“รุ่งโรจน์ ไทยนิยม” คือ นักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย ที่แฟนกีฬาชาวไทย จำชื่อได้มากที่สุดคนหนึ่ง พอๆ กับ สายสุนีย์ จ๊ะนะ, พงศกร แปยอ, พัทธยา เทศทอง หรือตำนานอย่าง ประวัติ วะโฮรัมย์ จากความสำเร็จทั้งในมหกรรมกีฬาคนพิการระดับอาเซียน (อาเซียนพาราเกมส์), ระดับเอเชีย (เอเชี่ยนพาราเกมส์) และระดับโลก (พาราลิมปิกเกมส์)
นักกีฬาคนพิการแต่ละท่าน ต่างมีจุดเริ่มต้นของความพิการที่แตกต่างกันออกไป ก่อนมาบรรจบที่การได้สวมชุดที่มีธงชาติไทย บนอกข้างซ้าย และทำหน้าที่เพื่อชื่อเสียงของประเทศชาติ เฉกเช่นคนที่มีร่างกายครบสามสิบสองพึงจะกระทำได้
และนี่คือเรื่องราวของ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม นักกีฬาเทเบิล–เทนนิส คนพิการ เจ้าของใบหน้าเปื้อนยิ้ม แห่ง ทีมชาติไทย….
“ตอนที่ผมเกิดมา ผมมีความผิดปกติ เพราะคุณแม่เกิดอุบัติเหตุ ล้มตอนกำลังเข็นรถไปขายของ ตอนนั้น อายุครรภ์ 6 เดือน ทำให้ต้องคลอดก่อนกำหนด และเข้าไปอยู่ในตู้อบ สภาพของผมคือ แขนขาสองข้างลีบ คล้ายกับโรคโปลิโอ ต่อมาส่วนของขาก็ต้องผ่าตัดด้วย เพราะต้นขามีปัญหา ทำให้ต้องใช้หลังเท้าเดิน ตอนนี้ก็พอจะใช้หน้าเท้าเดินได้แล้วครับ”
รุ่งโรจน์ ต้อนรับคำถามแรกของพวกเรา ด้วยการบอกเล่าเหตุการณ์ที่ทำให้เขาต้องพิการมาตั้งแต่กำเนิด ซึ่งเขาเองก็จำไม่ได้หรอก เพราะมันเป็นเรื่องราวในสมัยที่เขายังไม่เกิด และยังจำความไม่ได้ ทว่ามันกลับเป็นเรื่องราวที่เขาจะเก็บไว้ในสมองไม่มีวันลืมแน่นอน
ครอบครัว “ไทยนิยม” มีทั้งหมด 4 คน รุ่งโรจน์เป็นน้องชายคนเล็ก เขามีพี่ชายอีกคน ที่สมบูรณ์ดี ส่วนคุณพ่อรับราชการตำรวจ และมีคุณแม่ทำอาชีพค้าขายอาหาร… รุ่งโรจน์ เริ่มต้นเรียนกับคนปกติ แม้จะเข้าเรียนช้ากว่าคนอื่นถึง 2-3 ปี เพราะเสียเวลาในการผ่าตัดขา และทำกายภาพ แต่นั่นก็เป็นเพราะเขาอยากใช้ชีวิตแบบคนปกติ เหมือนพี่ชาย เหมือนคุณพ่อ เหมือนคุณแม่ เหมือนคนปกติทั่วไป
“ครอบครัวเลี้ยงผมมาแบบคนปกติ และส่งผมเรียนในโรงเรียนของคนปกติ ไม่เคยแบ่งว่า ผมเป็นคนพิการนะ ไม่เคยเอาไปเปรียบกับพี่ชาย ผมจึงไม่เคยมีปมด้อยในจุดนี้ ครอบครัวเป็นสังคมที่เล็กที่สุด แต่ก็มีพลังมากที่สุดเลย ก็เพราะครอบครัวนี่แหละ ที่ทำให้ผมมีพลัง มีความกล้าที่จะก้าวไปสู้กับชีวิต”
“ตอนเด็กๆ นะ ด้วยความที่ทุกคนยังเป็นเด็กในโรงเรียนปกติ ก็ทำให้ผมมีช่วงเวลาที่โดนเพื่อนล้อว่า ไอ้เป๋ ไอ้ง่อย อะไรแบบนี้ ทุกครั้ง ผมก็จะกลับมาหาพ่อ บอกเค้าว่า หนูโดนล้ออีกแล้วนะ พ่อของผมก็ลูบหัวผมทุกครั้ง แล้วบอกว่า “อย่าคิดมากลูก ไปทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด เรามีหน้าที่เรียนหนังสือ ก็เรียนหนังสือให้ดีที่สุด ถ้ามัวแต่ไปสนใจคำ ไอ้เป๋ ไอ้ง่อย แล้วก็หมดกำลังใจ แล้วเมื่อไรเราจะมีแรงผลักดันตัวเองหล่ะ”
“พอได้ยินที่พ่อบอก ผมก็คิดว่า เราต้องทำยังไงก็ได้ให้สักวันนึง พวกเค้าจะไม่เรียกเราว่า ไอ้เป๋ หรือ ไอ้ง่อย อีก จะต้องทำให้พวกเค้าไม่สามารถล้อเราได้อีก จากนั้น ผมก็คิดว่า เราไม่ได้พิการ ผมพยายามทำกายภาพตั้งแต่เด็ก และจะไม่นั่งวีลแชร์ ผมจะพยายามเดินด้วยตัวเอง ใครที่เข้ามาช่วยเหลือ ผมจะบอกว่า ผมขอช่วยเหลือตัวเองก่อน ใครที่ยื่นวีลแชร์มาให้นั่ง ผมก็จะบอกว่า ผมไม่อยากนั่งวีลแชร์ ผมจะพยายามเดินด้วยตัวเอง เดินช้ากว่าคนอื่นไม่เป็นไร เพราะถ้านั่งวีลแชร์ จะทำให้เราใช้ชีวิตลำบาก เราไม่อยากใช้ชีวิตลำบาก และอยากใช้ชีวิตด้วยตัวเองให้ได้”
มีคำกล่าวหนึ่ง บอกเอาไว้ว่า “หากคุณเกิดมาเป็นคนพิการ คุณห้ามพูดคำว่า ไม่สามารถ เพราะนั่นจะทำให้คุณไม่สามารถไปอีกตลอดกาล”… รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ก้าวข้ามขีดความสามารถตัวเองในสเต๊ปแรกด้วยการพยายามดูแลตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และตามด้วย การเริ่มเล่นกีฬาในช่วงอายุประมาณ 13-14 ปี เมื่ออยู่ชั้น ป.5 เพราะเขาคิดว่า กีฬาจะช่วยให้บุคลิกภาพ และความบาลานซ์ดีขึ้น แถมยังได้ออกกำลังกายด้วย แต่ด้วยเงื่อนไขของร่างกาย เขาจึงต้องทดลองหากีฬาที่เหมาะกับตัวเองอยู่นานเลยทีเดียว
“สมัยเด็ก มีกีฬาไม่กี่อย่างหรอกที่จะเล่นได้ ฟุตบอลหรือบาสเกตบอลไม่ได้แน่นอน เพราะเป็นกีฬาปะทะ ผมต้องหากีฬาที่ไม่ขัดกับความพิการ วิ่งก็ไม่ได้ โดดหนังยางกับผู้หญิงก็ไม่เหมาะ เลยทดลองตีปิงปอง พอลองมันก็สนุก พอสนุกก็คิดว่า เห้ย เรามีสังคมหวะ มีเพื่อนมีก๊วน เริ่มมีคนยอมรับ เพราะตอนนั้น แม่ผมที่ขายอาหารตามสั่ง จะทำกับข้าวมาแบ่งเพื่อนในกลุ่มตีปิงปอง พอผมมีเพื่อน ผมสนุก ผมก็เริ่มมีความสุขจากกีฬา”
“ตอน ป.6 ผมแข่งกีฬาสีกับคนปกติ แล้วผมได้เหรียญรางวัลกีฬาปิงปอง พอผมกลับบ้าน คุณพ่อก็ตกใจ อ้าว ลูกก็เล่นกีฬาเหรอเนี่ย แล้วเป็นกีฬาปิงปองด้วย หลังจากนั้น ผมก็เลยได้รู้ว่า คุณพ่อของผม (ชยานันท์ ไทยนิยม) เป็นประธานชมรมเทเบิลเทนนิสของสโมสรตำรวจ ทีนี้แหละ ผมจึงได้ฝึกฝนอย่างจริงจังหลังจากนั้น”
“ผมโชคดีนะที่มีคุณพ่อเป็นประธานชมรมเทเบิลเทนนิส ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมก็ไม่รู้หรอก เพราะคุณพ่อไม่ได้บอก และเขาก็ไม่ได้คิดว่า ผมจะเล่นกีฬาชนิดนี้ด้วย จากนั้น คุณพ่อก็พาผมเข้าไปที่สโมสรตำรวจ เพื่อให้ลูกได้เล่นกีฬาปิงปอง ถ้าเป็นคนพิการคนอื่น ผมว่าโอกาสก็คงจะยากกว่าผม ผมจึงบอกว่าผมโชคดี”
“แต่ก็ไม่ใช่ว่า ผมจะได้ซ้อมกับพี่ๆ เค้าเลยนะ ตอนนั้น ผมจะไปที่สโมสรช่วงเช้า 8-9 โมง ตอนปิดเทอม แล้วก็กลับตอนเย็นกับพ่อ ตอนกลางวันเนี่ย มันไม่มีคนเข้ามาซ้อมหรอก ผมก็ไปตีกับเครื่องอัตโนมัติ ตีตอน 9 โมงจนถึงเที่ยงก็กินข้าวกับพ่อ พอบ่ายโมงก็ไปตีกับเครื่องอีก เพราะไม่กล้าตีกับคนอื่น ตีจนถึงแค่ประมาณ 3 โมง ก็จะหลบออกมา เพราะช่วงที่พี่ๆ เค้ามาซ้อมกันช่วงประมาณ 3-4 โมง ผมก็ไม่กล้าตีด้วยหรอก ก็เราเป็นคนพิการอะนะ ยังเด็กด้วย ใครจะไปกล้าขอเล่นกับเขา เราก็ได้แค่ไปแอบยืนดู จนวันนึงพ่อผมก็มาเห็น”
“พ่อก็ถามผมว่า มาทำอะไรตรงนี้ ทำไมไม่เข้าไปเล่นกับพี่ๆ เค้า ผมบอกว่า ผมอายครับ ผมไม่กล้าเข้าไป พ่อก็ลูบหัวแล้วก็พาเดินเข้าไป แล้วก็บอกให้พวกพี่ๆ นักกีฬาที่เป็นตำรวจเล่นด้วยกับผม ตอนแรก พี่เค้าก็ให้ลองตี แล้วพอผมตีให้ดู เค้าก็บอกว่า ตีเป็นเร็วและทักษะดีนะ จะให้ไม่เป็นเร็วได้ไง ผมแอบดูพวกพี่เค้าตีทุกวัน แอบจำวิธีการจับไม้ แล้วผมก็มาฝึกตีคนเดียว อาจจะไม่เหมือนเค้าร้อยเปอร์เซ้นต์ แต่ก็จะพยายามทำให้ใกล้เคียงที่สุด เท่าที่ความพิการของเราจะสามารถทำได้ โฟร์แฮนด์ตียังไง แบ็คแฮนด์ตียังไง นี่แหละ จุดเริ่มต้นของผม”
ผ่านจากวันที่เริ่มได้ฝึกตีปิงปองกับคนปกติที่เป็นผู้ใหญ่เพียงไม่นาน หลังจากนั้น รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ก็ได้เข้าสู่รั้วโรงเรียนหอวังในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ในฐานะโควตานักกีฬาช้างเผือก เทเบิล–เทนนิส คนปกติ โดยเข้าแข่งขันกีฬาปิงปองในรายการของกรมพลศึกษากับคนปกติด้วย
ไม่นานนัก รุ่งโรจน์ ก็ได้โอกาสครั้งใหญ่ในชีวิต ด้วยการได้ไปคัดตัวนักกีฬาคนพิการทีมชาติไทย สมัยอยู่ ม.1 (อายุประมาณ 16 ปี) จากคำแนะนำของ มาโนช อรชร นักกีฬาเทเบิลเทนนิสของสโมสรตำรวจ และหลังจากนั้น รุ่งโรจน์ ก็ได้เข้าแข่งขันรายการแรกในนามทีมชาติไทย นั่นคือ อาเซียนพาราเกมส์ (ซีเกมส์ของคนพิการ) เมื่อปี 2003 ที่ประเทศเวียดนาม
เหรียญทอง อาเซียนพาราเกมส์ 2003 ที่ประเทศเวียดนาม คือ จุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ของ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ในดินแดนอาเซียน เพราะหลังจากนั้น เขากวาดเหรียญทองมาได้อีกทุกครั้ง ปี 2005 (ประเทศฟิลิปปินส์), ปี 2007 (จังหวัดนครราชสีมา, ประเทศไทย), ปี 2009 (ประเทศมาเลเซีย), ปี 2011 (ประเทศอินโดนีเซีย), ปี 2013 (ประเทศเมียนมา), ปี 2015 (ประเทศสิงคโปร์) และปี 2017 ที่ประเทศมาเลเซีย
ส่วนในระดับเอเชีย รุ่งโรจน์ เริ่มตั้งแต่เฟสปิกเกมส์ ปี 2006 ที่ประเทศมาเลเซีย ต่อมาก็คือ เอเชี่ยนพาราเกมส์ ที่กว่างโจว ประเทศจีน (ปี 2010) ตามด้วย อินชอนเกมส์ เกาหลีใต้ (ปี 2014) และล่าสุด เอเชี่ยนพาราเกมส์ ณ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งได้ 2 เหรียญทองมาครอบครอง ทั้งในประเภทเดี่ยว และประเภทคู่
ขณะที่รายการใหญ่ที่สุดในโลก อย่าง พาราลิมปิกเกมส์ หรือ โอลิมปิกของคนพิการนั้น รุ่งโรจน์ เริ่มลงสนามครั้งแรกเมื่อปี 2008 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน (ตกรอบแรก) ก่อนมาประสบความสำเร็จขึ้นสู่จุดสูงสุดได้เมื่อปี 2012 ด้วยการคว้าเหรียญทอง พาราลิมปิก เกมส์ ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ส่วนพาราลิมปิก เกมส์ 2016 ครั้งล่าสุด ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เขาได้เหรียญทองแดง
ความสำเร็จทั้งหมดที่เกิดขึ้น เกิดจากการที่เขาไม่พิการในวันที่เขาพิการ
หากคุณคิดว่าทำไม่ได้ คุณก็จะทำไม่ได้ไปตลอด
หากคุณคิดว่าคุณพิการ คุณก็จะพิการไปตลอด
หากคุณคิดว่าคุณไม่มี คุณก็จะไม่มีวันมีไปตลอด
“ผมพูดเสมอครับว่า คนพิการมีสองแบบ คือ พิการโดยกำเนิด กับ พิการเพราะเกิดอุบัติเหตุทีหลัง ผมยังดีที่พิการตั้งแต่กำเนิด ผมจึงไม่มีปัญหาในการดำเนินชีวิต ไม่เหมือนกันคนที่มาเกิดอุบัติเหตุหลังจากใช้ชีวิตจนอายุ 20 ปี 30 ปี แบบคนปกติมาโดยตลอด พวกเขาจะรับไม่ได้ และใช้เวลานาน กว่าจะได้ลุกขึ้นมาสู้อีกทีหนึ่ง”
“ส่วนผม เป็นแบบนี้มาตั้งแต่เกิด ผมจึงคิดว่า ผมไม่ได้เป็นคนพิการใดๆ สิ่งหนึ่งนะครับ ผมคิดว่า ปัจจุบันสังคมให้โอกาสคนพิการเยอะนะ ทั้งการรับคนพิการเข้าทำงาน การที่คนพิการมีสิทธิประโยชน์ในเรื่องของสาธารณูปโภค, การคมนาคม, การขนส่งมวลชนต่างๆ ผมอยากให้คนพิการทุกคนลุกขึ้นมาครับ ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนของสังคม เปิดเผยตัวตนออกมา แล้วบอกว่า คุณมีความสามารถอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง อย่าไปกลัวว่าสังคมจะไม่ต้อนรับพวกเรา ผมอยากให้ทุกคน เข้ามาสู่ในพื้นที่ที่คนปกติให้โอกาสพวกเรา”
จากการเป็น “ผู้รับ” เมื่อสมัยเด็ก ปัจจุบัน รุ่งโรจน์ แปรสภาพตัวเองเป็นคนพิการที่เป็น “ผู้ให้” อีกด้วย เพราะหลังจากคว้าเหรียญทอง โอลิมปิกคนพิการ (พาราลิมปิก เกมส์ 2012) มาครองได้สำเร็จ เขาก็ตัดสินใจเปิดโรงยิมเล็กๆ แห่งหนึ่ง ที่ชื่อว่า SKT Academy ในซอยลาดปลาเค้า 89 เพื่อให้คนพิการได้มีพื้นที่ออกกำลังกายฟรี (สอนฟรี และให้คนพิการเล่นฟรี) และเพื่อให้คนพิการได้มีสังคมใหม่ๆ ได้เสริมสร้างบุคลิกภาพ และได้พัฒนาร่างกายของตัวเอง โดยใช้กีฬาปิงปองเป็นสื่อ
“ผมอยากให้โอกาสคนพิการ เหมือนที่ผมได้รับโอกาสมาก่อน ผมอยากให้พวกเขากล้าที่จะแสดงออก กล้าที่จะมีสังคม คนพิการส่วนใหญ่ มักจะมองถึงความสำเร็จของคนพิการบางคน ตอนที่ประสบความสำเร็จแล้ว แต่ไม่ได้มองถึงหนทางที่ทำให้พวกเขาประสบความสำเร็จว่าต้องผ่านความอดทน ความพยายามมากแค่ไหน”
“ถ้าผมตั้งเป้าหมายที่เหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ แต่ผมซ้อมแค่ 2 วันต่อสัปดาห์ วันละ 2-3 ชั่วโมง โดยที่คนที่ได้เหรียญทอง เค้าซ้อม 6 วันต่อสัปดาห์ วันละ 5-6 ชั่วโมง ถามว่า ผมจะได้เหรียญทองเหมือนเขาไหม มันก็ไม่สิ”
“คุณมีเป้าหมายสูง คุณก็ต้องทำงานให้หนัก แล้วยิ่งคุณเป็นคนพิการ คุณก็ต้องยิ่งทำงานให้หนัก แสดงให้เห็นว่า เราก็มีศักยภาพพอที่จะทำได้”
“อย่างพี่เฉลิมพงษ์ พันภู่ ที่จับคู่กับผมแข่งประเภทคู่ได้เหรียญทอง เอเชี่ยนพาราเกมส์ ที่ผ่านมา เขาก็เริ่มต้นจากฝึกฝนที่ SKT อะคาเดมี่นะ เขามาหาผม เขาไม่มีทั้งสองข้าง (เหลือแขนยื่นออกมาเพียงนิดเดียว) เขาเริ่มซ้อมจากการถือไม้สองมือตีปิงปอง เพราะกลัว แต่ก็ทำให้มีข้อจำกัดเยอะ ผมก็บอกว่า พี่ต้องกลับไปซ้อมตีแขนเดียวให้ได้ก่อน พี่ทำยังไงก็ได้ให้ตีแขนเดียวให้ได้ อีกสามเดือนต่อมา เค้ากลับมาใหม่ เค้าตีแขนเดียวได้ โอเคว่า มันอาจจะยังไม่แข็งแรงมาก แต่นั่นก็ทำให้เขาลดข้อจำกัดในการตีปิงปองไปได้เยอะ แล้วหลังจากนั้น พวกเราก็ค่อยสอนพี่เค้าเรื่องเทคนิคการตี”
“หลังจากนั้น พี่เฉลิมพงษ์ ก็กลายเป็นคู่ซ้อมของผม จับคู่กับผม แข่งประเภทคู่ร่วมกันจนได้เหรียญทองเอเชี่ยนเกมส์ นี่แหละคือรางวัลของ ความพยายาม ความอดทน”
… ทุกครั้งที่ได้ฟังเรื่องราวของคนพิการ ที่บอกเล่าเส้นทางการใช้ชีวิตที่มีขวากหนามตั้งแต่วินาทีแรกที่เริ่มต้นหายใจ กว่าจะมาถึงวันนี้ ผมมักจะคิดถึงประโยคหนึ่งอยู่เสมอที่ว่า
“คนพิการ ไม่ใช่คนที่ไม่มีร่างกายครบ 32 นะ
แต่คนพิการ คือ คนที่มีครบทั้ง 32 แต่เลือกที่จะยอมแพ้…”
รุ่งโรจน์ สู้แล้ว เขาไม่พิการแล้ว
แล้วคุณหล่ะ ลุกขึ้นสู้แล้วหรือยัง….
“จอน”
RECOMMENDED CONTENT
อาดิดาส เปิดตัวชุดแข่งขันทีมชาติอิตาลีคอลเลกชันแรก ร่วมกับสหพันธ์ฟุตบอลอิตาลี หลังประกาศความร่วมมือกันอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมา โดยทีมชาติอิตาลีทุกระดับจะสวมชุดแข่งขันของอาดิดาส ไม่ว่าจะเป็น ทีมฟุตบอลชาย ทีมฟุตบอลหญิง ทีมฟุตบอลชุดเยาวชน ทีมฟุตซอล ทีมฟุตบอลชายหาด รวมถึง ทีมอีสปอร์ต (e-sports)