ภายใต้สังคมที่เต็มไปด้วยความแตกต่างและยุ่งเหยิง ผู้คนต่างมองหาสิ่งที่ทำให้ตัวเองมีความสุขและพึงพอใจ บางคนอาจใช้เวลาไปกับความสนุกและฉาบฉวยแต่มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ค้นหาสาระของชีวิตผ่านการอ่านหนังสือ ฟังเพลงรวมไปถึงการหาหนังสารคดีดูสักเรื่อง เมื่อหลายปีที่ผ่านมาชื่อของ Documentary Club ได้เริ่มเป็นที่คุ้นหูของคนไทยในฐานะผู้ที่นำเอาหนังสารคดีเข้ามาฉายให้พวกเราได้ดูกัน
“เอาจริงๆ เวลาเราอธิบายกับใครถึงภาพของหนังสารคดี คนจะคิดไปแบบเดียวกันคือหนังสารคดีแม่งโคตรน่าเบื่อ เครียด ดูแล้วน่านอนหลับมาก (หัวเราะ)” เสียงหัวเราะของพี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อยู่เบื้องหลังของ Documentary Club หลังจากที่เธอพูดถึงภาพจำของหนังสารคดีที่มีต่อคนทั่วไป ความจริงจังและหนักหน่วงของเนื้อหาในหนังสารคดีที่อาจจะดูน่าเบื่อและเครียดแต่มันกลับกลายเป็นจุดแข็ง คล้ายเป็นเสน่ห์ของหนังสารคดีที่แตกต่างจากหนังทั่วไป จนทำให้คอหนังสารคดีไม่สามารถปฏิเสธความมีสาระที่ช่วยจุดประกายอะไรบางอย่างให้ชีวิตได้หลังจากที่หนังสารคดีหนึ่งเรื่องจบลง
Documentary Club เกิดขึ้นมาได้ยังไง ?
เริ่มจากพี่ชอบดูหนังสารคดีและเป็น บ.ก.นิตยสารไบโอสโคป ที่พูดถึงหนังทางเลือก ความหลากหลายของวัฒนธรรม ย้อนไปเมื่อสองปีหนังสารคดีก็ไม่ใช่หนังที่ใครอยากจะเสียตังมาดูแต่ช่วงที่ผ่านมีโอกาสได้ทำอีเว้นที่เอาหนังสารคดีเข้ามาฉาย พี่ว่าเดี๋ยวนี้คนจำนวนหนึ่งไม่ได้ติดขัดว่าการดูหนังสารคดีเป็นเรื่องไกลตัว เพราะหนังสารคดีทุกวันนี้มีความร่วมสมัยของประเด็นและมีความบันเทิงเพิ่มขึ้น เรารู้สึกว่าก็มีกลุ่มคนที่สนใจนะ เลยเริ่มระดมทุมผ่านเทใจ.com ปรากฏว่าคนสนใจก็เริ่มมาตั้งแต่ตอนนั้นเลย
โฉมหน้าของ Vivian Maier ที่เธอถ่าย Self portrait ผ่านกระจก
1 ในภาพถ่ายของ Vivian Maier ที่ถูกกล่าวขาน
หนังสารคดีเรื่องแรกของ Documentary Club ?
Finding Vivian Maier Finding หนังสารคดีที่กำลังฉายในอเมริกาพอดีตอนนั้น บทวิจารณ์ดี หนังพูดถึงช่างภาพสตรีท ที่ตายไปแล้วแต่งานของเธอเพิ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้ เป็นภาพถ่ายขาวดำที่สวยมาก หนังเรื่องนี้พาไปค้นหาว่าเธอเป็นใคร แบบฝีมือตะลึงสุดๆ ตอนเอามาฉายคนสนใจเยอะ โชคดีมากที่เราหยิบหนังเรื่องนี้มา เพราะช่วงนั้นคนกำลังสนใจเรื่องถ่ายภาพสตรีทพอดี เลยประสบความสำเร็จตั้งแต่ต้น คนดูเยอะเต็มทุกรอบ
Documentary Club เลือกหนังสารคดีที่เข้ามาฉายยังไง ?
เราเอาจากตัวเราเป็นจุดเริ่มต้นว่า เห้ย! เรื่องแบบนี้เราอ่านแล้วมันน่าสนใจมาก เราจะสแกนหาหนังทุกประเภทหรือประเด็นที่น่าจะถูกพูดถึงในตอนนี้ เราอ่านเรื่องย่อหรือเห็นหนังตัวอย่างมันรู้สึกถูกกระตุ้นเร้าไหม มันทำงานกับราพอรึป่าว เราพยายามเลือกหนังที่มีประเด็นหลากหลาย ดูง่าย แต่ยังมีอิมแพคทางความรู้สึก ทำงานกับคน ไม่ใช่หนังที่ดูง่ายแล้วผ่านไป มีการนำเสนอที่มีชั้นเชิงท้าทายคนเพิ่มขึ้น พี่อยากให้มันเป็นแบบนั้น แต่อย่างน้อยที่สุดเลยนะ มันต้องมีความบันเทิงอยู่บ้าง ไม่ควรเป็นหนังที่คนออกมาเป็นเอกฉันท์ว่าโคตรน่าเบื่อเลย (หัวเราะ) เราจะไม่กล้าเอาหนังแบบนั้นเข้ามา
เสน่ห์ของหนังสารคดีคืออะไร ?
ปกติเราดูหนังทุกแบบนะแต่หนังสารคดีมันมีความเฉพาะของมันคือในขณะที่มันไม่ได้มีองค์ประกอบทางการพาณิชย์แบบชัดเจน ไม่ได้มีความตื่นตะลึงของโปรดักชั่น 3D ตื่นเต้น บันเทิงเหมือนหนังปกติ แต่มันมีความน่าตื่นเต้นในข้อเท็จจริงของเรื่องเล่าหรือประเด็นทางสังคมหรือเหตุการณ์ที่น่าทึ่ง เวลาเราดูจะรู้สึกว่ามันเหมือนเราดูหนังที่มี Story ดีๆ พอบทมันแข็งแรงจะรู้สึกว่า หนังมันขับเคลื่อนเราไปได้ พาเราไปสู่ประเด็นที่นึกไม่ถึงว่าหนังจะพาเราไป มันทำงานกับเราลึกกว่าหนังปกติ ยิ่งถ้าเรื่องไหนที่มีชั้นเชิงในการนำเสนอเข้มข้นแบบเปิดโลกทัศน์ยิ่งมีอิมแพคกับเรา
หนังจบแต่ความรู้สึกไม่จบ อะไรแบบนั้นเลยไหม ?
ใช่ๆ พี่ว่าสารคดีมันมีจุดเด่นแบบนั้น กระตุ้นให้คนรู้สึกบางอย่าง เช่น เรื่อง The Look of Silence พูดถึงปัญหาผู้อพยพในอินโดนีเซีย หน้าที่มันคือให้เราเห็นข้อเท็จจริงและเห็นชีวิตคนลึกกว่าแบบที่เราไม่เห็นในสื่อกระแสหลักทั่วไป ข่าวมันให้ไม่ได้ หนังแบบนี้มีทั้งเรื่องจริง มี Cinematic เชิงศิลปะ มีอิมแพคต่อประเด็นสังคมที่เราควรจะเรียนรู้ เราเชื่อว่าหนังแบบนี้มันทำงานกับคนมากกว่า Feature Film ทั่วไป ดูเสร็จแล้วไม่ใช่แค่จบ มันมีความติดค้าง ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ไหนก็แล้วแต่ กระตุ้นให้เราต้องไปเรียนรู้หรือให้เรารู้สึกว่าต้องทำอะไรบางอย่างกับเรื่องแบบนี้ พี่ว่ามันสำคัญตรงนี้
(An Inconvenient Truth หนังสารคดีที่ทำให้คนเริ่มตระหนักถึงปัญหาโลกร้อน)
แสดงว่าหนังสารคดีอาจเป็นฟังเฟืองนึงในการขับเคลื่อนสังคมได้ ?
พี่ว่ามันคือหน้าที่ของมันเลยแหละที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนสังคม มีหนังจำนวนมากที่ทำหน้าที่แบบนี้ มีอิทธิพลกับสังคมมาก อย่าง The Hunting ground หนังสารคดีที่พูดเรื่องการข่มขืนในมหาวิทยาลัยหรือหนังสารคดีที่นำไปสู่การสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมค่อนข้างเยอะที่สุดเลยคือ An Inconvenient Truth เมืองไทยเคยเอามาฉาย เป็นเรื่องแรกๆ ที่พูดถึงปัญหาโลกร้อนในวัฒนธรรมชัดเจนมาก หลังจากหนังถูกฉายทำให้ประเด็นโลกร้อนเป็นที่พูดถึงในหน้ากระแสหลัก คนเริ่มสนใจว่าฉันจะทำอะไรได้บ้างในการแก้ปัญหานี้ เรื่องนี้เป็นเรื่องแรกที่เห็นได้ชัดเลยว่าหนังสารคดีทำงานกับคนวงกว้างในสังคมไทย
The Wolfpack 1 ในหนังสารคดีของ Documentary ที่คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
Citizenfour หนังที่คว้ารางวัลออสการ์ปี 2014 ในสาขาหนังสารคดียอดเยี่ยม
หนังสารคดีแบบไหนที่ถูกจริตคนไทย ?
หนังสารคดีจะมีลักษณะเด่นอย่างนึงเลยคือแต่ละเรื่องมันจะเล่นกับประเด็นไม่เหมือนกัน หนังเรื่องนึงมันก็ทำงานกับคนกลุ่มนึง ไม่ใช่ว่าคนที่ดูหนังสารคดีเค้าพร้อมจะดูทุกเรื่อง แต่คนที่ดูหนังสารคดีจะเลือกดูเรื่องที่มันเชื่อมโยงกับชีวิตของเค้าหรือแม้ว่ามันไม่ได้เชื่อมโยงเค้าก็จะเลือกหนังที่กระตุ้นความอยากรู้ของเค้า อย่าง The Wolfpack พูดถึงครอบครัวนึงในแมนฮัตตัน เลี้ยงลูกในห้อง ไม่ให้ออกไปเจอใคร ให้ลูกดูแต่หนัง เติบโตกับหนัง เลียนแบบหนัง พูดจาเหมือนคนในหนัง คนอาจจะรู้สึกว่าแล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉันอ่ะ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับฉันเลย แต่ปรากฏว่าคนดูเยอะ สิ่งที่เชื่อมโยงคนคือความอยากรู้ ความประหลาดของชีวิตมนุษย์เป็นสิ่งที่เค้าอยากรู้ หรือ Citizenfour หนังที่พูดถึงวินาทีที่แฉนโยบายรัฐบาลอเมริกันในการสอดแนมประชาชนผ่านโซเชียลมีเดีย พูดอย่างนี้มันฟังดูหลักการเนอะ (ยิ้ม) แต่กลับเป็นหนังที่คนดูเยอะมากนะ เพราะมันเป็นเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิต ถูกผู้มีอำนาจคุกคามและทุกคนใช้ชีวิตผูกติดกับโซเชียลมีเดีย หนังสารคดีแบบนี้จะเชื่อมโยงคนได้ไม่ยาก
คิดว่าคนดูหนังสารคดีเพราะเป็นกระแส ดูแล้วเท่ อะไรแบบนี้ไหม ?
คนทำตามกระแสไม่ใช่สิ่งที่เพิ่งเกิดยุคนี้ มันเป็นกับทุกวงการปกติ แต่พอผ่านช่วงเวลา มันพิสูจน์เองว่ากระแสไหนมันคงทน เรื่องของหนังสารคดีอาจจะไม่ได้เป็นกระแสขนาดนั้น ซึ่งก็มีคนที่พูดว่าเดี๋ยวนี้เด็กแห่กันไปดูหนังของ Doc Club เพราะว่ามันเป็นหนังนอกกระแส คนรู้สึกว่ามันเป็นอะไรที่แนวดี พอสักพักจะพิสูจน์ตัวเองได้ว่าว่าใครคือคนที่ยังดูอยู่ แต่หนังที่เอามาฉายมันก็มีเนื้อหาเยอะแยะ เรื่องนึงพูดแบบนี้ เดือนถัดไปพูดอีกเรื่อง สิ่งที่เราเลือกมามันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้วที่จะคีพความเป็นกระแส ถ้ามันมีอยู่จริงอ่ะนะ (หัวเราะ) สิ่งที่เราทำ ผ่านมาปีกว่าๆ พี่ไม่คิดว่ามันเป็นกระแสความเห่อ เพราะเห็นอยู่แล้วว่ารายได้ไม่ใช่แบบนั้น บางเรื่องได้ บางเรื่องฟุบ พอเรื่องต่อมา หยิบแล้วมันโดนคนอีกกลุ่ม ก็โตขึ้นมาอีก ตอนนี้มันเกินปีครึ่งมันเข้าสู่เส้นปกติของมันแล้ว หนังมันตัดสินด้วยความเป็นหนังของมัน เป็นสิ่งที่คนอยากดู พี่ว่าไม่มีกระแสที่คนแห่กันมาดูเพราะมันเป็นหนังสารคดี ดูมันเท่ พี่ว่ามันไม่มีแบบนั้น
ปัญหาของการเป็นคนนำเข้าหนังสารคดีคืออะไร ?
มันก็มีปัญหาเรื่อยๆ เรื่องที่เราต้องต่อรองกับโรงที่ฉายบ้าง เราเข้าใจนะว่าหนังเรามันค่อนข้างเฉพาะ ไม่ได้แบบแหมเอาเข้ามาฉาย 50 โรง เรารู้ว่ามันมีความยากและเข้าใจมากๆ เรื่องธุรกิจว่าเค้าคิดอะไร แต่ในแง่เรา เรามองสิ่งที่เราทำหลายแบบ หนึ่งเราไม่ใช่ค่ายหนังที่ต้องดิ้นรนอยู่รอด เราแค่รู้สึกว่าประเทศที่มันดี ควรมีความหลากลายของวัฒนธรรมมากๆ เราพยายามเป็นคนนึงที่จะทำในพื้นที่เล็กๆ อยากจะให้มีอะไรแตกต่างจากกระแสหลัก ให้หนังสารคดีมีที่ยืนของมัน
แนะนำคนที่อยากเริ่มต้นดูหนังสารคดีหน่อยว่าจะเริ่มจากเรื่องอะไรดี ?
ถ้าไม่ได้เป็นคอหนังสารคดีมาก่อน ก็เริ่มจากหาหนังที่คิดว่าประเด็นนั้นน่าสนใจ ที่ตัวเองสนใจ เช่น แฟชั่น ลองหาดู Irisพูดถึงแฟชั่นไอคอนคุณยายที่แต่งตัวเปรี้ยวๆ ง่ายสุดคือหาหนังที่เชื่อมโยงกับเรา เพราะหนังสารคดีมันมีลักษณะที่มันทำงานเหมือนการสืบค้น ข่าวเจาะลึก มันลึกในประเด็นนั้น ต่อให้เป็นหนังแบบ Iris ที่ไม่ได้ล้วงลึกอะไรมาก แต่ก็ไปตามชีวิตคุณยาย ถ้าเราสนใจเรื่องแฟชั่น คนแก่ ดูหนังแบบนี้ก็บันเทิงได้ ด้วยข้อเท็จจริงที่หนังค่อยๆ ลำดับให้เราฟัง
เรื่องที่ฉายอยู่ตอนนี้ ?
Where to Invade Next หนังของ Michael Moore ที่เป็นผู้กำกับหนังสารคดีที่ดังในบ้านเรา หนังเรื่องนี้เป็นหนังตลกที่วิพากษ์สังคม เป็นหนังด่าอเมริกัน พาไปดูทั่วโลก ว่าจริงๆ มันมีโมเดลการใช้ชีวิตหรือบริหารประชาชนดีๆ อีกเยอะ เช่น ประเทศที่ให้การศึกษาฟรี ดูแลเรื่องการรักษาสุขภาพ โคตรสังคมไทยมาก เราคิดว่าสังคมที่เราอยู่มันดี๊ดี แต่เรื่องนี้จะพาไปดูสิ่งที่ดีกว่าล้านเท่าที่มันมีอยู่จริงๆ บนโลกใบนี้
Documentary Club
www.facebook.com/DocumentaryClubTH
Writer: Yuwadi.s
Images by: Yuwadi.s, Finding Vivian Maier, The Wolfpack, Citizenfour
RECOMMENDED CONTENT
น่าจับตามองมากที่สุด สำหรับศิลปินคู่หูอินดี้ป๊อปอย่าง “Landokmai” (ลานดอกไม้) ประกอบด้วย “อูปิม - ลานดอกไม้ ศรีป่าซาง” (ร้องนำ) และ “แอนท์ - มนัสนันท์ กิ่งเกษม” (กีตาร์, คอรัส) สังกัดค่ายเพลง What The Duck (วอท เดอะ ดัก) ด้วยความชัดเจนโดดเด่นทางด้านดนตรีที่ผสมผสานความเป็น Dream-pop และความวินเทจแบบ Lo-fi ไว้ด้วยกันได้อย่างมีเสน่ห์