fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

รวม 8 tricks มีประโยชน์ในการเดินทาง long flight อย่างไรไม่ให้ทรมาน
date : 1.ธันวาคม.2014 tag :

อีกไม่กี่สัปดาห์ก็จะถึงเวลาที่พวกเราทุกคนจะได้หยุดยาวออกเดินทางท่องเที่ยวช่วงปีใหม่กันแล้ว เชื่อว่าหลายคนตอนนี้คงเริ่มนับถอยหลัง และเตรียมแผนไปท่องเที่ยวพักผ่อนเป็นที่เรียบร้อย สำหรับใครที่มีแผนจะเดินทางไปต่างประเทศ และรู้ตัวว่าจะต้องอยู่บนเครื่องนานเป็นเวลาหลายชั่วโมง วันนี้เรามี tips & tricks ดีๆที่จะเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมตัวเดินทางสำหรับคุณมาฝากกัน เพราะคงจะไม่มีอะไรเลวร้ายไปกว่า 10 กว่าชั่วโมงบนเครื่องที่คุณรู้สึกหงุดหงิด นอนไม่หลับ เมื่อยตัว ปวดหัว คลื่นไส้ ดูนาฬิกาทุกๆ 30 นาที ราวกับว่าเวลามันจะหมุนเร็วขึ้น หรือดูหนังจบไป 3 เรื่องก็แล้ว ตายังสว่างอยู่เลย เอาเป็นว่าสิ่งที่จะช่วยคุณได้คือการวางแผนอย่างเป็นระบบ เพื่อช่วยให้ทริปเดินทางข้ามทวีปของคุณสะดวกสบายและสมูธที่สุดเท่าที่จะทำได้ ดั่งเช่นวิธีการเตรียมตัวต่างๆดังต่อไปนี้

Pre-Flight

null

1. คิดดีๆก่อนจองตั๋ว

แนะนำว่าคุณไม่ควรเดินทางไฟลต์ดึกเพื่อไปถึงตอนเช้า เพราะน้อยคนสามารถที่จะนอนบนเครื่องได้อย่างสุขสบาย ถ้าเป็นไปได้ควรเลือกไฟลต์ที่ไปถึงช่วงเย็นใกล้ค่ำจะดีที่สุด อย่ามัวเสียดายเวลาไปหนึ่งวันเต็ม สู้เก็บแรงไว้สำหรับเที่ยววันรุ่งขึ้นจะดีกว่า

2. เลือกที่นั่งแบบมือโปร

ลองจินตนาการว่าที่นั่งบนเครื่องแบ่งเป็น 3 ตอน มีฝั่งซ้าย ตรงกลาง และฝั่งขวา ที่นั่งที่ดีที่สุดคือเก้าอี้ริมทางเดินของตรงกลาง (ทั้งริมซ้ายและริมขวา) เพราะเข้า-ออกได้สะดวก เหยียดขาได้ ลดการก่อกวนปลุกให้ตื่น ส่วนที่นั่งบริเวณทางออกฉุกเฉินเป็นอันรู้กันอยู่แล้วว่ากว้างขวางที่สุดในลำ แต่ก็ต้องจ่ายเพิ่มหรือโดนแย่งตัดหน้าในเวลาอันรวดเร็ว เพราะคนมักแย่งกันที่จะเอาที่นั่งตรงนี้ ส่วนที่นั่งที่แย่สุดคือที่นั่งติดห้องน้ำ เพราะจะมีผู้โดยสารมายืนออตลอดเวลา นี่ยังไม่นับเรื่องกลิ่นที่จะโชยมาแตะจมูกอีกนะ อี๋ๆๆ

3. ฟิตก่อนเดินทาง

เตรียมพร้อมร่างกายให้แข็งแรง กินวิตามินซีและบีคอมเพล็กซ์เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และควรปรับเวลานอนล่วงหน้าสัก 2-3 วันก่อนขึ้นเครื่อง เพื่อให้ใกล้เคียงกับเวลาของจุดหมายปลายทาง ร่างกายของคุณจะได้ปรับตัวและคุ้นเคยกับเวลานอนใหม่

4. เลือกชุดที่สวมใส่สบาย

ชุดสำหรับใส่ขึ้นเครื่องนี่ก็สำคัญ หลีกเลี่ยงการใส่กางเกงยีนส์หนาเตอะฟิตๆ แล้วเลือกชุดที่ใส่แล้วไม่ทำให้คุณอึดอัดจะดีกว่า เช่นถุงเท้าที่ไม่รัดจนเกินไป กางเกง sweatpants หลวมๆ เสื้อยืดตัวโคร่งๆหน่อย หรืออาจใส่สเวตเตอร์ หรือแจ็คเก็ตสักตัวขึ้นเครื่องไปด้วย เพราะอากาศบนเครื่องจะเย็น หรือจะเตรียมผ้าห่มของตัวเองไปด้วยก็ยังได้ เพราะผ้าห่มบนเครื่องส่วนใหญ่ก็ไม่ได้หนาอะไรขนาดนั้น จำไว้ว่า 20% ของนักเดินทางมักป่วยหลังจากลงเครื่อง

 

In-Flight

null

5. เลี่ยงอาหารบนเครื่อง

รู้หรือไม่ว่าอาหารบนเครื่องส่วนใหญ่อุดมไปด้วยโซเดียม กินแล้วยิ่งทำให้หิวน้ำ เพราะฉะนั้นคุณควรพกของกินหรือสแน็กส่วนตัวไปเอง เช่น ถั่วต่างๆ ผลไม้สด หรือโยเกิร์ต กินแค่ให้พออิ่ม ส่วนใครที่บินไฟลต์ 5-6 ชั่วโมง และไม่อยากหลับแนะนำให้กินโปรตีนและอาหารรสจัด แต่ถ้าอยากหลับแบบสลบเหมือดต้องจัดคาร์บหนักๆไปเลย เช่น ขนมปังหรือพาสต้า ส่วนเหล้าและกาแฟอย่าไปยุ่ง เพราะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการจิบน้ำเปล่าบ่อยๆ หรือกินผลไม้เยอะๆ เช่นแอปเปิ้ลหรือส้ม

6. หลับอย่างมีความสุข

หลายคนเวลาเดินทางเป็นเวลานานหลายชั่วโมง แน่นอนว่าต้องการหลับอย่างเป็นสุข แต่ไม่รู้ทำไมบางทีถึงหลับยากหลับเย็นเหลือเกิน ตัวช่วยที่เป็นประโยชน์คือหน้ากากปิดตาและที่อุดหู (หน้ากากปิดตาช่วยหลอกสมองให้เชื่อว่านี่เป็นเวลากลางคืน ควรถึงเวลานอนได้แล้ว) แต่ถ้ายังเอาไม่อยู่ก็ลองกินเมลาโทนิน (ออกฤทธิ์คล้ายยานอนหลับ) สัก 3 มิลลิกรัม แต่แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ก่อน และทดลองกินก่อนเดินทางเพื่อเช็กปริมาณที่เหมาะสม และระยะเวลาที่ยาออกฤทธิ์

7. อย่าเอาแต่นั่ง

ควรลุกมายืดเส้นยืดสาย เดินแกว่งแขนบ้าง เพื่อให้เลือดไหลเวียน กล้ามเนื้อทำงาน แนะนำว่าควรทำทุกๆ 30 นาที

 

Post-Flight

null

8. ปรับตัวให้เข้ากับเวลาท้องถิ่น

ถ้ามาถึงช่วงเวลากลางวัน พยายามทำกิจกรรมกลางแจ้งให้มากที่สุด เดินสูดอากาศบริสุทธิ์ ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และพยายามตื่นให้นานถึง 9 ชั่วโมงก่อนเข้านอน แต่ถ้ามาถึงตอนกลางดึก แนะนำให้ตรงดิ่งขึ้นเตียง อาจจิบชาคาโมมายล์จะได้หลับสบาย ควรพักผ่อนเอาแรงให้มากๆ เพื่อที่จะได้เริ่มเช้าวันใหม่อย่างสดใส เที่ยวได้ไม่มีเหนื่อย!

 CREDIT: GQ

RECOMMENDED CONTENT

14.ธันวาคม.2020

‘School Town King’ แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน เป็นหนังสารคดีที่สร้างจากเรื่องจริงของ ‘บุ๊ค’ เด็กหนุ่มวัย 18 และ ‘นนท์’ วัย 13 ผู้เติบโตมาในชุมชนคลองเตย หรือที่ใครๆ ต่างรู้จักในอีกชื่อหนึ่งว่า ‘สลัมคลองเตย’ นอกจากความยากจนที่มาพร้อมกับสถานะทางสังคมที่เลือกไม่ได้แล้ว ทั้งบุ๊คและนนท์ยังไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบการศึกษา รวมทั้ง หลักสูตรการเรียนการสอนที่เน้นแต่ความสำเร็จเชิงวิชาการก็ยิ่งทำให้เด็กเรียนไม่เก่งอย่างพวกเขาขาดความสนใจในชั้นเรียนลงไปเรื่อยๆ  ระบบการศึกษาที่น่าจะเป็นความหวังและเท่าเทียมกันของเด็กทุกคน กลับยิ่งบีบบังคับและผลักไสให้พวกเขาเป็นแค่ ‘คนนอก’ ของสังคมไปโดยปริยาย