลักของสังคมพื้นถิ่น
ที่ตั้งของห้องสมุดแห่งนี้ก็เลือกเนินเขาหนึ่งซึ่งหันด้านหน้าไปยังทิวทัศน์กว้างไกลสวยงาม ด้านหน้าของห้องสมุดคือบานประตูที่สามารถเปิดรับภายนอก และทำให้รับรู้ได้ง่ายว่าห้องสมุดเปิดหรือปิด และในอนาคตห้องสมุดนี้จะเปรียบได้กับส่วนต้อนรับ เพื่อนำไปสู่อาคารเรียนซึ่งกำลังก่อสร้าง และเชื่อมห้องสมุดเข้าไว้ด้วยกันเป็นอาคารเดียว
วัสดุที่ใช้ก่อสร้างห้องสมุดนั้นเน้นความเรียบง่าย หาได้ในท้องถิ่น และใช้ภูมิปัญญาอย่างชาญฉลาด อาทิ กระเบื้องหลังคาที่ทำจากดินเผาแบบดั้งเดิม ที่นอกจากจะสามารถกันฝนแล้ว ยังกันความร้อนแผดเผาแถมยังทำให้ภายในอาคารมีความเย็นสบายอยู่ตลอดเวลา ส่วนของอิฐนั้นทำขึ้นจากดินในพื้นที่ หมดปัญหาเรื่องปลวก แถมยังคงทนแข็งแรงแม้ต้องเจอกับสภาพอากาศเลวร้าย และเชื่อมอิฐด้วยกันด้วยโคลนจากแหล่งไกลจากพื้นที่ 3 กิโลเมตร ซึ่งเป็นโคลนชนิดเดียวกับที่ใช้ทำบ้านดิน เชื่อมต่อได้สนิท ไม่มีมดปลวกมากวนใจ
ห้องสมุดแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักๆ ส่วนแรกเมื่อเดินเข้าไปคือพื้นที่นั่งอ่านหนังสือแบบตามใจชอบ ที่เด็กๆ สามารถเลือกมุมนั่งอ่านหนังสือได้ตามชอบใจ และสามารถปีนไปอ่านบนเชือกตาข่ายเหนือศีรษะ ที่ทำจากป่านศรนารายณ์ สานด้วยฝีมือชาวบ้านในท้องถิ่น ได้อย่างสนุกสนาน ส่วนที่สองคือห้องสมุดแบบมาตรฐาน ชุดโต๊ะเก้าอี้ทำจากไม้ยูคาลิปตัสที่หาได้ในท้องถิ่น สามารถใช้เป็นห้องเรียนขนาดเล็กได้อีกด้วย
นับว่าเป็นโปรเจ็กต์อาสาพัฒนาชนบทที่ไม่ใช่แค่สร้างเท่านั้น หากแต่ยังคำนึงถึงพื้นที่ ชุมชน วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนในพื้นที่ ได้อย่างสวยงาม กลมกลืน และลงตัวเป็นที่สุด
_
RECOMMENDED CONTENT
Netflix ประกาศสร้าง Kingdom: Ashin of the North ภาคแยกของซีรีส์ซอมบี้ที่ทั้งโลกรอคอย พร้อมตัวละครใหม่สุดลึกลับ นำแสดงโดยจอนจีฮยอน และพัคบยองอึน