คำจำกัดความกับสิ่งที่ทำอยู่
ถ้าเมื่อก่อนสถานะตัวเองจะเป็น นักเต้น (Dancer) หลังจากนั้นก็จะเป็นครูสอนเต้น แล้วต่อมาก็เป็นนักออกแบบท่าเต้น (Choreographer) เหมือนหลายๆอย่างรวมกัน เรียกว่าตอนนี้เป็นเหมือน expert ทางด้านเรื่องเต้นดีกว่า
จุดเริ่มต้นของอาชีพนักเต้น
ตอนเด็กๆ เราชอบรำมาก่อน เราเลือกเรียนนาฏศิลป์ไทย พอเราโตขึ้นอีกหน่อยความต้องการมันเปลี่ยนไป เริ่มไม่ชอบนาฏศิลป์ไทยเท่าไหร่แล้ว รุ้สึกว่ามันไม่สนุก เชื่องช้า แล้ววันหน่ึงก็นั่งรถผ่านหน้าห้าง The mall รามคำแหง เราจะนั่งผ่านทุกวัน บังเอิญเราเห็นโรงเรียนเต้นอยู่โรงเรียนหนึ่ง เราก็สงสัยคนเขามาทำอะไรกัน ก็เลยเดินขึ้นไปดู อ๋อ! มันคือโรงเรียนสอนเต้น ตอนนั้นกว่าจะขอคุณพ่อ คุณแม่เรียนเต้นได้ ค่อนข้างยาก ถ้าเป็นเมื่อก่อนเขาก็จะถามว่า จะเรียนเต้นไปทำไม เรียนเต้นได้อะไร เราก็ fight อยู่พักนึง จนได้เข้าไปเรียนเต้น หลังจากนั้นเราก็เรียนจบบัลเลต์ จุฬาฯ
“ตอนเด็กๆเราก็จะมองศิลปินแกรมมี่เป็นเหมือน idol
เพราะมี dancer ประกอบด้านหลังเป็นภาพที่ทำให้เรารู้สึกอยากไปเป็นตรงนั้น”
คำว่า “เต้นกินรำกิน”
มันยากที่จะเปลี่ยนความคิดผุ้ใหญ่ เขายังมองในเรื่องของ เต้นกินรำกิน ถ้ามันไม่หายไปจากสังคมคนที่ทำงานศิลปะ นาฏศิลป์ นี่คือจบ แล้วถ้าพูดถึงนักเต้น เขาจะคิดไปแบบนักเต้น coyote ตามผับ ตามบาร์ ซึ่งความจริงแล้ว Coyote มันมาจากนักเต้นในนิวยอร์ก มันก็ไม่ได้มีอะไรที่โป๊เลย ก็เหมือนคนชงเหล้าปกติ เขาจะขึ้นไปเต้นบนบาร์ตอนช่วงเบรก ด้วยสังคมไทยเราเอามาเน้นในรูปแบบอบายมุข มันก็เลยเสียไปกันใหญ่ ตอนนี้กลายเป็นเมื่อไหร่ที่พูดถึง dancer ที่เต้น sexy จะโดนเรียก coyote ทั้งหมด ด้วยที่คนดูไม่ได้มองในส่วนของการเต้น การเสพมันก็ไม่เหมือนกัน อย่างเช่นเวลาเราดูศิลปะคนที่เรียนมาถึงจะเข้าใจมันมากกว่า
เวทีแรกที่เราได้ขึ้นไปสัมผัส
ช่วงนั้นจะมีการ audition คอนเสิร์ตของพี่เบิร์ด เราก็ไปลองดูแต่ว่าไม่ผ่าน ก็ไม่เป็นไรตอนนั้นยังไม่ได้ใส่ใจกับอาชีพนี้เท่าไหร่เพราะเรายังเรียนอยู่ แต่เผอิญช่วงนั้นมีการ audition งานนางงามจักรวาลที่จัดที่ประเทศไทยเป็นครั้งแรกก็เข้าไปลองดู คราวนี้เรา audition ผ่าน ก็เลยได้เป็น dancer ในงานนั้น หลังจากนั้นก็ได้เข้าไปเต้นให้กับ grammy ครั้งแรกเลยคือมิวสิควีดีโอของ พี่เจย์ เจตริน ชุดที่ 2 หลังจากนั้นก็เลยได้ไปเป็น extra ของ MV พี่เบิร์ดด้วย และ grammy เขามาเห็นแวว ก็เลยให้ไปเต้นในเวทีของพี่เบิร์ดบวกกับความต้องการของพี่เบิร์ดด้วยที่อยากให้เราไปเป็น Corus Dancer ให้ การได้ไปอยู่บนเวทีของพี่เบิร์ด นั่นถือเป็นจุดแรกของการเปลี่ยนจากนักเรียนเต้นธรรมดา มาเป็นนักเต้นอาชีพ
แบ่งการฝึกซ้อมของตัวเอง
ถ้ารับงานที่มีโจทย์ของลูกค้าเราก็จะเครียดนิดหนึ่ง คิดโจทย์เพลงตลอดเวลา ฟังเพลงหลายๆรอบ เวลาเราใส่หูฟังเพลงแต่ว่าเหมือนหัวเราจะต้องคิดท่าต่างๆที่เค้าต้องการ และจำภาพแรกที่เกิดขึ้นในหัวเพื่อเป็นต้นแบบต่อๆไปในการคิดท่า อย่างแบบ โฆษณาตัวนี้ 15 วินาที เราอยากได้ท่าเต้นที่มันดูง่ายๆ ชัดเจนและเห็นชัดมากที่สุด ซึ่งต่างจากการซ้อมส่วนตัว ก็ไม่ค่อยคิดอะไร วิ่งเดินเล่นแถวๆบ้าน ฟังเพลงใน iPod อยากเต้นอะไรก็เต้น แล้วก็จะหยิบเทคนิคที่เวลาเราเรียนมาซ้อมแล้วก็บวกกับฟรีสไตส์ ก็เหมือนปล่อยตัวเองให้อินกับดนตรีเหล่านั้น
นักเต้นที่ดีควรจะ…
มีวินัย ตรงต่อเวลา dancer ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำงานออฟฟิศแหละ ถ้าคุณไม่ตรงต่อเวลา ไม่มีวินัยในการซ้อมก็จะทำให้อาชีพนี้เสีย เราว่าเราอยู่ตรงนี้ได้นาน เพราะเราตรงเวลา ซ้อมคือซ้อม ไม่คุยเล่นกัน เราใส่ใจตรงนั้น เราอยู่ตรงนั้น เราซ้อมคอนเสิร์ต ตั้งแต่ 9 โมงเช้ายันเที่ยงคืน ถ้าไม่มีความอดทนพอเพราะมันต้องใช่ skill แรงกำลัง และก็สมาธิ ถ้าสมาธิหลุดระหว่างซ้อมก็พังอยู่ดี นี่คือส่วนสำคัญของการเป็นนักเต้นหรือ หลายๆอย่างไม่ว่าจะกับงานอะไรด้วยน่ะ
พอถึงจุดหนึ่ง ตอนที่เราอยู่หลังเวทีแล้วเราไม่อยากขึ้นเวทีแล้ว
เอ๊ะ! ทำไมวงการมันถึงดูนิ่งสำหรับเรา ทำไมเราไปไหนไม่ได้ มันตันไปหมด แบบเราไปทำงานสาย ไม่อยากทำแล้ว ทั้งที่เราชอบพัฒนาตัวเองตลอดเวลา อยากหาอะไรใหม่ๆ ต้องการรู้เรื่องเต้นเยอะๆ มันเหมือนเราคิดเยอะ พอเราคิดเยอะแล้วเราก็จะเริ่มมองตัวเองกลับเข้ามาว่า เกิดอะไรขึ้นกับเราก็เลยตัดสินใจว่า หยุดเต้นแล้วก็ไปเรียนต่อ ไม่รับงานเต้นอะไรเลย 2 ปีที่เรียนปริญญาโท คือแบบว่าไม่ต้องโทรหา ต่าย ดาริกา เรามองว่าถ้าเราอยากจะไปต่อเราต้องหยุดแป๊บหนึ่งแล้วเราต้องเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนความคิด
” อยากให้เขามองว่าเราก็สามารถเลี้ยงตัวได้ ทำงานได้เงิน
ด้วยตัวอาชีพก็ไม่ได้ไร้ศักดิ์ศรี มีเกียรติ เพราะ ทุกคนผ่านการเรียนรู้
และพรสวรรค์ หรือคนที่ขยันฝึก จนมาเป็นแดนซ์เซอร์อาชีพ”
เราเริ่มมองภาพกว้างของวงการเต้นบ้านเรา
เราเรียนปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้านการบริหาร (cultural management) แต่เราเลือกเอก performance และวิชาโทเราเลือก entertainment industry ทั้งหมด หนังละคร สิ่งพิมพ์ การเต้น ตอนนั้นเราว่าเป็นจุดเปล่ียน เพราะเราเริ่มมองภาพกว้างของวงการเต้นบ้านเรา และเราก็ไปเรียนต่อที่อเมริกา พอเราเรียนไปเราก็รู้สึกว่า เมืองไทยเราขาดการจัดการทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นทั้ง art หรือ cultural มันไม่ได้ถูกจัดการ เด็กยุคหลังๆ เขาก็ไม่รู้หรอก ก็ได้แต่ดูจากหนังต่างๆ fame, step up ที่แบบ 50% เรื่องจริง 50% หลอกคนดู และอีกอย่างหนึ่งเด็กไทยเราจำภาพเกาหลีเยอะ มันก็เลยกระทบไปกันหมด หลังๆนี่เวลาเราทำงานลูกค้าจะติดกับภาพแบบนั้น ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามถ้าไม่มีภาพเขาก็จะนึกไม่ออก แต่บางอย่างมันก็ไม่ได้ติดอยู่กับ reference อย่างเดียว บางทีเราอยากคิดอะไรใหม่ๆ เราก็ทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นว่าเราต้องติดอยู่กับอะไรแบบนี้
อยากให้อาชีพนี้เป็นที่ยอมรับจากสังคมมากขึ้นกว่าเดิม
จริงๆแล้วเราจะทำให้มันโตเป็นอุตสหกรรมใหญ่ก็ได้ พอมันเป็นอุตสหกรรมแค่นี้ก็เลยไม่ค่อยมีคนมาแก่งแย่งกันเท่าไหร่ แล้วถ้าเกิดอุตสหกรรมมันโต มันก็คงมีหลายเจ้าที่ต้องมานั่งแข่ง – แย่งงานกันเอง อยากให้เขามองว่าเราก็สามารถเลี้ยงตัวได้ ทำงานได้เงิน ด้วยตัวอาชีพก็ไม่ได้ไร้ศักดิ์ศรี มีเกียรติ เพราะ ทุกคนผ่านการเรียนรู้ และพรสวรรค์ หรือคนที่ขยันฝึก จนมาเป็นแดนซ์เซอร์อาชีพ ไม่ว่าจะเข้ามาด้วยแบบใดก็ตาม ณ จุดๆหนึ่งทุกๆคนก็มีการพัฒนาไปในแนวทางของแต่ละคน ถ้าคนข้างนอกมองเค้าอาจจะมองว่าเต้นง่าย หรือรู้สึกแค่ว่าก็แค่เต้น จริงๆแล้วมันมีมากกว่านั้น คนที่มองว่าง่าย พอจริงๆแล้วก็ทำไม่ได้ ทุกอย่างเป็นเรื่องของ skill และพรสวรรค์ส่วนตัว กว่าจะทำอาชีพนี้ได้ต้องได้รับจากสนับสนุนจากทางบ้านและสังคมด้วย อยากให้มีองค์กรใดหรืออะไรก็ตามที่หยิบอาชีพนี้ขึ้นมาพัฒนาจริงจัง เพราะว่า มันมีเด็กหลายคนที่อยากเต้นแต่ว่าสุดท้ายจึดหนึ่งก็ต้องล้มเลิกไปเพราะว่าขาดการสนับสนุน
” เราชอบเต้น เราไม่ได้แบ่งตัวเองเท่าไหร่นักว่า เราชอบสไตล์ไหนมาที่สุด
เพราะเรารู้สึกว่า คนเต้นน่าจะเต้นได้ทุกสไตล์
แต่ถ้าชอบจริงๆ ก็น่าจะเป็น pop แบบ commercial มากกว่า”
ความต่างต่างกันระหว่างการเต้นของทางฝั่งตะวันตกและเอเชีย
ถ้าเอาเป็นเรื่องเต้นแบบฮิปฮอปหรือ street stlye มันก็มาจากทางอเมริกาอยู่แล้วชัดเจนอยู่แล้ว แต่พอมาทางฝั่งเอเชียเนี่ยด้วย figure ด้วยเรื่องร่างกายของคนเอเชีย มันเล็กกว่าคนตะวันตก บวกความเป็น Asean ที่ดูนุ่มนวล เราว่ามันก็ไม่ต่างกันเท่าไหร่ มันต่างกันตรงการดีไซน์ท่าและบุคคลิกของคนเอเชียมากกว่า ของไทยมันก็ยังผสมๆความเป็นลูกทุ่งบ้างเล็กๆน้อยๆ ในความรู้สึกเรานะเพราะคนไทยชอบฟังเพลงออกแนว ตึ๊ง ตึ่ง ตึง ตึ่ง อะไรแบบนี้ … (หัวเราะ) ท่าเต้นมันเลยเป็นฮิปฮอปมากไม่ได้ มันก็จะเป็นอะไรที่ง่ายๆ จับต้องได้ คนทั่วไปเข้าใจและเต้นตามได้
ถึงวันนี้เราว่าทุกงานสำหรับเรามันประสบความสำเร็จทุกศิลปินที่เราเต้น
ย้อนกลับไปเมื่อสิบปีก่อน ช่วงนั้นมันเป็นช่วงที่มีความสุขที่สุดมีทุกข์บ้าง อยากที่บอกเราไม่รู้ว่าอาชีพเราไม่รู้ว่าจะไปทางไหน เราก็พยายามจะดิ้นรนเพื่อให้เราอยู่ในอาชีพนี้ แต่ตอนนี้มันมีความสุขเวลาได้ขึ้นเต้นโชว์บ้าง ยังเป็นแดนซ์เซอร์ให้พี่เจอยู่บ้าง เราก็ยังคิดถึงเวทีนะ อย่างการที่เราได้เต้นบนเวที เวลาที่มีคนตบมือ มีคนยิ้ม ขอจับมืออะไรแบบนี้ มันเหมือนเป็นความสุขอย่างหน่ึง เวลาเราไปเอนเตอร์เทนเขา เพราะว่าเวลาขึ้นคอนเสิร์ตคนกรี๊ด เราก็โอเคแล้ว
คงเหมือนกับทุกคนที่มีความฝันแล้วทำตามความฝัน
บางทีถ้ารู้ตัวเองมากพอว่าอยากจะทำอะไรก็สู้ไปกับมัน บางทีคุณพ่อคุณแแม่อาจจะยังไม่เชื่อมั่น ก็ต้องหาคำตอบให้เขาเชื่อมั่นให้ได้ เพราะบางคนอยากจะเต้น เต้นไปได้ปีหนึ่งแล้วก็ล้มเลิก มันอาจจะไม่ได้ชอบเต้นขนาดนั้นจริงๆ เราอาจจะต้องกลับมาตั้งคำถามกับตัวเองใหม่อีกที บางทีมาถึงตรงจุดที่มันยาก แล้วหยุดมัน มันก็เลยไม่ได้ไปไหนซักที หาสิ่งที่อยากจะเป็นจริงๆแล้วเดินตามฝันดีกว่า
ปิดท้ายที่โปรเจคส่วนตัว
เราพยายามทำ channel ของตัวเองใน youtube ในแบบของเราโดยที่ไม่อิงกับตลาด ในเมื่อประเทศไทยความจำกัดมันมีแค่นี้ แต่เราอยากทำมากกว่านั้น แล้วก็เต้น ทำในสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ ตอนนี้ที่ทำก็รวมเอา professional แดนเซอร์เอามารวมกันคล้ายๆ pussycats doll แต่เราไม่ได้ sexy อะไรขนาดนั้นน่ะ (หัวเราะ) เหมือนรวมเอาคนที่มีไอเดียคล้ายๆกัน เช่น ชอบเต้น ชอบสไตล์อเมริกัน เราก็มารวมกัน แลกเปลี่ยนกัน เพื่อเพิ่ม level ของตัวเอง และก็จะตามเก็บภาพเบื้องหลังการทำงานของเราเวลาที่เราไปร่วมงานกับศิลปินอื่นๆ เหมือนเป็น behind the scene มาลงไว้ใน channel นี้ด้วย ©
ติดตามความเคลื่อนไหวของเธอคนนี้เพิ่มเติมได้ที่ http://www.youtube.com/user/DariArtBKK
RECOMMENDED CONTENT
STAR WARS: THE LAST JEDI ตัวล่าสุดที่ได้ปล่อยออกมาวันที่ 1 พฤจิกายน กับประโยคที่ตั่งคำถาม 'มันไม่ได้จะเป็นไป ในแบบที่คุณคิด' จาก 'ลุค' ถึง 'เรย์'