แม้ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดจากผู้กำกับ Lee Chang Dong จะกลับบ้านมือเปล่าจากเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา แต่ ‘Burning’ ก็ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางในฐานะหนังขวัญใจนักวิจารณ์ เขาได้รับรางวัลสูงสุดจาก FIPRESCI (International Federation of Film Critics) และยังได้คะแนนเฉลี่ยจาก Screen Cannes Jury Grid สูงถึง 3.8 คะแนน ซึ่งเป็นการสร้างสถิติใหม่ที่ตอกย้ำความเป็นตำนานของ Lee Chang Dong ได้เป็นอย่างดี
Lee Chang Dong คือหนึ่งในผู้กำกับที่สร้างผลงานในยุค Korean New Wave เช่นเดียวกับ Park Chan Wook เเละเขาก็เป็นหนึ่งในผู้กำกับที่พาภาพยนตร์เกาหลีไปสู่วงการภาพยนตร์โลกผ่านเทศกาลหนังเมืองคานส์เช่นกัน หลังจากที่ ‘Peppermint Candy’ ภาพยนตร์อันดับที่ 2 ของเขาถูกเชิญไปแสดงในเทศกาลหนังเมืองคานส์ครั้งแรก Lee ก็กลายเป็นขาประจำของเทศกาลทันที ซึ่งในปี 2009 ลีก็ได้รับเลือกให้เป็นคณะกรรมการตัดสินรางวัลใน 61st Cannes Film Festival อีกด้วย
ภาพยนตร์ของ Lee นั้นไม่ได้ก้าวร้าว รุนแรงหรือสุดจะ ‘stylish’ เหมือนที่เราคุ้นเคยจากภาพยนตร์เกาหลีสายรางวัลของผู้กำกับคนอื่นๆ อย่าง Park Chan Wook และ Kim Ki Duk ภาพยนตร์ของ Lee นั้นเน้นการเล่าเรื่องอย่าง Realistic มากกว่า Cinematic แต่ภายใต้วิธีการเล่าที่เหมือนจะเรียบง่าย Lee นั้นก็เเฝงประเด็นทางสังคมได้อย่างซับซ้อนและแยบยลจน ‘ความปราณีต’ กลายเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญในภาพยนตร์ของเขา
หลายคนบอกว่าภาพยนตร์ของเขานั้นสวยงาม แต่ก็เต็มไปด้วยความเศร้า มันดูเหมือนจะเรียบง่ายแต่ก็มีความอึดอัด ไม่สบายใจและอารมณ์อีกมากมายที่เกิดขึ้นภายในฉากเดียว
“นั่นคือสิ่งที่ผมต้องการ เพราะว่าชีวิตของเรานั้นสวยงามแต่มันก็น่าเกลียด มันมีความสดใสแต่ก็มีด้านที่มืดมน ชีวิตเต็มไปด้วยเรื่องหนักหนาแต่มันก็มีการผ่อนปรน ผมต้องการนำเสนอความรู้สึกที่แตกต่างเหล่านั้นในเหตุการณ์ๆ เดียว เพราะในความเป็นจริงเราใช้ชีวิตท่ามกลางองค์ประกอบที่ซับซ้อนมากมาย”
สำหรับ Lee แล้วภาพยนตร์เป็นมากกว่าสื่อบันเทิงหรือเครื่องจรรโลงใจ แต่มันเป็นเหมือนความฝันที่สะท้อนจิตใต้สำนึกของผู้คนทั้งหลาย
“ภาพยนตร์เหมือนความฝันเพราะมันดูเหมือนเรื่องจริงแต่เรารู้ว่ามันไม่ใช่ ในฝันบางครั้งเราก็แสดงออกถึงความต้องการบางอย่างที่เราไม่เเสดงออกในชีวิตจริง บางความต้องการของเราก็ถูกเติมเต็มได้ในความฝัน ผมคิดว่าภาพยนตร์เองก็ทำหน้าที่แบบนั้น ทำหน้าที่เหมือนความฝันในชีวิตของผู้คน”
นอกจาก mood & tone อันเป็นเอกลักษณ์แล้ว สิ่งสำคัญในภาพยนต์ของ Lee Chang Dong คือบทภาพยนตร์ที่แข็งแรงซึ่งมันเป็นผลจากการเป็นนักเขียนและอาจารย์ประจำวิชาวรรณกรรมในโรงเรียนมัธยมปลาย เราจึงไม่แปลกใจที่หลายคนบอกว่าภาพยนตร์ของเขานั้นช่างปราณีต ละเอียดอ่อน และเต็มไปด้วยศิลปะ แต่ก็ซับซ้อน แถมยังสร้างผลกระทบอันรุนแรงต่ออารมณ์ความรู้สึกของผู้ชม ซึ่งความรู้สึกที่ตกค้างเหล่านี้คือสิ่งที่ Lee คิดไว้ทุกครั้งเมื่อทำหนังแต่ละเรื่อง
“ผมต้องการทำภาพยนตร์ที่สามารถเปลี่ยนมุมมองของผู้ชมได้ เมื่อพวกเขาออกจากโรงภาพยนตร์ผมต้องการให้พวกเขาเห็นหรือคิดเกี่ยวกับโลกภายนอกเปลี่ยนไปแม้จะเล็กน้อยก็ตาม”
เช่นเดียวกับใน ‘Burning’ ภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของเขา ถ่ายทอดเรื่องราวของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตในโลกที่เต็มไปด้วยปริศนา
“ในฐานะอาจารย์ ผมอยากแชร์มุมมองที่ผมมีต่อโลกกับพวกเขาและผลของมันก็คือ ‘Burning’ มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความเกรี้ยวกราดของคนรุ่นใหม่ที่ใช่ชีวิตอย่างเคว้งคว้างท่ามกลางโลกใบใหญ่ ผมคิดว่าเด็กในยุคปัจจุบันมีชีวิตที่แย่กว่าคนในอดีต แม้โลกพัฒนาไปข้างหน้าแต่พวกเขากลับรู้สึกสิ้นหวัง ในอดีตถ้าคุณเจอปัญหามันง่ายที่จะชี้เป้า คุณหาเหตุผลว่าอะไรที่ทำให้ชีวิตคุณยากลำบากได้ แต่ในปัจจุบันมันกลายเป็นเรื่องยากเมื่อเราจะหาว่าอะไรคือสาเหตุของความอันสิ้นหวังต่อทั้งตนเองและต่ออนาคตของพวกเขา”
“แต่นอกเหนือไปจากความโกรธแค้นของคนรุ่นใหม่แล้ว การตีความต่อจากนั้นเป็นเรื่องของคนดู ผู้ชมสามารถหาเรื่องราวหามุมมองที่แตกต่างจากภาพยนตร์เรื่องนี้ได้ ผมชอบมากเวลาที่เห็นผู้ชมเเลกเปลี่ยนความเห็นเเลกเปลี่ยนมุมมองที่มีหลังจากชมภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ผมไม่เคยทำภาพยนตร์ที่ส่ง messages ตรงๆ หรือหาข้อสรุปของประเด็นใดๆ ผมแค่ชอบตั้งคำถามและส่งมันต่อไปให้กับผู้ชม”
ความซับซ้อนที่ซ้อนไว้ภายใต้คำถามอันหลากหลายคือเครื่องมือที่ Lee ใช้สะท้อนมุมมองของตนเองต่อสังคม ต่อสิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวเขา โดยไม่เคยสร้างข้อสรุปหรือบอกว่ามันมีคำตอบที่ในเรื่องใดๆ เพราะเขาเชื่อว่าความจริงของโลกนี้มันขึ้นอยู่ที่มุมมองของใคร
“อะไรคือความแตกต่างของสิ่งที่เราเห็นและเชื่อว่ามันมีอยู่กับสิ่งที่มันมีอยู่จริงๆ มันไม่ใช่คำถามเกี่ยวกับความจริง แต่เป็นคำถามเกี่ยวกับมุมมองที่เรามีต่อโลกใบนี้”
ผลงานที่ผ่านมาของ Lee Chang Dong :
Green Fish (1997)
Peppermint Candy (1999)
Oasis (2002)
Secret Sunshine (2007)
Poetry (2010)
Burning (2018)
RECOMMENDED CONTENT
หลังจากคว้ารางวัลกรังปรีซ์ สาขาเพลงประกอบโฆษณายอดเยี่ยมจากเวทีคานส์ ไลอ้อน 2017 อาดิดาส ออริจินอลส์ยังคงพัฒนาผลงานสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง