ในที่สุดเราก็ได้งานแล้ว! คงเป็นวันที่เราทุกคนดีใจสุดๆ ก็แหมกว่าจะฝ่าฟันแต่ละด่านมาได้ ตั้งแต่เขียน Resume ส่ง Cover Letter แล้วก็การสัมภาษณ์อีก คงไม่แปลกที่เราก็ต้องรู้สึกฟินกันเป็นธรรมดา แต่เอ๊ะหลังจากนี้เราจะต้องเจอกับอะไรบ้าง แล้วจะต้องทำตัวยังไงถึงจะก้าวหน้าในหน้าที่การงาน วันนี้ดู๊ดดอทมีคำแนะนำดีๆจากพี่เอ็ม ผู้ซึ่งเป็น COO และ CFO ของ CareerVisa Thailand รับรองว่าสามารถนำไปใช้ได้จริงและเป็นประโยชน์แน่นอน
พี่เอ็มเล่าว่ามีอยู่สองสิ่งที่คนมักใช้ในการตัดสินคนอื่นนั้นก็คือ ความน่าเชื่อถือ (trustworthy) และความสามารถ (competency) ซึ่งสองสิ่งนี้สำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเริ่มต้นการทำงาน เนื่องจากยังไม่มีใครในที่ทำงานใหม่รู้จักเราจริงๆดังนั้นเจ้านายและเพื่อนร่วมงานจะตัดสินเราไปในทิศทางใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะแสดงให้เค้าเห็นว่าเราเป็นคนอย่างไร การรู้ถึงเทคนิคการสร้างความน่าเชื่อถือและการแสดงความสามารถในการทำงานจึงนับว่าจะเป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดี จนนำไปสู่ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้
สำหรับเทคนิคการสร้างความน่าเชื่อถือ (trustworthy) พี่เอ็มแนะนำว่าจะต้องคำนึงถึงสิ่งต่างๆดังต่อไปนี้
1. วัฒนธรรมของบริษัท (company’s culture)
เราต้องรู้ว่าวัฒนธรรมของบริษัทเป็นอย่างไรและเราต้องปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของบริษัท เช่น ถ้าบริษัทมีวัฒนธรรมแบบเป็นกลุ่ม (collective) คือทุกคนช่วยเหลือกัน ไปไหนมาไหนด้วยกัน เราก็ควรจะต้องเป็นคนที่ชอบช่วยเหลือ และไม่แยกตัวออกมาบ่อยๆ ในขณะที่ถ้าบริษัทมีวัฒนธรรมที่เน้นความเป็นส่วนตัว (individualistic) คือทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ต่างคนต่างมีชีวิตของตัวเอง เราก็ควรทำหน้าที่เราให้ดี และไม่ควรไปเกาะติดเค้ามากเกินไป รวมไปถึงเรื่องของเวลาเข้างาน บางบริษัทค่อนข้างยืดหยุ่น (flexible) คือไม่มีเวลาเข้างานเป็นกฎระเบียบ แต่บางบริษัทเคร่งครัด (fixed) คือมีเวลาเข้างานที่แน่นอน เราก็ต้องดูให้ดีๆ
2. เจ้านาย (boss)
เราต้องรู้จักเจ้านาย สังเกตว่าเจ้านายมีบุคลิกภาพ ไสตล์การบริหารงานอย่างไร เช่น เจ้านายเป็นคนที่ละเอียดมากๆ (micromanaging) คือ ไวยากรณ์ห้ามผิด งานต้องเป๊ะ หากเป็นเช่นนี้เราก็ต้องเพิ่มความละเอียดในการทำงาน และคอยส่งงานให้เจ้านายดูเป็นระยะๆ ในขณะที่เจ้านายบางคนชอบให้ลูกน้องแสดงความคิดเห็น เราก็ต้องกล้าแสดงความคิดเห็นออกไปบ้าง อย่านั่งเงียบอยู่อย่างเดียว นอกจากนั้นแล้วก็ต้องสังเกตด้วยว่าเจ้านายมีความสนใจและให้ความสำคัญ (interests and personal values) กับสิ่งใด เช่น เราอาจจะคิดว่าถ้าเราโทรไปคุยกับเจ้านายเรื่องงานวันเสาร์อาทิตย์ต้องดีแน่ เค้าจะได้เห็นว่าเราเป็นคนขยัน แต่ปรากฎว่าแทนที่จะประทับใจ เจ้านายกลับหงุดหงิด เพราะเค้าถือว่าวันเสาร์ อาทิตย์คือวันพักผ่อน
3. เพื่อนร่วมงาน (colleague)
เพื่อนร่วมงานนั้นสำคัญไม่แพ้เจ้านาย งานเราจะเสร็จหรือไม่เสร็จอาจจะขึ้นอยู่กับเค้า และที่สำคัญคือเพื่อนร่วมงานเรานี้แหละจะเป็นคนให้ความเห็น (feedback) เกี่ยวกับการทำงานของเราให้กับหัวหน้าฟัง เพราะฉะนั้นคำแนะนำคือเราต้องปฏิบัติตัวกับเพื่อนร่วมงานให้เหมือนกับที่ปฏิบัติกับเจ้านาย คือบุคลิกเค้าเป็นยังไง ลักษณะการทำงานเป็นอย่างไร นอกจากนั้นแล้วถ้าหากเรารู้จุดแข็ง จุดอ่อน ของเพื่อนร่วมงานด้วยก็จะดีมาก เพราะเราจะได้ขอความช่วยในสิ่งที่เค้าถนัด ไม่ถามในเรื่องที่เค้าไม่ถนัด และจะได้ปรับคำถามให้เข้ากับวิธีคิดของเค้า ซึ่งจะช่วยให้สื่อสารกันรู้เรื่องมากขึ้น
4. ทักษะที่เกี่ยวข้องกับคน (soft skill)
ความรู้ความสามารถของเรา (hard skill) อาจทำให้เราได้งาน แต่ทักษะเกี่ยวกับคน (soft skill) จะทำให้เราก้าวหน้าในที่การงาน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการบริหารคน (people management skills) สื่อสารกับคน (communication skills) ซึ่งสมัยนี้เราสามารถหาความรู้เกี่ยวกับทักษะเหล่านี้มากมายบนอินเตอร์เน็ต เช่น ทาง YouTube หรือตามร้านหนังสือต่างๆ แต่เมื่อทราบเทคนิคการพัฒนาทักษะเกี่ยวกับคนแล้ว สิ่งที่สำคัญคือเราเองต้องนำมาฝึกใช้กับสถานการณ์จริงด้วย
ในส่วนของเทคนิคการแสดงความสามารถในการทำงาน (competency) จะนำมาเสนอในตอนต่อไปค่า…
เกี่ยวกับพี่เอ็ม: ธีรยา ธีรนาคนาท (เอ็ม) COO และ CFO ของ CareerVisa Thailand และ Management Trainee ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จบการศึกษา MBA จาก Kellogg School of Management, Northwestern University
Images by: Devil wears prada
RECOMMENDED CONTENT
Midea Group จับมือกับ “บาส-นัฐวุฒิ พูนพิริยะ” ผู้กำกับมากฝีมือจากภาพยนตร์เรื่องฉลาดเกมส์โกง และ เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ สร้างสรรค์ผลงานโฆษณา จากเรื่องจริงสร้างแรงบันดาลใจให้ลุกขึ้นสู้เพื่อความฝันของนางแบบสาวชาวบราซิล Paola Antonini ที่ประสบอุบัติเหตุต้องใส่ขาเทียม