เสื้อยืดมือสองเคยอยู่ในฐานะของแฟชั่นกระแสรองของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ชื่นชอบเสน่ห์ของผ้าเก่าหรือผ้าวินเทจเท่านั้น ใครจะนึกว่าในอีก 20 ปีให้หลัง มันจะเป็นแฟชั่นไอเท็ม เป็นเทรนด์หลักของโลกที่มีมูลค่าการซื้อขายในตลาดมากพอๆ หรืออาจจะมากกว่ารถยนต์หรูบางคันได้อย่างทุกวันนี้
จากพนักงานในร้านเสื้อยืดมือสองที่ทำงานเช้าจดค่ำอยู่ในสวนจตุจักร ‘โย – โยธิน พูนสำโรง’ คลุกฝุ่นอยู่กับผ้าเก่าจนรู้ที่มาและจดจำกลิ่นของเสื้อทุกตัวที่เขาจับได้ดี ทุกวันนี้เขากลายมาเป็นนัก ‘เล่นผ้า’ ที่ประสบความสำเร็จที่สุดคนหนึ่ง กับการเป็นผู้ก่อตั้ง ‘Know Where Studio’ แบรนด์ที่อยากเห็นเสื้อยืดวินเทจเป็นมากกว่าแฟชั่น แต่เป็นชุมชน เป็นคัลเจอร์ที่ไม่มีวันตาย
กี่ปีแล้วกับวงการเสื้อวินเทจ
ผมเริ่มทำธุรกิจแบบจริงจังมาได้ 5 ปี ครับ แต่ถ้านับจากที่ชอบจริงๆ ก็ 12 ปี ที่เริ่มซื้อเสื้อ เริ่มศึกษาจากตามตลาดนัด สวนจตุจักรบ้าง ตลาดวังหลังบ้าง ยันตลาดนัดทั่วไปตามต่างจังหวัด
ผมก็เหมือนคนทั่วไปในยุคนั้นที่เป็นคนฟังเพลง แล้วก็อยากได้เสื้อวงที่ชอบ แค่นั้นเลย สมัยนั้นก็เคยซื้อเสื้อปลอมมาเหมือนกัน เพราะไม่มีความรู้ พ่อค้าบอกว่าแท้ ก็ซื้อในราคา 500 บาท พอโตขึ้นมาจึงเริ่มรู้ว่าอันไหนแท้อันไหนปลอม เรียกว่าซื้อจนรู้ (หัวเราะ)
วัฒนธรรมการซื้อเสื้อวินเทจของคนไทยกับต่างประเทศต่างอย่างไรบ้าง
ต่างกันเยอะครับ แค่ฝั่งเอเชีย ไทยกับญี่ปุ่นแค่นี้ก็ต่างกันแล้ว คนญี่ปุ่นเคยถามผมว่าทำไมผมถึงบินมาซื้อของที่ญี่ปุ่น ทั้งที่คนญี่ปุ่นบินมาซื้อของที่ไทย ผมบอกเขาว่าบ้านเราเล่นกันแพง แต่ของบ้านคุณยังถูกอยู่ ส่วนของที่บ้านเราถูก บ้านคุณกลับแพง มันสวนทางกันแบบนี้ เพราะคัลเจอร์ต่างกัน มันอยู่ที่รสนิยมของแต่ละประเทศ เช่น คนญี่ปุ่นชอบงานเรียบๆ สกรีนน้อยๆ ส่วนบ้านเราจะชอบสกรีนเต็มๆ อะไรแบบนี้
ส่วนฝั่งอเมริกา เขาจะเป็น Trend Setter อย่างเทรนด์ปี 90s ที่ฮิตกันช่วงที่ผ่านมา อเมริกาเขาก็จะเล่นทุกอย่างที่เป็นปี 90s เสื้อการ์ตูน เสื้อหนัง เสื้อศิลปิน ถ้าพูดถึงเทรนด์ เขาจะค่อนข้างนำกว่าบ้านเราเยอะ แต่ถึงจะเป็นเทรนด์หลักของโลก คนไทยก็ยังเล่นเสื้อฝั่งอเมริกาเป็นส่วนน้อยอยู่
เสื้อตัวหนึ่งจะเรียกว่าเป็นเสื้อวินเทจได้ก็ต่อเมื่อ…
ครบรอบ 20 ปี ทุกตัวครับ อย่างตอนนี้เสื้อปี 2000s ก็เป็นเสื้อวินเทจแล้ว แต่ความเข้าใจผิดของคนทั่วไปคือเสื้อวินเทจทุกตัวต้องแพง ซึ่งจริงๆ แล้วบางตัว ต่อให้สวยแต่คนไม่นิยม ก็ไม่ได้มีราคาขนาดนั้น
ถ้าอย่างนั้น การตั้งราคาของเสื้อวินเทจแต่ละตัวขึ้นอยู่กับปัจจัยอะไรบ้าง
สำหรับผม การตั้งราคาคือดูว่าต้นทุนว่าของชิ้นนั้นราคาเท่าไร สภาพเป็นเป็นยังไง ไซส์อะไร ยกตัวอย่างเช่น ไซส์ S กับ ไซส์ XL ต้นทุนเท่ากัน แต่ไซส์ XL มักจะขายกันในราคาที่แพงกว่า หรือปัจจัยย่อยลงไปกว่านั้น เช่น เสื้ออยู่ในสภาพเก่าก็จริง แต่สีเฟดสวย ขาดสวย หายาก ก็อาจะแพงกว่าเสื้อที่สภาพใหม่กว่าก็ได้ หรือถ้าของมาพร้อมถุง เป็น Deadstock ราคาก็อาจจะแพงกว่า
มีพ่อค้าหน้าใหม่หลายคนถามผมมาว่า ได้เสื้อมาแบบนี้ ควรจะตั้งราคาเท่าไรดี บางคนอ้างอิงจากราคาในตลาด หรือในอีเบย์ (Ebay) ผมอยากบอกว่านั่นน่ะคือราคาที่เขาขายไม่ได้ ถ้าคุณคิดจะเป็นพ่อค้า แต่ยังตั้งราคาเองไม่ได้ ผมว่ามันก็ไม่มีศักยภาพในการจะเป็นพ่อค้าแล้ว เราต้องรู้ก่อนว่าจะขายของเท่าไร กำไรเท่าไร แล้วเราพอใจเท่าไร ต่อให้มีคนบอกว่าเสื้อตัวเดียวกัน ร้านอื่นขาย 9,000 แต่ร้านผมขาย 3,500 นั่นแปลว่าโอเค ต้นทุนมันไม่ได้มาก แล้วผมก็ขายในจุดที่ผมพอใจ ผมแทบไม่เคยอิงราคาตลาดเลยว่าใครขายเท่าไร บางตัวผมอาจจะขายแพงกว่าราคาตลาดด้วยซ้ำ
เหตุผลอะไรที่ทำให้เสื้อตัวนั้นราคาสูงกว่าเพื่อน
ด้วยเหตุผลที่ว่าเราไม่ค่อยได้เห็นเสื้อแบบนี้ มันผ่านตาน้อยมากตลอด 10 ปี ไม่มีมาเลย อะไรแบบนั้น อาจจะเรียกว่าผมตั้งราคาจากประสบการณ์ของตัวเองก็ได้นะ ผมเคยเป็นตั้งแต่ลูกน้องเขาในร้านเสื้อมือสองที่สวนจตุจักร เขาก็ไม่ได้สอนอะไรผมหรอก ผมพับผ้า ขายเสื้อให้เขา มันเลยเหมือนได้ซึมซับของที่เราอยู่กับมันทุกวัน เราจับเนื้อผ้าทุกวัน แค่ดมกลิ่นเสื้อผมก็รู้แล้วว่าเสื้อตัวนั้นมาจากไหน มันเป็นความเคยชิน เป็นประสบการณ์
ผมก็ต้องพูดให้ลูกค้าเข้าใจว่าบางทีต้นทุนมันมาสูงอยู่แล้ว แต่ต่อให้ผมขายราคานี้ ก็ไม่ได้เป็นราคาที่ผมตั้งแบบโอเวอร์นะ ยังเป็นราคาที่ซื้อใส่ได้ ทุกคนจับต้องได้อยู่
เวลาเลือกเสื้อเข้ามาขายที่ร้าน คุณเลือกจากอะไร
หลักๆ คือผมเลือกจากสไตล์ที่ตัวเองชอบก่อน Display ของที่เราชอบให้ดูน่าสนใจ ผมมีเพื่อนที่อยู่อเมริกา อยู่ญี่ปุ่นบ้าง นั่นทำให้ได้เสพข้อมูลจากฝั่งโน้น พอจะรู้ว่าเทรนด์อะไรกำลังจะมา เรื่องนี้สำคัญนะครับ เพราะมีบางคนขายเสื้อที่เคยฮิตเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทุกวันนี้เขาก็ยังขายของแบบเดิมอยู่ มันทำให้ธุรกิจเขาไปต่อไม่ได้ กลุ่มลูกค้ามันจะน้อยลงมากๆ เพราะเขาไม่ยอมไหลไปตามเทรนด์
พ่อค้าหน้าใหม่ที่จะเข้ามาอยู่ในตลาดนี้มีความยากง่ายแค่ไหน
ยากครับ เขาอาจจะมีเงิน ใช้เงินทำงาน ธุรกิจก็อาจจะโตได้นะ แต่ในแง่ของการจะประสบความสำเร็จ ผมว่ายาก ถ้าหากว่าเขาไม่ได้เชี่ยวชาญ ไม่มีความรู้ ไม่ได้รักมันจริงๆ แค่เห็นว่ามันเป็นธุรกิจที่ทำเงิน หาของตามคนอื่นนี่โคตรยากเลย
ใครที่ทักมาถามผมว่าเปิดกระสอบดีมั้ย ผมมักจะบอกเขาว่าไม่แนะนำ ผมว่าซื้อจากพ่อค้าที่เขาเปิดกระสอบมาแล้ว แล้วเรายอมจ่ายมากขึ้น นำมาขายบวกราคานิดหน่อย ยังจะเจ็บน้อยกว่า การเปิดกระสอบยุคนี้ เหมือนเราเอาเศษผ้าไปขาย มันไม่เหมือนยุค 10 ปีก่อน ที่เปิดมายังไงก็ได้กำไรบ้างแน่นอน ถึงมีความรู้ แต่ผมไม่แนะนำให้ไปเสี่ยง ทุกวันนี้พ่อค้าตลาดนัดเริ่มอยู่ยากแล้ว แต่ถ้าซื้อเสื้อกระสอบเกรด A หมายถึงเสื้อมือสองที่สภาพเหมือนเสื้อมือฟนึ่ง ผมว่ายังพออยู่รอดนะ
คัลเจอร์ของเสื้อวินเทจทุกวันนี้ต่างจากเมื่อสิบปีก่อนที่คุณว่ายังไงบ้าง เล่าให้เราฟังหน่อย
ผมมองว่ามันมีเสน่ห์มากกว่าทุกวันนี้ เราไปคัดของตามราวเลย เมื่อก่อนกระสอบเสื้อมือสองจะมาจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ทุกวันนี้ไม่ค่อยมีของแล้ว เพราะพอเราไปเลือกของจากเขา เขาก็จะเริ่มรู้ราคาแล้วว่าของดีเป็นแบบไหน ราคาเท่าไร มันเหมือนดาบสองคมเหมือนกัน ทำให้เราซื้อของในราคาที่แพงขึ้นในยุคต่อมา
เมื่อสิบปีที่แล้ว วงการวินเทจยังไม่ได้บูมขนาดนี้ ของมือสองคือของบริจาคจากทั่วโลกมาลงที่บ้านเรา ซึ่งน่าจะเป็นประเทศที่ของมาลงเยอะที่สุดในโลกแล้วผมว่า ราคาก็ถูกมากด้วย ทุกวันนี้พอเสื้อวินเทจบูม มันก็เลยโดนตัดหน้า โดนแยกหัวแยกหางตั้งแต่ต้นทางที่อเมริกาแล้ว เพราะคนฝั่งอเมริกาเขาเริ่มมองเห็นคุณค่าของมัน และเห็นว่ามันทำเงินได้
ส่วนบ้านเรา หลายคนคงทราบกันดีกว่าภาคใต้คือตลาดเสื้อมือสองที่ใหญ่ที่สุดแหล่งหนึ่ง ผมก็เพิ่งไปภาคใต้มา ไปนั่งดูเขาเปิดกระสอบ เห็นเลยว่าแทบไม่ได้อะไรจริงๆ คือเศษผ้าชัดๆ เลย ตัวดีๆ ขายกันแพงหมดแล้ว บางทีเเพงกว่าผมขายอีก แต่ถ้าเป็นเมื่อก่อนมันสนุกมาก เปิดกระสอบมายังไงก็ต้องเจอหัวผ้าดีๆ โลกมันเปลี่ยนไปเยอะแล้ว
ผมเพิ่งคุยกับรุ่นพี่เมื่อเร็วๆ นี้เองว่า เมื่อก่อนผมทำงานอยู่สวนจตุจักร ลำบากเพราะเราไม่มีเงินซื้อก็จริง แต่มันรู้สึกสนุกกว่าทุกวันนี้มาก เพราะรูดราวไปก็เจออะไรที่ว๊าว ทุกวันนี้รูดไปก็ไม่เจอหรอก เราต้องทำธุรกิจนี้ด้วยการที่ใช้เงินซื้อของในราคาที่แพงขึ้น กลายเป็นว่าเสน่ห์ของเสื้อวินเทจค่อยๆ จางหายไป
แล้วคัลเจอร์ของคนเล่นเสื้อวินเทจล่ะ เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนมากน้อยแค่ไหน
ถ้าเป็นสมัยนี้ ลูกค้าเด็กๆ มัธยม มหาลัย เขาจะซื้อเสื้อตามที่ศิลปินหรือคนดังใส่ เช่น พี่แจ๊ส ชวนชื่น หรือจัสติน บีเบอร์ เหมือนเขาจำอะไรมาเขาก็อยากได้แบบนั้น ซึ่งผมเข้าใจนะ มันคือแฟชั่น ส่วนลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งก็จะหาในสิ่งที่ตัวเองชอบ ฟังเพลงแบบนี้ เสพแบบนี้ เขาจะรู้แน่ๆ ว่าเขาต้องการอะไร
เด็กทุกวันนี้ได้เปรียบกว่าคนรุ่นผมเยอะนะ เขาอยากรู้อะไรเขาเสิร์ชได้เลย ต่างกับเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่มันไม่มีข้อมูลอ้างอิงอะไร มือถือยังเล่นอินเตอร์เน็ตไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ข้อเสียก็คือเขาพึ่งแต่โลกโซเชียลฯ อย่างเดียว ไม่ได้ลงมือคัดราว ไม่ได้เห็นหน้าผ้าจริงๆ น้องบางคนบอกผมว่าซื้อเสื้อมาเกือบหมื่น พอผมดูผมรู้เลยว่ามันปลอม มันจะมีพ่อค้าบางคนที่หัวหมอหน่อย ใช้ผ้าเก่ามาสกรีนใหม่ แล้วบอกว่าวินเทจ ซึ่งคนยุคก่อนจะดูออกว่ามันไม่ใช่ เพราะเขาจับผ้ามาเยอะ เขารู้ว่าจะดูยังไง
ยุคเมื่อก่อนที่ผมฟังเพลง ต้องชอบจริงๆ ถึงจะซื้อ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าคนเสพแฟชั่นเขาซื้อด้วย ทำให้กลุ่มคนเล่นกว้างขึ้น ซึ่งร้านผมก็จะมีของที่ค่อนข้างหลากหลายสไตล์ มีเกือบทุกแนว คิดว่าน่าจะตอบโจทย์กลุ่มคนที่กว้างขึ้นได้
คุณอยู่ในแวดวงนี้มานาน เคยกลัวมั้ยว่าวันหนึ่งเสื้อวินเทจจะขายไม่ได้แล้ว
ไม่เคยกลัวเลยครับ ผมเคยพูดเรื่องนี้กับเพื่อนที่เล่นเสื้อเหมือนกันว่า เรามีความรู้ ยังไงก็ไม่มีวันตาย ต่อให้ไม่มีเงิน ก็ยังมีความรู้ติดตัว ยังไงก็ไปหาเสื้อมาขายได้ แค่มีคนหน้าใหม่เข้ามามากขึ้น เลยทำให้รู้สึกเหมือนว่ามันบูมขึ้นมา คนเล่นเสื้อมีกลุ่มเยอะมาก อย่างคนใต้ พวกนายหัว เจ้าของสวนยาง คนเจนฯ พ่อแม่เรา ส่วนใหญ่เขาใส่เสื้อมือสองหมดเลย พอเขาใส่เสื้อวินเทจในชีวิตประจำวัน รุ่นลูกเขาโตขึ้นมา เห็นพ่อแม่ใส่ มันก็เป็นมรกดตกทอดกันมา ผมว่าไม่น่ามีวันตาย อยู่ไปยาวๆ แหละ แค่ว่าตอนไหนที่มันจะพีค ด้วยเทรนด์ ด้วยดาราใส่ หรืออะไรก็ตาม ทุกวันนี้ผมไปต่างจังหวัดก็ยังเเวะรูดราวนะ ต่อให้ผมรู้ว่ามันไม่มีอะไรหรอก แต่ก็ยังได้บ้าง เพื่อนๆ ผมจะชอบแซวกันว่า ‘พอได้ค่าน้ำมัน’ (หัวเราะ)
ทุกวันนี้คุณคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้วหรือยัง
พอผมมาถึงทุกวันนี้ มันมีอะไรให้ต่อยอดได้อีกเยอะ ถ้ามองย้อนกลับไป คนที่เขาเคยเห็นผมเคยเป็นลูกน้องในสวนจตุจักร เขาคงบอกว่าผมประสบความสำเร็จแล้ว เพราะตอนนั้นเงินกินข้าวยังแทบไม่มีเลย มันลำบากมากจริงๆ กับตอนนี้ที่มีเงินกินข้าว แต่ไม่รูจะกินอะไร เอาง่ายๆ แค่ทุกวันนี้ผมเลี้ยงดูแม่ให้เขาสบายได้ นี่ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วครับ
Know Where Studio หลังจากนี้จะไปในทิศทางไหนต่อไป
ในอนาคต ผมมีความคิดว่าอยากทำ Know Where Studio ให้เป็นพื้นที่พิเศษๆ หน่อย ทำร้านให้สวยเลย แต่เป็นแบบ Appointment Only หรือแบบนัดเข้ามาเท่านั้น ซึ่งผมจะรีวิวในโซเชียลฯ ว่ามีของอะไรลงบ้าง เปิดขายวันไหน แล้วนัดเข้ามาดูของ แต่เราก็ต้องมีของให้ลูกค้าเขารู้สึกว๊าวจริงๆ ด้วยนะ ผมพยายามพรีเซ้นต์มาตลอดว่าอยากทำให้เสื้อมือสองเป็นสไตล์จริงๆ ไม่ใช่เป็นขยะ แต่ทุกคนเข้าใจได้ เข้าถึงได้ และมีคุณค่า
คุณค่าของเสื้อวินเทจสำหรับคุณอยู่ที่ตรงไหน
สำหรับบางคนเสื้อวินเทจที่มีค่ามากๆ อาจเป็นในแง่ของราคา บางคนขาย 3 ตัว หนึ่งล้านบาทก็มี แต่สำหรับผม ผมมองว่าคุณค่าจริงๆ ของเสื้อวินเทจคือของที่มันไม่ได้ผลิตมาก
ผมรู้จักศิลปินคนหนึ่งที่เขาทำเสื้อ Handprint ในยุค 80s – 90s แล้วไอ้เสื้อตัวที่เขาทำบล๊อคขึ้นมาตัวเดียว ดันหลุดมาในกระสอบ ผมว่าเสื้อพวกนั้นแหละที่น่าเก็บ เพราะมันแค่มีตัวเดียวในโลก ส่วนคนที่เล่นเสื้อกลับไปให้ราคากับเสื้อที่แพง บางตัวราคาขึ้นไปถึงแสนแล้ว ซึ่งจริงๆ หาได้ทั่วไป หาร้านไหนก็เจอ มันเลยแล้วแต่คนมองนะ ผมมองมันเหมือนงานศิลปะ มองที่มาและคุณค่าของมันมากกว่า
Know Where Studio
มีร้านหลักอยู่ที่สะพานควาย (ซอยข้างโรงภาพยนตร์พหลโยธินรามา ติด BTS สะพานควาย) สาขาเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน และกำลังจะเปิดอีกสาขาเร็วๆ นี้ที่สยามพารากอน
ติดตามได้ที่ : https://www.instagram.com/knowwherestudio/?hl=en
โทร. 083 – 024 -1320
เปิดวันอังคาร – อาทิตย์ (ปิดวันจันทร์) ตั้งแต่เวลา : 13.00 – 22.00 น.
RECOMMENDED CONTENT
เบื้อหลัง The Fast and the Furious: Tokyo Drift ที่เปิดตัวไปเมื่อปี 2006 กำกับโดย Justin Lin เป็นหนึ่งภาคที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก ทำรายได้ถึง 5,300 ล้านบาท