เมื่อตอนที่แล้ว พูดถึงเรื่อง ‘แจ๊ค หม่า‘ (Jack Ma) ผู้ก่อตั้งและประธานบริษัท Alibaba บริษัท e-commerce รายใหญ่ของจีน ซื้อชาโตไวน์ในเมืองบอร์กโดซ์ ประเทศฝรั่งเศส สำเร็จเป็นแห่งแรกเมื่อเดือนกุมกาพันธ์ปี 2016 พร้อมประกาศกร้าวจะซื้อชาโตไวน์ในฝรั่งเศสอย่างน้อย 20–30 ชาโต ภายใน 2–3 ปีนี้ เบื้องต้นเน้นชาโตในบอร์กโดซ์เป็นหลัก
อย่างที่กล่าวในตอนที่แล้วเรื่องการซื้อชาโตไวน์ในบอร์กโดซ์ของ แจ๊ค หม่า ไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะ Alibaba ก็ประกาศข่าวการควบรวมกิจการกับ Lazada ด้วยเงินลงทุนถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ เป็นหนึ่งข่าวใหญ่ของวงการ e-commerce ในเอเชีย
ลาซาดาถือเป็น e-commerce ที่เป็นผู้นำตลาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากทั้ง 6 เว็บไซต์ที่แยกกระจายตามแต่ละประเทศ แม้จะไม่ได้เป็นเว็บชั้นนำของประเทศนั้นๆ ก็ตาม แต่ลาซาด้าก็มียอดขายเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง และตัวเลขของการเติบโตนี่เองที่อาลีบาบาสนใจ
Lazada เริ่มต้นธุรกิจตามรอยของอเมซอน (Amazon) คือขายสินค้าของตัวเองในโกดังของตัวเอง ก่อนจะเริ่มเปิดให้มีร้านค้าอื่นๆ และแบรนด์เข้ามาวางสินค้าขายในเว็บไซต์ในแบบที่ Alibaba ทำ จนถึงตอนนี้ Lazada มีร้านค้ารวม 27,000 ร้านค้าจาก 6 ประเทศ
Lazada ได้รับฉายาว่าเป็น Amazon แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเว็บไซต์ e-commerce ขนาดใหญ่มีธุรกิจใน 6 ประเทศคือ ไทย, สิงคโปร์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, เวียดนาม และฟิลิปปินส์
เมื่อถูกถามถึงอนาคตของธุรกิจใหม่ในเมืองไทย แจ๊ค หม่า ตอบว่า “But we will definitely be in Thailand” …เราจะอยู่ในไทยอย่างแน่นอน เป็นคำตอบสั้นๆ แต่ล้ำลึก
สาเหตุที่แจ๊ค หม่า ซื้อ Lazada เพราะเขาต้องการให้สินค้าจีนขายทั่วโลกให้ได้มากที่สุด สินค้าเหล่านี้มีต้นทุนต่ำ ต่ำกว่าสินค้า SME ของไทยมาก เมื่อสินค้าราคาถูกจากจีนผ่านช่องทางออนไลน์ยักษ์นี้ ย่อมต้องส่งผลกระทบต่อ SME ของไทยอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ที่กังวลกันมากคือใครจะรู้ว่าสินค้าบางอย่างอาจถูกนำมาขายโดยไม่มีมาตรฐานอุตสาหกรรม
ได้ข่าวนี้ทำให้ผมมองเห็นเค้าลางอะไรบางอย่างเกี่ยวกับแวดวงอาหารการกิน เครื่องดื่มทั้งที่มีและไม่มีแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ ‘ไวน์’
สาเหตุที่ต้องเป็นบอร์กโดซ์เพราะคนจีนคลั่งไคล้ไวน์บอร์กโดซ์มากกว่าเขตอื่น และเศรษฐีจีนก็เป็นชาวต่างชาติอันดับ 2 ที่เป็นเจ้าของชาโตไวน์ในบอร์กโดซ์รองจากเบลเยี่ยม โดยปัจจุบันเศรษฐีจีนเป็นเจ้าของชาโตไวน์ในบอร์กโดซ์ประมาณ 100 ชาโต จากทั้งหมดประมาณ 7,000 กว่าชาโต และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้นี้จีนจะแซงหน้าอย่างแน่นอน หลังจากแจ๊ค หม่า แสดงพลัง
ผมมองว่านี่คือก้าวแรกของการเป็น ‘เจ้าพ่อชาโตไวน์‘ ในบอร์กโดซ์ และอาจจะขยายไปในเขตอื่นๆ ในฝรั่งเศส อย่างน้อยการประกาศก้องว่า… “ภายใน 2 ปีนี้จะซื้อไวน์ในฝรั่งเศสอย่างน้อย 20–30 ชาโต“ ก็เป็นเสมือนลางบอกเหตุอะไรหลายๆ อย่าง
ประกอบกับการประสานมือกับ เจ้า เวย (Zhao Wei) นักแสดงหญิงที่ร่ำรวยที่สุดในโลก และเป็นเพื่อนสนิทของแจ็ค หม่า เจ้าของชาโตไวน์ในบอร์กโดซ์ 2-3 แห่ง ย่อมมีอะไรที่ล้ำลึกมากกว่านั้น ลึกล้ำกว่ารสชาติไวน์กรองด์ กรู ราคาแพงๆ ของฝรั่งเศส ต่อไปไวน์ฝรั่งเศสอาจจะขายผ่านบริษัท Alibaba ด้วย e-commerce ที่แจ๊ค หม่า ถนัดก็ได้
Lazada เป็น online market place ขนาดใหญ่ ซึ่งมีรูปแบบทางธุรกิจหลักๆ คล้ายๆ กับ Alibaba คือเริ่มจากขายเอง จากนั้นค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นคนกลางซื้อขาย (Market Place) โดยในช่วงแรกจะทำการทุ่มตลาด ด้วยการทำโปรโมชั่นอย่างหนักจนสามารถขายของได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาด ยอมขาดทุนในช่วงแรก แต่หลังจากนั้นไม่นานลูกค้าหลายร้อยล้านคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็จะอยู่ในมือ
เมื่อแจ็ค หม่า เป็นเจ้าของ Alibaba เป็นเจ้าของ Lazada เป็นเจ้าของชาโต ไวน์ ในบอร์กโดซ์ 20–30 แห่ง ที่เชื่อว่าต่อไปต้นทุนจะต้องถูกกว่าในช่วงที่ผ่านมาซึ่งฝรั่งเศสทำเอง จะต้องถูกขายด้วยเครือข่ายของเขา เฉพาะ Lazada อย่างเดียว ลูกค้าในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภูมิภาคเดียวก็ปาเข้าไปหลายร้อยล้านคน ไม่ต้องคิดถึงสเกลใหญ่อย่าง Alibaba
ในอนาคตคนไทยอาจจะได้ดื่มไวน์บอร์กโดซ์ในราคาที่ถูกกว่าในปัจจุบัน แม้จะเป็นไวน์บอร์กโดซ์ที่มีกลิ่นอายจีน แต่จะมีใครสักกี่คนที่สนใจ เพราะที่ผ่านมาราคาไวน์ในบ้านเมืองไทยสูงมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกัน นับเป็นความคับแค้นใจอย่างหนึ่งของคนดื่มไวน์
อีกไม่นานคอไวน์ในบ้านเรา แค่จิ้มสมาร์ทโฟนไม่กี่ครั้ง แล้วนอนผึ่งพุงรอ 1–2 วัน ไวน์ก็ส่งถึงประตูบ้าน ในราคาที่อาจจะถูกกว่าที่ไปซื้อตามร้านขายไวน์หรือซูเปอร์มาร์เก็ตเสียด้วยซ้ำ
“But we will definitely be in Thailand” … งานนี้อาจจะมีหลายคนมองว่าคนขายไวน์หนาวแน่นอน
แต่ผมว่าไม่แน่ เพราะตลาดไวน์เมืองไทย มีอะไรที่ยากยิ่งเหนือสิ่งใด ไม่เหมือนใครในโลกนี้!
—
Writer : Thawatchai Tappitak
RECOMMENDED CONTENT
ถ้าคุณได้ติดตามข่าวกันมาบ้าง คนไทยหลายๆคนนั้นอยู่ในวงการ Visual Effect ระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นงานภาพยนตร์ หรืองานภาพนิ่ง