“…บางครั้งผมอิจฉาประเทศญี่ปุ่นนะ ทำไมญี่ปุ่นเค้าสามารถทำงานคุณภาพและคนญี่ปุ่นเค้าก็สนับสนุนสินค้าของประเทศของตัวเองได้ เค้ารู้จักเพิ่มคุณค่าให้กับงานประเทศเค้า จริงๆถ้าพูดกันตรงๆผมว่าคนไทยเนี่ย ฝีมือไม่แพ้ญี่ปุ่นหรอกครับ…”
ในวงการกางเกงยีนส์บ้านเรา ใครที่เป็นนักสะสมยีนส์หรือติดตามข่าวสารอยู่ตลอดเวลา เชื่อว่าทุกคนต้องเคยได้ยินชื่อ “Indigoskin” แบรนด์เดนิมสายเลือดไทย ที่พวกเขากล้ากระโดดออกมาทำยีนส์ระดับ Premium ยืนอยู่ในตลาดโดยที่ไม่เกรงกลัวยีนส์ดังชื่อต่างๆจากนานาประเทศ ยิ่งในเวลานี้ยุคที่แต่ละแบรนด์ต่างก็กำลังทำไลน์ผลิตแบบเกรดสูงออกมาแข่งกันมากมาย และด้วยโอกาสอันดีที่พวกเขาเพิ่งเปิดร้านใหม่ไป เราจึงขอเข้าไปทำคอลัมน์ Dooddot Visit พูดคุยกับคุณก้อ (ธัชวีร์ สนธิระติ) มาดูกันว่าหัวใจที่อยู่เบื้องหลังแบรนด์ฝีมือคนไทยแบรนด์นี้ มีแรงบันดาลใจและแรงผลักดันอะไรที่ทำให้พวกเขาเติบโตขึ้นมาได้อย่างในปัจจุบัน…
Concept ของร้านใหม่นี้เป็นยังไงครับ?
ครับ ร้าน indigoskin ร้านใหม่นี้ (สยามสแควร์ซอย 1) เราเปิดมาได้ 1 เดือนแล้วครับ สำหรับ Concept ของร้าน ผมอยากจับเอาองค์ประกอบหลักๆที่มันมีความข้องเกี่ยวกับกางเกงยีนส์ตั้งแต่แรกเริ่มมาผสมกัน กางเกงยีนส์มันเริ่มมาจากคนงานใส่ทำเหมือง ช่างไม้ วัสดุที่เลือกใช้หลักๆจึงเป็น ปูน อิฐ เหล็ก ไม้ ครับผม อย่างราวเหล็กที่มีสนิมต่างๆนาๆ ผนังด้านหนึ่งที่เป็นไม้ นอกจากนั้นผมอยากตกแต่งให้มันมีความเป็นไทยผสมผสานอยู่ด้วย ก็ใส่ไว้ในดีเทลต่างๆอย่างที่กำแพงฝั่งที่เป็นฐ เราใช้อิฐแบบสั่งพิเศษมาจากที่อยุธยา เรียกว่า “อิฐโบราณ” เป็นอิฐที่ปกติเอาไว้ใช้บูรณะวัดเก่า ก้อนมันจะใหญ่กว่าปกติ หรือที่เห็นหน้าร้านกี่ทอผ้า เป็นกี่ไทยที่ใช้ทอผ้าจากสกลนครครับ และก็จะมีเกวียน เกวียนไถนานี่แหละครับที่ผมสะสมเอาไว้เอามาดัดแปลงประดับร้าน ถ้าสังเกตหลังเคาเตอร์เรามีผ้า Patchwork เอาผ้าทอของไทยหลายๆแบบ มาติดปะต่อๆกัน ให้มันได้อารมณ์แบบผ้าโบโร่ อะไรแบบนั้นครับ
จุดเริ่มต้นของ Indigoskin?
จุดเริ่มต้นของการทำแบรนด์กางเกงยีนส์ก็น่าจะเริ่มต้นที่ปลายๆปี 2008 ครับ ปกติผมเป็นชอบเล่นเว็ปบอร์ดใน Soul4Street อยู่แล้ว เป็นที่ที่เราคุยกันเรื่องแฟชั่น Street Wear ,Sneaker ส่วนกางเกงยีนส์ยุคนั้นที่เป็นที่พูดถึงกันคือ “Nudie jeans” แล้วก็มีกางเกงยีนส์ญี่ปุ่นบ้างอย่างเช่น “Momotaro jeans” “Samurai jeans” เราเองเป็นนักสะสม ก็ชอบซื้อกางเกงยีนส์พวกนี้เก็บ พอสัมผัสกับกางเกงยีนส์ที่ราคาสูงเราก็เริ่มอยากรู้ว่า “ทำไมมันถึงแพง?” ทำไมเราถึงต้องควักเงินแปดเก้าพันบาทเพื่อซื้อกางเกงยีนส์ตัวนึง ก็เริ่มศึกษาครับ แล้วตอนนั้นพอเรียนจบ มีโอกาสได้ไปอยู่ต่างประเทศ มีเรื่องเล่านึงคือ ตอนไปพิพิธภัณฑ์ Louvre ที่ Paris ฝรั่งเศส ผมใส่เสื้อลายกนกไทยของบ้านเราไป ปรากฏว่าวันนั้นเนี่ยะฝรั่งเดินมาถามตลอดเวลาว่า “เสื้อคุณสวยมากซื้อที่ไหน” “อยากได้บ้าง” “ขอซื้อต่อได้ไหม” ทำให้ฉุกคิดได้ว่าลายไทยมันก็มีเสน่ห์เหมือนกันนะ บวกกับที่ตัวผมเองเป็นคนชอบศิลปะ ชอบวาดลายไทยมากมาตั้งแต่มัธยม ก็เลยเกิดความคิดว่าอยากทำแบรนด์กางเกงยีนส์ที่เอาศิลปะไทยมาเป็นส่วนประกอบเป็นของตัวเอง ทีนี้พอเราเริ่มมีไอเดียในหัว ก็ลองถามๆเก็บไอเดียจากเพื่อนๆเก็บคำแนะนำต่างๆมา จนในที่สุดต้นปี 2009 ผมก็เริ่มทำแบรนด์ “Indigoskin” ขึ้นมา ตั้งใจให้เป็นยีนส์ที่จะใช้ผ้า Premium ของญี่ปุ่น นำมาผสมผสานกับผ้าไทย โดยเฉพาะใช้เอกลักษณ์ศิลปะลายไทย แอบเป็นดีเทลซุกซ่อนอยู่ในตัวกางเกง ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีแบรนด์ไหนทำกางเกงยีนส์แล้วนำศิลปะไทยมาผสม แล้วในยุคนั้นผมเชื่อว่าเราน่าจะเป็นเจ้าแรกที่กระโดดขึ้นมาเล่นตลาด Premium ในวงการยีนส์ไทย
ช่วยเล่าถึงวิธีเลือกวัตถุดิบของ Indigoskin ?
ตั้งแต่จุดเริ่มต้น ผมเป็นแค่ Nobody ครับ ผมเป็นแค่คนอยากทำกางเกงยีนส์ดีๆแต่ไม่มีใครรู้จักผมเลย ผมบอกเลยยุคเริ่มต้นเนี่ย 80% ของข้อมูลผม มาจากการ Search อ่านใน Google เอาอย่างเดียว ว่าผ้ายีนส์ยี่ห้อนี้ ยี่ห้อต่างๆที่เราชอบ เค้าใช้ผ้าอะไร ทำมาจากที่ไหน ก็เริ่มพอทราบว่าแบรนด์ดังๆจากยุโรปส่วนใหญ่เค้าก็ใช้ผ้ายีนส์ญี่ปุ่นกันหมด เป็นผ้าจาก “Kaihara” (บริษัทยีนส์ที่มีชื่อเสียงในญี่ปุ่น) ช่วงนั้นเราก็เลยอาศัยว่าตีมึนส่งอีเมลไปหา Kaihara ว่าผมมีไอเดียอยากจะทำแบรนด์ยีนส์ของตัวเอง และต้องการอยากใช้ผ้าของคุณ ช่วงแรกๆ เค้าก็ไม่สนใจหรอกครับ ผมส่งไปกี่ทีเค้าก็เงียบ แต่รู้อย่างเดียวว่าตอนนั้นเราตั้งใจ เราอยากทำจริงๆ เราไม่ได้เล่นๆ ถ้าเกิดคุณตอบมา No ผมก็จะได้รู้ว่า No แต่การไม่ตอบนี่ เราไม่รู้เลยว่าเค้า No หรือ Yes สุดท้ายเค้าก็ส่งข้อมูลกลับมาว่า Ok ได้ เราพอจะมีผ้าสำหรับคุณ มาช่วงหลังๆพอแบรนด์เราเริ่มโตขึ้น เริ่มมีการสั่งผ้ามากขึ้น เราก็เริ่มมีความคิดที่อยากมีผ้าใช้เฉพาะของแบรนด์ตัวเอง พอเริ่มมาสนใจผ้าของโรงงานใน Okayama เมืองที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองทอผ้ายีนส์ที่ดีที่สุดในโลก ก็เหมือนเดิมเลยครับ ติดต่อไป เงียบ จนคราวนี้ผมต้องแสดงความตั้งใจของผม ด้วยการซื้อตั๋วบินไปหาออฟฟิศเค้าเองเลยที่โตเกียว สั่งซื้อผ้าที่นั่นเลยม้วนแรกสิบเมตร แล้วก็แบกกลับมาขึ้นตัวอย่างที่เมืองไทย กับคนญี่ปุ่นเราต้องแสดงให้เค้าเห็นถึงความตั้งใจของเรา หลังจากนั้นก็สั่งซื้อผ้าเค้ามาเรื่อยๆ จนถึงตอนนี้ที่โรงงานก็มีส่วนที่ทอผ้าแบบ Exclusive เฉพาะให้กับแบรนด์ Indigoskin แล้วครับ
นอกจากผ้ายีนส์แล้วก็มาเป็นผ้าไทย ผมสืบมาว่าผ้าพิมพ์ลายกนกที่หลายคนค่อนข้างไว้ใจก็คือผ้าจากห้องผ้า ”โขมพัสตร์” (หัวหิน) ผ้าของโขมพัสตร์จะเอาไว้ใช้ตัดฉลองพระองค์ ใช้ตัดชุดประจำชาติเวลาประกวด Miss Thailand Universe อยู่เสมอๆ ก็บอกเขาไปว่าผมมีความคิดว่าอยากจะทำแบรนด์ยีนส์ของตัวเองโดยคิดว่าจะมีผ้าไทย ทางโขมพัสตร์เค้าก็ตกใจ เพราะปกติลูกค้าของเขาคือซื้อไปทำชุดอาจารย์ ไปทำหมอน ไปทำผ้าม่าน ทำเบาะอะไรอย่างนี้ ไม่เคยมีใครคิดว่าจะเอาไปทำเสื้อผ้าแฟชั่น และประเด็นสำคัญคือผมอยากได้ลายที่มันเป็นเอกลักษณ์ ที่มันเป็นของทาง Indigoskin เอง อย่างเช่นเรื่องของการ Mix สี ลายไทยบางลายอยากให้ลดความเยอะลง เพื่อให้มันมีความรว่มสมัยมากขึ้น ก็ต้องดูหลายๆที่เลยครับ ถ้าเอาตอนนี้ก็มีใช้ผ้าทอมือจากสกลนคร มีจากทางเชียงใหม่บ้าง ยังคงพยายามสรรหาผ้าไทยมาผสมผสานกันใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาครับ
ปรัชญาในการออกแบบของ Indigoskin ?
จริงๆแล้วเรื่องนี้ผมคิดง่ายๆเลยครับ เนื่องจากผมไม่ได้เรียน Textile มา ผมไม่ได้จบแฟชั่นดีไซน์มา ผมคิดแบบเบสิคพื้นฐานเลยคือผมเอาตัวเองไปเป็น Consumer ถ้าผมเป็นคนซื้อ ผมอยากได้พฤติกรรมอะไรจากยีนส์ของผม และการเลือกผ้ามันจะตามมาเองจากลักษณะของผ้าที่ผมต้องการ สมมุติอย่างเช่นผมชอบกางเกงยีนส์ที่ใส่สบายแต่ทน แล้วต้องเฟดออกมาสวยด้วย ผมจะศึกษาว่าเนื้อผ้าแบบไหนที่มันเป็นแบบนั้น ถ้าสิ่งที่อยากได้มันอยู่ในเนื้อผ้าคนละอย่างกัน เราก็ต้องคุยกับโรงงานว่า เราจะผสมยังไงให้มันออกมาแบบที่เราต้องการให้ได้ จะทำยังไงให้มันออกมาลงตัว หรืออย่างเช่นการไปหาผ้าไทย คุณสมบัติของผ้าทอมืออาจจะมีข้อเสียคือความคงทน แต่มีสเน่ห์ในความที่มันไม่เสมอภาคและมีเอกลักษณ์ในแต่ละผืนไม่เหมือนกัน เราก็ต้องมานั่งคิดว่าเราจะทำยังไงให้มันแข็งแรงและยังมีคาแรคเตอร์หลงเหลืออยู่ด้วย บางครั้งมันก็ต้องลองใช้นวัตกรรมใหม่ที่พัฒนาทันสมัยแล้ว เข้ามาช่วยกันกับวิถีเก่าครับ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์แบบที่เราต้องการ
เสน่ห์ของยีนส์อยู่ที่ตรงไหน ?
ผมว่าผ้ายีนส์มันใส่ได้ทุกโอกาส มันสามารถเอาไป Mix ผสมผสานไปกับเสื้อผ้าอื่นได้ ไม่ว่าคุณจะใส่ไปกินข้าว ใส่ไปเที่ยว ใส่ไปเรียน ใส่ไปทำงาน คือมันแทบจะไปกับคุณได้ทุกที่เลยอะครับ เป็นเสื้อผ้าที่มหัศจรรย์มากสำหรับผม อืม… แล้วการย้อม Indigo เนี่ย มันมีวัตถุดิบไม่กี่อย่างในโลกนี้หรอกครับ ที่ยิ่งเก่าแล้วยิ่งสวยตามกาลเวลา เสื้อยืดคุณใส่เวลาเก่ามันอาจจะขาด เป็นรู แล้วก็ทิ้งไป เสื้อเชิ้ตพอเก่าๆ ผ้ามันหมองคุณก็ซื้อใหม่ แต่กางเกงยีนส์เนี่ย สียิ่งหลุดออก ยิ่งมีรอยยับ รอย Fade ที่มันขึ้นตามกางเกงยีนส์ มันแสดงถึงบุคลิกของคนใส่ มันยิ่งมีคุณค่า อีกทั้งยีนส์หลายๆแบรนด์ที่ผมสะสม เค้าก็จะมีลูกเล่นซ่อนอยู่ไม่เหมือนกัน เช่นกระดุม การเย็บ ตะเข็บ พวกดีเทลต่างๆนี่แหละครับ ที่ทำให้ผมหลงเสน่ห์มันเป็นอย่างมาก ผมว่ามันคือเหตุผลหลักเลยที่ทำให้ผมชื่นชอบกางเกงยีนส์
ยีนส์ที่ชอบเป็นแบบไหน?
อันดับแรกเลยก็คือ ต้องเป็นยีนส์ที่ผมคิดว่าผมใส่แล้วแฮปปี้กับมัน ตัวผมเองเวลาผมซื้อยีนส์ First impression แรกคือหน้าตามันต้องถูกใจเรา เนื้อผ้ามันต้องเหมาะกับการใช้งานของเรา พอดู Detail ดูเนื้อผ้าแล้ว โอเคถูกใจ สิ่งที่ตามมา และสำคัญมากๆคือเราต้องลองใส่ ใส่แล้วต้องออกมาสวย บางคนมองว่ากางเกงยีนส์ตัวนั้นสวย แต่ไม่ได้หมายความว่าเราลองใส่แล้วจะสวย บางยีนส์อาจจะไม่เหมาะกับเรา ถ้าผ่านหมด ในส่วนของราคา ผมคิดว่าถ้ามันเป็นกางเกงยีนส์ที่เราชอบแล้ว ผมก็ยินดีที่จะซื้อมาใส่ครับ เพราะฉะนั้นหลักๆเลย ก็คือ “หน้าตา” “เนื้อผ้า” “รูปทรง”
คำว่า “ยีนส์ของคนไทย” ความยากอยู่ที่อะไรครับ?
จุดเริ่มต้นเลย คำว่า “ยีนส์ของคนไทย” คนไทยยังมีความคิดว่า ของแบรนด์ไทยราคาไม่น่าแพงขนาดนี้ แต่บางทีเค้าอาจจะไม่ได้คิดว่าวัตถุดิบที่เราเลือกใช้ ความยากลำบากก่อนจะออกมาเป็นกางเกงยีนส์ ขั้นตอนที่เราคิดค้น กว่าเราจะได้ผ้าแบบนี้มา กว่าที่เราจะศึกษา ทุกปีที่ผมบินไปหาผ้าที่ญี่ปุ่น ทุกครั้งที่ออกไปต่างจังหวัดเพื่อพยายามออกแบบผ้าลายใหม่ๆ จริงอยู่ที่เหตุผลเหล่านี้มันทำให้ยีนส์ของเราราคาค่อนข้างสูง แต่มันเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราตั้งใจทำและอยากให้ลูกค้าได้สัมผัส โดยเฉพาะในฐานะแบรนด์ของคนไทย อันนี้ไม่ใช่แบรนด์ผมแบรนด์เดียวนะครับ ผมเชื่อว่าแบรนด์ไทยหลายๆแบรนด์ก็มีความตั้งใจในการทำสิ่งๆนี้เหมือนๆกัน แต่เรายังขาดการยอมรับจากลูกค้า นี่คืออุปสรรคของหลายๆแบรนด์ในเมืองไทยเลยครับ บางครั้งผมอิจฉาประเทศญี่ปุ่นนะ ทำไมญี่ปุ่นเค้าสามารถทำงานคุณภาพและคนญี่ปุ่นเค้าก็สนับสนุนสินค้าของประเทศของตัวเองได้ เค้ารู้จักเพิ่มคุณค่าให้กับงานประเทศเค้า จริงๆถ้าพูดกันตรงๆผมว่าคนไทยเนี่ยฝีมือไม่แพ้ญี่ปุ่นหรอกครับ แต่เรื่องนี้ผมเข้าใจดีและคิดว่ามันก็คงต้องใช้เวลาก่อตัวพอสมควรครับ โชคดีที่ผ่านมาช่วงหลังๆนี้ คนก็เริ่มเชื่อมั่นในสิ่งที่แบรนด์ไทยทำกันมากขึ้นเยอะแล้วล่ะครับ
ตลาดของ Indogoskin เป็นอย่างไรบ้าง?
สมัยเริ่มต้นใหม่ๆก็ค่อนข้างโดนกังขาจากหลายคนครับ เพราะการที่เราเป็นแบรนด์ยีนส์ไทยแบรนด์นึงที่ไม่มีใครรู้จักเลย แต่อยู่ดีๆคุณมาทำกางเกงยีนส์ราคา 5,000 – 6,000 บาท คนก็บอกว่า “อ้าวราคานี้ผมซื้อแบรนด์นอกไม่ดีกว่าเหรอ?” พอได้ลองอธิบายให้เค้าเข้าใจ แล้วเค้าได้ลองสัมผัสงานของเรา ก็เริ่มมีการบอกกันแบบปากต่อปาก ก็ค่อยๆเป็นค่อยๆไปครับ ถึงปัจจุบันนี้เรามีเมมเบอร์ที่ซื้อกันประจำของ Indigoskin น่าจะเกิน 1,000 คนแล้วครับ ลูกค้าเก่าที่เคยซื้อเค้าก็จะค่อนข้างไว้ใจคุณภาพงานของแบรนด์เรา ทุกรุ่นของแบรนด์ที่ทำมาขาย ตอนนี้ก็ค่อนข้างจะ Sold Out หมด ถ้าย้อนกลับไปมองตั้งแต่วันแรก ผมมองว่า Indigoskin เติบโตขึ้นมากนะครับ ผมจำได้ว่าปีแรกผมยังทำกางเกงอยู่แค่ 100 กว่าตัวอยู่เลย ต่างกับเมื่อปีที่แล้วเราผลิตกางเกงยีนส์ขายไปกว่า 5,000 ตัว ที่เห็นในร้านเล็กๆที่ Terminal 21 นั่นล่ะครับ กับร้านใหม่ปีนี้ผมเลยวางแผนไว้ว่าจะทำยอดขายให้ได้ครบเป้าที่สูงยิ่งขึ้นไปอีก ก็รู้สึกว่ามันมหัศจรรย์มากๆ จากที่เราเป็นแค่คนธรรมดาชอบสะสมกางเกงยีนส์ เริ่มทำแบรนด์เล็กๆแล้วก็ค่อยๆพัฒนาเติบโต จนมีร้านเล็กๆของตัวเอง แล้วก็ขยับขยายมีร้านที่กรุงเทพบ้าง ที่เชียงใหม่บ้าง ในอนาคตถ้าถึงจุดที่ผมคิดว่าแบรนด์ผมพร้อมมากพอ ก็อยากจะบุกตลาดโลก ไปแสดงให้โลกเห็นว่าเมืองไทยก็มีแบรนด์ยีนส์ที่มีคุณภาพ ผมมั่นใจว่ายีนส์เราก็สู้ระดับโลกได้เหมือนก้นครับ
มีลูกค้าต่างชาติเข้ามาเยอะไหมครับ?
เมื่อวานพึ่งจะมีนักท่องเที่ยวจากเนเธอร์แลนด์มาครับ เค้าบอกว่าเค้าเคยเห็นยีนส์ Indigoskin จากในเวปไซต์เวปหนึ่งในยุโรป แล้วเค้ามาเที่ยวที่ไทยพอดี ก็เลยแวะมาลองกางเกงยีนส์ที่ร้านเรา พอก่อนจะบินกลับก็มาซื้อกลับไป ลูกค้าต่างชาติก็มีอเมริกา อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส ท่ีสั่งกางเกงกับเราครับ ประเทศใกล้ๆเราก็มีอย่าง อินโดนีเซีย สิงคโปร์ก็มีบ้าง แต่ที่เยอะที่สุดคือ อเมริกากับอังกฤษ ครับ ยิ่งล่าสุดนี้ผมเพิ่งมีผลงาน Collaboration กับแบรนด์ Momotaro Jeans ที่เป็นแบรนด์ยีนส์ของญี่ปุ่นไป ก็ทำให้แบรนด์เราได้รับความสนใจจากชาวต่างชาติมากขึ้นครับ
อยากให้ช่วยเล่าถึง Indigoskin X Momotaro Jeans หน่อยครับ?
ครับ ด้วยความที่โรงงานใน Okayama ที่ผมเล่าไปข้างต้นเป็นเครือเจ้าของเดียวกันกับแบรนด์ Momotaro Jeans เราจึงเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันอยู่แล้ว ปกติทุกๆปีผมก็จะมีบินไปเพื่อไปหาผ้า ครีเอทไอเดียใหม่ๆ ครบปีที่ 4 ผมมีโอกาสได้นั่งกินข้าวกับเขา ก็คิดกันว่า เราน่าจะมาทำโปรเจคต์ด้วยกันมั้ย ระหว่าง Indigoskin กับ Momotaro ตอนแรกก็กลัวๆเหมือนกันครับ เพราะเรายังเป็นแบรนด์เล็กๆจากไทย ส่วนเค้าเป็นแบรนด์ยีนส์ญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลกแล้ว แต่เค้าก็ตอบรับ โดยที่ทั้งนี้ทั้งนั้นผมต้องขอบคุณร้านยีนส์ “Take 5” ที่โรงหนัง Lido ด้วย โดยเฉพาะคุณ “เบนนี่ เซกิ” เจ้าของร้านเค้าให้ความร่วมมือประสานงานทุกอย่าง เพราะว่า Take 5 นี่เค้าเป็นตัวแทนจำหน่าย Momotaro ในเมืองไทย ตามมารยาท เวลาจะทำโปรเจคต์ เราก็ควรขออนุญาติเค้าก่อน ก็ทำให้โปรเจคต์แรกนี้เกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้ว ประมาณช่วงเดือนมีนาเราทำออกมาทั้งหมด 80 ตัว เปิดพรีออเดอร์ 50 ตัว (“Indigoskin” 25 ตัว “Take 5” 25 ตัว) ผลคือ Sold out ภายในเวลาสองชั่วโมง อีกสามสิบตัวก็นำมาวางขายหน้าร้าน Indigoskin ก็ขายหมดในเวลาวันสองวัน ถือเป็นครั้งแรกเลยในวงการยีนส์เมืองไทยที่มีลูกค้ามานอนแคมป์หน้าห้างข้ามคืน เพื่อรอซื้อกางเกงยีนส์ที่ Terminal 21 ก็เลยมีภาพไปให้ทางญี่ปุ่นดู มาปีนี้ Momotaro เค้าก็นึกสนุกชวนผมทำอีกและทาง Take 5 เองก็ไฟเขียว ก็เกิดโปรเจคต์ครั้งที่สองที่เพิ่งมีไปนี้ล่ะครับ
Collaboration กับ Momotaro Jeans ครั้งนี้แตกต่างกับครั้งแรกอย่างไร?
โอ… แตกต่างกันพอสมควรครับ ตั้งแต่รอบแรก… เพราะมันเป็นโปรเจคต์พิเศษ ผมอยากจะทำกางเกงที่มันออกมาแล้วเป็นยีนส์แบบที่ทั้งสองแบรนด์ Indigoskin และ Momotaro เองไม่เคยทำทั้งคู่ ตอนนั้นก็เลยขอใช้ผ้าตัวใหม่ที่เขาไม่เคยใช้มาก่อน เป็นผ้า 16.7 ออนซ์ (ปกติของ Momotaro จะเป็น 15.7 ออนซ์) ผ้าก็จะหนาขึ้น ปีที่แล้วผมใช้ผ้าพิมพ์ลายกนกของไทยเป็นผ้าใช้ทำกระเป๋าด้านใน แล้วก็มีผสมดีเทล อย่างการเย็บขอบเอวข้างหลังทำเป็นแบบ Indigoskin ส่วนการเย็บขาในเป็นสไตล์แบบ Momotaro แต่จุดที่ผมพลาดไม่ได้เลยคือ ป้ายหนัง ผมเปลี่ยนป้ายหนังเป็นดีไซน์ใหม่ ปกติป้ายของ Momotaro เค้าจะมีคำว่า “โคจิมะ” เป็นภาษาญี่ปุ่น ผมบอกว่าผมอยากมีภาษาไทยในกางเกงรุ่นนี้ด้วย ผมเลยใส่คำว่า “สยาม” และ “โคจิมะ” เป็นภาษาไทยลงไป เป็นจุดที่ให้ความรู้สึกภูมิใจมากว่า เห้ย ยีนส์ระดับโลกก็มีภาษาไทยรวมอยู่ด้วยเหมือนกันนะ
พอมาเป็นตัวที่สองนี้ก็อยากทำให้มันดีขึ้นไปเป็นระดับนึงอีก ทาง Momotaro เค้าเสนอมาว่าเค้ามีผ้าตัวใหม่ที่เตรียมใช้ต้นปีหน้า และจะเอามาใช้กับโปรเจคต์นี้ก่อนเลย เป็นผ้าหนา 18 ออนซ์ที่ย้อมออกมาให้เข้มมาก ส่วนผ้าในกระเป๋าเราตกลงกันว่า ในเมื่อปีที่แล้วใช้ผ้าไทย Indigoskin ปีนี้ใช้ของเค้าบ้างได้มั้ย เค้าก็เปิดห้องผ้าเค้าให้ผมเป็นคนเลือกเลย กระดุมผมเลือกเป็น Multi-Buttons คือกระดุมแต่ละเม็ดจะหน้าตาไม่เหมือนกัน ส่วนจุดหลักๆเลยคือ ปกติกางเกง Momotaro จะใช้สีสกรีนด้านหลัง ผมอยากได้อะไรที่มันเป็นผ้ามาเย็บ เลยเอาผ้าไปพิมพ์ลายก่อนแล้วก็เย็บกระเป๋าหลังเพิ่ม ให้มันมีความเป็น Layer ขึ้นมา ก็ช่วยๆกันออกไอเดียจนเกิดมาเป็น Indigoskin Momotaro ล็อต 2 นี่ล่ะครับ
Movement ต่อไปของ Indigoskin?
ผมอยากจะสร้างความหลากหลายของตัวงานให้มากขึ้นครับ อย่างเช่นการทำกางเกงยีนส์ก็จะพยายามทำยีนส์ที่มีความแปลกแหวกแนวไปจากยีนส์ธรรมดามากขึ้น พยายามออก Accessories อย่างเช่นกระเป๋า และมีทำเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้น น่าจะเริ่มมีการ Collab กับแบรนด์ที่หลากหลาย อาจจะไม่ใช่แค่กับแบรนด์ยีนส์อย่างเดียวแล้ว อาจจะเป็นแบรนด์กระเป๋า แบรนด์รองเท้า (ที่ปลายปีที่แล้วเราเพิ่งเห็น Indigoskin X Converse Jack Purcell ออกมา) ผมมองว่า Collaboration เนี่ย มันสนุกตรงที่มันเป็นการผสมผสานไอเดียของสองแบรนด์ ท่ีมันอาจจะคล้ายกันหรืออาจจะอยู่กันคนละฟากเลย แต่จะทำไงให้เรามาเจอกันตรงกลางคนละครึ่งทางได้ ยิ่งไปกว่านั้นมันเป็นการศึกษาเพื่อนที่มา Collab ด้วย เพราะฉะนั้นส่วนตัวผมค่อนข้างชอบทำงาน Collab นะ และเป้าหมายหลักก็คิดว่าภายในสองปีนี้อยากจะเปิดตลาดเมืองนอกให้มากขึ้น อยากจะเผยแพร่แบรนด์ Indigoskin ในตลาดโลกมากขึ้นครับ
สุดท้ายนี้อยากให้แนะนำ Indigoskin สำหรับคนที่ยังไม่รู้จักมาก่อน
Indigoskin คือแบรนด์ที่เริ่มต้นมาจาก คนที่มีความรักในกางเกงยีนส์มากมากคนนึงเลยล่ะครับ เราอยากจะนำเสนอทางเลือกใหม่ๆกับกางเกงยีนส์ระดับ Premium ที่เป็นฝีมือคนไทย ตามคอนเซปต์ของแบรนด์คือ Quality Of Siam ในที่นี้อาจจะไม่ได้แปลว่าทุกสิ่งทุกอย่างต้องผลิตในสยาม แต่เป็น Quality ที่เกิดมาจากความคิดความตั้งใจของคนไทยที่อยากจะพาแบรนด์ไทยออกไปสู่ระดับนานาประเทศ ให้ทุกคนได้รู้ว่าคนไทยทำอะไรก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก ครับผม… นี่คือ Indigoskin นี่คือจิตวิญญาณของ Indigoskin เราต้องการทำผลงานที่มีคุณภาพดีที่สุดเท่าที่เราสามารถจะทำได้ โดยไม่ลืมเสน่ห์และเอกลักษณ์ของไทยรวมไว้ด้วยครับ
(อ่านคอลัมน์ Dooddot Visit ตอนอื่นๆได้ที่ https://www.dooddot.com/category/interview/)
Indigoskin
Bangkok: Chiangmai:
Siam Square Soi 1, Rama 1 Rd, Kantary Terrace,Nimmand Soi 12
Pathumwan Bangkok Mobile: +66 (0) 80-153-0321
Thailand 10330
Mobile: +66 (0) 95-836-0001
BTS: Siam Square Station
Website: http://www.indigoskinjeans.com/
Facebook: https://www.facebook.com/indigoskinjeans
Photographer: Pakkawat Tanghom
RECOMMENDED CONTENT
Tokyo Marathon ปีนี้วิ่งยากที่สุด เพราะความหนาวและเปียกจากฝนที่ตกตลอด มาต่อกันกับตอนที่ 4 INSIDER JOURNY EP4 : วิ่งในงาน Tokyo Marathon กับภาระกิจ "ช่วย นิ้วกลม"