เชียงใหม่มีร้านอาหารดีๆ อยู่มากมาย แต่ถ้าให้เลือกมาหนึ่งร้านที่อยู่ในใจ ดู๊ดดอทคงเลือก barefoot Café อย่างไม่มีข้อสงสัย เพราะสำหรับเราเเล้ว barefoot Café เป็นมากกว่าร้านอาหาร …แต่มันเหมือนการกลับมาบ้านเพื่อนจริงๆ
บ้านไม้สองชั้นหลังในสุดของ หมู่บ้านแพนกวิน ถูกปรับให้เป็นร้านอาหารโฮมเมดสุดอบอุ่นของ เอิน-สาธิตา สลับแสง ที่บอกเหตุผลของการเปิดร้านกับเราว่า “เราชอบขายของ ชอบสื่อสาร ที่ร้านเราจะใช้อาหารเป็นสื่อกลาง เล่าเรื่องประเด็นต่างๆ”
“คีย์เวิร์ดของ barefoot มันคือ Eat Local Eat Seasonal กินตามฤดูกาล เป็นวัตถุดิบท้องถิ่น แต่ว่าเป็นอาหารที่ทุกคนทาน เด็กๆ อินเลิฟ ทุกคนคุ้นเคย เป็น comfort food ถ้าเราพูดถึงวัตถุดิบท้องถิ่น ทุกคนก็จะนึกถึงอาหารเหนือ ลาบ ลู่ พวกนี้ คือมันไม่มีตรงกลาง คนที่มาอยู่เชียงใหม่ก็ค่อนข้างเป็นคนรุ่นใหม่ เป็นคนที่ worldwide เราก็เลยมองว่า เนี่ยพิซซ่า พาสต้าเป็นสิ่งที่ทุกคนรู้จักอยู่แล้ว เราเเค่มาเปลี่ยนวัตถุดิบมันเฉยๆ”
You Know What You Eat
open bar ความจุไม่เกิน 7 ที่นั่งนี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนหลายๆ อย่างใน barefoot มันทำให้เราเพลิดเพลินไปกับภาพการทำอาหาร รีดเส้นสปาเก็ตตี้ นวดเเป้งพิซซ่ากันแบบสดๆ ทำให้เรามองเห็นทุกวัตถุดิบที่ร้านใช้ มันคือพื้นที่ที่ทำให้คนทานรู้ว่าอาหารที่เขาทานคืออะไร ทำยังไง ทำโดยใคร ขณะเดียวกันมีคือพื้นที่ที่ทำให้เอินเริ่มต้นสนใจศึกษาวัตถุดิบอย่างลึกซึ้ง
“ตอนเปิดร้านตั้งใจว่าอยากให้มันมีบรรยากาศอบอุ่นเหมือนมากินข้าวบ้านเพื่อน พอทำไปทำมาก็รู้สึกว่าเอ๊ะ เขามากินที่นี่ เขารู้จักเราแล้ว เขาก็อยากรู้จักวัตถุดิบด้วย แต่จริงๆ เราเองก็ยังไม่รู้จักวัตถุดิบเลย ซึ่งเราจะไปโกหกก็ไม่ได้เพราะก็มองตากันอยู่ตรงนี้ เราก็เลยอยากรู้ลึกจริงๆ ว่าตอนนี้เรากำลังสื่อสาร กำลังส่งอะไรไปให้เขา”
Sharing Space
แต่เอินก็บอกว่า barefoot ไม่ใช่ศูนย์กลางการศึกษา มันเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยนที่ใช้อาหารเป็นสื่อกลางมากกว่า เพราะมีบางครั้งที่อาหารของร้านก็ได้เคล็ดลับดีๆ มาจากลูกค้าเช่นกัน “อย่างพาสต้าตอนแรกไม่ลงตัวเราก็ถามจากลูกค้านี่แหละ เรียนจากลูกค้า พิซซ่า ซอสอะไรยังงี้เราก็ถามจากลูกค้า”
สำหรับเราเส้นพาสต้าของที่นี่ถือว่าเป็นพระเอกของร้าน เพราะเราไม่ค่อยได้เจอเส้นพาสต้าทำสดเท่าไหร่นักในเมืองไทย ไหนจะวัตถุดิบอย่าง ‘ไข่เป็ดอารมณ์ดี’ จากแม่เป็ดที่เลี้ยงแบบปล่อยในทุ่งข้าวอินทรีย์ของพี่เอก ซึ่งอาจเรียกว่าเป็นเคล็ดลับของความอร่อยที่หลายๆ คนติดใจ “เราไม่ได้ตั้งโจทย์ว่าเส้นพาสต้าต้องเป็นไข่เป็ด แต่เพราะเราต้องการใช้ไข่เป็ดจากพี่เอก แป้งพาสต้าแต่ละก้อน แต่ละฤดูกาลจึงมีสีและความหนืดที่ต่างกันไป แล้วแต่เป็ด”
Made in Home
พิซซ่าของ barefoot นั้น เอินบอกว่าเรียกว่าเเป้งพิซซ่าได้ไม่เต็มปาก เพราะเเป้งที่นวดนั้นมันเป็นเหมือนแผ่นตอติญญ่าซึ่งเอินเลือกใช้แป้งประเภทนี้เพราะตัวเธอชอบมันมากกว่า ก็ที่นี่มันร้านอาหารโฮมเม้ดสไตล์บ้านเพื่อน ไม่ใช่ร้านอาหารสูตรดั้งเดิมอะไร
ส่วนหน้าพิซซ่านั้นเราสามารถเลือกได้จากวัตถุดิบท้องถิ่นที่มี รวมไปถึงผักที่หมุนเวียนกันไปในเเต่ละสัปดาห์จาก ผักกล่อง CSA ของแม่ทา ออแกนิกส์ “น่าจะโชคดีด้วยเพราะเชียงใหม่มีผู้ผลิตเยอะ เพราะที่นี่มีทั้งฟาร์มออแกนิกส์ มีชีสโฮมเมด มีแบบไข่เป็ดเลี้ยงแบบปล่อย บังเอิญเราไปเข้ากับกลุ่ม Slow Food Youth Network ด้วย พอเราคอนเน็กชั่นเพิ่มขึ้น ก็เลยทำให้มองเห็นทิศทางที่ชัดเจนขึ้น”
นอกจากเราทานอะไร วัตถุดิบมาจากไหน เอินยังบอกว่าอาหารแต่ละจานมันเล่าเรื่องได้มากกว่าที่เราคิด “อาหารมันคือเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับตัวเราในตอนนี้ สื่อสารเรื่องอะไรก็ได้ เรื่องความเข้าใจในประเด็นต่างๆ ที่เราไปเจอมา สมมุติว่าเราให้เขากินชีสที่ทำที่นี้ มันไม่ใช่เเค่อร่อย มันแปลว่าอะไรได้บ้างในการมีชีสโฮมเมดที่เชียงใหม่ หนึ่งก็คือมีชาวต่างชาติเยอะ สองคือเรามีน้ำนมวัวที่ดี สื่อไปถึงการเกษตร การค้าขายหรือว่ารสนิยมการกินของคนเชียงใหม่อีกต่างๆ มากมาย เชื่อมได้ทุกประเด็นเลย อยู่ที่ว่าคนที่เราคุยด้วยหรือลูกค้าเนี่ย เขาสนใจที่จะต่อยอดด้วยประเด็นไหน”
Let’s Food Say
“แต่ละคนมันก็จะได้ประสบการณ์กลับไปไม่เหมือนกันหรอก แต่ว่าอย่างน้อยก็ได้กลับไป ถ้าเขาอยากรู้เราก็จะค่อยๆ เล่าในเรื่องที่เขาอยากรู้ โดยไม่ได้ไปยัดเยียดให้เขา อยากรู้ก็บอก ไม่อยากรู้ก็ไม่บอก อร่อยก็พอ”
ระยะเวลา 4 ปีที่เปิดร้านมา เอิน และ barefoot ถือว่าเติบโตมาพร้อมๆ กัน จากอาหารเพียงแค่ 4 เมนู ก็เพิ่มขึ้นมาหลายสิบ จากที่นั่งบริเวณหน้าบาร์ก็ขยับขยายขึ้นไปบนชั้นสองของบ้าน รวมไปถึงจำนวนลูกค้าที่มากมาย ความต้องการที่หลากหลาย จากคำบอกเล่าปากต่อปากและการรีวิวในโลกออนไลน์
“จริงๆแล้วเราไม่อยากให้มาที่นี่เพราะว่าเราจะดูเป็นคนดี ดูช่วยเหลือสังคมอะไรแบบนี้เป็นประเด็นแรก เราอยากให้เขาบอกว่าไปกิน barefoot กันเถอะ เพราะมันอร่อย ทานแล้วมีความสุข ส่วนเรื่องเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือสังคมเป็นผลพลอยได้เฉยๆ”
สุดท้ายเราถามเอินว่าแล้วอยากให้คนมอง barefoot ว่าเป็นอย่างไร เอินตอบเราว่า “เป็นร้านอาหารที่เหมือนมาบ้านเพื่อน มีอาหารที่อร่อยและเจ้าของสวย”
Barefoot Cafe
บ้านหลังสุดท้ายหมู่บ้านเพนกวิ้น
เลยสี่แยกภูคำไปทางสนามกีฬาเชียงใหม่ 700 ปี
เปิดพฤหัสบดี–วันจันทร์
11.00–15.00 น. และ 17.00–20.00 น.
(หยุดวันอังคารและพุธ)
*Reservation would be appreciated
LINE : @barefootcafe
โทร : 0835647107
facebook.com/barefootcafechiangmai
RECOMMENDED CONTENT
สมการรอคอยจริง ๆ สำหรับเพลงใหม่ล่าสุด “สอนใคร” (Teach) จากอีพีอัลบั้ม “Arakgochina” (อาราโกชิน่า) ของศิลปินหนุ่มหล่อมาดเซอร์ “เป้ อารักษ์” หรือ “เป้ – อารักษ์ อมรศุภศิริ” สังกัดค่ายเพลง What The Duck ที่ก่อนหน้านี้ปล่อยเพลงสร้างเซอร์ไพร์สแฟนเพลงมาแล้ว 2 เพลง