คงไม่มีข่าวไหนในรอบสัปดาห์นี้จะทำเราสลดไปกว่าเหตุคนร้ายกราดยิงผับเกย์ในเมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ ที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปกว่าครึ่งร้อย
คำถามคือแล้ว ‘Love’ ยัง ‘Win’ อยู่ไหม?…
อีกซีกโลกหนึ่งอย่างตะวันออกกลาง คนที่มีความหลากหลายทางเพศยังอยู่ในสถานการณ์วิกฤติไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะซีเรีย อิหร่าน หรือเยเมน การประกาศว่า ‘ฉันเป็น Homosexual’ นอกจากเสี่ยงจะโดนมองเหยียดจากชาวบ้านแล้ว ร้ายกว่านั้นคือโดนโทษทัณฑ์จากบ้านเมือง มีโทษถึงขั้นถูกจับแขวนคอเลยทีเดียว
ทว่าในประเทศจอร์แดน เราอาจได้เห็นแสงรำไรอยู่บ้าง เมื่อ Khalid Abdel-Hadi และกลุ่มเพื่อนนักศึกษาในจอร์แดน ร่วมกันก่อตั้ง ‘My.kali’ แม็กกาซีน LGBT เล่มแรกและเล่มเดียวในดินแดนตะวันออกกลางรวมถึงแอฟริกาเหนือ เพื่อใช้ตัวหนังสือแทนเสียงตะโกนสู่โลกภายนอกว่าอิสรภาพและความเท่าเทียมทางเพศคือสิ่งที่พวกเขาต้องการเช่นกัน
แต่เส้นทางของการต่อสู้ก็ไม่ได้ราบเรียบอย่างในหนัง ย้อนกลับไปปี 2008 ที่ Khalid และเพื่อนเริ่มต้นทำแม็กกาซีนด้วยกันในวัย 18 ต้นฉบับแรกของแม็กกาซีนถูกบันทึกลงในแผ่นซีดีทั้งหมด นักเขียนและทีมงานต้องใช้นามแฝงเพื่อความปลอดภัย ถึงขนาดห้ามเปิดเผยตัวอย่างเด็ดขาด แม็กกาซีนเปิดตัวอย่างกระโตกกระตากน้อยที่สุดในวงเพื่อนสนิทไม่กี่คน ถึงอย่างนั้นบรรดาหนังสือพิมพ์อนุรักษ์นิยมบางหัวที่รู้เรื่องการเคลื่อนไหวเล็กๆ นี้ก็ยังมิวายกัดว่านี่เป็นแค่เรื่องของพวก ‘จิตไม่ปกติ’
ระหว่างนั้น ข่าวสลดของ Xulhaz Mannan บล็อกเกอร์ LGBT ชาวบังกลาเทศที่เพิ่งถูกกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงสังหารอย่างโหดเหี้ยมก็แทบทำให้ Khalid และทีมถอดใจ เขายอมรับว่าหวาดหวั่นไม่น้อย แม็กกาซีนฉบับแรกจึงถูกตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษ เหตุผลหนึ่งเพราะเกรงความปลอดภัย และอีกเหตุผลหนึ่งคือต้องการให้ตัวหนังสือพวกเขาเป็นสากล กระทั่งเมื่อปีที่แล้ว My.kali ได้ตีพิมพ์เป็นภาษาอาหรับเป็นครั้งแรกและมีนักเขียนจากทั่วตะวันออกกลางมาช่วยเสริมความเข้มแข็งอีกแรง “เราคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว ถามว่ากลัวไหม กลัวสิ แต่เมื่อจำเป็นต้องทำ เราก็ต้องทำ” Khalid ให้เหตุผลถึงก้าวใหม่นี้ “รัฐฯ น่ะกลัวสิ่งที่คนจะพูด ทั้งการเมือง ทั้งศาสนา แต่เราไม่ได้เข้าไปยุ่งอะไรตรงนั้น เราพูดเรื่องศิลปะ พูดถึงสังคม พูดถึง Culture ของคน”
ซึ่งดูเหมือนว่าระยะหลังมานี้ ‘Culture’ ของคนรักเพศเดียวกันจะได้รับการยอมรับมากขึ้นในจอร์แดน แม้โดยมากจะจำกัดวงอยู่เฉพาะกับคนเมืองหลวง หรือว่าง่ายๆ คือชนชั้นกลางค่อนไปทางสูงของประเทศที่มีการศึกษาดีหน่อย “เราว่าถ้าคนส่วนใหญ่ในประเทศได้รับการศึกษาที่ดีพอ มันจะช่วยให้เขามีสิทธิ์มีเสียงมากขึ้น สถานะของ LGBT ในจอร์แดนตอนนี้ยังถือว่าไม่แย่ และเราพยายามทำให้ดีขึ้นไปอีก
“ก่อนหน้านี้ทบทวนเยอะเหมือนกันว่าเราจะถูกดูดกลืนโดยวัฒนธรรมฝั่งตะวันตกหรือเปล่า เราไม่ได้ปฏิเสธความคิดก้าวหน้าจัดๆ แบบโลกตะวันตกหรอกนะ แค่ต้องเลือกหยิบบางอย่างของเขามาปรับให้เข้ากับเรา มันต้องไม่ใช่การรับมาทั้งหมด เพราะความเป็นอาหรับของเราก็เข้มแข็งและดีงามอยู่แล้ว”
เมื่อถามว่าศาสนาอันเคร่งครัดย้อนแย้งกับสิ่งที่เขาเป็นหรือไม่ Khalid บอกว่า “เราเป็นเคิร์ต เป็นจอร์แดน เป็นปาเลสไตน์ เป็นเกย์อาหรับ และเป็น ‘Believer’ ด้วย” เขายิ้ม “เคยมีคนถามเหมือนกันว่าเห้ย คุณเป็นมุสลิมและเป็นเกย์ด้วยได้ยังไง (หัวเราะ) จะไปรู้เหรอ ก็เราเป็นแบบนี้ ความเชื่อและความศรัทธาไม่ได้เกี่ยวกับว่าจะเป็นเพศไหนหรือเปล่าวะ”
กระนั้นการใช้ดารา Transgender มาขึ้นปกและถกเรื่องเซ็กซ์อย่างตรงไปตรงมาของ My.kali ก็ยังนับว่าเป็นการท้าทายความเชื่อของคนส่วนใหญ่ในโลกอาหรับอยู่ดี “ในช่วง 10 ปีหลังมานี้ เราได้เห็นพัฒนาการของ LGBT มากขึ้น วันดีคืนดีก็มีพี่ชาวตูนีเชียนคนหนึ่งไปพูดเรื่องเซ็กซ์ในรายการทีวีหน้าตาเฉย หรืออยู่ๆ ก็มีคนอาหรับไปเล่าเรื่องชีวิต Transgender ในรายการทอร์กโชว์ต่างประเทศอะไรแบบนั้น ซึ่งเป็นเรื่องดี”
แม้สิ่งเหล่านี้จะเป็นก้าวที่ดีในการเริ่มต้นของอิสรภาพครั้งนี้ แต่ Khalid ก็ยอมรับว่าสถานการณ์ของ LGBT ในประเทศเพื่อนบ้านอย่างซีเรียยังนับว่าวิกฤติอยู่มาก “เราไม่ค่อยได้ยินว่าซีเรียคืบหน้ามากเท่าไรในเรื่องนี้ ทุกวันยังมีเรื่องเศร้าให้ได้ยิน มันทำให้กลับมาคิดถึงตัวเอง คิดถึงอนาคตว่าจะเอาอย่างไรต่อดี เหมือนคุณกำลังนั่งจิบกาแฟอยู่ในคาเฟ่สวยๆ แล้วอ่านเจอข่าวว่ามีเกย์สักคนถูก ISIS โยนลงมาจากตึกน่ะ นึกออกไหม คือมันอาจจะเป็นเราวันไหนก็ได้ แล้วเราก็ถามตัวเองว่ามันคุ้มไหมไอ้ที่กำลังทำอยู่เนี่ย”
“สิ่งที่เราและอีกหลายคนกำลังทำอยู่คือการปฏิวัติ อาจไม่ใช่โดยตรง แต่มันก็เป็นอีกหนึ่งหนทางที่พอจะช่วยให้ชาว LGBT มีเสียงมากขึ้นในทุกๆ เรื่อง ทั้งเสรีภาพในการแสดงออก สิ่งที่เขาฝัน สิ่งที่เขาเลือก และสิ่งที่เขาเป็น” Khalid กล่าว
ก็ได้แต่หวังว่าเสียงของ Khalid และแม็กกาซีนของเขาจะทำให้เรากลับมีความหวังกับคำว่า ‘Love wins’ อีกครั้ง แม้จะริบหรี่ก็ยังดี
Credit
Text Edward Siddons
Images courtesy of My.Kal
www.i-d.vice.com/en_gb/article/queering-the-middle-east
RECOMMENDED CONTENT
ภาพยนตร์เรื่องนี้ยังมี Florence Pugh ผู้ไ ด้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งรับบทเป็นจิตแพทย์จีน แทตล็อก เช่นเดียวกับ Benny Safdie, Josh Hartnett, Rami Malek เรียกได้ว่านักแสดงเบอร์ใหญ่ทั้งนั้น