“ตอนใช้ไม่ทันคิด ตอนติด(หนี้)ไม่มีจ่าย” เชื่อว่าหลายคนคงไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนี้แน่ๆ เพราะตอนที่รูดปรื้ดก็คิดแค่ว่า ‘ของมันต้องมี’ มันต้องใช้ มันจำเป็น รู้ตัวอีกทีบัตรก็เต็มวงเงินจนไม่มีให้รูด หรือบางคนอาจยังไม่รู้ตัว จัดบัตรเพิ่มไปอีกใบ แต่ทุกใบ ‘ขอผ่อนยอดขั้นต่ำ’ วนลูปเป็นวงจรหายนะ
เรื่องแบบนี้น้อยคนนักที่จะโชคดีจัดการหนี้ได้ทัน แต่ถ้าโชคร้ายหน่อย บวกกับเศรษฐกิจขาลงแบบนี้ ที่หาเงินมาเท่าไหร่ก็เอาไปจ่ายบัตรเครดิตซะหมด จนแทบไม่เหลือเงินกินข้าว แล้วจะเอายังไงต่อกับชีวิตดี? เมื่อจ่ายต่อไปไม่ไหวแล้ว..
เมื่อคุณเริ่มค้างชำระหรือผิดนัดชำระหนี้ จะต้องเจอกับอะไรบ้าง?
1.โดนโทรตามทวงหนี้ เมื่อถึงกำหนดที่ต้องชำระรายเดือน แล้วคุณเกิดล่าช้า หรือไม่ได้มีการชำระยอดเข้าบัญชีเป็นเวลาต่อเนื่องนานเกิน 3 เดือน (แล้วแต่ข้อกำหนดของแต่ละธนาคาร) ทางเจ้าหน้าที่จะเริ่มโทรหาคุณบ่อยขึ้น เพื่อตามให้ชำระค่างวด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นขั้นตอนของการเจรจาเกลี่ยกล่อม ให้คุณหาเงินมาชำระให้ได้ เพื่อรักษาเครดิต และรักษาสถานะบัตรให้ยังสามารถใช้งาน หรือรูดได้ตามเดิม
2.เสียเครดิต แต่เมื่อคุณไม่สามารถชำระได้อีกต่อไปแล้ว นั่นหมายถึงคุณมีประวัติเป็นลูกหนี้เสีย หรือเรียกอีกอย่างว่าติดแบล็กลิสต์นั่นเอง
3.มีผลต่อการกู้ในอนาคต เมื่อต้องกลายเป็นบุคคลติดแบล็กลิสต์ แน่นอนว่าในช่วงนี้คุณจะไม่สามารถทำธุรกรรม สินเชื่อ กู้เงิน หรือซื้อบ้าน ซื้อรถได้ หรือโอกาสที่จะกู้ผ่านนั้นยาก ผลมาจากประวัติการชำระ ซึ่งคุณจะสามารถทำเรื่องกู้ได้อีกครั้ง จะต้องมีการเคลียร์หนี้เก่า โดยผ่านขั้นตอนของธนาคารให้แล้วเสร็จก่อน โดยอาจใช้เวลา 3 – 5 ปีทีเดียว
4.โดนฟ้องร้อง หลังจากขาดการชำระ จะมีการเจรจาชำระหนี้ระหว่างธนาคารและลูกหนี้ เช่น การเจรจาประนอมหนี้ การทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ หรือธนาคารยื่นข้อเสนอส่วนลดในการชำระหนี้ โดยจะพิจารณาลดยอดหนี้ให้เป็นกรณีไป แต่หากการเจรจาไม่เป็นผลสำเร็จ ธนาคารมีสิทธิ์ที่จะดำเนินคดีตามกฏหมาย โดยส่งหมายศาลไปตามหมายเลขทะเบียนบ้าน เพื่อนัดวันไกล่เกลี่ย
5.อาจถูกยึดทรัพย์ เมื่อการเจรจาต่อหน้าศาลไม่เป็นผล ลูกหนี้ไม่ไปตามนัดหมาย หรือแพ้คดี เจ้าหนี้สามารถอายัดเงินเดือน หรือยึดทรัพย์ที่สืบได้ เช่น มีชื่อเป็นเจ้าของบ้าน หรือมีรถที่ผ่อนชำระหมดแล้ว เป็นต้น
จ่ายไม่ไหวแล้ว.. จัดการยังไงต่อไปดี?
1.ศึกษากฏหมาย มีข้อมูลกฏหมายบัตรเครดิตมากมายในอินเตอร์เน็ต เพื่อรู้ให้เท่าทันเจ้าหนี้ หรือหาทางออกในการชำระหนี้ที่เหมาะสม ควรศึกษาข้อมูลที่ถูกต้อง และเงื่อนไขของการผิดชำระของแต่ละธนาคารด้วย
2.ไม่มี ไม่หนี ไม่หาย ทางที่ดีที่สุด หากคุณไม่มีความสามารถพอในการชำระแล้ว ไม่ควรหนีหนี้ ด้วยการไม่รับสายทวงหนี้ เปลี่ยนเบอร์หนี ย้ายที่อยู่ หรือขาดการติดต่อในทุกๆ ทาง ซ้ำร้ายคุณอาจโดนยึดทรัพย์ หรืออายัดเงินเดือนแบบไม่รู้ตัว ทางที่ดีควรรับสาย พูดคุย เจรจา และแสดงเจตนาความรับผิดชอบ เพื่อหาทางออกที่ดีที่สุดร่วมกัน แล้วคุณจะรู้ว่าเจ้าหนี้ก็ไม่ได้ใจร้ายเสมอไปหรอกนะ
3.รอธนาคารฟ้องร้อง เมื่อการเจรจาไม่เป็นผล ขั้นตอนนี้จะขึ้นอยู่กับกระบวนการของแต่ละธนาคาร ขึ้นอยู่กับยอดหนี้ และประวัติการชำระของแต่ละบุคคล ว่านับตั้งแต่ครบวันที่คุณผิดชำระหนี้ จะเว้นระยะนานกี่เดือน ถึงจะมีหมายศาลไปแขวนที่หน้าบ้าน เมื่อหมายศาลมาถึงแล้วสิ่งที่คุณต้องทำอันดับแรกคือ ตั้งสติ! และอ่านรายละเอียดในหมายศาลให้ดี
4.เก็บเงินรอ ในช่วงนี้สำหรับคนที่มีเจ้าหนี้มากกว่า 1 เจ้า หมายถึงไม่ได้มีการชำระแล้ว และปล่อยให้ธนาคารฟ้องร้องทุกใบ คุณควรทยอยเก็บเงินไว้สักก้อน เพื่อทยอยปิดทีละบัญชีดีกว่า
5.เจรจาขอลดหนี้ หรือปิดบัญชีหนี้ ในขั้นตอนนี้อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงก่อนวันนัดขึ้นศาล หรือไกล่เกลี่ยต่อหน้าศาล ซึ่งการเจรจาจะเป็นไปในทิศทางไหน ต้องขึ้นอยู่กับการยินยอมของเจ้าหนี้ และความพร้อมของลูกหนี้ หากลูกหนี้มีเงินก้อนอยู่ในมือแล้ว อาจขอเจรจา Hair Cut ซึ่งหมายถึงขอส่วนลดในการปิดบัญชี ซึ่งอาจลดได้มากถึง 50% (แล้วแต่กรณี) แต่หากลูกหนี้ไม่พร้อม สามารถขอเจรจาเป็นผ่อนขั้นต่ำระยะยาวได้
รับรองได้เลยว่า เมื่อเข้าวงจรหนี้เสียแล้ว คุณต้องปวดหัว และเสียเวลากับขั้นตอนการชำระหนี้แน่นอน สำนวนไทยถึงได้กล่าวไว้ว่า “การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ” แต่เมื่อเอาเงินเขา(ธนาคาร) มา ก็ต้องใช้คืน ทางที่ดีควรหยุดก่อหนี้เพิ่ม ใช้หนี้เก่าให้หมด และเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้เงินใหม่ เพื่อไม่ให้หลุดเข้าวงจรเดิมซ้ำอีก ที่สำคัญเมื่อรู้จักใช้ ก็ต้องรู้จักเก็บออมเงินไว้ใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน หรืออ่าน 5 วิธีออมเงินในช่วงเศรษฐกิจขาลง ของมนุษย์ออฟฟิศ แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตที่ไม่มีหนี้ มันมีความสุขอย่างไร
RECOMMENDED CONTENT
Paradox เดือด ซัด ดิบ โดย Wilson Yip ผู้สร้าง IPMAN นำแสดงโดย กู่เทียนเล่อ, จาพรม และ ปู วิทยา ปานศรีงาม