ในยุคสมัยที่เทคโนโลยีก้าวล้ำนำสมัยไปไกล เรายิ่งได้มีโอกาสพบเห็นสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่มักแทรกแซมอยู่ท่ามกลางสถาปัตยกรรมเก่าแก่ หลายคนมองว่าไม่ควร ในขณะที่อีกหลายคนมองว่า ตราบใดที่ไม่ทำลายคุณค่าของของเดิม สถาปัตยกรรมที่เติมเข้าไปใหม่ก็ควรมีที่ทางที่เหมาะสมของมัน
เราขอพาคุณไปที่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีวัดและศาลเจ้าอยู่ถ้วนทั่วหัวมุมถนน สถาปนิกจาก Satoru Hirota Architects ได้โปรเจ็กต์แสนท้าทาย กับการอนุรักษ์และต่อเติมวัดเก่าแก่สมัยเอโดะชื่อ Tsunyuji ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางกรุงโตเกียว โครงสร้างเดิมนั้นถูกทำลายโดยการโจมตีทางอากาศในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ก่อนที่จะได้รับซ่อมแซมอย่างกระท่อนกระแท่นในช่วงแรกเพราะขาดแคลนวัตถุดิบ ภายหลังคณะกรรมการวัดและชุมชมได้ว่าจ้างบริษัทสถาปนิกให้บูรณะวัดแห่งนี้ใหม่ และทีมสถาปนิกได้เสนอโครงการบูรณะแบบใหม่หมดจด เพื่อให้เป็นวัดเก่าในยุคใหม่ เป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนในชุมชน
เนื่องด้วยผังของวัดที่มีความคับแคบ จึงทำให้เกิดการแบ่งส่วนพื้นที่ใช้สอยออกเป็นสองพื้นที่ใหญ่ๆ ส่วนทางใต้คือพื้นที่ของศาลเจ้าเดิมที่บูรณะด้วยการเสริมโครงสร้างให้แข็งแรงเพื่อรองรับแผ่นดินไหว ส่วนทางเหนือคือส่วนที่พำนักสงฆ์ สำนักงาน และลานจอดรถ มีการเติมโครงสร้างใหม่เป็นสถาปัตยกรรมคอนกรีตสมัยใหม่ ลดทอนความแข็งกระด้างด้วยต้นไม้ที่ให้ความรู้สึกสงบ
รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ช่วยเสริมให้วัดนี้น่าสนใจ เช่นระแนงไม้สนซีดาร์ที่ผ่านการรมควันจนได้สีดำสนิท สานเป็นแพทเทิร์นอย่างญี่ปุ่นโบราณ ช่วยทำให้สถาปัตยกรรมสมัยใหม่มีกลิ่นอายยุคเก่าเข้ามาแทรกแซมได้อย่างแนบเนียน โถงพิธีกรรมถูกสร้างในอาคารคอนกรีตสมัยใหม่ที่เชื่อมต่อกับลานกรวดหิน Shirakawa เปิดโล่ง ที่สะท้อนมีคุณสมแสงสีขาวเข้าสู่ตัวอาคาร และมองเห็นศาลเจ้าได้อย่างชัดเจน ให้ความรู้สึกไม่อึดอัด
สิ่งที่น่าทึ่งกว่านั้นคือ การออกแบบโครงสร้างของอาคารสมัยใหม่ ที่นอกจากจะรองรับภัยพิบัติต่างๆ แล้ว ยังสามารถรองรับคนในฐานะสถานที่รับรองผู้ประสบภัย ที่ครบครันทั้งเรือนนอนและห้องน้ำอีกด้วย
เห็นอย่างนี้แล้วก็ต้องชื่นชมในการตั้งใจบูรณะวัดเก่าให้ดูใหม่ ชื่นชมในคณะกรรมการวัดและชุมชน ที่กล้ารับเอาอะไรใหม่ๆ เข้ามาอยู่เคียงข้างกับความเก่า เปิดรับ เข้าใจ โดยที่แก่นแท้ของหลักธรรมก็ยังคงมีคุณค่าของมันต่อไปอย่างไม่เสื่อมคลาย
—
RECOMMENDED CONTENT
ภายในงานสุดเอ็กซ์คลูซีฟซึ่งจัดขึ้นที่กลาสเฮาส์ (Glass House) ในมหานครนิวยอร์ก เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อูโบลท์ (Hublot) และ ทาคาชิ มุราคามิ (Takashi Murakami) ได้ประกาศโปรเจกต์สร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันเป็นครั้งที่ 4 ด้วยการเปิดตัวผลงานศิลปะดิจิทัล NFT ใหม่ 13 ชิ้น พร้อมด้วยนาฬิกาที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร 13 เรือน