fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

“Hokkaido Home-made” หนังสือเที่ยวญี่ปุ่นเล่มใหม่ของ “แวววรรณ หงษ์วิวัฒน์” หนึ่งในสองฝาแฝดเจ้าของผลงานเรื่อง Wish Us Luck อันโด่งดัง
date : 27.มีนาคม.2014 tag :

Wish us luck hokkaido homemade weawwan wanweaw dooddot (1)

เมื่อปีที่แล้วหลายคนคงเคยได้ยินชื่อ “Wish Us Luck” ตามสื่อต่างๆมากมาย (ชื่อภาษาไทย “ขอให้เราโชคดี”)  มันคือหนังสารคดีของสองสาวพี่น้องฝาแฝด “แวววรรณ” กับ “วรรณแวว” หงษ์วิวัฒน์ ที่บันทึกเรื่องราวการเดินทางบนเส้นทางรถไฟสายทรานไซบีเรียจากประเทศอังกฤษยาวมาถึงหัวลำโพง กรุงเทพ (อันแสนทรหด) ของพวกเธอ ที่จากฟุตเทจการเดินทางทั่วไปเมื่อมันถูกเล่าผ่านมุมมองและความคิด การพูดจา บวกกับมุมกล้องที่แสดงถึงสุนทรียในแง่ศิลปะของพี่น้องคู่นี้ ทำให้ตัวหนังมีเสน่ห์และถูกเป็นที่พูดถึงในแวดวงคนดูและคนทำหนังช่วงที่ผ่านมานี้อย่างมาก มาวันนี้พวกเธอกลับมาอีกครั้งในรูปแบบของงานเขียน แต่เป็น แวววรรณ ที่รับหน้าที่เขียนเล่าเรื่องราวทริปญี่ปุ่นกับครอบครัวครั้งนี้ให้ฟัง กับหนังสือที่ชื่อว่า “Hokkaido Home-made (ฮอกไกโด โฮมเมโดะ)” ของสำนักพิมพ์ Salmon Books ที่กำลังจะวางขายในงานสัปดาห์หนังสือปีนี้ เรามาพูดคุยเกี่ยวกับผลงานเล่มนี้กับเธอกัน…

เล่าถึงหนังสือ Hokkaido Home-made ให้ฟังหน่อย?
จริงๆก็คิดตั้งแต่ก่อนไปแล้วว่าจะทำหนังสือออกมา ตอนนั้นก็ไม่รู้ว่าทำไมถึงอยากทำนะ (ยิ้ม) คือเรามองว่าทริปนี้มันไม่ได้เหมือนไป Backpack เทียบกันกับทริปที่แล้วมันอาจจะไม่มีความ Poetic เท่าไร แต่ด้วยความที่มันเป็นทริปที่ไปเที่ยวกับครอบครัว ครอบครัวเราที่ไปกันครั้งนี้มีทั้งหมด 12 คน เราไปกันในแบบสเกลของทัวร์ลูกเป็ดที่ทุกคนต้องมาร่วมทางไปเที่ยวที่นั่นที่นี่ด้วยกัน พอมองดูเราก็เลยคิดว่าเที่ยวแบบนี้มันก็มีความน่าสนใจของมันอยู่เหมือนกัน ก็เลยอยากนำเสนอออกมาค่ะ

แสดงว่าเรื่องราวที่พูดถึงครั้งนี้จะเป็นเรื่องครอบครัวซะส่วนใหญ่?
ค่ะ เพราะจุดเด่นที่ไปกัน 12 คนในทริปนี้ มันน่าสนใจตรงที่เรามีครบทุก Generation เลย คือมี “Baby Boomer” คนยุคหลังสงครามโลกก็คือพ่อแม่ เรามี Gen X คนยุคต่อมาที่เป็นพี่ๆน้าๆ แล้วก็จะมี Gen Y ก็คือวัยประมาณเราเอง ซึ่งแต่ละยุคด้วยสภาพแวดล้อมที่โตมาก็จะทำให้มีบริบททางสังคมและมีลักษณะนิสัยที่ต่างกันออกไป แล้วหลังจากนั้นยังมี Gen Z และล่าสุดคือ Gen Alpha ที่จะเป็นน้องๆในทริป สองยุคนี้เค้าจะไม่ค่อยรู้จักโลกที่ไม่มี Internet เลยว่าเป็นแบบไหน คือเค้าเกิดมาโลกก็มีของพวกนี้พร้อมหมดแล้ว ครอบครัวหลังจากรุ่นพ่อลำบากมา ก็เริ่มตั้งตัวได้ เริ่มมีฐานะ คนเริ่มมีลูกกันน้อยลง เด็กยุคนี้เค้าจะไม่ค่อยรู้จักการมีเพื่อนแบบเดอะแก็งค์ไปเล่นนอกบ้าน พอครอบครัวทั้ง 12 คนต้องมาร่วมเดินทางไกลต่างประเทศด้วยกัน ขนาดเวลาไปกับเพื่อนเรายังต้องเป็นคนรู้ใจคุยกันรู้เรื่องเลย แล้วนี่แต่ละคนเป็นคนละวัยคนละยุค เราเลยเห็นภาพว่ามันต้องเป็นเรื่องปวดหัวและน่าสนใจแน่ๆ เขียนหนังสือเล่มนี้เราก็เลยพูดถึงเรื่องพวกนี้ล่ะ

ถ้าให้เทียบระหว่างญี่ปุ่นกับทรานไซบีเรีย?
เราขอเปรียบว่ามันเหมือนหนัง Mass กับหนังนอกกระแส เพราะอย่างแรกเลยคือตอน Wish Us Luck ทรานไซบีเรียมันเป็นเส้นทางที่คงไม่ค่อยมีคนไปกันเท่าไร แล้วเราไปกันแบบ Backpack ยากลำบาก ไปกัน 2 คน ส่วนญี่ปุ่น… ยิ่งเป็นฮอกไกโดนี่ เป็นที่ที่ทางญี่ปุ่นเขากำลังโปรโมทมาก สังเกตว่าทุกครั้งที่มีเทศกาลเที่ยวญี่ปุ่น ก็จะเจอแต่ทัวร์ฮอกไกโดเต็มไปหมด บวกกับช่วงนี้เค้ายกเลิกวีซ่าไทย-ญี่ปุ่นอีก คนไทยเลยไปกันเยอะมากๆ ก็แค่ครอบครัวเราเองก็ไปกันทั้งหมด 12 คนแล้ว (หัวเราะ)

สิ่งที่ประทับใจในทริปนี้?
เราชอบเที่ยวญี่ปุ่นนะ เราว่าญี่ปุ่นมันเป็นประเทศที่ Compromise ที่สุด คือมันอยู่ตรงกลางระหว่างทุก Generation ระหว่างทุกวัยได้ อย่างถ้ามองมุม Gen Y มันก็เป็นประเทศที่มีความป็อปประมาณนึง ซึ่งพวกเราก็จะชอบอยู่แล้วล่ะ แล้วในมุมผู้ใหญ่ก็มีความสะดวกสบาย กับเด็กก็จะมีโซนที่เด็กชอบอะไรแบบนี้ เรามองว่ามันเหมือนร้านอาหารครอบครัว กินได้ทุกเพศทุกวัย ให้ไปยุโรปพ่อแม่ก็เดินทางลำบาก เด็กอาจจะเบื่อได้ เรามองว่าที่นี่มันตรงกลางที่สุดแล้ว

ถ้าอย่างนั้นสำหรับแวววรรณญี่ปุ่นคือ “สี” อะไร?
ถ้าแว่บแรกเลยก็คงต้องเป็นสีลาเวนเดอร์ เพราะเป็นฮอกไกโด ฮอกไกโดมีทุ่งลาเวนเดอร์ ซึ่งเอาจริงๆเราก็ไม่ได้แฮปปี้กับทุ่งลาเวนเดอร์เท่าไร (หัวเราะ) เราว่ามันดูจัดวางเกินไป …เราขอตอบว่าเป็นสีฟ้า เพราะว่ามันเป็นซัมเมอร์ แล้วเราเห็นสีนี้ตลอดทุกวัน ด้วยความที่หน้าร้อนทุกอย่างมันจะโปร่งไปหมด อาจจะมีครึ้มบ้างล่ะแต่ไม่มาก… ก็ไม่รู้เหมือนกัน (หัวเราะ) คือปกติเราไม่ได้มีสีโปรดที่สุด ถ้าชอบเรารู้สึกเป็นเรื่องการจับคู่ของสี ว่าสีนี้เข้ากับสีนี้ อะไรแบบนั้นมากกว่า

ทำหนังสือกับทำหนังต่างกันไหม?
ถ้าในแง่ขั้นตอนเราว่าต่างกันนะ หนังมันมีความจำกัด หนังสือมันไม่มีความจำกัด …แต่จำกัดในที่นี้เรา ไม่ได้ตัดสินว่าอันไหนดีไม่ดีนะ คือหนังต้องเล่าจากสิ่งที่มี หนังสือเราเล่าจากความทรงจำที่มีก็ได้ สมมุติว่าหนังสือเราไม่ได้ถ่ายฟุตเทจมา เราก็เขียนถึงได้ แต่หนังทำแบบนั้นไม่ได้ ซึ่งพอเราลองเขียนดู จริงๆมันก็มีจุดร่วมบางอย่าง ไม่รู้ว่าเพราะเราติดการใช้ภาษาแบบเห็นภาพรึเปล่า มันมาเห็นภาพตอนที่เริ่มเขียนพร้อมกับดูรูปที่ถ่ายมา เราอยากให้หนังสือเล่มนี้มันออกมาเป็นเหมือนหนังญี่ปุ่น Feel Good เลย

หนังสือเล่มนี้มันเป็นโฟโต้บุ๊ค?
มันก็ไม่เชิงนะ คือรูปมันเยอะ แต่เราว่ามันยังเป็นหนังสือ Textbook อยู่ แต่แค่อาจจะมีรูปประกอบเยอะหน่อย

วงการหนังสือไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร?
เราอาจจะไม่ใช่คนอ่านหนังสือเยอะนะ แต่ถ้ามองในมุมคนทำหนังสือ ไม่รู้สิเรามองว่ามันเด็กลง เราว่าเด็กในยุคนี้ชอบอ่านแต่ข้อความสั้นๆ พอมันมี Internet มันมี Twitter Facebook คนอดทนอ่านอะไรมากๆกันได้น้อยลง ใช้ภาษาที่เป็นกันเองมากขึ้น มันเป็นการอ่านที่ง่ายมากขึ้น หนังสือที่ขายดีในตลาดตอนนี้ก็จะเป็นหนังสือที่ตัวอักษรไม่เยอะ ซึ่งจริงๆงานเขียนของอาจารย์รุ่นเก่าๆ รวมถึงพวกวรรณกรรมแปลเค้าก็ยังมีออกมาตลอดเวลานะ

โปรเจคต์ที่คิดไว้หลังจากหนังสือเล่มนี้?
ก็มีอยากทำหนังค่ะ แต่ก็ไม่รู้ว่ามันจะเกิดขึ้นเมื่อไรนะ เรารู้สึกว่าทำหนังมันต้องรวมรวมเวลาในการคิด การทำพอสมควร แล้วเราจะไม่ทำกันสองคนเหมือน Wish Us Luck แล้ว คงทำเป็นกองหนังจริงจังเลย เราอยากก้าวไปสู่ความเป็นภาพยนตร์มากกว่าเดิมมากขึ้น ถ้าเอาเร็วขึ้นมาหน่อยก็อาจจะเป็นหนังสืออีกเล่ม ที่คิดไว้คร่าวๆทริปหน้าคือเดินเขาที่ภูฏาน แต่ก็ยังเป็นแค่ไอเดียคร่าวๆนะ

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับหนังสือ “Hokkaido Home-made” อยากให้คนอ่านได้อะไรจากผลงานเล่มนี้?
ก็… คือเรารู้สึกเลยว่าการเขียนหนังสือเล่มนี้ของเรา มันทำให้เราเข้าใจคนในครอบครัวมากขึ้น คือก่อนหน้านี้เราก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมหลายคนรวมถึงเราเองด้วย ชอบคิดว่าอยู่กับพ่อแม่แล้วมันมีความวุ่นวายปวดหัว ทั้งๆที่เป็นคนใกล้ชิดกันมากที่สุดคนนึงในชีวิต เราก็เลยรู้สึกว่าการที่เราทำความเข้าใจเค้าในแบบที่เค้าเป็น ถ้าเราเข้าใจคนกลุ่มนี้ได้ คนกลุ่มที่ใกล้ที่สุดแล้วก็มีปัญหาที่สุดนี้ได้ การที่เราจะเข้าใจคนอื่นๆในสังคมข้างนอก มันก็น่าจะเป็นเรื่องง่ายแล้ว ก็อยากให้น้องๆหรือคนรุ่นใหม่อ่าน แต่เอาจริงๆไม่ต้องเฉพาะเจาะจงก็ได้ เพราะเราเชื่อว่าสุดท้ายเรื่องครอบครัวมันเป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจได้และเราเชื่อว่าทุกเคยผ่านมา ทุกคนมีอดีต มีเรื่องราวแบบนี้กัน มันต่างกับตอนทำ Wish Us Luck ตอนนั้นเราไม่ได้คิดเรื่องพวกนี้เลย เราไม่ได้คิดว่าใครจะอ่านแล้วจะเป็นยังไง ตอนนั้นเรารู้แต่ว่าอยากทำอะไรเราก็ทำ แต่หนังสือเล่มนี้มันตอบในตัวของมันเองแล้วว่าเราอยากพูดถึงอะไร

ก่อนจากกันเรามีวีดีโอแนะนำหนังสือเล่มนี้ที่พี่น้องทั้งสองคนทำขึ้นมา https://www.youtube.com/watch?v=TkxrLrHqFuE
Facebook ของทั้งคู่ : https://www.facebook.com/wanwea.weawwan.hongvivatana?fref=ts
Facebook Salmon Book : https://www.facebook.com/salmonbooks?fref=ts

Visit: Pakkawat Tanghom
Photographer: Pakkawat Tanghom

RECOMMENDED CONTENT

21.สิงหาคม.2023

RANSOMED เล่าถึงผู้ชายสองคนมีสถานะและปูมหลังที่แตกต่างกัน นักการทูต มินจุน (นำแสดง ฮา จอง-อู (Ashfall, Along with the Gods) เป็นนักการทูตที่สูงส่งและประสบความสำเร็จ ขณะที่พันซู (นำแสดง จู จี-ฮุน (Along with the Gods) เป็นคนท่าทางลึกลับ ดูไม่น่าไว้วางใจ การพบกันของ นักการทูตชั้นสูงและโชเฟอร์ที่แฝงลับลมคมใน