fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

#VISIT — Weinstein Effect (1) : ศิลปะ ศิลปิน อำนาจนิยม และสังคมฮอลลีวู้ด ผ่านมุมมองของ ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’
date : 28.พฤศจิกายน.2017 tag :

กรณี Sexual Harassment ที่เกิดขึ้นในวงการบันเทิงต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน รายแรกที่โดนซิวเป็นต้นมา ยันรายล่าสุดที่ต้องเดินออกจากบริษัทตัวเองอย่าง จอร์น ลาสเซตเตอร์ บิ๊กบอสแห่ง Pixar Studio ตามมาด้วยการเปิดโปงใครอีกหลายคน ในอีกหลายวงการ ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ แฟชั่น โทรทัศน์ การเมือง ฯลฯ ที่โดนแฉเรียงตัวแทบไม่เว้นแต่ละวัน จนเลิกลุ้นไปแล้วว่าใครจะเป็นรายต่อไป ซึ่ง ‘ธิดา ผลิตผลการพิมพ์’ ผู้ก่อตั้ง Documentary Club ในฐานะคนรักหนังคนหนึ่ง ก็เฝ้ามองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้อย่างใจจดใจจ่อเช่นกัน

คนรักหนังอย่างคุณ สิ่งที่เกิดขึ้นมีผลต่อความรู้สึกบ้างหรือไม่
ครั้งหนึ่งเราเคยทำสกู๊ป ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ในฐานะโปรดิวเซอร์ที่ทรงอิทธิพล สู้สุดชีวิตที่จะทำให้หนังอินดี้มีตลาด วิธีการของเขาอาจจะมาเฟีย นักเลง แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่าสิ่งที่เขาทำให้กับวงการหนังมันน่าตื่นเต้น แต่ถามว่าเราเสียความรู้สึกอย่างรุนแรงไหม เออ เราเสียความรู้สึกนะ


Harvey Weinstein

เป็นไปได้ไหมที่สมัยก่อน คนอาจไม่มีโอกาสได้รู้จักชีวิตส่วนตัวของนักแสดงมากนัก จึงไม่ได้ส่งผลต่อการเสพผลงานเมื่อเทียบกับยุคนี้ ที่กลายเป็นว่าเราแทบจะมีส่วนร่วมในชีวิตส่วนตัวของศิลปินไปแล้ว
เราเห็นด้วยที่ควรเคารพสิทธิ์ในพื้นที่ส่วนตัวของศิลปิน แต่ Sexual Harassment ที่เกิดขึ้น มันเป็นชีวิตส่วนตัวที่ดันไปละเมิดสิทธิมนุษยชนคนอื่น แถมเป็นอาชญากรรมด้วยนี่สิ ในเมื่อทุกอาชีพต้องการความโปร่งใส แปลว่าคุณไม่อาจมีคดีอาชญากรรมแล้วบอกว่านี่เป็นเรื่องส่วนตัวอีกต่อไป ยิ่งเป็นคนดัง มีพาวเวอร์ แล้วใช้พาวเวอร์นั้นในการกดคนอื่นด้วยการละเมิดหรือริดรอนคนอื่นในทางใดทางหนึ่ง มันเลยเป็นเรื่องธรรมดาหากจะต้องถูกเปิดโปง

ทิศทางของฮอลลีวู้ดยุค ‘Post–Weinstein’ จะเปลี่ยนไปอย่างไร
เชื่อว่าคงไม่กลับไปเหมือนเดิมแล้วล่ะ ไม่ว่าค่ายหนังจะลงโทษจริงๆ หรือแค่ออกมารับกระแส กลัวว่าบริษัทจะเสียชื่อเสียง หรือกลัวหนังเจ๊งก็แล้วแต่ เขาจะไม่มีทางกลับมาทรงอิทธิพลได้อีกแล้ว และข้อดีคือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาในวงการนี้จะรู้แล้วว่าคุณไม่สามารถมีพฤติกรรมแบบนี้ได้อีก เราเห็นแล้วว่าคนที่ถูกทำลาย มันถูกทำลายจริงๆ


Netflix ถอด Kavin Spacey ออกจากซีรีย์ House of Cards

รากเหง้าของการคุกคามทางเพศในสังคมฮอลลีวู้ดเกิดจากอะไร
ในสังคมแบบอำนาจนิยมอย่างวงการบันเทิง สังคมที่เพศชายเป็นใหญ่ คุ้นเคยกับระบบอุปถัมภ์ที่ฝังรากมานาน มันไม่ใช่แค่เรื่องเพศหรอก แต่ยังมีเรื่องอำนาจของคนตัวใหญ่กว่าที่ชี้เป็นชี้ตายคนอื่น บางครั้งผู้กำกับฯ เองยังต้องยอมโปรดิวเซอร์ ยอมนายทุน ไม่งั้นก็ไม่มีที่ยืนเหมือนกัน ยิ่งสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นเรื่องเพศด้วย ประเด็นเลยเปราะบางและมีมิติที่ซับซ้อนไปอีก

เราแค่รู้สึกว่าไม่มีใครเลว 100% เขาแค่อยู่ในระบบความคิดอีกชุด ถามกลับว่าตอนที่คนเหล่านี้ทำ เขาคิดมั้ยว่าตัวเองผิด เพราะเขาอยู่ในสังคมที่ทุกอย่างมันเอื้อให้คนมีอำนาจ หรือคนที่เป็นผู้ชายสามารถทำได้ และเป็นสิทธิ์อันชอบธรรมด้วย เขาอาจรู้แค่ว่ามันไม่ถูก แต่ไม่ได้คิดว่ากำลังทำชั่ว เพราะในโลกของเขาใครๆ ก็ทำ จริงมั้ย? ถ้าเราไม่มองใครเป็นสีดำเกินไปนัก บางทีเขาอาจกำลังเป็นเหยื่อของโครงสร้างสังคมที่มีปัญหานี้ก็ได้ เพราะอย่างนั้น เราคิดว่าการแฉ หรือการไล่เกลียดเป็นคนๆ คงไม่พอ มันต้องรื้อทิ้งทั้งระบบ

สิ่งที่น่าจับตามองคือ ต่อไปนี้ทุกคนที่เข้ามาทำงานในฮอลลีวู้ดจะต้องถูกสกรีนว่าเป็นคนที่บริสุทธิ์ 100% เลยหรือเปล่า (หัวเราะ)

ถ้ามองกลับมายังสังคมไทย สิ่งที่เกิดขึ้น จะทำให้เราตระหนักได้มากน้อยแค่ไหน
ถ้ามองแง่ในบริบทมันก็คงไกลตัวแหละ ใครจะมานั่งสนใจว่าหนังเรื่องนี้ฮาร์วีย์ ไวน์สตีนโปรดิวซ์หรือเปล่า วู้ดดี้ อัลเลนกำกับฯ มั้ย อะไรแบบนั้น สังคมไทยยังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวที่จะเรียนรู้เรื่องการกดขี่ทางเพศ ซึ่งดูเหมือนเป็นเรื่องที่เรายอมรับกันมานานนมด้วยซ้ำ กับกระแสความคิดใหม่ที่คนเริ่มตระหนักเรื่องสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ มันไม่ใช่แค่เรื่องของฝรั่ง แต่เป็นเรื่องของโลก ซึ่งเอาจริงๆ ก็เป็นเรื่องใหม่ของฮอลลีวู้ดด้วย เพราะดูจากแต่ละคนที่ถูกกระทำ ก็ถูกกระทำมาตั้งนานแล้ว จนถึงยุคนี้ถึงค่อยเริ่มออกมาพูด เราคิดว่าทุกอย่างต้องการการเริ่มต้น ต้องใช้เวลา และต้องการคนกล้า


Asia Argento

คนดังที่ออกมาพูด เราว่ามันยากกว่าคนธรรมดาอีก เพราะคุณกำลังถูกคนทั่วโลกวิพากษ์วิจารณ์ แล้วก็ได้รับผลตอบรับที่มันไม่คุ้มด้วย ดูอย่าง Asia Argento สิ (นักแสดงสาวชาวอิตาเลียนที่ออกมาเปิดโปงฮาร์วีย์ ไวน์สตีนเป็นคนแรกๆ ) ที่แทบจะอยู่ในอิตาลีไม่ได้ เพราะคนอิตาลีรุมประนาม รุมด่าเธอกันใหญ่ การอยู่ในที่ๆ มีสปอร์ตไลต์ส่องมันยากกว่าคนธรรมดาอย่างเราในบางแง่นะ

ถึงยังไงมันก็มีข้อดี การที่เราเห็นดาราที่ชอบกล้าออกมาพูด มันก็บันดาลใจให้คนธรรมดาอย่างเราๆ ได้ ซึ่งถ้ากระแสนี้ถูกหนุนให้แข็งแรงขึ้น มันอาจทำให้คนที่เจอแบบนี้ในชีวิตประจำวันมีสิทธิ์ที่จะเปิดเผยได้เหมือนกัน ผู้หญิงหรือผู้ชายหลายคนก็เพิ่งรู้สึกตัวว่า เออ เรามีทางเลือกอื่นอีกนะ มันคงไม่ถอยกลับไปเงียบเหมือนเมื่อก่อนแน่นอน มาถึงขั้นนี้ เชื่อว่าทุกคนจะอ่อนไหวต่อเรื่องพวกนี้มากขึ้น

แล้วเราจะสามารถชื่นชมงานศิลปะของศิลปินสุดฉาวเหล่านั้นได้อีกไหม
จริงๆ เป็นเรื่องหลีกยากสำหรับคนทำงานศิลปะเหมือนกันนะ เพราะในความชื่นชอบ มันมีความรู้สึกผูกพันรวมอยู่ด้วย ซึ่งเราว่าศิลปินมีสิทธิ์ที่จะแสดงออกยังไงก็ได้ แล้วเราก็เสพผลงานของเขาได้โดยไม่ต้องไปสนใจว่าเขาเป็นคนยังไง

ยังเชื่อว่ามันอาจต้องการการแยก เพราะถ้าเราพิจารณางานศิลปะด้วยเกณฑ์ของศิลปะจริงๆ มันก็มีคุณค่าในตัวของมันเอง อย่างหนังเรื่องหนึ่งที่สร้างไว้อย่างดีโดยโปรดิวเซอร์ที่มีประเด็น Sexual Harassment ก็ไม่ได้หมายความว่าหนังเรื่องนั้นกลายเป็นหนังเลว จริงมั้ย? โดยส่วนตัวจึงรู้สึกว่าเราต้องให้ความเป็นธรรมต่องานศิลปะด้วย

ยกเว้นกรณีเดียวที่มันทำให้เราขีดเส้นแบ่งยาก คือถ้าศิลปะนั้นเป็นการโกหก เสแสร้ง ให้คนเข้าใจว่าเขาเป็นคนอีกแบบ เช่น กรณีของฮาร์วีย์ ไวน์สตีน ตอนที่ค่าย The Weinstein Company ของเขาโปรดิวซ์สารคดีเรื่อง Hunting Ground (Kirby Dick, 2015) ซึ่งพูดถึงการคุกคามทางเพศในมหาวิทยาลัย ทำให้คนย้อนกลับไปตั้งคำถามกับไวน์สตีนว่า คุณมีทัศนคติอย่างไรกันแน่ตอนที่คุณโปรดิวซ์หนังเรื่องนี้ คุณกำลังโกหกสังคมอยู่หรือเปล่า

สำหรับเราเองก็ต้องฝึกฝนเหมือนกันที่จะแยก มันคงไม่ขาว ไม่มีดำ เราไม่ได้บอกว่าเขาทำถูก แต่เราก็ไม่สามารถตัดสินว่า ถ้างั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาทำมามันเลวหมด อาจต้องกลับมาถามตัวเองว่าเราต้องการอะไรกันแน่ เราต้องการดูหนังจริงๆ หรือต้องการวีรบุรุษที่ไม่ด่างพร้อยเลยหรือ


Harvey Weinstein กับ Gwyneth Paltrow ผู้คว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจาก Shakespeare in Love ออสการ์ครั้งที่  71 เมื่อปี  1999

สิ่งไหนที่พอจะทำให้เราแยกงานศิลปะออกจากคนเหล่านั้นได้
เป็นเรื่องท้าทายเหมือนกันนะ เพราะเกณฑ์ของแต่ละคนไม่เท่ากัน บางคนอาจเปราะบางกับบางเรื่อง โดยที่อีกคนไม่รู้สึกอะไร สิ่งที่แบ่งได้อาจอยู่ที่เส้นความรู้สึกของแต่ละคนว่าเราจะรับความเป็นมนุษย์ของคนอื่นได้มากน้อยแค่ไหนกัน เราอาจคิดว่าคนที่ทำผิดประมาณหนึ่ง พอเข้าใจได้ กับคนที่ทำผิดอีกแบบหนึ่ง เรารับไม่ได้เลย คงต้องกลับมาถามตัวเองว่า เรารู้สึกว่าความเป็นมนุษย์ในตัวเขามันลดน้อยลงหรือเปล่า แล้วเราอยากเสพสิ่งใดๆ จากคนๆ นี้อีกไหมถ้าเขามีความเป็นมนุษย์น้อยเกินไป เรื่องที่น่าถกเถียงต่อไปก็คือ ถ้าเรามองว่าไอ้นี่เป็นคนชั่ว เป็นอมนุษย์ไปแล้ว เราจะยังเสพงานของเขาได้อีกมั้ย? นั่นคือสิ่งที่คุณต้องคิดเอาเอง

RECOMMENDED CONTENT

1.พฤศจิกายน.2019

ต่อไปนี้หากคุณและเราถูกผรุสวาทด้วยคำประเภทว่า ไอ้สัตว์, ไอ้สัด, ไอ้สัส หรือ ไอส๊าสสสสส ก็อย่าเพิ่งโกรธไป เพราะเราเองนี่แหละที่อาจกำลังกลายเป็นสัตว์ (ป่า) กันอยู่ในทุกๆ วัน! I Gone wild (everyday) คือเอ็กซิบิชั่นที่อยากให้เรากลับไปทบทวนความ ‘ดิบ’ ในตัวเอง ว่าสัตว์ในตัวเราคืออะไร และเรายังเหลือความเป็นมนุษย์กันอยู่มากน้อยแค่ไหน!?