“เรื่องบางเรื่อง มันไม่สวยงามหรอก แต่เราก็ชอบมัน”
ศิลปินใส่แว่น ตัวผอมสูงบอก ขณะเราพยายามไม่กระดุกกระดิกและทำตัวให้นิ่งที่สุดเพื่อให้เขาวาดภาพพอร์เทรตให้
ก่อนหน้าที่เราจะคุยกันถึงตอนจบของหนัง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri, ซีนที่ชอบที่สุดใน Lady Bird, ความอินเบอร์ 10 กับ Call Me By Your Nme และนินทาบางคนในภาพๆ หนึ่งที่เขาวาด
ดู๊ดดอทบุกมาทำความรู้จักกับ ‘เตว-จารุวัฒน์ น้อมรับพร’ ศิลปินผู้ไม่เคยถูกบรรจุในระบบของวิชาศิลปะจริงจัง แถมเลือกเรียนคณะวิทยาศาสตร์ แต่กลับค้นพบว่าตัวเองหลงใหลในเส้นสายและเส้นสีจนมาเอาดีในอาชีพนักวาดภาพจนได้
จารุวัฒน์บอกว่าตัวเขาเป็นคนอ่อนไหวง่าย แต่ข้อดีของมันคือทำให้เขาอกหัก ฟูมฟาย ไปพร้อมกับเฝ้ามองความเป็นไปของใครก็ตามที่เดินผ่านเข้ามาในกรอบแว่นได้อย่างไม่มีเบื่อ วันนี้คนเหล่านั้นได้กลายเป็นงานภาพวาดสีน้ำมันแสนพริ้วไหวใน ‘Jaruwat : Mostly People’ นิทรรศการเดี่ยวครั้งแรกของเขา
ไม่แน่ว่าคุณเองที่กำลังอ่านอยู่ ณ ขณะนี้ก็อาจเคยตกเป็นเหยื่อความจำของจารุวัฒน์เข้าบ้างเหมือนกันโดยไม่รู้ตัว แต่เชื่อเถอะว่าคุณโชคดีแล้ว เพราะไม่ว่าจะดีหรือบางทีก็ร้ายๆ อย่างน้อยก็ยังได้เป็น ‘คนในความจำ’ ของเขาอยู่ดี…
ตอนไหนที่รู้ตัวแล้วว่าจะยึดอาชีพศิลปินจริงจัง
เราก็วาดของเราไปเรื่อยเปื่อย จนกระทั่งวันหนึ่งโดนชวนไปทำงานที่สเกลใหญ่เกินตัว สุดท้ายไม่รอด งานเฟล แต่ทำให้ได้เจอกับพี่หน่อไม้ (สุภัทรชัย เชื่อธรรมสอน) ศิลปินหนึ่งในทีมจัดงาน Art Ground ครั้งที่ 1 ซึ่งชวนไปเปิดบูธวาดภาพพอร์เทรตในงาน จำแม่นเลยว่าเป็นบูธเล็กๆ เงียบๆ ไม่ค่อยมีไฟ อยู่ใกล้ห้องน้ำ (หัวเราะ) เราได้วาดรูปทั้งวัน แล้วได้เงินด้วย มันไม่ได้เยอะอะไรหรอก แต่มันรู้สึกชื่นใจมาก ณ ตอนนั้น
แล้วปรากฏว่าพี่ผ้าป่าน (สิริมา ไชยปรีชาวิทย์) ชอบภาพวาดเรามาก เขาพิสูจน์ด้วยการซื้องานเรา เอาเราไปลง The Jam Factory Magazine และชวนไป Art Ground ครั้งต่อๆ มาอีก มันทำให้รู้สึกว่าเราก็เป็นศิลปินได้
จนถึงยุคต่อมาที่เราเริ่มอ่านวิจารณ์หนัง เริ่มตามดูหนัง อ่านเเม็กกาซีน ช่วงนั้นเนิร์ดหนังมาก เรียกว่าคลั่ง แล้วจากนั้นก็เริ่มวาดภาพจากหนังที่เราดูแล้วชอบ
สไตล์การวาดแบบนี้เรียกว่าอะไร
ไม่ได้ศึกษาประวัติศาสตร์ศิลป์สักเท่าไรนะ เเต่เคยมีคนบอกเหมือนกันว่ามันคล้ายๆ กับ Fauvism เป็นการใช้สีแบบตรงๆ มีความ Expressionism เยอะหน่อย ของเราอาจจะไม่ได้ Abstract มากนัก เพราะมันยังดูรู้เรื่องอยู่
ตอนที่เรียนสีน้ำ เราไม่ชอบมันเท่าไร รู้สึกว่าตัวเองเครียดมาก เคยลองใช้สีแห้งๆ อย่างสีไม้ ก็เล็กเกินไปอีก ไม่สนุก เลยเปลี่ยนมาใช้สีชอล์ก เพราะมันพกพาสะดวก มีเฉดสีให้เลือกเยอะ หนึบ มันมือ รู้สึกถูกจริต จึงใช้มาเรื่อยๆ จนกระทั่งพี่สาวเราเสีย เขาทำงานเพ้นติ้ง ชอบวาดรูปเหมือนกัน เขายกสีน้ำมันให้ เราเลยใช้มาเรื่อยๆ กลายเป็นทำงานกับสีน้ำมันไปโดยปริยาย
วัตถุดิบในการวาดภาพๆ หนึ่งออกมา ต้องใช้อะไรบ้าง
ขึ้นอยู่กับว่าเราไปเจอใคร เจออะไร เป็นคนชอบเดิน เดินไปเรื่อยๆ ไปสิงอยู่ตามร้านกาแฟสักร้าน ทำให้เริ่มรู้จักคนในนั้น วันดีคืนดีมันจะรู้เองว่าอยากวาดอะไร เช่น อยากวาดผู้หญิงที่นั่งตรงนั้น หรือคุณป้าตรงโน้นที่ใส่เสื้อลายดอก ถือถุงขยะ อาจเป็นภาพที่เห็นตอนนั้นหรือเป็นภาพที่เคยเห็นจากที่อื่น ระบุไม่ได้ว่าภาพนี้คือใคร บางทีก็มาจากหนังสือแต่งบ้านบ้าง รูปที่ถ่ายตอนไปเดินเล่นบ้าง ประกอบกันขึ้นมากลายเป็นภาพๆ หนึ่ง จะเรียกว่ามั่วก็ได้ (หัวเราะ) ไม่ได้ตั้งใจเค้นหรอก มันเป็นของมันเอง ส่วนใหญ่มาจากการได้ออกไปข้างนอก ไปเจอคน จะไม่ค่อยคิดงานจากห้องทำงาน
วิธีคิดงานเปลี่ยนไปไหมจากตอนวาดหนัง
เปลี่ยนเยอะ ทั้งวิธีวาดและวิธีคิด หลักๆ คือธรรมชาติของแต่ละอุปกรณ์ที่เราใช้ แต่ละประเภทสี เราค้นหาจนเจอธรรมชาติของตัวเองว่าเราตอบสนองกับอะไรได้ดีกว่า การใช้มือ ใช้แขน มันเกี่ยวกันหมด ตอนใช้สีชอล์กวาดหนัง ภาพก็จะออกมา Expressive หน่อย จนวันหนึ่งเริ่มอยากเล่าเรื่องของตัวเอง ซึ่งช่วงเปลี่ยนผ่านนี่ละยากมาก ที่จะละฐานของการวาดตาม มาวาดเรื่องของตัวเองยังไง ช่วงวาดหนังเป็นช่วงที่ไม่ค่อยรู้อะไรเลย และเป็นช่วงที่ได้ทดลองอะไรไปเยอะมาก ความจริงก็น่ากลับไป Study ตัวเองตอนนั้นเหมือนกันนะ
แค่รู้สึกว่าเวลาดูงานคุณ เรานึกถึงงานของศิลปินอย่าง Juli Baker and Summer แต่เป็น Juli Baker ในเวอร์ชั่นหม่นๆ กว่า
อ้าวเหรอ (หัวเราะ) ก็ป่าน Juli Baker (ชนารดี ฉัตรกุล ณ อยุธยา) นี่แหละคือคนสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องการวาดรูปของเราเลย พออยู่กับป่านแล้วได้รับพลังบางอย่าง เขาทำให้เราไม่หมกมุ่นกับความเศร้าเกินไป เขาทำให้เรารู้สึกกล้าที่จะหยิบสีนั้นมาชนกับสีนี้ กล้าที่จะหยิบสีเขียวที่แปร๋นที่สุดในร้านมาใช้ พอเรากล้าใช้สีจนเริ่มเละเกินลิมิต เราก็เรียนรู้ที่จะถอยออกมา เหมือนเขาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ของเรา
แต่เมื่อวานเพิ่งคุยกับป่าน เขาว่า ‘ฉันว่างานชิ้นใหม่ๆ ที่เธอโชว์มันก็ดูไม่ค่อยเศร้าแล้วนะ’
ความเศร้าของคุณเกิดจากอะไร
เมื่อก่อนเราไม่ได้วาดเรื่องของตัวเองมากเท่าไร แต่สงสัยมันจะมาจากหนังที่ชอบดูมั้ง พวกหนังคนเศร้า คนชีวิตบัดซบอะไรแบบนี้ ภาพที่ออกมาเลยบูดบี้หน่อย คนดูจะบอกว่ามันทำให้เขารู้สึกอะไรบางอย่าง แต่เราว่าคงไม่ใช่ความรู้สึกแฮปปี้เหมือนได้ดูงานของป่าน Juli Baker หรอกมั้ง
เราคงเป็นคนอ่อนไหวกับอะไรรอบตัวอยู่แล้ว อยู่คนเดียวเยอะ มีปัญหาเยอะ เครียดลงกระเพราะตั้งแต่ ป.4
แล้วการวาดรูปเป็นการบำบัดอย่างหนึ่งมั้ย
บางทีก็ทำให้แย่ลงนะ เพราะเราต้องอยู่กับมัน ปกติเราจะเปิดเพลงไปทำงานไป แต่มีเซ็ตหนึ่งที่เราวาดปัญหาในใจออกมา แล้วเป็นการวาดโดยไม่เปิดเพลงใดๆ ฟังเลย…ยยย
ปรากฏว่าสภาพจิตใจตอนนั้นแย่มาก โชคดีที่แม่อยู่บ้าน เราเลยเดินลงจากห้องทำงาน บอกแม่ว่าไม่ไหวแล้ว รู้สึกห่อเหี่ยวมาก แม่ก็เลยไปหาเค้กมาให้กิน เพราะเขารู้ว่าเค้กเป็นยาแก้บ้าของเรา (หัวเราะ) หลังจากนั้นก็บอกตัวเองว่าต่อไปนี้จะเปิดเพลงทำงานเหมือนเดิม จะไม่จมดิ่งขนาดนั้นละ
เพลงอะไรที่ฟังตอนทำงาน
บางทีก็เป็นเพลงเดือดๆ หน่อย ถ้าอยากลองทำอะไรใหม่ๆ แต่ถ้าทำงานปกติจะเปิดนอราห์ โจนส์ (Norah Jones) ร้องได้ทุกชุด ทุกเพลง เป็นเพลงมาตรฐานของเรา
‘คนในความจำ’ ของคุณคือใคร แล้วเขาสำคัญยังไงในความทรงจำ
มันคือ ‘คน’ ที่เราเจอระหว่างทาง เป็นความทรงจำลึกๆ ผสมกัน
บางคนก็เป็นคนนั้นจริงๆ แค่เปลี่ยนตำแหน่งไฝให้เขา (หัวเราะ) หรือบางภาพเป็นคนรู้จัก อย่างป่าน Juli Baker ก็ด้วย เป็นพอร์เทรตตัวเอง บางภาพก็เป็นใครไม่รู้ มันอาจเป็นคนที่เคยเห็น สถานที่ที่เคยไป แต่ตอบไม่ได้ว่าใคร ที่ไหน อย่างไร มันแค่อยู่ในหัวเรา
ทำไมมันจึงจำเป็นที่เราต้องมีคนในความจำ
คือ… มันเหมือนกับ… (ทำท่าคิดนาน) พอเรากำลังจะไม่ได้เจอใครสักคนบ่อยๆ อีกต่อไปแล้ว ทั้งที่รู้ว่าไปที่นั่นก็จะได้เจอเขาทุกครั้ง เพราะเขาจะอยู่ตรงนั้น แต่พอวันหนึ่งที่ความไม่แน่นอนมันทำให้เราไม่ได้เจอกัน เราก็อยากทำอะไรที่เป็นเครื่องระลึกถึงตัวเขา ถึงเสื้อผ้าเขา รูปร่างเขา ทำให้เรารู้สึกอุ่นใจ คล้ายๆ กับการดูภาพถ่าย หรือเวลากลับไปรื้อดูรูปเก่าๆ บันทึกที่เขียน แล้วเราตื่นเต้น เหงื่อออกมือทุกครั้ง เรายังมีคนให้คิดถึง แม้จะไม่ได้เจอกันแล้วก็ตาม มันทำให้เรารู้สึกว่าปัจจุบันก็ไม่ได้แย่นัก
นี่ไง เศร้าฉิบหายเลย
อ่ะ งั้นเปลี่ยนเรื่อง งานนี้ทุกภาพเรา ‘ขาย’ นะครับ ขายยย… (หัวเราะ)
คือเราอยากให้เป็นความรู้สึกที่เข้ามาปะทะกับคุณตอนคุณดูมันมากกว่า ว่าเห็นแล้วรู้สึกสดชื่นว่ะ เงียบว่ะ หรือเศร้าว่ะ ถ้ารับรู้ได้ก็จบแล้ว จริงๆ ไม่ได้อยากคาดหวังให้คนรู้สึกขนาดนั้นหรอก แค่นั่นเป็นวิธีเสพงานของเรา คือแค่คุณรู้สึกก็พอแล้ว หรือถ้าจะให้ดีคือคิดว่าจะเอาไปติดที่ไหนในบ้านก็ได้นะ (หัวเราะ)
ศิลปะไม่ต้องยาก งานเราก็ออกจะหยาบๆ ด้วยซ้ำ
ทำไมถึงชอบความไม่สมบูรณ์
ธรรมชาติของมนุษย์มันก็ไม่ได้สมบูรณ์อยู่แล้วมั้ย แค่ว่าตอนนี้มันมีที่ทางมากขึ้นสำหรับคนไม่ได้เรียนศิลปะ คลื่นลูกเก่าไป คลื่นลูกใหม่มา สักพักมันก็อาจกลับมาคลั่งคนที่มีทักษะสูงๆ อีก มันไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ของโลก แต่เป็น
ธรรมชาติของทุกอย่าง เราว่ามันเป็นพุทธมากๆ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เราแค่โชคดีที่เกิดมาในยุคที่มันเปิดกว้างให้คนอย่างเรา
สิ่งที่เตว-จารุวัฒน์ได้รู้ในวันนี้คืออะไร
เรียนรู้ที่จะมีความมั่นใจในตัวเอง สำคัญมากเลยนะ เมื่อก่อนออกจากบ้านก็จะต้องเสื้อดำ กางเกงยีนส์ รองเท้าผ้าใบคู่เดิม เพราะเรารู้สึกว่ามันเซฟดี เราจะไม่มีความคิดที่จะเขยิบไปทำอะไร เราจะไม่ได้คุยงานอย่างมั่นใจเหมือนทุกวันนี้ เคยไปคุยงานกับบริษัทใหญ่โตแห่งหนึ่ง เราดันพูดกลางห้องประชุมว่า ‘500 เราก็ทำแล้วครับ’ ซึ่งมันไม่ใช่ ตอนนั้นเราไม่เซลฟ์เลย ตอนนี้เราพอรู้วิธีกับอะไรๆ มากขึ้น เช่นเรื่องข้อกฎหมาย เรื่องภาษีต่างๆ น่ากลัวเหมือนกัน แต่ก็คงต้องเรียนรู้กันไป
อีกอย่างคือเราเรียนรู้ที่จะอยู่ได้ด้วยตัวเอง ขายงานเอง มีเงินเก็บพออยู่ได้ ได้ไปเที่ยวบ้าง แบบไม่แพงมากนัก ยังมีเวลาได้เดินเล่น นั่งร้านกาแฟ เจอคน ซึ่งมันก็เอากลับมาเป็นวัตุดิบในการทำงานต่อได้อีก เราไม่ได้สนใจว่ามันก็ต้องมีงาน Commercial เยอะๆ ถึงจะอยู่ได้ คือเราก็ทำงานตัวเองเป็นหลักอยู่แล้ว ยกเว้นแต่ว่าเป็นเขาให้เงินเยอะนะ (หัวเราะ)
ช่วงที่ผ่านมาไปสิงอยู่ที่ร้านกาแฟแถวเยาวราชชื่อ ‘อุ่น พอทเทอรี่’ (Aoon Pottery) บ่อยๆ เลยได้ลองทำงานปั้นดู มันเป็นงานหนักนะ เหนื่อยแต่ก็แฮปปี้ คิดว่าอินกับมันเหมือนกัน เราเลยได้งานปั้นมาชุดหนึ่ง อาจจะได้โชว์คู่กับป่าน Juli Baker เร็วๆ นี้ที่ Yelo House
นิทรรศการ Jaruwat : Mostly People (จารุวัฒน์ : คนในความจำ)
จัดแสดงตั้งแต่วันนี้ – 30 เมษายน 2561
ที่เดอะแกลเลอรี ชั้น 36 โรงแรมพูลแมน กรุงเทพ จี (สีลม)
เปิดทำการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 10:00 – 17:00 น.
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม หรือสนใจซื้อผลงาน โทร. 02-352-4000 ต่อ 1419
อีเมล์ nicha@pullmanbangkokhotelg.com หรือเฟซบุ๊ก www.facebook.com/pullmanbangkokhotelg
ติดตามผลงานของเตว-จารุวัฒน์ได้ที่ ‘LoveSyrup’
RECOMMENDED CONTENT
แคมเปญล่าสุดของไนกี้ "Play New" เชิญทุกท่านมาค้นพบกับกีฬาในมิติใหม่ พร้อมเปิดตัวด้วยภาพยนตร์ที่นำแสดงโดยนักกีฬาชื่อดัง ได้แก่ ซาบริน่า อิโอเนสคู (Sabrina Ionescu), ไดน่า แอชเชอร์-สมิธ (Dina Asher-Smith) และ เบลก ลีเพอร์ (Blake Leeper) รวมถึงศิลปินระดับโลกอย่าง โรซาเลีย (Rosalía) สิ่งที่ทั้ง 4 คนนี้มีเหมือนกันก็คือความชื่นชอบในการเคลื่อนไหว การเล่น และการแข่งขัน