fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#Visit : “อานนท์ ไพโรจน์” เปิดความคิดดีไซน์เนอร์ไทยผู้ก้าวไปยืนหยัดอยู่ในระดับโลก
date : 26.พฤศจิกายน.2014 tag :

คอลัมน์ Interview คราวนี้เรามีโอกาสได้เข้าไปเยี่ยมชม “Anonpairot Design Stuido” สตูดิโอของดีไซน์เนอร์ไทยมากฝีมือ “อานนท์ ไพโรจน์” ที่ชื่อเสียงของเขากำลังเป็นที่กล่าวขานในวงการงานออกแบบระดับโลกอย่างมาก กับแนวความคิดและสไตล์การทำงานที่ไม่เหมือนใครในทุกๆการตีกรอบ ทั้งหมดได้แสดงผลลัพธ์ออกมาเป็นชิ้นงานออกแบบที่ทำให้คนทั้งโลกต้องอยากรู้จักเมืองไทยกันให้มากขึ้นกว่าที่เคยเป็น วันนี้เราจะมาพูดคุยกับเขาในทุกๆแง่มุมของงานออกแบบทั้งในบ้านเราและต่างประเทศ รวมถึงแนวทางงานออกแบบและความคิดที่ดีไซน์เนอร์ในอนาคตควรจะมี ถ้าหากดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่กำลังอ่านอยู่ เราเชื่อมั่นว่านี่ต้องเป็นการพูดคุยที่เกิดประโยชน์อย่างมากแน่นอน…

“ถ้าผมพูดแบบใจร้าย นี่อาจจะเป็นยุคของเศรษฐกิจที่ดีที่สุดแล้วก็ได้ ถ้าคุณรู้ว่านี่คือยุคที่ดีที่สุดของดีไซน์เนอร์แล้วล่ะ? แล้วคุณยังอยากจะเป็นดีไซน์เนอร์กันอยู่อีกรึเปล่า?” -อานนท์ ไพโรจน์-

null

ตอนนี้พี่อานนท์ Define Practice หรือว่าสิ่งที่ทำอยู่ว่า “อาชีพ” ของเราคืออะไร ?

ถ้าโดยรวม เราสนใจเรื่องความคิดสร้างสรรค์ที่มันมีประโยชน์ เราทำธุรกิจเกี่ยวกับความคิดสร้างสรรค์ สิ่งที่ผมต่างจากโดยทั่วไป คือ ผมเชื่อว่าหน้าที่ของผมคือหาเงินให้กับผู้ร่วมลงทุน จะเป็นอะไรก็ได้ แต่ว่าครึ่งของเราคือ การใช้กลยุทธ์ทางความคิดสร้างสรรค์เป็นเครื่องมือในการเพิ่มมูลค่าการลงทุนนั้นๆ อย่างนี้เราเรียกว่าเป็นอาชีพอะไรล่ะ? (หัวเราะ) สุดท้ายแล้วผมมองว่ามันไม่ได้อยู่ในกรอบของคำศัพท์ คนเราชอบถูกกรอบคำศัพท์จำกัดเกินไป เช่นถ้ากูเป็นตำรวจกูเลยทำแค่นี้ เป็นตำรวจเลยห้ามตลกหรือป่าว เป็นทหารกูปลูกผักได้ไหม ได้สิ เพราะฉะนั้นกรอบของคำศัพท์มากกว่าที่ทำให้คนมีข้อจำกัด จริงๆแล้วเราเป็นอะไรก็ได้ ถ้าเริ่มจากความคิดที่ดี อันนี้ผมเชื่อนะ  Background ของผมอาจจะจบมาจาก นักออกแบบผลิตภัณฑ์ แต่เรากลับค้นพบลึกไปมากกว่านั้น ว่าผลิตภัณฑ์มันมีความสำคัญต่อโลกยังไง แล้วถ้าเกิดนิยามของผลิตภัณฑ์มันเปลี่ยนไปละ สมมุติว่าถ้าผลิตภัณฑ์ของผมคืออากาศบนโลกนี้ ถ้าผมกำลังผลิตอากาศขาย แสดงว่าผมน่าจะรวยที่สุดสิถ้าผมควบคุมอากาศได้ ด้วยการปล่อยก๊าซมลพิษชิบหายเลยทีนี้ (หัวเราะ) เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่ว่า ถ้าเรามองอย่างนี้ เราจะค้าขายอะไร ถ้าสถาปนิกมองไปเห็นตึก เห็นดีเทลแต่ละ Facade เป็นก้อน แต่เรามองไปเห็นรายละเอียดที่มันเป็นเงินทั้งนั้น ทุกวันเราใช้เงินกับผลิตภัณฑ์ต่างๆมากมาย มันอาจเป็น Service ที่อยู่ใน Application หรือมันอาจจะเป็นอะไรไม่รู้ที่เราต้องจ่ายเงินมัน ทุกเช้า ทุกเย็น ทุกวัน  สุดท้ายแล้วผลิตภัณฑ์มันสัมพันธ์กับทุกสิ่งบนโลก เราจึงสนใจความสัมพันธ์เหล่านั้นทั้งหมด เราสนใจว่า Context ของมันคืออะไร นั่นคือสิ่งที่เราทำงานตามล่ามัน

ซึ่งหน้าที่ของผมก็คือ ทำยังไงเราถึงจะพูดถึงอนาคตได้ในขณะที่ลูกค้าอยู่ปัจจุบัน ถ้าลูกค้าลงทุนสิบล้านวันนี้ อย่างน้อยควรจะได้กำไร 10 ล้าน 20 ล้าน ในอีกกี่วัน กี่เดือน กี่ปีข้างหน้า นี่คือเรื่องแรกๆเลยที่เราคุยกัน เพราะจะเสียเวลากันไปทำไม จริงไหมครับ เหมือนเราไม่ได้สวมร่างที่เราเป็นดีไซน์เนอร์ละ สุดท้ายเมื่อเราทำงานมากๆ เราเนี่ยจะกลายเป็นดีไซน์เนอร์ที่พยายามจะสวมร่างคนปกติ เราปราดตาไปเราต้องรู้แล้วว่าเราควรจะทำอะไรกับ Product นี้ งานที่เกิดขึ้นมันต้องสร้างสัญลักษณ์อะไรบางอย่าง ตั้งแต่เยลใส่ผม จนถึงเชือกผูกรองเท้า เราเชื่อว่าทุกอย่างมันเป็นสัญญะของคน ตรงนี้มากกว่าที่คนซื้อ คนไม่ได้ซื้อเสื้อผ้า คนซื้อบุคลิกภาพ คนไม่ได้ซื้ออาหาร คนซื้อสุขภาพ คนไม่ได้ซื้อเตียง ซื้อเซ็กส์ คำถามก็คือคนซื้ออะไร คนจ่ายตังค์เพื่ออะไร สิ่งที่ผมพูดอยู่นี้จริงๆมันคือ Relational Aesthetics หรือความสัมพันธ์ทางด้านสุนทรียภาพ ของสิ่งของแต่ละอย่าง เรามองน้ำ มันไม่ได้เกี่ยวกับน้ำอย่างเดียวอีกต่อไปละ ทำไมกล้วยหนึ่งหวีหรือของบางอย่างมันไม่ได้มีคุณค่าในตัวมันเอง แต่เมื่อ Context มันเปลี่ยนไป มันเลยมีคุณค่าขึ้นมามากกว่าเดิม เพราะฉะนั้นสิ่งที่เป็นความสัมพันธ์ของมันน่ะล่ะที่สำคัญกว่า นี่คือสิ่งที่เราทำงาน เอ๊ะ นี่ผมกำลังตอบคำถามหรือพูดเรื่องอะไรอยู่เนี่ย (หัวเราะ)

null

null

รู้ได้ยังไงว่านี่คือ Practice ที่เราจะใช้ทำมาหากิน?

ถ้าย้อนไป จริงๆกระบวนการชีวิตผมก็ตลกๆหน่อย เช่น ผมไม่ได้เรียนม.ปลาย ผมเรียนเตรียมวิศวกรรมเครื่องกล แล้วก็คิดว่าวิศวะคือการออกแบบมาตลอด แต่เปล่าเลย มันเป็นครึ่งเดียว เราเรียนแต่การผลิตเครื่องจักร ก็ถ้าอยากผลิตขวดน้ำ เรียนวิศวะคือการผลิตเครื่องผลิตขวดน้ำอีกทีหนึ่ง เอ้า แล้วใครออกแบบขวดน้ำวะ ทำไมเราต้องผลิตเครื่องผลิตไอ้ขวดนี้ด้วย แต่มันก็ทำให้เราได้รู้ต้นตอการผลิตทุก Material ก็คือ เหล็ก โลหะ เซรามิค พลาสติก ตั้งแต่ตอนม.ปลาย คือคนผลิตเครื่องจักรแม่ง Genius จริงๆ ใส่อะไรแม่งก็ไม่รู้ลงไปเพื่อออกมาเป็นอีกอย่างได้ เพียงแต่ว่าโลกมันตลก ไอ้คนที่คิดเครื่องห่าพวกนี้ได้มันเสือกคิดฟอร์มขวดน้ำที่น่าสนใจออกมาไม่ได้อีก (หัวเราะ) พอเป็นอย่างนั้นก็เลยย้ายมาเรียนสถาปัตย์ที่ราดกระบัง ไอ้ฝั่งคนสถาปัตย์แม่งก็คิดแต่ขวด คิดแต่เรื่องของ Emotional ของมัน แต่ผลิตยังไงเสือกผลิตไม่เป็น พวกกระบวนการที่เกี่ยวกับวิศวกรรม เทคโนโลยี ธุรกิจการลงทุน ต้นทุน กำไร แม่งไม่สนใจเลย ซึ่งทั้งสองอย่างนี้มันก็ทำให้ผมเริ่มเข้าใจว่า เฮ้ย ชีวิตมันก็เป็นอย่างนี้ มันไม่ใช่เหตุผลอย่างเดียว มันคือความรู้สึกด้วย หลังจากนั้นผมก็เริ่มได้รางวัล ผมไปแสดงงานที่นิวยอร์กตั้งแต่ตอนปีสามปีสี่ เหมือนเค้ามีประกวดอะไรกันในบ้านเค้ากันอ่ะ แล้วไอ้นี่มึงก็ไปเสือกกับเขาด้วย ตอนนั้นก็เริ่มมีคำถามยากๆจาก Curator กลับมา “ทำทำไม?” “ทำไมถึงต้องทำ?” มันคล้ายๆกันแต่มันไม่เหมือนกัน มันก็เลยเริ่มกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำทำไม? จบมาผมก็ทำงาน Full-Time ปกติ ผมทำอยู่บริษัทอสังหาฯ แล้วก็ทำนำเข้าของแต่งบ้านจากต่างประเทศมาขายในห้าง มันก็ทำให้เราได้เดินทาง ได้ไปดูแฟร์ เมื่อเราไปทำงานที่กว้างขึ้น เราได้เริ่มเห็นการทำธุรกิจละ ว่ามันต้องมีบัญชี มันต้องมีเครือข่าย พอตั้งบริษัทครั้งแรกก็เริ่มทำพวก Consumer Product จนมาถึงลูกค้าที่อาจเป็นโครงการบ้าน เป็นคอนโด เป็น Service ส่วนใหญ่สิ่งที่เราทำก็คือการตั้งสมมติฐานใหม่ๆให้กับการตลาด สร้างมุมมองใหม่ๆ สร้างตัวเลือกใหม่ๆ สมมุติถ้าเราไม่สร้างน้ำพุล่ะ แล้วเอาเงินไปสร้างสระว่ายน้ำให้ใหญ่ขึ้นล่ะ หรือถ้าเราไม่สร้างสระว่ายน้ำเลย ก็แถวนี้คนกลัวผีกันอ่ะ งั้นผมสร้างศาลพระภูมิยักษ์ให้ก็ได้ อย่าลืมว่า ทุกอย่างอาจจะส่งผลดีต่อธุรกิจเขาหมด อยู่ที่ว่าเราเรียนรู้วัฒนธรรม เรียนรู้คนแค่ไหน นั่นคือสิ่งที่เรา Capture และเล่นกับมันเสมอ

เอาล่ะ อย่างงานโคมไฟดินสอชิ้นนี้ (ชี้ไปที่โคมไฟ) ถ้ามีคนมาบอกว่าช่วยออกแบบดินสอที่แพงๆให้หน่อยสิ แล้วเราลองคิดตามว่าจะขายดินสอแบบนี้ให้แพงได้ไง  ในเมื่อ Material มึงก็ไม่เปลี่ยน คุณภาพแท่งกราไฟต์ข้างในมึงก็ไม่เพิ่ม อยากขายแพงขึ้นแบบไม่ต้องมีเหตุผลบ้าอะไรเลย แล้วคนจะซื้อมั้ย? โอเค ถ้าเอาแบบง่ายๆ งั้นลองเอาลายที่ดูแพงๆมาใส่บนดินสอไหมล่ะ ไปเอาลาย Louis Vitton มาพิมพ์บนดินสอแล้วขาย การหลอกขายมันก็ทำได้ แต่จะหลอกขายได้สักกี่วันก่อนจะโดนคนจับได้ ทีนี้ถ้าในมุมกลับกัน เราเปลี่ยนใหม่หมดตั้งแต่ตอนแรก เราลองมองดินสอให้มันมากกว่าแค่ “ดินสอ” เราสามารถเห็นอะไรก็ได้แต่สุดท้ายผลลัพธ์คือคนซื้อรู้สึกประทับใจ กรณีนี้เรามองมันให้เป็นวัสดุ ผมอยากจะเอามันมาต่อให้เป็นโคมไฟแบบนี้ ดินสอ 100 แท่ง ปกติคนผลิตเอากำไรได้ไม่ถึงแท่งละ 1 สลึง แต่เมื่อเราเอา 100 แท่งมาผ่านงานออกแบบ กลายเป็นโคมไฟ Retail วิ่งไปสู่สี่พันกว่าบาท ซึ่งสุดท้ายลูกค้าผู้ผลิตดินสอก็ยังผลิตดินสอออกมาเหมือนเดิม แต่คุณจะเลือกขายดินสอ 100 แท่งได้เงิน 125 บาท หรือ 4000 ล่ะ? แล้วทีนี้เรายังจะมานั่งทำดินสอขายเป็นแท่งๆกันอีกมั้ย? จากปกติจะมีสักกี่คนที่ซื้อดินสอทีละ 100 แท่งกลับบ้าน เทียบกับร้านอาหารที่ต้องการซื้อโคมไฟ 20 ดวงที่เปรียบได้กับดินสอ 2,000 แท่งไปห้อยบนฝ้าอะ อันนั้นเป็นไปได้เลยนะ นี่แสดงว่ามูลค่ามันไม่ใช่ดินสออีกต่อไปแล้ว เราได้ทำการเปลี่ยนกระบวนการความคิด เปลี่ยน Perception ในการรับรู้ เปลี่ยนผู้ชมผู้ซื้อใหม่หมด

เรียนรู้ที่จะเอา Creative Product ของเรา เข้าไปอยู่ในระบบอุตสาหกรรมได้ยังไง?

ไม่ว่ามันจะเป็น Product แบบไหนก็แล้วแต่ บางครั้งผู้จ้างอาจจะเป็นผู้ผลิต อาจจะเป็นโรงงาน อาจจะเป็นผู้ขาย หรือเป็น Outlet หรือเป็น Channel ก็จะต้องมีกระบวนการที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าดีไซเนอร์มองเห็นกระบวนการของมันเนี่ย ก็จะเห็นโอกาส พอดีไซเนอร์ชอบพูดกัน “แม่ง ค่าจ้างงานออกแบบไม่ค่อยมี” แล้วถ้าผมไม่เคยถามถึงค่าจ้างงานออกแบบ แต่ผมถามถึงกำไรที่คุณได้ คุณแบ่งผมเท่าไหร่ พอพูดแบบนี้มันถึงน่าทำงานด้วยมากกว่า ผมไม่ได้เอาเงินคุณนะ คุณบอกมาเลยว่าคุณเอากำไรเท่าไร ถ้าได้มากกว่านั้นเป็นของผม สมมุติตั้งไว้ล้านนึง แสดงว่าถ้าผมขายงานได้ห้าล้าน ผมเอาสี่ล้าน อย่างงี้เค้าเอาไหม? เค้าก็ไม่เอาหรอก เพราะฉะนั้นเราไปอธิบายสิ่งอื่นที่มันน่าฟังแล้วเค้าอยากรู้ดีกว่า ตรงนี้มากกว่าที่ทำให้เราต้องเริ่มเปลี่ยนทัศนคติในการที่จะทำให้ผู้จ้างเข้าใจ เราแก้ไขจุดบกพร่องหรือศักยภาพที่เขาไม่มีหรือที่มีจำกัดอยู่ในสิ่งที่เขามี ทุกองค์กรมีข้อจำกัดครับ พอเราเป็นทีมที่สามารถยืดหยุ่นได้มันก็ทำงานกันง่ายขึ้น

มันอาจจะเป็นยุคตายของอุตสาหกรรมหรือเปล่า เราก็ยังไม่ทราบ เพียงแต่ผมเชื่อว่า เราผ่านยุคดึกดำบรรพ์ เราผ่านยุคเกษตร ถึงตอนนี้เราทำอุตสาหกรรมกัน แล้วทุกวันนี้เราก็มี Communication เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มันอาจจะทำให้โลกต่อไปกลายเป็นอีกโลกนึง แน่นอนว่าคุณทักษิณรวยจาก AIS เพราะว่าในยุคนั้น บ้านเราแม่งยังไม่มีมือถืออ่ะ เค้าช้อนคนแรก เค้าก็เลยเป็นคนที่คุมเครือข่ายทั้งหมด แต่ถามว่าให้ผมทำแบบคุณทักษิณเหรอ  แล้วเมื่อไรถึงจะมีโอกาสแบบนั้นอีกล่ะ เพราะงั้นเรามองหาสิ่งที่มันไปไกลกว่านั้นเลยดีกว่า ในโลกนี้ผมเชื่อว่าสุดท้ายคนเราเป็นอะไรก็ได้ในอินเตอร์เน็ต จะเสพอะไรก็ จะซื้ออะไรก็ได้ แล้วมูลค่าที่แท้จริงมันคืออะไร? งานศิลปะเริ่มต้นจากเฟรมผ้าใบราคาสองพันบาท ใส่สีเข้าไป มูลค่าบางชิ้นวิ่งเข้าสู่หลายล้าน เพราะอะไร? เพราะงั้นเนี่ย จริงๆสิ่งที่ผมทำมันก็เหมือนกับเป็นนักเล่นหุ้น แต่เราปั่นมันด้วยองค์ความรู้ ไม่ได้ปั่นมันเพื่อให้ใครตายบาดเจ็บ เรามองว่าถ้าเกิดทุกคนมีพื้นฐานดีไซน์ล่ะ เหมือนดีไซน์ก็เป็นภาษานึงที่คนทั้งโลกเข้าใจ ว่าต่อไปอีกหลายๆปีนี้ไอติมก๊องแก๊งอาจจะไม่รอดหรือกาแฟธรรมดาคนไม่กินละ เพราะทุกอย่างมันสร้างบรรทัดฐานใหม่ แต่ก่อนเรากินกาแฟโอยั๊วะอะไรกินได้ แต่เมื่อ Starbucks สร้างมาตรฐานใหม่ กาแฟแก้วนึงร้อยกว่าบาท เพราะฉะนั้นมาตรฐานตรงนี้ผมเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนหลายๆอย่างไม่ใช่แค่เรื่องกาแฟ เปลี่ยนแม้แต่เงินในกระเป๋าเรา เฮ้ย เราต้องทำอะไรวะเพื่อจะกินกาแฟ Starbucks ทุกวันได้ เราต้องทำอะไรบ้างเพื่อกิน Honey Toast อาทิตย์ละครั้งได้ แล้วถ้าผมมองแบบดำลึกไปที่ตัว Product ของงาน มันสามารถให้คำตอบเชิงข้อมูลที่น่าสนใจแก่ผู้ลงทุนได้หลายอย่าง

null

null

เหตุการณ์ไหนที่เป็น Big Step ของเรา?

เราเคยไปแสดงงานที่เมือง Cologne ครับ (ประเทศเยอรมัน) ปี 2007 เราถูกเลือกเป็น IMM “Inspired by Cologne” ผมก็ยังงงตัวเองว่า งานผมมัน Inspire แบบโคโลญจน์ยังไง? งานผมเป็นเก้าอี้หวายครับ  “Pare Chaise Longue” ผมพูดถึงความเป็น Tropical Minimalist  กับเค้าไป ในแง่ความเป็นงานสานที่มันไม่มีความยุ่งเหยิง แค่เอาหวายมาเรียงกัน เราก็บอกง่ายๆว่าเราเกิดในยุคกาละมัง ให้ผมสานผมสานไม่เป็น ผมแค่วางมันให้เป็นระเบียบกับฟอร์มที่ผมสนใจ ก็เพราะได้ Exhibition ดีๆช่วย Support ด้วยล่ะครับ แต่ตอนที่ไปยืนเราเหมือนคนเฝ้าบูธครับ ไม่เหมือนเป็นดีไซเนอร์เลย ยิ่งเป็นเอเชียนี่แบบ… “ดีไซน์เนอร์ล่ะ” “ดีไซเนอร์ไม่อยู่เหรอ?” ก็ผมนี่แหละดีไซเนอร์! (หัวเราะ) เพราะงั้นแสดงว่าหน้าตาเรานี่แม่งมีอุปสรรคบางอย่างระดับนึง จริงๆอาจจะไม่ใช่หน้าตา หรือเพราะประเทศเราเลยวะ หรือการเป็นคนเอเชียวะ มันอาจจะขยายจากเล็กไปสู่ทั้งทวีปก็ได้

แสดงว่าตลาดโลกเขารอรับเราทุกคนอยู่แล้ว?

ตลาดโลกเปิดรับสิ่งที่มีคุณภาพ แต่เราอธิบายคุณภาพนั้นได้อย่างไร ฟิลิปปินส์บอกว่าข้าวหอมมะลิมันดีสุด เวียดนามก็บอกว่าข้าวหอมมะลิมันดีที่สุด อยู่เวียดนามข้าวหอมมะลิมันแพงกว่าข้าวหอมไทย อยู่ฟิลลิปปินส์ข้าวหอมมันก็แพงกว่าของเรา แต่หนังสือพิมพ์ลง “ข้าวหอมไทยดีที่สุดในโลก” “World Expo ไทยคนเข้าเยอะที่สุด ติด Top 5” อืม (หัวเราะ) แล้วเราต่างอะไรจากเกาหลีเหนือมันบอกคนในประเทศมันว่า ประเทศกูแข่งบอลชนะบราซิลอะ นั่นแสดงว่าคนเชื่อสื่อ อันนี้คือสิ่งที่เป็นอันตรายว่าเราต้องหาความเข้าใจก่อนมั้ย เรามีความเข้าใจกันแค่ไหนที่จะทำอะไรสักอย่าง

และนั่นคือจุดเปลี่ยน?

ชีวิตผมมันเป็นเหมือนขั้นบันได มันค่อนข้างเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ผมไม่ค่อยมีโชคดีนะ ทุกวันนี้คนอาจจะถามว่าผมไม่ทำเฟอร์นิเจอร์แล้วเหรอ ผมก็ไม่อยากตอบว่าผมไปไกลกว่านั้นแล้วอะ แทนที่ผมจะรอให้โรงงานมาจ้าง ผมจ้างโรงงานดีกว่า มันอาจจะหมายถึงว่าเราตามล่าวงเงินที่ใหญ่มากขึ้น เพราะฉะนั้นลำดับที่เราเปลี่ยนแปลงขึ้นมา เราเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เราเป็นนักเรียนนักศึกษานักออกแบบจนเริ่มทำธุรกิจ  ทุกวันนี้เรามาเป็นที่ปรึกษาธุรกิจ เราเป็นที่ปรึกษารัฐบาลในต่างประเทศ ในตอนเด็กๆที่เรามองไว้ ตอนนั้นเราคิดว่าต้องเป็นนักออกแบบที่ค่าตัวแพงที่สุดเว้ย นั้นแสดงว่าเราเป็นที่สุดรึยัง? ยังนะ เหมือนกับตอนนั้นเราคิดว่า Zaha Hadid รวยที่สุดแล้ว ก็ไม่นะ ในเมื่อมันยังมีคนจ้าง Zaha ได้อยู่ เราต่างหากที่ต้องเป็นผู้จ้างเราถึงจะเป็นคนที่อยู่สูงสุด ถ้าแต่ก่อนเราบอกว่าเราเป็นเหยื่อ แล้วเราจะเปลี่ยนตัวเองเป็นผู้ล่า เมื่อเราเป็นผู้ล่าแล้วเราก็ต้องไม่หยุดอยู่แค่ผู้ล่า เราต้องเป็นผู้ควบคุมระบบนิเวศน์ที่เราถนัด ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราเกิด เราเกิดมาจากผลิตภัณฑ์ ฉะนั้นสิ่งที่เราทำงานอยู่เราต้องเข้าใจและควบคุมผลของผลิตภัณฑ์มันให้ได้ อันนั้นคือสิ่งที่เราเรียนรู้จากนักออกแบบเข้าสู่นักธุรกิจ

พอเริ่มเข้าสู่งานที่เป็นบริบทสังคม ผมเชื่อว่าผลิตภัณฑ์ที่ดีไม่ใช่ทำมาแค่เอาผลกำไรที่ดี เพราะกำไรที่ดีที่สุดเนี่ยมันจะไม่สามารถดีได้เลยถ้าประเทศหรือสังคมนั้นไม่พัฒนา เรารวยคนเดียวไม่ได้ คนอื่นต้องรวยด้วย เงินที่สะพัดมากกว่าที่จะทำให้ทุกคนแฮปปี้ นี้คือเศรษฐกิจที่ดีในมุมมองของผม คือเรามีผลิตภัณฑ์ที่ดีในสังคมที่ดี เรารวยคนเดียวแต่คนจ่ายเราจนหมด เราก็รวยได้แค่ปีเดียว แต่ถ้าสังคมเรารวยด้วย  เราอยากจะมีเงินพันล้าน เราก็ต้องมีคนจ้างเราที่มีเงินหมื่นล้านสองหมื่นล้าน พันล้านเราดูรวยแล้วแต่เราต้องทำให้เขารู้สึกรวยกับเราก่อน เราถึงจะมีเสถียรภาพไปอีกหลายๆ ปี

null

อานนท์ ไพโรจน์: “Pare Chaise Longue (2004)” ได้รับรางวัล IMM “Inspired by Cologne”

null

อานนท์ ไพโรจน์ : for Schema Philipines (2013)

null

อานนท์ ไพโรจน์: “Invisible (2011)”

null

อานนท์ ไพโรจน์: “Cell” (2005) 

จุดไหนที่ยากที่สุดที่ขวางเราในความเป็นดีไซเนอร์ จนก้าวไปสู่การทำงานระดับโลก?

ไอ้ตัวที่เป็นกรอบคือกรอบความคิดและกรอบภาษานี่แหละ กรอบภาษาไม่ได้หมายความว่าภาษาไทยอธิบายอะไรได้ไม่ดี อังกฤษเองก็อาจอธิบายอะไรไม่ได้ ภาษามากกว่าที่เราไม่หลุดพ้น เหมือนเราฝัน จะมาเล่าให้แม่ฟัง นึกภาษาไม่ออก เราฝันเป็นภาพ นอกจากนั้นมันอาจจะไม่ใช่แค่กรอบภาษาด้วย… ความเป็นคนไทยก็เรื่องนึง เพราะว่าเราเหมือนเป็นดอกไม้ป่า (หัวเราะ) คือเราคุ้นเคยกับข้าวถูกมั้ย ฝรั่งเจอข้าวหอม งง เจอข้าวเหนียวนี่งงหนัก เจอข้าวเหนียวดำนี่มันคงตายห่ากันไปเลยอ่ะ แล้วผมเชื่อว่านี่เป็นช่วงเวลาของการไม่มี Boundary ของประเทศ ต่อไปอาจจะไม่มีประเทศ แต่คนอาจจะแบ่งด้วยชนชั้นทางสังคม อาจจะแบ่งด้วย Social Status อาจจะแบ่งด้วยรสนิยม หรืออาจจะแบ่งด้วยพื้นฐานการศึกษา มันเลยทำให้คนเสพผลิตภัณฑ์ที่ต่างกัน คนที่ซื้อ Louis Vitton อาจจะไม่ใช่คนรวยที่สุด แต่ต้องเป็นคนที่มีรสนิยมบางประเภท หรือคนท่ีมีเงินเยอะที่สุดอาจจะขับกระบะก็ได้ แต่ใช้เงินกับเรื่องอื่น เพราะงั้นผมมองว่าการ Capture เรื่องนี้ให้เจอ มันคือความน่าสนใจในการทำงาน

ถ้าอย่างนั้นนักออกแบบรุ่นใหม่ควรฝึกฝนอะไรเพิ่มเติม?

มันบอกยากครับ ว่าการฝึกฝนที่เพิ่มเติมคืออะไร ก็เพราะการฝึกฝนที่เพิ่มนั้นล่ะ ที่จะทำให้ดีไซน์เนอร์มีความแตกต่างกัน ทุกวันนี้ทุกคนก็บอกตัวเองว่าเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ ร้านสติกเกอร์แม่งก็ยังบอกเลยว่าตัวเองเป็นกราฟิกดีไซน์เนอร์ เพราะกูก็นั่งใช้โปรแกรม Illustrator แล้วก็ปรินท์งานออกมาได้  อ่ะหาเงินได้ด้วยอะ แล้วอะไรคือกราฟิกดีไซน์เนอร์  การฝึกฝนที่เพิ่มเติมเนี่ย มันอาจจะไม่ใช่แค่ทักษะทางมือ แต่เป็นทักษะทางความคิดมากกว่า ที่ทำให้สิ่งนั้นๆมันไปไกลกว่าที่เป็น เราเคยค้นหาตัวศักยภาพตัวเองกันรึเปล่าล่ะ นี่เป็นปัญหาของคนไทยนะ

แล้วถ้าเค้าบอกว่าเค้าฝึกฝนแล้ว แต่จะทำอย่างไรถึงจะเป็นระดับโลกแบบอานนท์ ไพโรจน์ได้?

แค่เขาคิดว่าจะเป็นอย่างผม แม่งก็ Fail แล้วครับ เขาต้องเป็นตัวเขาเองที่แตกต่างออกไป มันเป็นสิ่งที่พูดยากครับ ถ้าให้ผมพูดอย่างโหดๆ คือ สิ่งมีชีวิตบางคนเกิดมาเพื่อเป็นเหยื่อ เกิดมาเพื่อมาเป็นแพลงตอน กับบางคนเกิดมาเป็นผู้ล่า ผู้แพร่กระจาย ผู้ควบคุม เพราะฉะนั้นมันอยู่ที่แพลงตอนบางตัวเนี่ยแปลงสภาพตัวเองแปลงเป็นสิ่งมีชีวิตอย่างอื่น จนกลายมาเป็นปลาปิรันญ่าที่กินสัตว์อื่นได้ไหม หรือถ้าพูดตรงกว่านั้นคือ  คนบางคนเกิดมาก็เพื่อตายไป ครับ ซึ่งเราไม่ได้อยากพูดแบบนั้นเลย เพราะฉะนั้นคำถามพวกนี้มันจะถูกกระตุก แล้วบอกว่า มันไม่จำเป็นต้องเป็นใครหรอกถึงประสบความสำเร็จ อันแรกเลยคุณไม่จำเป็นต้องเป็นนักออกแบบ เพราะนักออกแบบแม่งเป็นยีนพื้นฐานของทุกคน ผมเชื่อว่าในโลกยุคต่อไปเราอาจต้องเรียนออกแบบกันตั้งแต่ป. 1 เพราะพื้นฐานของทุกอาชีพต้องมีความเป็นนักออกแบบ  ผมมองว่าการใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกทางนั่นก็คืองานออกแบบแล้ว คือถ้าเรามีจิตสำนึกทางความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบที่พร้อม ตรงนี้มากกว่าที่มันทำให้ทุกอย่างก้าวต่อไป และนี่ล่ะคือคุณภาพชีวิตที่ผมมอง  เช่น ชาวนาเคยคิดกันรึเปล่าว่าคุณจะดำนากันทำไมตั้งแต่ดึกดำบรรพ์อะ ในเมื่อฝรั่งแม่งคิดรถกันแล้ว คุณอาจจะไม่ต้องคิดรถก็ได้ แต่ขอแค่คิดวิธีหน่อย จะทำท่อยาวๆแล้วพลิกท่อให้เม็ดมันหล่นได้มั้ยจะได้ไม่ต้องดำให้เหนื่อย คือคิดระบบอะไรสักอย่างก็ได้ที่มันสร้างสรรค์บ้าง พูดๆไปเราแม่งก็เหมือนเป็นโรคกันอะครับ ไอ้คำว่า “การอนุรักษ์” นี่ล่ะ อนุรักษ์แบบไม่เปลี่ยนแปลงมันก็ไม่ต่างอะไรกับมีดที่มันไม่คม หั่นทุกวันจนมันทื่อ ทีนี้ต่อไปเอาไปหั่นอะไรก็ไม่เข้าแล้วครับ

null

null

null

คนทำงานดีไซน์ ในอนาคตมันจะมีระบบหรือเศรษฐกิจที่ดีมาช่วยไหม?

นี่อาจจะเป็นยุคของเศรษฐกิจที่ดีที่สุดแล้วก็ได้ เพราะฉะนั้นผมอยากให้ข้อนี้เป็นคำถามที่ย้อนถามกลับไปสู่ผู้อ่านมากกว่า ถ้านี่คือยุคที่ดีที่สุดของดีไซน์เนอร์แล้ว คุณยังอยากจะเป็นดีไซน์เนอร์กันอีกรึเปล่า อย่าไปคิดว่าอนาคตมันต้องราบรื่น อย่าไปคิดว่าไอ้คนรุ่นผมมันจะปูทางให้หมด คุณคิดว่าคนรุ่นก่อนหน้าผมปูทางไว้ให้ผมเหรอ เปล่า! เราเองต่างหากที่ต้องทำมันขึ้นมาเอง เราเป็นประเทศที่มีพื้นฐานดีครับ เราไม่เคยลำบาก ผมเชื่ออยู่อย่างว่าประเทศเราไม่ตายกันหรอก แต่เราจะปล่อยเป็นแบบนี้ไปอีกกี่ร้อยปีพันปี เราเป็นประเทศที่ไม่ว่ามีเกมห่าอะไรออกมาใหม่อะ ญี่ปุ่นแม่งคิดมายากชิบหาย ตั้งแต่ Famicom, Megadrive, Super Famicom แม่งมีแผ่นแท้ตลับแท้อะไรออกมากูก็อปได้หมดภายในหนึ่งอาทิตย์ นี่ล่ะ ไอ้ความอัจฉริยะตรงนี้ แม่งไม่เคยถูกใช้ งั้นทำไมมึงไม่ลองสร้างเกมเองเลยล่ะ

แล้วดีไซน์เนอร์มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในด้านการเงินไหม?

ไม่ต้องดีไซน์เนอร์อย่างเดียวหรอกครับ ถ้าถามผม ผมเชื่อว่าคนกวาดถนนเองก็ยังสามารถรวยได้เลย ผมขอเล่าเรื่องคนกวาดถนน 4 คนให้ฟังละกัน สมมุติว่าเราไปถามคนกวาดถนนสี่คนนะครับ  คนแรก เราถามคุณทำอะไรอยู่ ถ้าตอบแบบง่ายสุดก็ “อ๋อ กวาดถนนอยู่เขาสั่งให้กวาดก็กวาด” คนที่สอง “อ๋อ ผมทำงานตามเงินเดือนพื้นฐานที่รัฐบาลให้ไว้” เอ้อแม่งก็เป็นคำตอบที่ดูดีกว่าคนแรกหน่อย ก็ดูสามารถจะทำอะไรได้มากกว่า คนที่สามตอบว่า “อ๋อ ผมดูแลถนนนี้ให้สะอาด” โห คนนี้มันมีสิทธิ์ท่ีจะไปไกลมากกว่าแค่การกวาดถนน คนที่สี่บอก “ผมจะเปลี่ยนแปลงโลกผมจะทำให้โลกสะอาดไม่ใช่แค่ถนน” สี่คนนี้ทำงานอาชีพกวาดถนนเหมือนกัน แต่ทัศนคติต่างกันหมดเลย เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่าทัศนคติต่างหากที่ทำให้คนๆนั้นอะใกล้เคียงการประสบความสำเร็จ แต่สุดท้ายเราก็ไม่รู้อยู่ดี ว่าการประสบความสำเร็จของแต่ละคนตั้งไว้แค่ไหน ใครอยากประสบความสำเร็จก็ตั้งใกล้ๆเอาสิ เราอยากประสบความสำเร็จในด้านการศึกษา โอเค มึงก็ตั้งแค่ม.6 พอ ก็ประสบความสำเร็จละ แล้วจะเอาแค่ไหนล่ะ ถ้าคุณอยากเป็นแค่นักออกแบบเนี่ย คุณก็อย่าไปคิดเรื่องเงิน แต่ถ้าคุณคิดเรื่องเงินคุณก็ต้องเป็นนักธุรกิจ เพราะฉะนั้นคำถามนี้คุณต้องถามตัวเอง ไม่ใช่ถามคนอื่นว่า “ทำไมผมไม่ประสบความสำเร็จ!?” ใครเขาจะตอบล่ะ ไม่มีใครเขาสนใจหรอก แต่ลองเปลี่ยนเป็น “ทำไมเราไม่ประสบความสำเร็จ” ถามผมผมก็ยังไม่คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จนะ เพราะผมตั้งไว้ไกลกว่าที่ผมมาถึงทุกครั้ง แล้วผมเชื่อว่าสิ่งที่ดีไซน์เนอร์เลือกเรื่องแรกๆไม่ใช่เรื่องเงิน  มันมีบางอย่างที่มีความหมายมีคุณค่ามากกว่าเงิน แล้วผมว่าสิ่งนั้นสำคัญกว่า ซึ่งการทำอะไรดีๆเดี๋ยวเงินมันจะมาเอง

เพราะฉะนั้นถ้าผมมองเนี่ย ผมมองว่ามันไม่ใช่ทักษะอย่างเดียวที่เราต้องศึกษากัน แต่เป็นความคิดมากกว่า เราหลุดจากกรอบความคิดรึยัง เราพร้อมหรือยังที่จะหลุดกรอบที่คนอื่นตีไว้   กลัวว่าเห้ยทำแบบนี้เดี๋ยวไม่เหมือนคนอื่น ทำไมเราชอบกลัวที่จะไม่เหมือนคนอื่น หรือ ทำไมเราชอบกลัวฝรั่งไม่ยอมรับ ทุกวันนี้เค้าชอบถามกันว่า “เป็นคนไทย จะทำอย่างไรให้ต่างชาติยอมรับ” แต่ผมคิดกลับกันว่าทำไมเราต้องให้ต่างชาติมายอมรับ เราต่างหากเมื่อไหร่เราจะยอมรับในสิ่งที่เราเป็นกันก่อน แล้วเมื่อถึงวันนั้นเราอยากจะถามกลับว่าไอ้ต่างชาติมันอยากเป็นไอ้ไทยบ้างมั้ย ตอนนี้ญี่ปุ่นทำได้ ทำไมเราจะทำไม่ได้ เราหนีความเป็นเราไปไม่ได้หรอกครับ เราย้อมหัวทองไปเค้าเห็นก็ไม่เชื่อว่าเป็นฝรั่ง เราทำงานโมเดิร์น เค้าก็ไม่เชื่อหรอกว่าเราเป็นคนโมเดิร์น แล้วเราเป็นใครล่ะ?  ทุกวันนี้มีแบรนด์ไทยสักกี่แบรนด์ที่รอดในเวทีโลก? ไม่มี อย่าพูดแต่แบรนด์เลย มีคนไทยสักกี่คนที่คนทั้งโลกจำ น้อยมาก คนที่ดังที่สุดของคนไทยคือฝาแฝดอิน-จัน แล้วฝาแฝดอิน-จันมันสะท้อนภาพอะไร? คือมาประเทศไทยเนี่ย ต้องเป็นคนประหลาด ต้อง Freak มาเมืองไทยต้องมาหาอะไรที่มันพิศดาร ต้องมาขี่ช้าง เพื่อนผมทำของขายทัวร์ อะไรที่เกี่ยวกับช้างกูขายได้หมด เราเป็นประเทศที่รอด Colonial เรามียีนบางอย่างที่น่าสนใจนะครับ เพราะข้อดีคือเราเป็นฟองน้ำที่ดี เรารับแม่งได้ทุกอย่าง อาหารอะไรจับมาฟิวชั่นไทยได้หมด ดีไซน์อะไรเอามาฟิวชั่นไทยได้หมด แต่บางครั้งมันดูดซับหมดมากเกินไป พอฟองน้ำมันดูดทุกอย่างเนี่ย มันไม่เคยเกิดการตกผลึกออกมาเลย

null

null

null

null

Movement ต่อไปของอานนท์ ไพโรจน์?

เหี้ย ยากชิบหาย อาจจะเลิกทำอะไรเงี้ย (หัวเราะ) จริงทุกคนคิดแหละว่าวันนึงเราอยากอยู่เฉยๆ เราอยากเที่ยวรอบโลก แต่สุดท้ายการเที่ยวรอบโลกมันก็ถือเป็นงานของชีวิตอย่างหนึ่งเหมือนกัน สิ่งที่เราสนใจผมเชื่อว่า “เรากำลังหาคำอธิบายใหม่ๆ” เราไม่ได้ดีไซน์ของเพื่อขายแล้ว เพราะนั่นก็เป็นเรื่องปกติที่ทุกคนก็ควรจะเป็นกันรึเปล่า เหมือนทุกวันนี้ผมไปเดินห้าง มึงจะติดกันทำไมตู้เย็นประหยัดไฟเบอร์ห้า ก็ในเมื่อมันมีทุกอันอะ ติดเบอร์สี่เบอร์สามไปเราก็ไม่ซื้อ แล้วทุกตู้เสือกติดเบอร์ห้า เพราะฉะนั้นไม่ต้องมีมันแล้ว มันเป็น Information ที่ไม่มีประโยชน์ เปลืองค่าสติกเกอร์เปล่าๆ แล้วมากกว่านั้นคืออะไรล่ะ? มากกว่านั้นก็คือ ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำงาน เมื่อบูรณาการองค์ความรู้หลากหลาย ข้อมูลหรือสิ่งที่เราไปเจอมาเนี่ย แทนที่เราจะอธิบายว่าเห้ย มาทำเก้าอี้กันเหอะ สิ่งที่เราพยายามเรียนรู้คือเราต้องสร้างคำอธิบายใหม่ๆให้กับการทำงานออกแบบ วันหนึ่งผมเชื่อว่าองค์ความคิดดีดี มันอาจจะทำให้คนอื่นใช้ประโยชน์ในสิ่งที่เราเสียเวลาทั้งชีวิตทำมัน

แล้วเราจะทำยังไงกันดี?

ถ้าคุณมองอย่างผม คุณก็จะเห็นว่าผมไม่ได้เก่งทุกอย่าง ผมเลยอยากมีน้องๆที่เก่งต่างจากเรามาร่วมทีม คนหนึ่งเก่งทางด้านสถาปัตยกรรม คนหนึ่งเก่งด้านสร้างแบรนด์ คนหนึ่งด้านกราฟิกดีไซน์ มันต้องเป็นทีมทุกอย่างมันถึงจะออกมาได้ ถ้าพูดในแง่ภาพกว้างคือเราต้องเป็นมิตรกันหมด เนี่ยมันถึงจะเกิดสิ่งที่มันความเจริญก้าวหน้าขึ้น ทุกคนเป็นมิตร ทุกคนต่างอยู่รวมกันได้เป็นระบบนิเวศ ถ้าเราบอกว่าความหมายของคำว่า “ระบบนิเวศ” มันสร้างมาเพื่อให้ความหมาย ความเป็นสมดุลย์ในธรรมชาติ จริงๆแล้วมนุษย์ก็ต้องสร้างระบบที่เราสัมพันธ์กันขึ้นมาเช่นกัน เอาจากใกล้ๆก่อน เราต้องเริ่มจากเปลี่ยนความคิดที่เป็นกรอบในตัวเรา เราไม่ต้องการให้ใครแหกกรอบนะ คนบางคนชอบบอกให้ “คิดนอกกรอบ คิดนอกกรอบ” ไอ้พวกคิดนอกกรอบนี่ล่ะอันตราย เดี๋ยวมึงได้ไปไกลเลยล่ะ (หัวเราะ) มันไม่ใช่นอกกรอบแต่เป็นการขยายกรอบความคิดที่เราเก่งเราชำนาญ การ Merge รวมกับกรอบความคิดคนอื่น มันถึงทำให้เรามีกรอบความคิดที่กว้างขึ้น คุณต้องเริ่มทำงานกับคนเก่งๆให้เป็น ดีไซน์เนอร์อยู่ไม่ได้หรอกครับ ถ้าไม่มีธุรกิจเกิดขึ้น เมื่อไม่มีคนจ้างเราต้องรอเขาเข้ามาเหรอ เปล่า เราต้องเข้าหาเค้า คนที่รอต่างหากที่จะเป็นเหยื่อ อันนี้เป็นพื้นฐานของสัญชาตญาณว่าเราจะอยู่รอดได้ไหม เราอยากทำของขายให้คนไทยเหรอ ในขณะที่ญี่ปุ่นมันคิดเพื่อขายคนทั้งโลก แล้วเมื่อไหร่ล่ะเราจะได้บูชาวัฒนธรรมไทยแบบภูมิใจกันจริงๆจังบ้าง ถึงแม้ในอีกสิบปีข้างหน้า ในสายตาคนทั้งโลกเราอาจจะไม่ได้บอกว่าเราเป็นคนไทยแล้วอีกต่อไป เราอาจจะกลายเป็นคนเอเชียซักคนนึง หลายคนคงคิดว่าถ้ากูเป็นฝรั่งได้กูก็คงเป็นแล้ว (หัวเราะ) แต่คุณหนีความเป็นไทยไปไม่ได้ ในเมื่อหน้าตาตัวตนเราต่างหากท่ีมันบอกทุกอย่าง ก็เรามีแพ็คเกจจิ้งที่เป็นอย่างนี้อะ หน้าตาก็ไม่ได้ขายได้ ไม่ได้หล่อเหมือนณเดช ทีนี้เราจะทำอย่างไรล่ะให้อยู่ในสังคมนั้นได้ แล้วไม่ใช่การทำให้สังคมยอมรับอย่างเดียว ในฐานะนักออกแบบ เราต่างหากที่ต้องเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมที่ดี ตรงนี้มากกว่าที่มันน่าสนใจ น่าคบหา น่าทำให้มันอยู่รอดไปถึงอนาคตด้วย

ที่พูดมาทั้งหมด ผมเนี่ยอยากสรุปใจความให้มันกระชับๆนะ แต่เราอาจจะต้องไปเรียนปรัชญาเพื่อทำให้ถ้อยคำและการพูดมันออกมาสละสลวย ซึ่งผมเป็นคนออกแบบก็เชื่อว่าภาษาของงานออกแบบ สุดท้ายพวกเราไม่ใช่นักเล่าเรื่องที่เก่งมากหรอกครับ ก็ทำงานละกันครับ เดี๋ยวรู้เอง ก็ทดลองกันไป ลองทำนู่นทำนี่ครับ ผมเชื่อว่าอีกไม่นานผมก็ตายแล้ว แต่องค์ความคิดดีดีเหล่านี้ มันจะทำให้คนอื่นใช้ประโยชน์ในสิ่งที่เราเสียเวลาทั้งชีวิตทำมัน เพราะงั้นผมก็คงทิ้งของพวกนี้ไว้อย่างน้อยให้มันเป็นมิตรกับโลก จะใช้เป็นแรงบันดาลใจหรือใช้เป็นความคิดอะไรก็ยังดี ผมไม่ค่อยเชื่อเรื่อง “สินค้าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” ส่วนใหญ่พวกมึงนี่ล่ะเป็นพิษอย่างดีเลย การเป็นมิตรที่แท้จริง มันอาจจะเป็นของที่เราไม่อยากทิ้งมันเลย เรารักมัน เราอยากสะสมมัน มันอาจจะทำจากพลาสติกก็ได้ แต่เราเก็บมันจนชั่วลูกชั่วหลาน มันจะไม่เป็นขยะอีกต่อไป ถ้างานดีไซน์ไปถึงขนาดนั้นได้นั่นล่ะคือความสำเร็จระดับเล็กในแง่ที่เป็นส่วนหนึ่งของการบันทึกประวัติศาสตร์ เป็นส่วนหนึ่งในตำราเรียน เราเคยคิดมั้ยว่า ดีไซน์ที่ทุกคนทำตอนนี้จะเป็นตำราเรียนในโลกยุคต่อไป เราเคยสังเกตกันไหมว่าเวลาเปิดตำราเรียน Design มา มันจะมีงานของคนไทยซักกี่ชิ้น… “ไม่มี” เราถึงต้องเริ่มกันตั้งแต่วันนี้

Interview: Norrarit Homrungsarid
Writer: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom

RECOMMENDED CONTENT

7.กันยายน.2017

ภาพยนตร์อันน่าสนใจโดยผู้กำกับมัวร์คาร์เบล เรื่องนี้ได้ตามติดและถ่ายทอดชีวิตของเลดี้ กาก้าตลอดระยะเวลา 8 เดือน