อาจเรียกได้ว่านี่คืองานเดบิ้วต์ที่คนทั้งโลกจับตามองและรอคอยมากที่สุดของ ‘Virgil Abloh’ ในฐานะ artistic directer คนใหม่แห่งแฟชั่นเฮาส์ปารีเซียงเก่าแก่อย่าง Louis Vuitton ซึ่งเพิ่งเข้ามารับไม้ต่อจากไดเร็กเตอร์คนเก่า คิม โจนส์ (Kim Jones)
แล้วโชว์ครั้งแรกของ Abloh กับ Louis Vuitton menswear SS19 ก็เริ่มต้นขึ้นท่ามกลางแดดเปรี้ยงๆ สะท้อนกับพรมสายรุ้งทอดยาว ณ ฌาร์แดง ดู ปาเลส์ รอยาล (Jardin du Palais Royal) ในกรุงปารีส ฝรั่งเศส บ้านเกิดของแบรนด์ นายแบบหลากหลายเชื้อชาติเรียงรายตบเท้าออกมาในชุดสีขาวเกลี้ยงเกลา พร้อมกับหิ้วกระเป๋าลายโมโนแกรมโปร่งแสงที่ไม่เคยมีในประวัติศาสตร์ LV มาก่อน!
การมาถึงของผู้ชายที่บางคนเรียกเขาว่า ‘ราชาสตรีทแวร์’ คนนี้ ได้เปลี่ยนแปลงและสร้างหลักไมล์ใหม่ในหน้าแฟชั่นเป็นที่เรียบร้อย ความครีเอทีฟของเขาไม่ใช่แค่ใช้ในทางแฟชั่น แต่มันคือการสร้าง culture ถ้าการมาของเขาคือการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจริงๆ… ทั้งคุณและเราก็เป็นส่วนหนึ่งในงานของผู้ชายคนนี้ด้วยเช่นกัน
Once the outsider, now the cult leader.
Virgil Abloh ชายผู้ก้าวเข้ามารับหน้าที่ artistic directer ของเฮ้าส์เก่าแก่อย่างวิตตอง ไม่ได้จบสถาบันไฮโซ ไม่ได้มีปริญญาด้านแฟชั่น แถมยังจบวิชาสถาปัตย์เสียด้วยซ้ำ!
ครั้งหนึ่ง เขาเคยกรอกใบสมัครฝึกงานกับดีไซเนอร์หัวกะทิอย่าง Raf Simons แต่กลับถูกปฏิเสธไป และครั้งหนึ่งเขากับ Kanye West ก็เคยฝึกงานด้วยกันที่แบรนด์ Fendi ด้วยค่าจ้างเพียง 500 ดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น ภายใต้เงื่อนไขชีวิตแบบ 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น รวมถึงทำหน้าที่ซื้อกาแฟ เดินเอกสาร และยืนหน้าเครื่องซีร็อกซ์เหมือนเช่นเด็กฝึกงานคนอื่นๆ ด้วย ทั้งเขาและ West เพื่อนรัก ซึ่งมาร่วมแสดงความยินดีกับอีกก้าวของเขาในโชว์นี้ด้วย ต่างมีความคล้ายกันอย่างหนึ่งในเรื่องการดิ้นรนเพื่อสร้างตัวตนของตัวเองขึ้นมา เพราะเขารู้ดีว่าการเป็น ‘คนนอก’ ในอุตสาหกรรมนี้มันเป็นยังไง คงไม่ต้องเดาเลยว่าทุกวันนี้ตัวตนของพวกเขาถูกบูชาราวกับพระเจ้าเสียด้วยซ้ำ
Sorry, I can’t think simple.
Abloh อาจเริ่มเป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้ก่อตั้งเริ่มแบรนด์ Off-White™ แต่ก่อนหน้านั้นเขาทำแบรนด์เล็กๆ ของตัวเองชื่อว่า Pyrex Vision ที่นิวยอร์ก เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2012 ด้วยการเหมาเชิ้ตผ้าสักหลาดค้างสต็อกยี่ห้อ Ralph Lauren ในราคาไม่ถึง 50 ดอลลาร์ เอามาสกรีนโลโก้ Pyrex ตัวเบ้งๆ แล้วขายมันในราคา $550!! ซึ่งกลายเป็นกระเเสไปอีกเมื่อ Influencer ตัวพ่อแห่ใส่กัน ทั้ง Jay-Z เอย A$AP Rocky เอย
สรุปคือนอกจากขายดีเป็นเทน้ำเทท่า Pyrex Vision ยังเป็นจุดเริ่มของ Off-White ด้วย และหลังจากที่เขาเห็นเสื้อสเว็ตเตอร์ ‘Join a Weird Trip’ คอลเล็กชั่น AW12 ของนิโคลาส์ เกสกิแยร์ (Nicolas Ghesquierè) ไดเร็กเตอร์หัวขบถแห่ง Balenciaga ก็เหมือนยิ่งเป็นการตอกย้ำความเชื่อของเขาว่า สตรีทเเวร์คือเสื้อผ้าที่คนจะหยิบมาใส่ได้เสมอ โดยไม่ต้องสนว่าจะซีซั่นไหน แล้วถ้าเกสกิเเยร์ทำได้ ทำไมตัวเขาจะทำไม่ได้!
Youth Power
ไม่ได้มีแค่บรรดาแขกผู้มีเกียรติ ดารา เซเลบริตี้ สื่อมวลชน อินฟลูเอนเซอร์ ชิกๆ คูลๆ เท่านั้น ผู้ชมเกินครึ่งที่ได้รับเชิญในโชว์ครั้งแรกของเขากับ LV เป็นนักศึกษาแฟชั่นกว่าพันชีวิตจากหลากหลายสถาบัน ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ได้เห็นกันบ่อยนักในโชว์อื่นๆ รวมทั้ง นักร้อง นักดนตรี โปรดิวเซอร์ แรปเปอร์ เช่น Dev Hynes, Kid Cudi, Playboi Carti, Steve Lacy นักสเก็ตบอร์ด Blondey McCoy และ Lucien Clarke คนเหล่านี้คือ New Wave ผู้เป็นลูกค้าตัวเบ้งของแบรนด์เม็นส์แวร์อย่าง Hypebeast ที่คนทั่วโลกพร้อมจะเดินตาม บ่งบอกว่าสิ่งที่ Abloh ให้ความสำคัญไม่ใช่แค่คนระดับ V.I.P แต่เป็นคนเจนฯ ใหม่ที่จะก้าวเข้ามาสู่อุตสาหกรรมแฟชั่นในอนาคตอันใกล้เหล่านี้ต่างหาก
Diverse Universe
อีกหนึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นที่โชว์ Louis Vuitton Menswear SS19 บนเก้าอี้ของผู้ชม นอกจากเสื้อยืดกราฟิกโลโก้ที่ทำขึ้นเพื่อแจกผู้ชมเป็นของชำร่วย มันยังมีแผนที่ที่บนนั้นมาร์คเป็นจุดกลมๆ บอกภูมิลำเนาของนายแบบแต่ละคนว่าพวกเขาเป็นใคร มาจากไหน บอกแม้กระทั่งบ้านเกิดของพ่อแม่ครอบครัวของพวกเขาด้วย
สิ่งนี้ไม่ได้แค่ทำเก๋ แต่เพื่อให้ทุกคนไม่ลืม DNA ของแบรนด์ว่า LV นั้นก็เริ่มต้นจากการเดินทางเช่นกัน และทุกคนก็ล้วนมีตัวตน ไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ไหน หรือเป็นใครก็ตาม เป็นคำตอบว่าทำไมบนรันเวย์ของเขาจึงไม่ได้มีแค่นายแบบผิวขาว แต่ยังมีนายแบบเชื้อชาติอื่นๆ ผสมปนเปกันไปด้วย เขาเองก็นับว่าเป็นดีไซเนอร์กานาเอี้ยน-อเมริกันคนแรกของแบรนด์ไฮเอ็นด์เลือดฝรั่งเศส ซึ่งพื้นที่และโอกาสสำหรับคนผิวสีที่จะมายืนอยู่ในจุดเดียวกับที่เขายืนตอนนี้ไม่ได้มีมากสักเท่าไร
นี่คงเป็นจักรวาลแห่งความหลากหลายที่ Virgil Abloh สร้างมันขึ้นมาด้วยตัวเขาเอง ‘We are the world!’
I Set Up My Definition.
สิ่งที่อยู่บนเก้าอี้ผู้ชมอีกอย่างหนึ่งคือ ‘The vocabulary according to Virgil Abloh’ มันคือพจนานุกรมที่ Abloh เป็นผู้บัญญัติความหมายของศัพท์แสงขึ้นมาใหม่ เช่น คำว่า Collaboration, Designer, Graphics, Millennial, Normcore, Production, Streetwear รวมถึงคำอื่นๆ
แต่คำที่ดูเหมือนจะสำคัญนิดหน่อยตรงคำว่า ‘Luxury’ แบรนด์ Off-White ของเขาคือการทำสตรีทเเวร์ให้กลายเป็นสินค้าไฮเอ็นด์ ที่สามารถยืดอกอย่างภูมิใจได้ว่ามันลักชัวรี่นะเว้ยเห้ย…! ไม่ได้ลักชัวรี่ในความหมายเดิมที่ว่าหรูหรา หรือว่าให้ความรู้สึกสูงส่งจำกัดในวงสังคมใดสังคมหนึ่ง แต่ในความหมายใหม่ว่ามันลักชัวรี่โดย ‘กระบวนการ’ ตั้งแต่วิธีคิดเบื้องหลัง มันเป็นความลักชั่วรี่ที่คนเจนฯ ใหม่ทุกคนมีสิทธิ์จับต้อง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเป็นศิลปินในยุคโซเชียลฯ ทำให้เขามีชัยไปกว่าครึ่ง อีกคำหนึ่งในพจนานุกรมฉบับ Abloh ที่มีความสำคัญกับเขาไม่น้อยไปกว่ากันจึงเป็นคำว่า ‘Fandom‘ ซึ่งเขาจำกัดความมันว่า ‘A two-way worship between a designer and his clientele, fashion fandom mimics the codependent relationship between performer and supporter, a connection native to music and sports scenes.’
แปลได้ว่าเขาไม่เพียงเคารพในสิ่งที่กำลังทำ แต่ยังเคารพ ‘คน’ ที่เป็นเสมือนลมใต้ปีกของเขาทุกคนด้วย
2 คำนี้แหละที่เราว่าน่าจะเป็นคำอธิบายที่กระชับที่สุดว่าทำไมผู้ชายชื่อ Virgil Abloh ถึงมายืนอยู่ ณ จุดนี้อย่างสง่างาม
RECOMMENDED CONTENT
Airbnb เข้าร่วม TOP Program สนับสนุนด้านความยั่งยืนของการขับเคลื่อนกีฬาโอลิมปิก พร้อมสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจสำหรับนักกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกในการสร้างรายได้จากโปรแกรมใหม่ ‘Airbnb Olympian Experiences’