fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#EYESSEEYOU – ไขความลับจักรวาลกับการซื้อตั๋วคอนเสิร์ตญี่ปุ่น
date : 24.สิงหาคม.2018 tag :

เชื่อว่าหลายคนคงเคยเจอสถานการณ์ประมาณว่าอยากดูคอนเสิร์ตวงนั้นวงนี้จังเลย แต่อนิจจาเขาไม่มาเล่นที่บ้านเราจ้า แต่ดันไปเล่นที่ประเทศใกล้เคียงอย่างสิงคโปร์หรือฮ่องกง ซึ่งถ้าเป็นสองประเทศนี้ก็ไม่ได้มีความยากลำบากอะไรในการซื้อตั๋วคอนเสิร์ตเพราะเว็บขายบัตรมักมีภาษาอังกฤษอยู่แล้ว (แต่ถ้าไม่มีตังค์นั่นก็อีกเรื่องนึง)

อีกประเทศที่มักมีคอนเสิร์ตดีๆ ไปจัดอยู่เสมอก็คือญี่ปุ่น อย่างล่าสุดน้องคนสวย เทเลอร์ สวิฟต์ ก็จะจัดคอนเสิร์ตในเอเชียที่ญี่ปุ่นที่เดียวตอนเดือนพฤศจิกายนนี้ สร้างความเดือดร้อนกับเหล่าแฟนคลับที่ทั้งต้องตบตีแย่งตั๋ว                                  

และเดินทางถ่อข้ามน้ำข้ามทะเลไปหานาง กรณีที่เป็นศิลปินบิ๊กเนมอย่างน้องเทเลอร์ หรือเทศกาลใหญ่อย่าง Fuji Rock หรือ Summer Sonic การซื้อตั๋วก็ทำได้อย่างสะดวก มีเว็บไซต์ภาษาอังกฤษพร้อมสรรพ รูดบัตรเครดิตได้อย่างง่ายดาย

แต่คอนเสิร์ตในญี่ปุ่นที่สามารถซื้อตั๋วได้อย่างสะดวกโยธินเช่นนั้น ถือว่ามีสัดส่วนเพียงแค่ 10% เท่านั้น มักมีคำกล่าวกันว่าการซื้อตั๋วคอนเสิร์ตญี่ปุ่นเป็นอะไรที่ยุ่งยากชวนปวดหัวที่สุดในสามโลก บ้างก็ว่ามันคือกิจกรรมที่ท้าทายมนุษย์เราอย่างยิ่ง

พูดแล้วฟังดูเวอร์เกินเหตุ แต่เราจะอธิบายแถลงไขให้ฟังว่าทำไมการซื้อบัตรคอนเสิร์ตประเทศนี้มันถึงได้ยากเย็นนัก

  1. เวบขายตั๋วมักเป็นภาษาญี่ปุ่นล้วน : แต่โอเค ข้อนี้ยังไม่ใช่อุปสรรคมาก สามารถให้บราวเซอร์ของคุณช่วยแปลได้
  2. ในขั้นตอนลงทะเบียน คุณต้องใช้ที่อยู่และเบอร์โทรญี่ปุ่น : อันนี้เริ่มยากละ แต่ยังแถต่อได้ด้วยการกรอกข้อมูลของเพื่อนที่อาศัยอยู่ที่นั่น หรือบางคนลักไก่กรอกที่อยู่และเบอร์โทรโรงแรมไป
  3. รับเฉพาะบัตรเครดิตที่ออกในญี่ปุ่น! : ส่วนใหญ่จะมาตายข้อนี้แหละจ้า หลายคอนเสิร์ตไม่รับบัตรเครดิตไทยจ้ะ เป็นเรื่องชวนหงุดหงิดมาก ไม่อยากได้เงินเราหรือไงนะ (โมโหจนทุบคีย์บอร์ด!)

ถ้าถามว่าทำไมคอนเสิร์ตญี่ปุ่นช่างดูหยิ่งยะโสไม่แคร์คนต่างชาติขนาดนี้ คำตอบคือตลาดดนตรีของบ้านเขายังถือว่าคึกคักอยู่ เป็นประเทศที่คนยังซื้อซีดี มีซิงเกิ้ลหรืออัลบั้มที่ขายได้หลักล้าน (แต่หลังๆ ก็ไม่ค่อยเยอะแล้วล่ะ) ส่วนคอนเสิร์ตไม่ต้องพูดถึง โซลด์เอาต์เป็นว่าเล่น ดังนั้นไม่ต้องง้อคนประเทศอื่นจ้ะ นี่แหละเขาถึงชอบแซวญี่ปุ่นว่าเป็น ‘ประเทศเกาะ’ เพราะพี่แกโนสนโนแคร์ชาวโลกแบบนี้ไง

อย่างไรก็ดี อย่าเพิ่งสิ้นหวังไป มนุษย์เรามีความพยายามกับเรื่องไม่ต้องพยายามเสมอ (เอ๊ะ ) คนไทยอย่างเราๆ ก็พอจะมีทางซื้อบัตรคอนเสิร์ตญี่ปุ่นได้นะ แต่ก่อนอื่นเราต้องมารู้จักระบบการขายของเขาก่อน

หนึ่งในสิ่งน่ารู้คือ ญี่ปุ่นเนี่ยเขาขายบัตรคอนเสิร์ตด้วยระบบที่เรียกว่า Lottery หรือ ระบบสุ่ม หมายความว่าเราต้องสมัครล็อตเตอรี่ไปว่าอยากได้บัตรคอนเสิร์ตงานไหน รอบไหน กี่ใบ (เขาจะมีกำหนดโควต้าว่าได้ไม่เกินกี่ใบ) จากนั้นก็รอประกาศผลว่าได้บัตรหรือไม่ เป็นระบบดวงล้วนๆ และจะเลือกที่นั่งไม่ได้นะจ๊ะ ระบบเลือกให้ ถ้าได้ที่นั่งดอยก็ต้องรับชะตากรรมไป ห้ามเถียง ห้ามต่อรอง ได้บัตรก็บุญแล้วย่ะ ทีนี้การขายบัตรของญี่ปุ่นมันจะซับซ้อนหน่อยเพราะมักจะแบ่งการขายเป็นรอบๆ ดังนี้

รอบแรก Fanclub Lottery : เฉพาะแฟนคลับเท่านั้นที่สมัครล็อตเตอรี่ได้ ซึ่งต้องเสียค่าสมาชิกรายปี ศิลปินญี่ปุ่นบางรายมี International Fanclub ให้ชาวต่างชาติสมัครได้ด้วย แต่น้อยรายมาก

รอบสอง General Lottery : เป็นล็อตเตอรี่ที่เปิดให้คนทั่วไปสมัครได้ จะทำผ่านเวบไซต์ที่เรียกรวมๆ ว่า Playguide ที่ดังๆ มีอยู่สามเจ้าคือ Pia, Eplus และ L-tike

รอบสาม General Sale : รอบขายบัตรทั่วไปแบบใครมาก่อนได้ก่อน ต้องแย่งกันซื้อ ถ้าเป็นศิลปินดังๆ บัตรจะขายหมดภายใน 2 วินาที (ไม่ได้พูดเล่นเด้อ มันเกิดขึ้นจริงๆ)

ซึ่งคนไทยอย่างเราๆ ก็พอจะมีหวังในการซื้อบัตรคอนเสิร์ตญี่ปุ่นได้ แต่ต้องอาศัยความถึกพอควร ในที่นี้ขอยกตัวอย่างจากการซื้อแบบ General Lottery แล้วกัน หลังจากที่ตรวจสอบข้อมูลจนรู้ว่าแล้วว่าคอนเสิร์ตที่เราอยากดูจะมีล็อตเตอรี่ช่วงไหน ทางเว็บไซต์ไหน เราก็ต้องจัดแจงลงทะเบียนและสมัครล็อตเตอรี่ให้เรียบร้อยด้วยการลุยกับภาษาญี่ปุ่นยุ่บยั่บ ขอบอกว่าไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ได้ยากจนเป็นไปไม่ได้ จากนั้นก็รออีเมล์แจ้งว่า ‘ได้’ หรือ ‘นก’ บัตร

ส่วนเรื่องการจ่ายเงิน เนื่องจากเขาไม่รับบัตรเครดิตไทย ก็ให้เลือกวิธีจ่ายเงินที่มินิมาร์ท จะมีให้เลือกหลายร้าน แต่ง่ายที่สุดคือ 7-11 (เฉพาะเซเว่นฯ ในญี่ปุ่นนะ) ถึงขั้นตอนนี้เราจะต้องไหว้วานเพื่อนหรือคนรู้จักที่อยู่ ณ แดนปลาดิบไปช่วยจ่ายเงินให้เรา อ้าว แล้วถ้าไม่มีเพื่อนอยู่นั่นทำไงอะ

…ตอบ: ทำใจจ้ะ บัยส์

แต่ แต่ แต่…โลกไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบขนาดนั้น หลังๆ ทางญี่ปุ่นเขาเริ่มรู้ทันแล้วว่ามีคนลักไก่ใส่ที่อยู่หรือเบอร์โทรมั่วๆ ไปลง เขาเลยใช้ มาตรการยืนยันตัวตน (Verification) เช่น ต้องใช้เบอร์โทร ญี่ปุ่น โทรไปตามเบอร์ที่เขาขึ้นในเว็บไซต์ หรือต้องมีเบอร์มือถือ ญี่ปุ่น เพื่อรอรับ SMS สำหรับกรอกยืนยันตัวตน เจอมุกนี้เข้าไปชาวไทยอย่างเราก็สิ้นหวังกันถ้วนหน้า แต่ยังเหลือหนทางสุดท้ายคือการใช้บริการช่วยซื้อบัตรคอนเสิร์ตญี่ปุ่น ซึ่งมีให้เลือกทั้งของคนญี่ปุ่นและคนไทยที่อยู่ในญี่ปุ่น ค่าบริการก็ถูกแพงต่างกันไป

อีกเรื่องที่อดเม้าต์ไม่ได้คือกลยุทธ์การต่อสู้กับแก๊งขายบัตรอัพราคา ทางผู้จัดเขาก็มีสารพัดวิธี เช่น ใช้บัตรคอนเสิร์ตแบบ Digital Ticket ซึ่งจะเป็น QR Code ส่งมาทางอีเมล์ และจะส่งให้ก่อนวันคอนเสิร์ตเพียงไม่กี่วันเท่านั้น ทำให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้าขายบัตรได้ยาก บ้างก็ใช้วิธีใส่ชื่อคนซื้อลงไปในตั๋ว ก่อนเข้างานจะมีการตรวจบัตรนั่นนี่ หรือหนักสุดคือระบบแสกนหน้า!

กล่าวคือผู้ชมจะต้องส่งรูปหน้าตัวเองไปให้ผู้จัด วันงานจะมีเจ้าหน้าที่หรือเครื่องคอยตรวจว่าหน้าที่ส่งไปกับหน้าเราเนี่ยมันตรงกันมั้ย (นี่ไปดูคอนเสิร์ตหรือเข้าฐานทัพรัฐบาล!)

ที่เล่าไปเป็นเพียง 30% ของเรื่องยุ่งๆ ในการซื้อบัตรคอนเสิร์ตญี่ปุ่นเท่านั้น อันที่จริงยังมีเคสยิบย่อยอีกมากมายจนสามารถเขียนเป็นวิทยานิพนธ์ได้ แต่เดี๋ยวมันจะยืดยาวมหากาพย์เกินไป เอาเป็นว่าเราขอส่งกำลังใจให้กับทุกคนที่มีเวรกรรมต้องไปดูคอนเสิร์ตที่ประเทศนี้แล้วกันจ้าาาา

Writer : คันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง

 

RECOMMENDED CONTENT

1.กรกฎาคม.2020

ถือเป็นวงดนตรีอินดี้ป็อปที่มาแรง และได้รับการตอบรับมากที่สุดในขณะนี้ สำหรับศิลปินคู่หู “Whal & Dolph” ประกอบด้วย "ปอ" - กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ (ร้องนำ) และ "น้ำวน" - วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ (กีต้าร์) จากค่ายเพลง What The Duck