fbpx

CONTACT US

DOODDOT VIDEOS

เส้นทางและวิบากกรรม“คราฟต์ เบียร์”… Part 1
date : 31.มกราคม.2017 tag :

15193695_651704555003091_6153360713065666636_n

วันอาทิตย์ที่ 22 มกราคม 2560 เจ้าหน้าที่สรรพสามิตจับกุมตัว นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร เจ้าของคราฟต์ เบียร์ (Craft Beer) ภายใต้ชื่อของตัวเองคือ “Taopiphobด้วยข้อหาลักลอบผลิตและจำหน่ายเบียร์เถื่อน เพราะคราฟต์ เบียร์ไทยยังเป็นสิ่ง “ผิดกฎหมาย”…

นับแต่นาทีนั้นเรื่องราวของ “คราฟต์ เบียร์” ก็กลายเป็นเรื่องเด่น ประเด็นร้อนในแทบทุกวงการ แม้แต่นายกรัฐมนตรียังถูกถาม ขณะที่รองนายกฯคนหนึ่งตอบสื่อมวลชนว่า “ผมไม่ดื่มเบียร์ว่ะ” คนถามเลยมึนยิ่งกว่าเมาเบียร์ !!!

16265160_1374277629314335_1369148005317914970_n

“นายเท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร”

ที่ผ่านมาการผลิตเบียร์ที่ถูกตามกฎหมายสามารถทำได้ตาม “พระราชบัญญัติ สุรา พ.ศ. 2493” เพียง 2 กรณีเท่านั้นคือ

1.โรงงานผลิตเบียร์ขนาดใหญ่ (Macrobrewery) กำหนดให้มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท กำลังการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตร/ปี คือยักษ์ใหญ่ทั้งหลายที่เราดื่มกันกระทั่งปากคอลิ้นชาคิดว่าเบียร์ดีรสชาติแบบนี้

2.ไมโครบรูเออรี ( Microbrewery) เป็นโรงงานผลิตเบียร์อยู่ภายในร้าน ขายเฉพาะในร้าน ห้ามบรรจุขวดขาย ทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท และกำลังการผลิตขั้นต่ำ 1 แสนลิตร/ปี แต่ไม่เกินหนึ่งล้านลิตร/ปี แห่งแรกคือโพลาเนอร์ หลังจากนั้นตามมาหลายแห่ง เช่น ฮอฟบล็อยเฮาส์,ฮาร์ทมันส์ดอร์ฟเฟอร์,ลอนดอนเนอร์,บรูเฮาส์,เยอรมันตะวันแดง และ Est.33 

จะเห็นว่าการอนุญาตให้ผลิตเบียร์ทั้ง 2 ประเภท แทบจะปิดประตูสนิทต่อผู้ผลิตรายย่อยประเภท “โฮมบรู“(Homebrew) แน่นอนโอกาสของคราฟต์ เบียร์ ก็คือสูญดี ๆ นี่เอง

craft-beer-definition-social

Homebrew-Ingredients

หนทางเดียวที่จะทำให้คราฟต์ เบียร์ “ถูกกฎหมาย” ก็คือต้อง “แก้ข้อกฎหมาย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่าขมเข็มในมหาสมุทร แม้จะมีทายาทเบียร์ใหญ่ออกมาแสดงความคิดเห็นในทางเชิญชวนคนที่ถูกจับ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่พ้นการเข้าไปสู่ “ไมโคร บรูเออรี” ที่ต้องลงทุนอย่างน้อยระดับ 10 ล้าน และเงื่อนไขอื่น ๆ อีกมากมาย

หลัง “พระราชบัญญัติ สุรา พ.ศ. 2493” ก็มีประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง วิธีการบริหารงานสุรา พ.ศ.2543 ส่วนที่ 2 ว่าด้วยเรื่องการทำและขายส่งสุราแช่ชนิดเบียร์และชนิดสุราผลไม้ ซึ่งในข้อ 7.1 ท่อนหนึ่งระบุว่า…“ผู้ขออนุญาตต้องเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งจดทะเบียนตามกฎหมายไทยมีผู้ถือหุ้นสัญชาติไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 ของจำนวนหุ้นทั้งหมด และมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีเงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนที่ชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ในกรณีที่เป็นโรงงานเบียร์ขนาดใหญ่ จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 10 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าผู้ใดจะทำโรงงานขนาดเล็ก ก็ต้องเป็นโรงงานเบียร์ขนาดเล็กประเภทผลิตเพื่อขาย ณ สถานที่ผลิต (Brewpub) จะต้องมีปริมาณการผลิตไม่ต่ำกว่า 100,000 ลิตร แต่ไม่เกิน 1 ล้านลิตรต่อปี

อย่างไรก็ตามประกาศดังกล่าวถูกศาลปกครองสูงสุดพิพากษาเพิกถอนไปเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 เนื่องจากเห็นว่าการจะออกข้อกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาตผลิตสุรา จะต้องออกเป็นกฎกระทรวง การออกเป็นประกาศกระทรวงจึงเป็นการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการออกกฎทำให้ศาลปกครองตัดสินเพิกถอนซึ่งระหว่างรอกติกาฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทำให้กฎเกณฑ์การผลิตคราฟต์ เบียร์ยังอยู่ถูกปิดประตูลั่นดานต่อไป..

หลังจากเจ้าของคราฟต์ เบียร์ “Taopiphob” ถูกจับ ก็มีชาวเน็ตและกลุ่มคนที่ชื่นชอบคราฟต์ เบียร์ได้รวมตัวกันจัดตั้งแคมเปญรณรงค์เรื่อง “อยากให้คราฟต์เบียร์ไทยถูกกฎหมาย” ผ่านเว็บไซต์ change.org โดยมีเป้าหมายรวบรวมรายชื่อคนที่สนับสนุน 1 หมื่นรายชื่อ

homebrew

ถามว่าคราฟต์ เบียร์ จะทำให้เป็นแบบสุราชุมชนได้หรือไม่ ? ก็คงยากอีกเช่นกัน เพราะสุราชุมชนเป็นธุรกิจชุมชน ใช้วัตถุดิบในไทย เป็น OTOP แต่คราฟต์ เบียร์ไม่ใช่ เพราะทุกอย่างนำเข้าแทบทั้งหมด กฎหมายเรื่องคราฟต์ เบียร์จึงผ่านยาก เพราะภาพรวมการจะแก้กฎหมายของไทย จะต้องมีเหตุให้ตัวกฎหมายถูกนำมาพิจารณา..

นิยามโดยรวมของคราฟต์ เบียร์ ซึ่งมีบางแห่งเรียกว่า “เบียร์ทำมือ” หมายถึง เบียร์ที่เกิดจากผู้ผลิตขนาดเล็ก ดำเนินงานโดยอิสระ ใช้กรรมวิธีผลิตแบบดั้งเดิมทุกขั้นตอน ตั้งแต่หมัก บรรจุขวด และขายเอง ผู้ผลิตสามารถใส่วัตถุดิบได้ตามความต้องการของตัวเองจนได้รสชาติที่ลงตัว เกิดเป็นตัวเลือกที่หลากหลาย

ขณะที่กฎและนิยามของคราฟต์ เบียร์อย่างเป็นทางการของ Brewers Association แห่งสหรัฐระบุว่า 1.ต้องเป็นโรงเบียร์ขนาดเล็ก 2.เจ้าของเป็นผู้ถือหุ้นมากกว่า 75% (Independent) และ 3.ใช้วัตถุดิบที่เป็นธรรมชาติทั้งหมด ห้ามใส่วัตถุดิบสังเคราะห์กลิ่นหรือรสเพื่อลดต้นทุน ถ้าจะใส่ต้องใส่เพื่อให้มีกลิ่นและรสชาติดีขึ้นเท่านั้น เป็นต้น เป็นเหตุผลที่ว่าคราฟต์ เบียร์ให้รสชาติที่ “แท้จริง” มากกว่า “เบียร์ พาณิชย์” ทั้งหลาย

สหรัฐอเมริกาถือเป็นแกนนำของคราฟต์ เบียร์ ซีกโลกใหม่ (New World)  หลังจากปี 1978 รัฐบาลผ่านกฎหมายรับรองการผลิตเบียร์เพื่อบริโภคในชุมชนเล็กๆ การผลิตเบียร์ท้องถิ่นทั่วประเทศจึงเบ่งบานหลังจากทำกินเฉพาะในครัวเรือน ในปี 1978 นั้นมีโรงผลิตเบียร์แค่ 42 แห่ง ขณะที่ปี 2016 มีโรงผลิตเบียร์เกือบ 5,000 แห่ง จากการที่สหรัฐมีพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาล มีความหลากหลายทางธรรมชาติของแต่ละพื้นที่

MJS oldworldbeer

ขณะที่ซีกโลกเก่า (Old World) มีการทำคราฟต์ เบียร์ กันมาเป็นพัน ๆ ปีแล้ว  จุดเริ่มต้นอยู่ในยุโรป เช่น เบลเยียม เยอรมนี อังกฤษ สาธารณรัฐเชก ฯลฯ แต่ละประเทศมีโรงหมักเบียร์รายย่อยเป็นพัน ๆ โรง มีทั้งทำเองในบ้าน (Home Brew) ในผับ (Brewpub) รวมทั้งในวัดโดยนักบวช กลุ่มนี้มีเบลเยียมเป็นแกนนำและได้รับการยกย่องว่ามีนวัตกรรมที่หลากหลายและหวือหวาที่สุด ไม่มีกฎตายตัวว่าต้องใช้วัตถุดิบแค่ 4 ชนิดคือ น้ำ มอลต์ ฮอปส์ และยีสต์ เหมือนประเทศอื่นๆ ผู้ผลิตสามารถใส่วัตถุดิบที่หลากหลาย กลุ่มนี้ยังไม่มีนิยามคำว่า “คราฟต์ เบียร์” จนกระทั่งสหรัฐให้ความนิยามดังกล่าว

สำหรับในประเทศไทยเส้นทางของ “คราฟต์ เบียร์” มีที่มาอย่างไร ? จะเดินไปทางไหน ? ต้องผจญวิบากกรรมอย่างไร ? โปรดติดตามในตอนต่อไป…

Writer : Thawatchai Tappitak

.

RECOMMENDED CONTENT

2.กุมภาพันธ์.2021

Garmin เปิดตัวสมาร์ทวอทช์ขนาดเล็กดีไซน์ทันสมัย Lily ทั้ง 2 รุ่น ได้แก่รุ่นคลาสสิกและรุ่นสปอร์ต โดยนาฬิกาอัจฉริยะ Lily มาพร้อมรูปทรงสุดชิคในขนาดกะทัดรัด ด้วยตัวเรือนขนาด 34 มม. พร้อมสลักเชื่อมสายนาฬิกาแบบ T-bar เลนส์หน้าปัดพร้อมลวดลายละเอียด