การลาออกของ Alexandra Shulman ผู้คุมบังเหียนโว้กอังกฤษมาเป็นเวลากว่า 25 ปี ได้ให้กำเนิดอิดิเตอร์หนุ่มผิวสีคนแรกในอาณาจักร VOGUE อย่างเป็นทางการ เขาคนนั้นคือ Edward Enninful ผู้คร่ำหวอดในวงการแฟชั่นมาตั้งแต่อ้อนแต่ออก ซึ่งการแต่งตั้ง Edward Enninful ไม่ใช่การตอบรับกระแสสังคมเรื่องความเท่าเทียมแต่อย่างใด หากแต่เป็นโปรไฟล์และพอร์ตโฟลิโอของเขาที่เขาพร่ำเพียรสร้างสรรค์มาตลอดระยะเวลาเกือบ 2 ทศวรรษที่ทำให้เขามาถึงจุดสูงสุดจุดหนึ่งของวงการแฟชั่น
คอแฟชั่นทั้งหลายรู้จัก Edward Enninful ในฐานะแฟชั่นไดเร็กเตอร์ที่มาพร้อมผลงานกระแสแรง และความคิดสร้างสรรค์ที่ไม่มีวันมอดไหม้ ซึ่งเมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา เขาก็เพิ่งเข้ารับตำแหน่ง Editor in chief คนล่าสุดให้กับ British Vogue อย่างเป็นทางการ เราจึงถือโอกาสนำเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับบรรณาธิการมากความสามารถ ก่อนสานต่ออาณาจักรที่เรียกว่าเป็นนิตยสารที่แข็งแกร่งทั้งตัวเล่มและบนแพล็ตฟอร์มดิจิทัลมาให้คุณได้รู้จักเขาชัดๆ กันไปเลย!
__________
1 วัยเด็ก
Edward Enninful ใช้ชีวิตตามประสาเด็กทั่วไป เกิดในประเทศกาน่าและย้ายตามครอบครัวมาอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งใจหวังแต่เพียงจะโตไปเป็นทนายความตามความคาดหวังของครอบครัวที่เน้นการศึกษาในโรงเรียนเป็นหลัก แต่แล้วใบเบิกทางสู่วงการแฟชั่นของ Edward Enninful ก็ถูกส่งมาให้เขาเมื่ออายุ 16 ปี ขณะกำลังโดยสารรถใต้ดินไปเรียนหนังสือตามปกติ สไตลิสต์ผู้ทรงอิทธิพลอย่าง Simon Foxton ได้ชวนเขาไปเป็นนายแบบ จากนั้นเขาก็ได้โลดแล่นอยู่ในวงการแฟชั่น ได้ร่วมงานกับคนดังมากมาย โดยคนสำคัญก็ได้แก่ช่างภาพอย่าง Nick Knight และ Neneh Cherry
2 จุดพลิกผัน
หลังทำงานนายแบบอยู่สองปี Enninful ก็ได้พบกับ Trish และ Terry Jones สองผู้ก่อตั้งนิตยสาร i-D และได้ช่วยงานจนทั้งคู่เห็นแววบางอย่างในตัวของเขา และในตอนนั้นก็ประจวบเหมาะพอดีที่แฟชั่นไดเร็กเตอร์คนเก่าลาออก Trish และ Terry จึงดึง Enninful ในวัย 18 ปี เข้าไปทำงานในตำแหน่ง Fashion Director ทันที ซึ่งถือว่ายังเด็กและข้ามขั้นไปเยอะ จากนั้นเขาก็วนเวียนอยู่ในวงการ มีทั้งการรับจ็อบทำงานโฆษณาให้กับแบรนด์ดัง และนิตยสารหัวใหญ่ จนเรื่อยมาถึง W Magazine ในฐานะ ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์และแฟชั่นไดเร็กเตอร์ในปี 2011
3 ร่วมงานกับ Vogue
หากใครได้ดูภาพยนตร์แฟชั่นเรื่องเยี่ยม The September Issue ที่ตามติดการทำงานนิตยสารฉบับกันยายนแห่งปี ก็คงได้เห็นหน้าค่าตา Edward Enninful กันมาบ้าง แม้จะไม่ได้ประทับใจมากนัก เพราะ Anna Wintour ล้างบางงานเขาทิ้งทั้งเซ็ต แต่ก่อนหน้านั้น Edward Enninful เริ่มต้นอาชีพในอาณาจักร VOGUE มาก่อนแล้วที่ VOUGE Italia ในฐานะ Contributing Fashion Editor โดยทำงานใกล้ชิดกับ Franca Sozzani ผลงานหนึ่งที่พูดถึงไม่ได้ก็คือนิตยสารในคอนเซปต์ The Black Issue ที่เขาดึงแต่นางแบบ นักแสดง และสตรีคนสำคัญในแวดวงศิลปะ การเมือง และบันเทิงโดยทุกคนล้วนเป็นคนผิวสีทั้งหมดมาร่วมถ่ายฉบับ July 2008 ปกนิตยสารทั้ง 4 ปก ได้แก่ Naomi Campbell, Liya Kebede, Jourdan Dunn และ Sessile Lopez ต่างก็ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า หมดเกลี้ยงในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษภายใน 72 ชั่วโมง ทำให้บริษัทแม่อย่าง Condé Nast ต้องพิมพ์เพิ่มถึง 60,000 เล่มด้วยกัน
4 สื่อเจตนารมณ์เรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ผ่านผลงานแฟชั่น
The Black Issue เป็นผลงานและความคิดเพียงส่วนเดียวเกี่ยวกับเจตนารมณ์เรื่องความเท่าเทียมของมนุษย์ Edward Enninful ไม่ได้เห็นด้วยกับการที่นิตยสารหรือแบรนด์ดังจิ้มเลือกนางแบบนายแบบผิวสีหรือเชื้อชาติเอเชียนเพียงคนหรือสองคนมาร่วมงาน เขาบอกว่า มันต้องเริ่มจากการให้ความรู้เกี่ยวกับความเท่าเทียมและการไม่แบ่งแยก งานของเขาส่วนใหญ่จึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับความเท่าเทียมของมนุษย์เป็นหลัก ซึ่งผลงานล่าสุดก็ได้แก่วิดีโอที่ชักชวนคนดังในวงการแฟชั่นมาพูดว่า ตนเป็นผู้อพยพ เพื่อต่อต้านความคิดของ Donald Trump
5 Edward Enninful มีรางวัลการันตีมากมาย
เขาไม่ได้มีดีแค่ผลงานและมุมมองด้านแฟชั่นที่ดี ฝีมือของเขาการันตีด้วยรางวัลอันทรงเกียรติอย่าง Order of the British Empire (OBE) สำหรับความทุ่มเทเพื่อความหลากหลายด้านเชื้อชาติในวงการแฟชั่น อีกทั้งยังเป็นเจ้าของรางวัล Isabella Blow ในฐานะ Fashion Creator ในปี 2014 ที่ British Fashion Awards และในปีเดียวกัน New York Urban League ก็ได้มอบรางวัล Frederick Douglass Medallion ให้แก่เขา และล่าสุดเขาก็ได้ครอบครองรางวัล Commercial Styling จาก CLIO
เรามารอติดตามกันดีกว่าว่า พอเขาเข้ามาทำ British Vogue จากที่ดีอยู่แล้วจะเจ๋งขึ้นขนาดไหน เพราะขนาด ตัว Alexandra Shulman อดีตบรรณาธิการบริหารแห่ง British Vogue เองยังยกย่องให้ Edward Enninful เป็นสไตลิสต์ที่มีความสามารถโดดเด่น และทิ้งท้ายไว้ว่า Edward Enninful จะนำความแปลกใหม่มาสู่ British Vogue ได้อย่างไม่น่าสงสัย
__________
Writer : JP
—
RECOMMENDED CONTENT
อย่าให้ความสุขที่สำคัญที่สุด... ผ่านไป หนังสั้นเล่าเรื่องของคนวัยทำงาน ในหนึ่งวันมี 24 ชั่วโมง ที่ใช้เวลาไปกับงาน ก็ 1 ใน 3 ของวัน และยังมีเรื่องราวมากมายที่เราต้องรับรู้ หรือต้องเป็นส่วนหนึ่งกับเรื่องราวต่างๆ สิ่งที่เหลือก็คือสิ่งสำคัญของชีวิตที่ช่วยปลอบประโลมใจเราให้มีพลังก่อนกลับบ้านแล้วตื่นเช้าเพื่อเริ่มวันใหม่