fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

เมื่ออังกฤษเปลี่ยนเมืองเงียบเหงาให้กลายเป็น Art City อนาคตจะเป็นอย่างไร?
date : 11.พฤศจิกายน.2016 tag :

ยังจำไม่เคยลืมเลือนนนน… ว่าวันแรกกับชีวิตนักเรียนศิลปะในประเทศอังกฤษเมื่อสมัยวัยรุ่นตอนต้น (หราาาา?)ของผู้เขียน อาจารย์นัดที่ Vyner Street ซึ่งดูในแผนที่มันช่างดูไกลปืนเที่ยงไม่คุ้นเคยทั้งๆที่นั่งรถเมล์ไปจากใจกลางเมืองลอนดอนแค่สี่สิบนาที ไวเน้อร์สตรีทตอนนั้นเป็นสายแกลเลอรี่ เป็นศูนย์รวมความติสต์แตกและความคูลอย่างหาที่สุดไม่ได้อีกที่หนึ่งของ East London ศิลปินทุกแขนงต่างมารวมตัวกันโดยเฉพาะทุกวันพฤหัสต้นเดือนที่ทุกแกลเลอรี่จะมีงานกึ่งๆปาร์ตี้เปิดให้ชมผลงานใหม่ๆ (ไม่ใช่ผู้คนจะมาดูงานศิลปะหรอกนะ เอาจริงๆคือมาเพราะเหล้าฟรี!) สาเหตุที่แกลเลอรี่อิสระเล็กๆและศิลปินไส้แห้งแขนงต่างๆมารวมตัวกันในย่านที่ดูเสื่อมโทรมและอโคจรแบบนี้เนื่องจากค่าเช่าบ้านราคาถูกพอที่ศิลปินจะเจียดเงินจากการทำงานเสิร์ฟในผับสามวันต่อสัปดาห์มาจ่ายไหว และอีกสี่วันที่เหลือก็สามารถทำงานศิลปะที่ตัวเองรักด้วยความหวังอย่างแรกกล้าว่าจะสร้างรายได้ในอนาคต

England Art City dooddot 1

Vyner Street คืนวันพฤหัสแรกของเดือน, 2012
http://picssr.com/photos/bobaliciouslondon

เมื่อมีคนติสต์ๆมาอยู่รวมกันความมันส์ก็บังเกิด ไม่ว่าจะเป็นคาเฟ่เก๋ๆ ร้านเสื้อผ้ามือสองราคาถูก ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ สร้างสีสันและความสดใสในชีวิต ศิลปินนักออกแบบดังๆ ก็เริ่มจากการมีสตูดิโอในโกดังเก่าๆ ย่านนี้ทั้งนั้น แม้กระทั่ง Anna Wintour ก็ต้องมาสตูดิโอของ Christopher Kane (กูเกิ้ลสิจ๊ะถ้าไม่รู้จัก) ในย่านอโคจรอย่าง Dalston (โปรดนึกสภาพ บก. นิตยสารโว้ค ระดับโลกในตลาดคลองเตยควบคู่กันไป) ผู้คนจากทั่วสารทิศเมื่อได้ยินกิตติศัพท์เช่นนี้ก็ต่างพากันหลั่งไหลเข้ามา

ในวันนี้ความอโคจรหายไปถูกแทนที่ด้วยฮิปสเตอร์มีเงิน มูลค่าของทุกอย่างเพิ่มขึ้นผู้คนเปลี่ยนแปลงไป นักท่องเที่ยวก็เริ่มรู้จักมากขึ้นผู้คนสนใจมาเยี่ยมมาเยือน เป็นที่ดึงดูดนักลงทุน ร้านรวงดูดีมีระดับ คลับส่วนตัวไฮโซที่ต้องเป็นสมาชิกถึงเข้าได้ โรงแรมเท่ๆระดับโลก ร้านอาหารแพงๆพากันมาเปิด เห็นมั้ยล่ะคุณ ความติสต์แตกของคนกลุ่มนึงก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดความเจริญได้ เป็นที่ถกเถียงกันอย่างมากว่าการปรับพื้นที่ (gentrification) ทำให้ความดั้งเดิมที่หายไปถูกแทนที่ด้วยอำนาจเงิน ถึงแม้ส่วนตัวผู้เขียนจะเซ็งกับการที่คาเฟ่เก่าๆ หรือผับอิสระที่เต็มไปด้วยความทรงจำ ค่อยๆปิดตัวลงไปทีละแห่งสองแห่ง แต่นั่นก็เป็นวัฎจักรชีวิตทั่วไปตามหลักสัจธรรม (สาธุ)

England Art City dooddot 2

ริมชายหาดเมือง Hastings ช่วงหน้าร้อน
http://www.geograph.org.uk/photo/2130334

ผู้เขียนเริ่มตะหงิดใจเมื่อสามสี่ปีก่อนที่เดินทางไปเยี่ยมเพื่อนรักวัยเยาว์ที่ Hastings เมืองริมทะเลที่ห่างจากลอนดอนชั่วโมงกว่าๆทางรถไฟไปทางตะวันออกเฉียงใต้นิดๆ ฟังดูคล้ายๆกับไปบ้านตากอากาศริมทะเลหัวหินลมโชยๆใช่มะ?  แต่ขอบอกผิดถนัด! นึกถึงสภาพอากาศสีเทาและฝนตกปรอยๆของอังกฤษผนวกกับลมทะเลแสนยะเยือกจากทะเลสีเทา นานน๊านจะเห็นพระอาทิตย์กับเค้า เฮสติ้งส์สมัยก่อนเป็นเมืองอุตสาหกรรมการต่อเรือเป็นหลักการจับปลาเป็นรอง พอยุคโรงงานต่อเรือหมดลงคนตกงานกันเพียบ อารมณ์เดียวกับเหมืองถ่านหินทางตอนเหนือของประเทศ จนรัฐพัฒนาให้เป็นเมืองรีสอร์ท (หรอ?) สร้างอาชีพและสัญลักษณ์แห่งความชีวิตดี การสร้างงานบริการซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนอังกฤษใช้ทุนน้อยกว่าการสร้างงานทางอุตสาหกรรมแบบแต่ก่อนมาก ทางรัฐจึงสนับสนุนธุรกิจท่องเที่ยวอย่างจริงจัง จนกระทั่งระบบขนส่งระหว่างประเทศถูกพัฒนาขึ้นในภายหลังที่ทำให้ผู้คนค้นพบว่า เฮ้ย..ทะเลที่อื่นสวยกว่ามั้ย? เมืองรีสอร์ทจึงซบเซาลงไปอีกรอบ วัยรุ่นทิ้งบ้านเกิดมาหากินในเมืองหลวงทิ้งพ่อแม่ผู้แก่เฒ่าให้อยู่ในเมืองเหงาๆกันไปจนถึงทุกวันนี้ แต่!….. มีแกลเลอรี่หรูไปเปิด! Jerwood Gallery ของ Jerwood Foundation เป็นองค์กรศิลปะองค์กรใหญ่องค์กรนึงของอังกฤษที่จ้างสถาปนิก Hana Loftus และ Tom Grieve จาก HAT Projects สถาปนิกรุ่นใหม่ที่งานออกแบบดูเรียบง่ายแต่แฝงไว้ด้วยรายละเอียดและการเลือกวัสดุที่น่าสนใจออกแบบตึกแกลเลอรี่ริมทะเลแห่งนี้ ตึกแสดงงานศิลปะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมกรุด้วยวัสดุกระเบื้องทำมือสีเข้มดูดีและทันสมัยไฮเอนด์ที่สุด! แต่มาอยู่ที่เฮสติ้งส์ เพื่อ!?!!

England Art City dooddot 3

Jerwood Gallery ริมหาด Hastings
http://www.planetconfidential.co.uk

England Art City dooddot 4

จากอีกด้านนึงของตึก
https://www.theguardian.com

England Art City dooddot 5

ภายในอาคารที่จัดแสดงงานศิลปะ
https://www.theguardian.com

สองปีต่อมาเห็นจะได้มี Art festival น่าสนใจจัดขึ้นที่เมืองชายฝั่งฟากเดียวกับเมืองที่กล่าวถึงข้างต้นแต่ขึ้นมาทางเหนือหน่อย ชื่อ Folkstone (อ่านว่า โฟค-สทั่น ดูปากพี่นะ โฟ๊ค-ส-ทั่น ไม่ใช่โฟ๊คสโตน) งาน Folkstone Triennial จัดขึ้นทุกสามปีในเมืองอุตสาหกรรมเก่าแต่ไม่เก่าแก่ที่เคยเป็นเมืองท่าที่สำคัญมากในสมัยสงครามเนื่องจากอยู่ใกล้กับฝรั่งเศส พออุโมงค์ขนส่งทางรถและรถไฟไปฝรั่งเศสเปิด ท่าเรือก็ถูกปิดตัวลง เมืองก็เงียบสงัด การจ้างงานลดลง เหลือเพียงโรงแรมเก่าๆไม่กี่แห่งที่ยังเหลือเป็นสัญลักษณ์ของเมืองรีสอร์ทในอดีต ตึกในเมืองส่วนใหญ่เหมือนนอนรอการบูรณะ แผนการพัฒนาเมืองก็หยุดชะงักตามระบบเศรษฐกิจ

England Art City dooddot 6

ท่าเรือจับปลาที่ Folkstone
http://www.kent-life.co.uk

งานเทศกาลศิลปะที่เมืองโฟคสตั้นท์เป็นการจัดงานแสดงศิลปะในเมืองทั้งเมืองตั้งแต่สถานีรถไฟ แยกไฟแดง บนยอดตึก ริมหาด ในร้านขายของ ตึกร้าง หรือแม้แต่ประภาคารริมทะเล งานทุกชิ้นถูกสร้างสรรค์เพื่อให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่แสดงงานนั้นๆโดยเฉพาะหรือที่เรียกเป็นภาษาฝรั่งว่าเป็นศิลปะแบบ site specific งานที่จัดแสดงมีตั้งแต่งาน installation ภาพเขียน ภาพวาดไปจนกระทั้งถึงงานกึ่งๆ happening จากศิลปินชื่อดังหลายคนเช่น Yoko Ono ที่แสดงงานในป้ายโฆษณาบิลบอร์ด งานที่เป็นตัวอักษรบนประภาคารซึ่งอยู่ปลายสุดของท่าเรือที่ต้องส่องกล้องดูถึงจะเห็นของ Ian Hamilton Finlay หรืองาน Sculptureกึ่ง happening  ของ Michael Sailstorfer ที่ฝังทองคำไว้ในชายหาดแล้วให้คนไปขุดหาทำให้หาดทรายถูกขุดทุกๆวันเป็นเหมือนรูปปั้นทรายที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เมืองที่ไม่มีอะไรโดดเด่นดูเงียบเหงาเศร้าซึมได้กลายเป็นดีสนี่แลนด์ของงานศิลปะ มีงานน่าสนใจให้เดินดูทั้งวันรอบๆเมือง และเป็นที่น่าประหลาดใจที่เมืองหงอยๆจะมีย่านที่เรียกว่า Creative quarter ซึ่งเดาว่าน่าเป็นพื้นที่จัดไว้ให้เป็นสตูดิโอหรือออฟฟิศของศิลปินแขนงต่างๆ แต่ดูจากสภาพเมืองแล้วก็ไม่น่าจะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ได้นะ งงว่าเมืองแถวนี้จะมาส่งเสริมศิลปะและการออกแบบเพื่อ!?!!

England Art City dooddot 7

Yoko Ono, Folkestone Triennial, 2014
http://www.folkestonetriennial.org.uk

England Art City dooddot 8

Ian Hamilton Finlay, Folkestone Triennial, 2014
http://www.folkestonetriennial.org.uk

England Art City dooddot 9

Michael Sailstorfer, Folkestone Triennial, 2014
http://www.folkestonetriennial.org.uk

จนกระทั่งเร็วๆนี้ที่ผ่านไม่นานนี้เองชื่อเมือง Margate ผ่านมาในบทสนทนาหลายครั้ง เริ่มมีคนรอบๆตัวย้ายไปอยู่ ตอนนั้นผู้เขียนยังคิดว่าบ้าป่าว(วะ)อยู่กรุงเทพดีๆจะย้ายไปอยู่บางละมุงทำไม มาเกทเมืองที่ดูเศร้าหนักกว่าสองเมืองข้างต้นเสมือนว่าทันทีที่ก้าวลงจากรถปุ๊บอาการโรคซึมเศร้าจะกำเริบขึ้นมาทันที เมืองชายทะเลแสนโทรมและดูเศร้าเหงาชีวิต มีแกลเลอรี่ใหญ่ไฮโซที่เปิดมาตั้งแต่ปี 2011 ตั้งตระหง่านท้าลมหนาว ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอังกฤษชื่อดัง David Chipperfield ที่ได้ค่าก่อสร้างจากองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น Turner Contemporary ถูกก่อสร้างขึ้นโดยมีความหวังที่จะเป็นสัญลักษณ์ของความชีวิตดีของเมือง เป็นสิ่งบันเทิงทางวัฒนธรรมดึงผู้คนมาเยี่ยมเยือนและย้ายถิ่นฐานมาอยู่โดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ โดยมีเมืองปลายสุดทางตอนใต้ของอังกฤษแบบ St.Ives ที่มี Tate Gallery ไปเปิดเป็นต้นแบบ ไม่น่าเชื่อว่าแค่ห้าปีให้หลังผู้คนจากลอนดอนจะเริ่มหันมาสนใจเมืองเหงาๆแห่งนี้ สวนสนุกเก่าเก็บแบบสมัยโบราณถูกบูรณะใหม่ให้ Dream Land เป็นสวนสนุกสไตล์วินเทจเก๋ๆให้คนมาเยี่ยมเยือน แถมยังมี Music Festivalเทศกาลดนตรีหน้าร้อนสำหรับการท่องเที่ยวเพิ่มงานเพิ่มรายได้ สร้างชีวิตใหม่ๆให้กับเมืองเก่าๆที่ถูกลืมเริ่มต้นมาจากแกลเลอรี่อันเดียว

DCIM100MEDIADJI_0007.JPG

ริมหาดที่ Margate
http://christophertipping.co.uk

England Art City dooddot 11

ตึก  Turner contemporary Gallery ที่ Margate

England Art City dooddot 12

ทางเข้าหลักของตึก
http://www.studiovandamme.com

England Art City dooddot 13

บริเวณลานด้านใน
http://www.studiovandamme.com

England Art City dooddot 14

ภาพจากอีกด้านนึงของตัวอาคาร

แผนการพัฒนาเมืองริมฝั่งทะเลทั้งสามแห่งนี้ไม่น่าเป็นความบังเอิญที่มีทิศทางไปในทางเดียวกัน ลองนึกๆดูการพัฒนาทางวัฒนธรรมจะนำความเจริญมาอย่างแท้จริงและหยั่งลึกกว่าการพัฒนาพื้นที่เฉพาะทางกายภาพอย่างเดียว มันคือการยกระดับจิตใจของคนในพื้นที่ถ้าจะให้อธิบายง่ายๆก็คือการปรับทัศนคติแบบที่ลุงตู่เค้าชอบให้ปรับนั่นแหละ (ฮ่าๆ) เพียงแต่เป็นการปรับทัศนคติของเมืองเท่านั้นและผลที่พิสูจน์ได้คือคนจากลอนดอนเริ่มคิดว่ามันคูลพอที่จะย้ายไปอยู่แต่ก็ต้องดูกันต่อไปในระยะยาว นอกจากศิลปะจะสร้างคนอย่างที่เคยได้ยินกันมาแล้ว ตอนนี้ศิลปะยังสามารถสร้างเมืองได้อีกด้วยนะตัวเธอ จึงเรียนมาเพื่อทราบ

Writer: Neil Eakapong

RECOMMENDED CONTENT

29.พฤษภาคม.2020

ในช่วงเวลาที่การแข่งขันกีฬาอาชีพหลายรายการกำลังเริ่มกลับมาแข่งขันตามปกติ ไนกี้ตระหนักดีถึงความรู้สึกของแฟนกีฬา ความตื่นเต้นจากเกมการแข่งขันที่พลิกผันในเสี้ยววินาที พลังของแฟนกีฬาที่กำลังค่อยๆ ตื่นขึ้นอีกครั้ง และแน่นอนที่สุดคือความรู้สึกสนุกสนานที่แฟนๆ กีฬามีร่วมกัน