fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#EXHIBITION | ”Decentralized Thainess : สลายศูนย์“ การสลายมายาคติของการรวมศูนย์อำนาจด้วยภาพถ่ายนู้ด นิทรรศการเดี่ยว โดย โศภิรัตน์ ม่วงคำ คิวเรต โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
date : 19.มิถุนายน.2024 tag :

”Decentralized Thainess : สลายศูนย์“ การสลายมายาคติของการรวมศูนย์อำนาจด้วยภาพถ่ายนู้ด นิทรรศการเดี่ยว โดย โศภิรัตน์ ม่วงคำ คิวเรต โดย ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ เปิด 8 -30 มิถุนายน 2567 ณ 333 Gallery (Warehouse 30)

“ความเป็นไทยคืออะไร?” เป็นคำถามที่เกิดขึ้นเมื่อผู้ชมตั้งคำถามถึง “ความไม่เป็นไทย” ในผลงานภาพถ่ายของ โศภิรัตน์ ม่วงคำ ช่างภาพนู้ดหญิงชาวไทย ถึงแม้เธอจะเกิดในครอบครัวที่ค่อนข้างมีความเป็นอนุรักษ์นิยมสูง และถูกเลี้ยงดูในกรอบของขนบธรรมเนียมประเพณีไทยอันดีงาม แต่ด้วยธรรมชาติส่วนตนที่เป็นคนชอบคิด ชอบตั้งคำถาม เสาะหาเหตุผลถึงสิ่งรอบตัว แต่ไม่สามารถแสดงออกด้วยอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ของครอบครัวและ “ความเป็นลูกที่ดี” ที่กดบ่าเธอไว้ให้อยู่ภายใต้สัมภาระแห่งความเป็นไทย (ที่ถูกที่ควร) จนกระทั่งเธอมีโอกาสไปร่ำเรียนในต่างประเทศ และสัมผัสกับสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เปิดกว้าง เต็มเปี่ยมไปด้วยเสรีภาพทางความคิดและการแสดงออก สัมภาระที่ว่านั้นจึงค่อยๆ คลี่คลายและถูกปลดออกไปจากจิตใจเธอในที่สุด

แต่ถึงกระนั้น เมื่อเดินทางกลับมาอาศัยและทำงานในเมืองไทย คำถามที่ว่านี้ก็ยังคงค้างคาและฝังลึกอยู่ในหัวเธอตลอดมา และถูกกระตุ้นให้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งกับคำถามถึงความไม่เป็นไทยในผลงานของเธอ เหตุการณ์นี้ทำให้โศภิรัตน์หวนกลับมาค้นหาคำตอบเกี่ยวกับความเป็นไทยอีกครั้ง เธอตั้งข้อสงสัยว่า ความเป็นไทยที่แท้ นั้นเกิดจากอะไรกันแน่? เพราะภายในประเทศหนึ่ง ที่มีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลหลายแสนตารางกิโลเมตร เต็มไปด้วยความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ภูมิอากาศ มีประชากรมากมายหลายสิบล้านคน ผู้มีความเป็นปัจเจกชน มิใช่หุ่นยนต์ที่ถูกผลิตซ้ำจากระบบอุตสาหกรรม ย่อมต้องเต็มไปด้วยความแตกต่างหลากหลายของบุคลิก ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรม ไปจนถึงเพศสภาพ เพศภาวะ และเพศวิถี เราจะสรุปรวมความเป็นตัวตนของชนชาติหนึ่งด้วยคุณลักษณะไม่กี่ประการได้ด้วยหรือ​? สิ่งนี้ทำให้เธอตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว ความเป็นไทย ที่แท้จริงอาจไม่มีอยู่จริง หากแต่เป็นกรอบความคิด หรืออันที่จริง มายาคติ (Mythology) ที่ภาครัฐประกอบสร้างขึ้นเพื่อสนับสนุนการใช้โครงสร้างการปกครองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง (Centralization) เพื่อความสะดวกในการบริหารประเทศ ถึงแม้โครงสร้างการปกครองเช่นนี้จะมีส่วนในการสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ แต่ในขณะเดียวกันก็มีส่วนในการลดทอนหรือแม้แต่ทำลายความหลากหลาย ทั้งทางเชื้อชาติ ภาษา วัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญา ประวัติศาสตร์ วิถีชีวิต หรือแม้แต่ความเชื่อและศาสนา ด้วยการคัดทิ้ง กีดกัน หยามเหยียด และแปลกแยกผู้คนที่แตกต่างจากความเป็นศูนย์กลางให้กลายเป็นอื่น ไม่ใช่ความเป็นไทยอันดีงาม หรือ ความเป็นไทยอันเที่ยงแท้แต่โบราณ ตามที่ภาครัฐนิยามไว้ ทั้งที่ในภูมิภาคอื่นๆ หลายภูมิภาคจะมีประวัติศาสตร์ ความเป็นมา หรือแม้อารยธรรมเก่าแก่กว่าภาคกลางหลายเท่าด้วยซ้ำไป

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ภาษา ที่นับวันคนรุ่นใหม่ในแต่ละภูมิภาค จะสามารถพูดภาษาท้องถิ่นของตัวเองได้น้อยลงเรื่อยๆ จากการศึกษาภาคบังคับที่ใช้หนังสือตำราแบบเรียนเล่มเดียวกัน การเรียนการสอนแบบเดียวกัน ตามที่ภาครัฐกำหนด นับเป็นความสูญสลายในความหลากหลายทางภาษาและภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมอย่างน่าใจหายยิ่ง ด้วยความสงสัยที่ว่านี้นี่เอง ทำให้โศภิรัตน์ตัดสินใจเดินทางไปเยือนหลายภูมิภาคของประเทศไทย เพื่อสำรวจอัตลักษณ์ ตัวตน ความรู้สึกนึกคิด วิถีชีวิต ความเชื่อ และความศรัทธา ของผู้คนในแต่ละภูมิภาค ที่ถูกบดบังอยู่ภายใต้มายาคติของรัฐรวมศูนย์ ไม่ว่าจะเป็นภาคเหนือที่ถูกเหมารวมว่ามีอุปนิสัยเหนียมอาย ไม่กล้าแสดงออก และไร้ความทะเยอทะยาน หรือภาคอีสานที่ถูกเหยียดหยามว่ายากจน และด้อยพัฒนา และภาคใต้ที่ถูกตัดสินว่าเต็มไปด้วยความรุนแรง และท้ายที่สุด ภาคกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ ที่ยกตัวเองให้เป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศ ในการเดินทางไปเยือนภูมิภาคเหล่านี้ นอกจากจะเป็นการเรียนรู้ ทำความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ภายใต้มายาคติแห่งความเป็นไทยแล้ว โศภิรัตน์ยังใช้ภาพถ่ายนู้ดของเธอเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือในการลบเลือนอคติ ปลดเปลื้องสัมภาระแห่งมายาคติที่กดทับบ่าของเธอและผู้คน และเปลือยเปล่าพันธนาการทางความคิด เพื่อ “สลายศูนย์” ของการรวมอำนาจ ที่เคยกีดขวางและทำลายความแตกต่างหลากหลาย เพื่อสร้างความเข้าใจแก่กันและกันของผู้คนในสังคมได้ในที่สุด

Exhibition at 333Gallery / warehouse30
from June 8 – 30, 2024
Free Admission with register required (Adult Only)
Gallery open Tuesday – Sunday / 11.00-18.00
Decentralized Thainess: By Sophirat Muangkum
Credit Photos by 333Gallery / Preecha Pattara

RECOMMENDED CONTENT

14.มิถุนายน.2019

ทรู ดิจิทัล พาร์ค เปิดบ้านให้เราเข้าไปเยี่ยมชม Work Space ที่เชื่อในแนวคิด Open Innovation ซึ่งสนับสนุนการทำงานในโลกยุคใหม่ที่ไม่ต้องมีออฟฟิศประจำ แต่ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างอิสระใน Sharing Space ที่มีหลากหลายองค์กรอยู่ร่วมกัน เพื่อกระตุ้นให้เกิดบทสนทนา เกิดการแลกเปลี่ยนไอเดียใหม่ๆ ช่วยสร้างคอมมิวนิตี้ของคนทำงานเข้าด้วยกัน