เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2015 ที่ผ่านมา ทางดู๊ดดอทได้มีโอกาสนั่งพูดคุยกับ จอร์จ ไรช์ (George Reisch) ผู้ผลิตเบียร์ Brewmaster และทำธุรกิจเบียร์รุ่นที่ 5 ของบริษัท Anheuser-Busch โดยเขาได้บินตรงมาจากสหัรัฐอเมริกา เพื่อมาร่วมพูดคุยและให้ความรู้เกี่ยวกับประวัติการดื่มเบียร์ที่มีมาอย่างยาวนาน ที่งาน Art Tasting Gallery งานดินเนอร์สุดพิเศษ ที่ได้จัดขึ้นเพื่อเปิดประสบการณ์รูปแบบใหม่กับการจับคู่อาหารกับเบียร์ (Beer and Food Pairing)
เนื่องด้วยครอบครัวของ จอร์จ ไรช์ ซึ่งก็คือ Reisch Brewing Co. ในสปริงฟิลด์ รัฐอิลลินอยด์ ได้มีการทำธุรกิจการผลิตเบียร์มาอย่างยาวนานถึง 117 ปี ตั้งแต่ปี ค.ศ.1849 จนถึงปีค.ศ.1966 ไรช์จึงตกหลุมรักศิลปะการกลั่นเบียร์มาตั้งแต่วัยเด็ก และด้วยความกระหายใคร่รู้ในความเป็นช่างกลั่นอย่างแรงกล้า ไรช์ จึงได้เข้าเรียนในมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน (University of Wisconsin) จนได้รับปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์สาขาเคมีอาหารขณะที่ทำงานเป็นช่างกลั่นที่บริษัท Joseph Schlitz Brewing Co. และเป็นผู้ช่วยการวิจัยที่บริษัท Miller Brewing Co. ในช่วงฤดูร้อน ก่อนที่ต่อมาเขาจะมาดำรงตำแหน่งเป็น Director of Brewmaster Outreach ของบริษัท Anheuser-Busch ในปัจจุบัน
ด้วยความหลงไหลในเรื่องของเบียร์ที่มีอยู่เต็มเปี่ยมในสายเลือดขนาดนี้ คงจะไม่มีใครเพอร์เฟคต์เท่ากับจอร์จ ไรช์ ในการมาให้ความรู้เกี่ยวกับศิลปะการดื่มเบียร์คู่กับอาหาร รวมถึงเกร็ดน่ารู้เกี่ยวกับอาชีพของการเป็น Brewmaster อีกแล้ว บอกเลยว่าบทสัมภาษณ์ของเขาดังต่อไปนี้ คนรักเบียร์ทุกคนควรอ่านเป็นอย่างยิ่ง
หน้าที่ของการเป็น Brewmaster ต้องทำอะไรบ้าง?
การจะเป็น Brewmaster หรือผู้ผลิตเบียร์ คุณมีหลายหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบครับ คุณต้องมีความรู้ทางด้านเคมี คณิตศาสตร์ ชีวเคมี ไปจนถึงจุลชีววิทยา รวมถึงต้องมีลิ้นรับรสชาติที่ดี เพราะคุณจะต้องคอยชิมเบียร์หลากหลายชนิดมากๆในขั้นตอนต่างๆของการผลิตเบียร์ นอกจากนี้คุณต้องมีความเป็นผู้นำ และความเป็นครูอยู่ในตัว คอยสอน คอยปลูกฝัง passion ให้กับลูกทีมทุกคน เพื่อให้พวกเขาตั้งใจทำงาน และมีความรับผิดชอบในทุกๆขั้นตอนแม้ตอนที่คุณไม่ได้อยู่คุมหน้างาน แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผมก็คือ การจะเป็น Brewmaster ที่ดีนั้นคุณต้องมีใจรัก มี passion และการเอาใจใส่กับงานที่คุณทำ เพราะขั้นตอนการผลิตเบียร์มันค่อนข้างละเอียดอ่อน และมีรายละเอียดปลีกย่อยเยอะแยะ เพราะฉะนั้นคุณต้องแคร์กับสิ่งที่คุณทำจริงๆ
คุณเริ่มทำอาชีพเป็น Brewmaster ได้อย่างไร?
สำหรับผมง่ายกว่าคนอื่นตรงที่ครอบครัวทำธุรกิจการผลิตเบียร์มากว่า 117 ปี ที่สปริงฟิลด์ รัฐอิลลินอยส์ ผมเลยตกหลุมรักในศิลปะการกลั่นเบียร์มาตั้งแต่เด็กๆ แต่สำหรับคนที่อยากเข้ามาทำงานเป็นผู้ผลิตเบียร์ อย่างแรกเลยคือคุณต้องรักเบียร์จริงๆ รักแบบถึงขั้นหลงไหลเลย แค่ชื่นชอบดื่มเบียร์เวลาไปสังสรรค์อย่างนั้นยังไม่พอ คือเวลาที่คุณเห็นเบียร์แล้ว คุณต้องเกิดอาการตกหลุมรักมันเลย ซึ่งถ้าคุณมีความหลงไหลในเรื่องเบียร์ตั้งแต่แรก มันก็จะยิ่งทำให้คุณมีความสุข และมีความทุ่มเทให้กับการทำงาน เพราะทำงานสายนี้ บางครั้งคุณต้อง work hard อยู่ทำงานจนดึกเลยก็มี อีกทั้งยังต้องเรียนรู้ขั้นตอนทุกอย่างให้รวดเร็ว ซึ่งความกดดันต่างๆมันต้องมีตามมาแน่นอน แต่นอกจากนี้ อย่างที่บอกคือคุณควรมีแบ็คกราวน์ทางด้านวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ที่ดี ซึ่งผมก็รับสมัครพวกวิศวกร และนักวิทยาศาสตร์มาทำงานในโรงเบียร์ด้วยเหมือนกัน อีกข้อสำคัญในการจะมาเป็น Brewmaster ก็คือ คุณต้องมีลักษณะของการเป็น team player ที่ดีด้วย ต้องทำงานเป็นทีมเป็น ช่วยเหลือกันและกันให้งานออกมาดีที่สุด ส่วนจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงนั้น สามารถเป็น Brewmaster ได้หมดครับ
สไตล์ของเบียร์ที่ชอบมากที่สุด ทั้งสำหรับการดื่ม และการผลิต?
หลายคนชอบถามผมว่าเบียร์ที่ผมชอบมากที่สุดคือเบียร์อะไร แต่ในฐานะคนผลิตเบียร์ ซึ่งไม่ใช่แค่กับผม แต่รวมถึงคนผลิตเบียร์ส่วนใหญ่ก็คือ เบียร์ที่พวกเราชอบมากที่สุด มักเป็นเบียร์ที่ผลิตยากที่สุด ก็เหมือนกับเวลาคุณไปถามนักวิ่งมืออาชีพ พวกเขาก็จะต้องตอบว่าชอบการแข่งที่ยากที่สุดเพราะว่ามันท้าทาย เวลาคุณศึกษาเกี่ยวกับการผลิตเบียร์ คุณจะพบว่าเบียร์นั้นมีหลากหลายประเภทมากๆ ทั้งแบบที่มีมอลต์ (malt) เป็นหลัก หรือฮอพ (hops) เป็นหลัก ขึ้นอยู่กับขั้นตอนการหมักเบียร์ ซึ่งเบียร์ที่ผลิตยากที่สุดนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นเบียร์ที่ได้จากการหมักด้วยยีสต์ (yeast) เพราะยีสต์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กมาก เวลาจะกะปริมาณของยีสต์จึงเป็นอะไรที่ยุ่งยากไม่ใช่น้อย ส่วนเบียร์ที่ผมชอบมากที่สุดคือเบียร์ “Belgian Wit” จากประเทศเบลเยียม ที่มีรสชาติอ่อนๆ ดื่มแล้วสดชื่น มีวัตถุดิบหลักคือยีสต์ ส่วนเบียร์ที่มีวิธีการผลิตที่ยากมากที่สุดเท่าที่ผมเคยสอนคนผลิตเบียร์ทั่วโลกมาก็คือเบียร์อเมริกัน “Budweiser” เบียร์แบรนด์นี้มีหลายขั้นตอนในการผลิตที่ซับซ้อนจนน่าปวดหัว ถ้ากะปริมาณของยีสต์ผิดไปนิดเดียว รสชาติที่ได้ก็จะไม่ใช่ Budweiser แล้ว แต่อย่างที่บอกนั่นละครับ ผมกลับชอบพวกเบียร์ที่มีขั้นตอนการผลิตยากๆ ผมว่ามันน่าท้าทายดี
ส่วนใหญ่แล้วการผลิตเบียร์ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่?
มันขึ้นอยู่กับประเภทของเบียร์ครับ อย่างลาเกอร์เบียร์ (Lager beer) จะมีขั้นตอนการหมักที่นานกว่าเอล (Ale) เกือบๆสิบเท่า ตัวยีสต์ในการหมักลาเกอร์เบียร์จะเป็นแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไป กว่าจะเสร็จกระบวนการทุกอย่างคุณต้องใจเย็นมากๆ อีกทั้งลาเกอร์เบียร์ยังต้องใช้เงินในการผลิตมากกว่าเอล เพราะลาเกอร์เบียร์ต้องใช้ถังในการหมักเยอะกว่า นอกจากนี้ก็ยังมีเบียร์จากประเทศเบลเยียมบางชนิดที่ใช้เวลาในการหมักเป็นปีเพื่อให้ได้รสชาติที่ใช่ แล้วก็ยังมีเบียร์อีกยี่ห้อที่ชื่อว่า “Gueuze” ที่ใช้เบียร์ที่ผ่านการหมักมาสามปีกับหนึ่งปีมาผสมกันออกสู่ตลาด เพราะฉะนั้นเบียร์แต่ละยี่ห้อ แต่ละชนิดก็จะมีเวลาในการผลิตที่ไม่เท่ากัน
ปัจจุบันคราฟท์เบียร์ (Craft beer) กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก มันส่งผลต่อธุรกิจคุณมาก น้อยอย่างไร?
คนส่วนใหญ่ชอบเรียกว่าคราฟท์เบียร์ แต่ในโลกของคนผลิตเบียร์อย่างผม คำว่า “คราฟท์” นั้นเป็นแค่คำกิริยา เหมือนเบียร์ที่ถูกคราฟท์มาอย่างดีอะไรแบบนั้น สำหรับเราคำนี้ไม่สามารถบอกรายละเอียดของเบียร์ได้ว่าจะมีรสชาติยังไง วันก่อนผมคุยกับลูกสาว เธอเพิ่งซื้อกระเป๋ามาในราคา USD 400 ผมถามเธอว่าทำไมต้องซื้อกระเป๋าที่แพงขนาดนี้ด้วย แล้วเธอก็ตอบผมว่า เพราะกระเป๋าใบนี้มัน “well-crafted” มากเลย ซึ่งจริงๆแล้วทุกสิ่งทุกอย่างที่เราใช้ เราก็อยากใช้ของที่ทำมาอย่างดีทั้งนั้น เพียงแต่ว่าในธุรกิจเบียร์ มันดันมีคำว่า “คราฟท์เบียร์” โดยเฉพาะขึ้นมา ฟังแล้วน่าตื่นเต้น เหมือนเป็นของใหม่ ซึ่งความเป็นคราฟท์เบียร์นั้นจริงๆแล้วก็คือเบียร์ที่ไม่ได้ผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ เป็นธุรกิจการผลิตเบียร์ที่มีขนาดเล็ก และอิสระ ซึ่งถ้าถามว่าผมแฮปปี้ไหมที่ธุรกิจเบียร์ขนาดเล็กกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ผมตอบเลยว่าแฮปปี้ เพราะพวกเขามีความตั้งใจ และ passion ที่สูงมาก ผมชื่นชมผู้ผลิตเบียรที่มีความตั้งใจสูงอยู่แล้ว ธุรกิจคุณจะเล็ก จะใหญ่ ไม่สำคัญ ขอแค่คุณมีใจรักในเรื่องเบียร์ และตั้งใจผลิตเบียร์คุณภาพออกสู่ตลาดแค่นั้นก็พอ
หลายคนน่าจะเคยได้ยินถึงการ pairing ไวน์กับอาหาร แต่อะไรคือความแตกต่างของการจับคู่เบียร์กับอาหาร?
ก่อนอื่นเลย เบียร์กับไวน์สำหรับผมเหมือนเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ผมไม่ได้จะดูหมิ่นไวน์นะ แต่เบียร์ รวมถึงแชมเปญจะได้เปรียบในเรื่องของฟอง เพราะแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวช่วยชูกลิ่นได้อย่างดีเยี่ยม ลองนึกภาพตอนที่คุณทานอาหารและจิบเบียร์ตามเข้าไป ฟองเบียร์จะช่วยดันกลิ่นของเบียร์กลับมาที่จมูก และช่วยขับรสชาติของอาหารให้อร่อยเข้มข้นยิ่งขึ้น ทำให้คุณสามารถเอ็นจอยกับอาหารที่ทานอยู่ได้มากกว่าเดิม บรรดาเชฟทำอาหารทั้งหลายก็รักเบียร์กันทั้งนั้น เพียงแต่ว่าต้นทุนในการผลิตไวน์มีราคาที่สูงกว่ามาก ร้านอาหารต่างๆเลยนิยมที่จะขายไวน์มากกว่า แต่สำหรับผม ยังไงเบียร์กับอาหารก็เป็นของคู่กัน เพราะเบียร์สามารถช่วยให้พวกเราเจริญอาหาร เอ็นจอยกับการกินได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยทำให้เรารู้สึกหิวมากกว่าเดิมได้ด้วย เพราะฉะนั้นคุณควรดื่มเบียร์ก่อนมื้ออาหารของคุณ ซึ่งในปี 2003 โรงเบียร์ Santori ของญี่ปุ่นก็ได้ทำการพิสูจน์สิ่งนี้มาแล้ว โดยพวกเขาค้นพบว่าเบียร์สามารถทำให้ร่างกายของคนเรารู้สึกหิวได้จริงๆ ซึ่งสารประกอบที่ไปช่วยกระตุ้นความรู้สึกนี้ก็มาจากเมล็ดธัญพืชในเบียร์นั่นเอง และนี่แหละคือสิ่งหนึ่งที่ทำให้เบียร์เป็นเครื่องดื่มที่มีเอกลักษณ์ เพราะใช่ว่าเครื่องดื่มที่ทำจากธัญพืชจะช่วยทำให้เรารู้สึกหิวได้เสมอไป อย่างวิสกี้ สก๊อต เบอร์เบิ้น ที่มีส่วนผสมของข้าวธัญพืชก็ไม่ได้ช่วยให้คุณรู้สึกหิวเหมือนเวลาดื่มเบียร์ เพราะส่วนประกอบของธัญพืชในเหล้าเหล่านี้มันถูกสกัดออกไปจนเกือบหมดแล้ว ดังนั้นในเมื่อคุณรู้แล้วว่าการดื่มเบียร์จะทำให้คุณหิว แล้วทำไมเบียร์ถึงไม่ควรถูกจับคู่กับอาหารล่ะ จริงไหม?
แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าควรจับคู่เบียร์กับอาหารอะไรดี?
มันก็เหมือนกับการเดท การจับคู่เบียร์กับอาหารนั้นก็เหมือนเวลาที่คุณจับคู่เพื่อนสนิทคุณกับคนอีกคน อาหารมีคุณลักษณะบางอย่างที่คุณสามารถอธิบายได้ เช่น หวาน เปรี้ยว ไหม้เกรียม ชุ่มฉ่ำ ดังนั้นถ้าคุณกำลังทำอาหารและอธิบายถึงส่วนผสมให้ผมฟัง ผมก็จะรู้ได้ว่าอาหารที่คุณกำลังทำอยู่นั้นควรทานคู่กับเบียร์อะไร แต่โดยทั่วไปเบียร์ที่มีรสชาติเบาๆจะไปได้ดีกับอาหารแทบทุกอย่าง โดยเฉพาะกับอาหารที่เน้นเครื่องเทศ มีกลิ่นหอมเยอะๆ อย่างอาหารไทย ผมว่าสามารถทานคู่กับเบียร์ได้หลากชนิดมากๆ ไม่ว่าจะกับ Stella Artois, Budweiser หรือ Hoegaarden แต่สำหรับ Leffe Brown ซึ่งเป็นเบียร์ที่มีสีเข้ม และโดดเด่นด้วยส่วนผสมของมอลต์ อาหารที่มาจับคู่ด้วยควรมีรสชาติจัดจ้านขึ้นมาหน่อย เพราะกฎของผมคือ เบียร์ที่จะมาคู่กับอาหารนั้นควรมีรสชาติตามหลังอาหารไม่เกินสามขั้น อย่างเช่นถ้าผมทานอาหารที่มีรสชาติจัดจ้าน เข้มข้น ผมจะไม่จับคู่กับเบียร์ Budweiser หรือ Hoegaarden เพราะรสชาติของเบียร์สองตัวนี้อ่อนเกินไป เช่นเดียวกับเบียร์ที่มีรสเข้ม ผมจะไม่นำมันมาคู่กับอาหารที่มีความเบา หรือรสอ่อนๆ เพราะรสของเบียร์มันจะมากลบรสของอาหารเสียหมด แต่อย่างไรก็ตาม ในโลกของ Beer Pairing อาหารมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่วนเบียร์เป็นอันดับสอง เบียร์ที่ดื่มควรเป็นตัวช่วยทำให้คุณรู้สึกเพลิดเพลิน และดื่มด่ำไปกับอาหารที่คุณกำลังทานมากยิ่งขึ้น ทุกอย่างควรเป็นรสชาติที่กลมกล่อมกำลังพอดี ซึ่งนั่นแหละคือการจับคู่เบียร์กับอาหารที่ยอดเยี่ยม
รสชาติ ความแตกต่างระหว่างเบียร์ Leffe, Hoegaarden และ Stella Artois เมื่อนำมาจับคู่กับอาหาร?
ผมขอเริ่มกับ Stella Artois ก่อนแล้วกัน Stella Artois เป็นลาเกอร์เบียร์ที่หมักด้วยยีสต์ มีกลิ่นหอมคล้ายๆใบมะเขือเทศ ส่วนรสชาติก็จะมีความละเอียดอ่อน ออกมอลต์ๆหน่อย ผมว่ามันไปได้ดีมากเมื่อนำมาจับคู่กับเนื้อสัตว์ มอสซาเรลล่าชีส และสลัด ส่วน Hoegaarden นั้นเป็นเบียร์ที่ทำจากข้าวสาลี ซึ่งดื่มแล้วจะสัมผัสได้ถึงความละเอียดอ่อน ความ smooth ของเบียร์ได้อย่างยอดเยี่ยมมากๆ อีกทั้งยังมีกลิ่นหอมของเปลือกซิตรัสและผักชี ดังนั้นผมจึงชอบจับคู่ Hoegaarden กับหอยแมลงภู่ ซึ่งในเบลเยียมเองเขาจะไม่ใช้น้ำในการนึ่งหอยแมลภู่ แต่กลับใช้เบียร์ Hoegaarden แทน ซึ่งน้ำซุปที่ได้นี่รสชาติเจ๋งอย่าบอกใคร หรือถ้าคุณอยากดื่ม Hoegaarden คู่กับปลา อย่างปลาแซลมอนก็ได้เช่นกัน เพราะรสของเปลือกซิตรัสในเบียร์จะไปได้ดีกับปลามากๆ ให้ความรู้สึกชุ่มฉ่ำเหมือนเวลาที่คุณบีบมะนาวลงบนเนื้อปลาอย่างนั้นเลย ส่วนถ้าพูดถึง Leffe เบียร์นี้ดื่มคู่กับอาหารอะไรก็อร่อย แต่ถ้าเป็น Leffe Blond ผมจะชอบดื่มคู่กับพวกซี่โครงหมูที่มีการคลุกกับเครื่องเทศต่างๆ เพราะยีสต์ในตัวเบียร์ Leffe นั้นจะยิ่งช่วยเพิ่มรสชาติของพวกเครื่องเทศให้หอมอบอวลอยู่ในปาก นอกจากนี้ผมยังชอบทำขนมเค้กกับ Leffe Blond ด้วย อย่างเค้กอัลมอนด์รสส้ม เพราะเบียร์ชนิดนี้โดดเด่นในรสชาติที่ fruity ออกผลไม้อยู่แล้ว เมื่อนำมาทำขนมเค้กจึงยิ่งอร่อย
การจับคู่เบียร์กับเมนูอาหารที่ชื่นชอบมากที่สุด?
ปกติผมเป็นคนชอบเอาเบียร์มาทำอาหาร อย่างเบียร์ Stella Artois ผมจะนำมาปรุงเป็นซอสสเต็กออกรสชาติไทยๆ เริ่มจากการใช้เบียร์ Stella Artois สองขวดเทลงบนเตา ลดปริมาณจนเหลือประมาณ 8 ออนซ์ เสร็จแล้วผมก็ใส่พวกเครื่องเทศของไทยลงไป แล้วหลังจากนั้นก็นำมันมาราดลงบนสเต็กที่ผมทำไว้แล้ว เวลาทานนี่ขอบอกว่ารสชาติมันอร่อยแบบสุดยอดจริงๆ ยิ่งพอดื่มเบียร์ Stella Artois ควบคู่ไปกับสเต็กด้วยแล้ว มันเป็นอะไรที่วิเศษมากๆ ซึ่งนั่นน่าจะเป็นการจับคู่เบียร์กับอาหารที่ผมโปรดปรานมากที่สุดแล้วล่ะ
คนไทยส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการจับคู่เบียร์กับอาหาร วิธีที่จะทำให้คนเข้าถึงวัฒนธรรมการกิน ดื่ม ดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น ต้องทำอย่างไรบ้าง?
หลายคนมักถามว่า “การจับคู่เบียร์กับอาหารนี่เป็นเรื่องใหม่หรือเปล่า?” แต่อันที่จริงวัฒนธรรมการกิน ดื่มนี้มีมาเป็นพันๆปีแล้วต่างหาก สมัยก่อนคนเลือกที่จะดื่มเบียร์และไวน์คู่กับอาหาร เพราะน้ำไม่สะอาด มีเชื้อโรคอยู่เต็มไปหมด ในขณะที่เบียร์และไวน์นั้นเชื่อโรคไม่สามารถทำการเจริญเติบโตได้ เพราะฉะนั้นการดื่มเบียร์หรือไวน์กับอาหารจึงเป็นของคู่กันมาหลายยุค หลายสมัย ส่วนถ้าใครมาถามผมว่าเขาควรเริ่มดื่มเบียร์กับอาหารยังไง ผมจะบอกว่าทำทุกอย่างให้เป็นธรรมชาติ แค่เทเบียร์ที่คุณอยากดื่มลงในแก้วสวยๆสักแก้ว เสร็จแล้วค่อยๆจิบ และทานอาหารตามไปด้วย ลองใช้เวลาดื่มด่ำกับช่วงเวลานี้แบบไม่ต้องเร่งรีบ เพราะปัญหาที่พบบ่อยมากในหลายๆวัฒนธรรมปัจจุบันก็คือคนส่วนใหญ่ชอบดื่มเบียร์เร็วๆรวดเดียว แล้วก็ยัดอาหารตามเข้าไป กินๆดื่มๆให้มันเสร็จๆแล้วก็ไปทำอย่างอื่นต่อ พวกเราควรเอาอย่างคนชอบดื่มไวน์ ที่ค่อยๆจิบไวน์ พร้อมทานอาหารไปเรื่อยๆกับกลุ่มเพื่อนแบบไม่เร่งรีบ โดยทุกอย่างเป็นไปอย่างละเมียดละไม การดื่มเบียร์กับอาหารก็ควรจะเป็นอย่างนั้น มันควรเป็นประสบการณ์ที่พิเศษสำหรับคุณ ไม่ใช่เป็นการกินดื่มแบบ fast food ถ้าคุณไปเบลเยียม คุณจะกลับมาพร้อมกับการ appreciate เบียร์ที่ดีกว่าเดิม เพราะการดื่มเบียร์สำหรับพวกเขาถือเป็นช่วงเวลาที่พิเศษจริงๆ พวกเขาจะดื่มเบียร์จากแก้วเบียร์โดยเฉพาะ พร้อมกับการจับคู่ด้วยมื้ออาหารดีๆ คุณจะสัมผัสได้ทันทีว่าการดื่มเบียร์สำหรับคนเบลเยียมนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นผมจึงอยากสนับสนุนให้คนที่ชื่นชอบการดื่มเบียร์ทุกคนลองใช้เวลาดื่มด่ำไปกับรสชาติของเบียร์และอาหารมากขึ้น เพราะมันเป็นประสบการณ์ที่ไม่ควรพลาดจริงๆ
ช่วยแนะนำการจับคู่เบียร์กับอาหารไทย?
อย่างที่บอกครับว่าอาหารไทยเป็นอาหารที่ผมชื่นชอบมากที่สุด เพราะผมชอบทานเผ็ด ผมชอบพวกพริกและเครื่องเทศต่างๆที่ใช้ปรุงในอาหารไทย ถ้าคุณทำอาหารทานเองที่บ้าน หรืออยากจัดดินเนอร์ปาร์ตี้ โดยทั่วไปผมจะเริ่มด้วยเบียร์ที่มีรสเบาๆก่อน แต่ถ้าดื่มแล้วรู้สึกว่ารสชาติของเบียร์มันอ่อนเกินไปเมื่อเทียบกับอาหารที่กำลังทาน ก็ควรจะเลือกเบียร์ที่มีรสชาติเข้มข้นมากขึ้น ถ้าคุณเป็นมือใหม่ หรืออยากลองหัดจับคู่เบียร์กับอาหารเป็นครั้งแรก ผมแนะนำว่าควรเริ่มกับเบียร์ที่มีรสเบาๆก่อน อย่างเช่น Stella Artois, Leffe Blond หรือ Hoegaarden เป็นต้น แล้วถ้ารู้สึกว่ารสของเบียร์มันอ่อนเกินไปเมื่อเทียบกับอาหาร ก็ลองเปลี่ยนมาเป็นเบียร์ที่มีรสเข็มมากขึ้น
Leffe Thailand
Website: http://www.leffe.com
Facebook: https://www.facebook.com/LeffeThailand
Interviewer: Thip S. Selley
Photographer: Kongkarn Sujirasinghakul
RECOMMENDED CONTENT
ถือเป็นวงดนตรีอินดี้ป็อปที่มาแรง และได้รับการตอบรับมากที่สุดในขณะนี้ สำหรับศิลปินคู่หู “Whal & Dolph” ประกอบด้วย "ปอ" - กฤษสรัญ จ้องสุวรรณ (ร้องนำ) และ "น้ำวน" - วนนท์ กุลวรรธไพสิฐ (กีต้าร์) จากค่ายเพลง What The Duck